ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
พระพุทธานุญาตงบน้ำอ้อย
[๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพุทธดำเนินไปทางพระนครราชคฤห์ ท่านพระกังขาเรวตะได้แวะเข้าโรงทำงบน้ำอ้อย ใน ระหว่างทาง เห็นเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย จึงรังเกียจว่า งบน้ำอ้อยเจืออามิส เป็นอกัปปิยะ ไม่ควรจะฉันในเวลาวิกาล ดังนี้ จึงพร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันงบน้ำอ้อย แม้พวก ภิกษุที่เชื่อฟังคำท่านก็พลอยไม่ฉันงบน้ำอ้อยไปด้วย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี- *พระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายผสมแป้ง บ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์อะไร? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เพื่อประสงค์ให้เกาะกันแน่น พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนทั้งหลายผสม แป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์ให้เกาะกันแน่น งบน้ำอ้อยนั้นก็ยังถึงความ นับว่า งบน้ำอ้อยนั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันงบน้ำอ้อยตามสบาย.
พระพุทธานุญาตถั่วเขียว
ท่านพระกังขาเรวตะ ได้เห็นถั่วเขียวงอกขึ้นในกองอุจจาระ ณ ระหว่างทาง แล้วรังเกียจ ว่า ถั่วเขียวเป็นอกัปปิยะ แม้ต้มแล้วก็ยังงอกได้ จึงพร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันถั่วเขียว แม้พวก ภิกษุที่เชื่อฟังคำของท่านก็พลอยไม่ฉันถั่วเขียวไปด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถั่วเขียวแม้ที่ต้ม แล้ว ก็ยังงอกได้ เราอนุญาตให้ฉันถั่วเขียวได้ตามสบาย.
พระพุทธานุญาตยาดองโลณโสจิรกะ
สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคลมเกิดในอุทร ท่านได้ดื่มยาดองโลณโสจิรกะ โรคลมเกิดในอุทรของท่านหายขาด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี พระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันยาดอง โลณโสจิรกะได้ตามสบาย แต่ภิกษุไม่อาพาธต้องเจือน้ำฉันอย่างน้ำปานะ.
ประชวรโรคลมเกิดในพระอุทร
[๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินโดยลำดับเสด็จถึงพระนครราชคฤห์ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์นั้น คราวนั้น พระองค์ประชวรโรคลมเกิดในพระอุทร จึงท่านพระอานนท์ ดำริว่า แม้เมื่อก่อนพระผู้มีพระภาคประชวรโรคลมเกิดในพระอุทร ก็ทรงพระสำราญได้ด้วยยาคู ปรุงด้วยของ ๓ อย่าง จึงของาบ้าง ข้าวสารบ้าง ถั่วเขียวบ้าง ด้วยตนเอง เก็บไว้ในภายในที่อยู่ ต้มด้วยตนเองในภายในที่อยู่ แล้วน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาค โปรดดื่มยาคูปรุงด้วยของ ๓ อย่าง พระพุทธเจ้าข้า.
พุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถาม สิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จัก ทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ยาคูนี้ได้มาแต่ไหน? ท่านพระอานนท์กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทันที.
ทรงตำหนิท่านพระอานนท์
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรอานนท์ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรอานนท์ ไฉนเธอจึงได้พอใจใน ความมักมากเช่นนี้เล่า ดูกรอานนท์ อามิสที่เก็บไว้ในภายในที่อยู่ เป็นอกัปปิยะ แม้ที่หุงต้มใน ภายในที่อยู่ ก็เป็นอกัปปิยะ แม้ที่หุงต้มเอง ก็เป็นอกัปปิยะ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็น ไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ดังต่อไปนี้:-
พระพุทธบัญญัติห้ามอามิสที่เป็นอันโตวุตถะเป็นต้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอามิสที่เก็บไว้ในภายในที่อยู่ ที่หุงต้มในภายในที่อยู่ และที่หุงต้มเอง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายในที่อยู่ หุงต้มในภายในที่อยู่ และหุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายในที่อยู่ หุงต้มในภายในที่อยู่ แต่ผู้อื่นหุงต้ม ถ้าภิกษุฉันอามิส ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายในที่อยู่ แต่หุงต้มในภายนอก และหุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายนอก แต่หุงต้มในภายใน และหุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายในที่อยู่ แต่หุงต้มในภายนอก และผู้อื่นหุงต้ม ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายนอก หุงต้มในภายใน แต่ผู้อื่นหุงต้ม ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายนอก หุงต้มในภายนอก แต่หุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายนอก หุงต้มในภายนอก และผู้อื่นหุงต้ม ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้นแล ไม่ต้องอาบัติ.
พระพุทธานุญาตให้อุ่นโภชนาหาร
[๕๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภัตตาหารที่หุงต้ม เอง จึงรังเกียจในโภชนาหารที่ต้องอุ่น แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุ่นภัตตาหารที่ต้องอุ่น.
พระพุทธานุญาตอามิสที่เป็นอันโตวุตถะเป็นต้น
[๕๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระนครราชคฤห์บังเกิดทุพภิกขภัย คนทั้งหลายนำเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง มายังอาราม ภิกษุทั้งหลายให้เก็บของเหล่านั้นไว้ ข้างนอก สัตว์ต่างๆ กินเสียบ้าง พวกโจรลักเอาไปบ้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้เก็บไว้ ณ ภายในได้ กัปปิยการกทั้งหลายเก็บอามิสไว้ข้างในแล้ว หุงต้มข้างนอก พวกคนกินเดนพากัน ห้อมล้อม ภิกษุทั้งหลายไม่พอใจฉัน แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มในภายใน. ในคราวเกิดทุพภิกขภัย พวกกัปปิยการกนำสิ่งของไปเสียมากมาย ถวายภิกษุเพียง เล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอามิสที่เก็บไว้ในภายในที่อยู่ ที่หุงต้มในภายในที่อยู่ และ ที่หุงต้มเอง.
ผลไม้กลางทาง
[๕๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุหลายรูปด้วยกันจำพรรษาในกาสีชนบทแล้ว เดินทาง ไปสู่พระนครราชคฤห์ เมื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในระหว่างทางไม่ได้โภชนาหารที่เศร้าหมอง หรือ ประณีตบริบูรณ์ พอแก่ความต้องการเลย ถึงของขบเคี้ยวคือผลไม้มีมาก แต่ก็หากัปปิยการกไม่ได้ ต่างพากันลำบาก ครั้นเดินทางไปพระนครราชคฤห์ ถึงพระเวฬุวันวิหารอันเป็นสถานที่พระราชทาน เหยื่อแก่กระแต แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง
พุทธประเพณี
ก็การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็น พุทธประเพณี ครั้งนั้น ผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของพวก เธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ เดินทางมามีความลำบากน้อยหรือ และพวกเธอ มาจากไหนเล่า? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังพอทนได้ พระพุทธเจ้าข้า ยังพอให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าจำพรรษาในกาสีชนบท แล้วเดินทางมาพระนครราชคฤห์ เพื่อเฝ้าพระผู้มี พระภาค ณ พระเวฬุวันนี้ ในระหว่างทาง ไม่ได้โภชนาหารที่เศร้าหมองหรือประณีต บริบูรณ์ พอแก่ความต้องการเลย ถึงของขบเคี้ยว คือผลไม้มีมาก แต่ก็หากัปปิยการกไม่ได้ เพราะเหตุนั้น พวกข้าพระพุทธเจ้าจึงเดินทางมามีความลำบาก.
พระพุทธานุญาตให้รับประเคนของที่เป็นอุคคหิต
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ภิกษุเห็นของขบเคี้ยว คือ ผลไม้ในที่ใด ถึงกัปปิยการกไม่มี ก็ให้หยิบนำไปเอง พบกัปปิยการกแล้ว วางไว้บน พื้นดิน ให้กัปปิยการกประเคนแล้วฉัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนสิ่งของที่ภิกษุถูกต้องแล้วได้.
พราหมณ์ถวายงาและน้ำผึ้งใหม่
[๕๓] ก็โดยสมัยนั้นแล งาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บังเกิดแก่พราหมณ์ผู้หนึ่ง จึงพราหมณ์ นั้นได้คิดตกลงว่า ผิฉะนั้น เราพึงถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่แก่ภิกษุสงฆ์ มีองค์พระพุทธเจ้า เป็นประมุข ครั้นแล้วได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้น ผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พราหมณ์ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าใน วันพรุ่งนี้ เพื่อเจริญบุญกุศล และปีติปราโมทย์แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นพราหมณ์นั้นทราบการรับนิมนต์ของ พระผู้มีพระภาค แล้วกลับไป แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้วท่านพระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จ พระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของพราหมณ์นั้น ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขา จัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงพราหมณ์นั้นอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วย ขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงนำ พระหัตถ์ออกจากบาตรห้ามภัตรแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง พราหมณ์นั้นผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับแล้วไม่ทันนาน พราหมณ์นั้นระลึก ขึ้นได้ว่า เราคิดว่าจักถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่ จึงได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อถวายไทยธรรมเหล่าใด ไทยธรรมเหล่านั้นเราลืมถวาย ผิฉะนั้น เราพึงให้เขาจัดงาใหม่และ น้ำผึ้งใหม่บรรจุขวดและหม้อนำไปสู่อาราม ดังนี้ แล้วให้เขาจัดงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บรรจุขวด และหม้อนำไปสู่อาราม เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่าจักถวายงาใหม่และ น้ำผึ้งใหม่ จึงได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อถวายไทยธรรมเหล่าใด ไทยธรรม เหล่านั้นข้าพระพุทธเจ้าลืมถวาย ขอท่านพระโคดมโปรดรับงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่ของข้าพระ- *พุทธเจ้าเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย. ก็คราวนั้นอัตคัดอาหาร ภิกษุทั้งหลายรับสิ่งของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณาแล้ว ห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าพระสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตรทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับประเคน.
พระพุทธานุญาตให้ฉันโภชนะไม่เป็นเดน
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคน ฉันเถิด เราอนุญาตให้ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน ซึ่งนำมาจากสถาน ที่ฉัน.
ตระกูลอุปัฏฐากของพระอุปนันทศากยบุตร
[๕๔] ก็สมัยนั้นแล ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ได้ส่งของเคี้ยวไป เพื่อถวายพระสงฆ์ สั่งว่า ต้องมอบให้พระคุณเจ้าอุปนนท์ถวายสงฆ์ แต่เวลานั้นท่านพระ อุปนันทศากยบุตรกำลังเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ครั้นชาวบ้านพวกนั้นไปถึงอารามแล้วถามภิกษุ ทั้งหลายว่า พระคุณเจ้าอุปนนท์ไปไหน เจ้าข้า? ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั้นเข้าไปบิณฑบาตในบ้านแล้ว. ชาวบ้านสั่งว่า ท่านเจ้าข้า ของเคี้ยวนี้ต้องมอบให้พระคุณเจ้าอุปนนท์ถวายภิกษุสงฆ์. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงรับประเคนเก็บไว้จนกว่าอุปนนท์จะมา. ครั้นท่านพระอุปนันทศากยบุตร เข้าไปเยี่ยมตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉัน แล้วมาถึงต่อ กลางวัน ก็คราวนั้นเป็นสมัยทุพภิกขภัย ภิกษุทั้งหลายรับสิ่งของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณา แล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าภิกษุสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตรทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับประเคน. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคน ฉันเถิด เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉันเสร็จ ห้ามภัตรแล้ว ฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน ซึ่งรับประเคนไว้ ในปุเรภัตรได้.
พระสารีบุตรเถระอาพาธ
[๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถี แล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขต พระนครสาวัตถีนั้น วันต่อมา ท่านพระสารีบุตรอาพาธเป็นไข้ตัวร้อน ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เข้าไปเยี่ยมท่านพระสารีบุตร ได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโส สารีบุตร เมื่อก่อนท่านอาพาธ เป็นไข้ตัวร้อน รักษาหายด้วยเภสัชอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า รักษาหายด้วยรากบัวและเหง้าบัว. จึงท่านพระมหาโมคคัลลานะได้หายตัวไปในพระวิหารเชตวันทันที มาปรากฏอยู่ ณ ริมฝั่ง สระโบกขรณีมันทากินี เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ช้างเชือกหนึ่งได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ กะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า นิมนต์พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะมา พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ มาดีแล้ว พระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งไร ข้าพเจ้าจะถวายสิ่งไร เจ้าข้า? ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ฉันประสงค์เหง้าบัวและรากบัว จ้ะ. ช้างเชือกนั้นสั่งช้างอีกเชือกหนึ่งทันทีว่า พนาย ผิฉะนั้น เจ้าจงถวายเหง้าบัวและรากบัว แก่พระคุณเจ้า จนพอแก่ความต้องการ. จึงช้างเชือกที่ถูกใช้นั้นลงสู่สระโบกขรณีมันทากินี ใช้งวงถอนเหง้าบัวและรากบัวล้างน้ำ ให้สะอาด ม้วนเป็นห่อเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ ทันใดนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้หายตัวไปที่ริมฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มาปรากฏตัวที่พระวิหารเชตวัน เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แม้ช้างเชือกนั้นก็ได้หายไปตรงริมฝั่ง สระโบกขรณีมันทากินี มาปรากฏตัวที่พระวิหารเชตวัน ได้ประเคนเหง้าบัวและรากบัวแก่ท่าน พระมหาโมคคัลลานะ แล้วหายตัวไปที่พระวิหารเชตวันมาปรากฏตัวที่ริมฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะน้อมเหง้าบัวและรากบัวเข้าไปถวายท่านพระสารีบุตร เมื่อ ท่านพระสารีบุตรฉันเหง้าบัวและรากบัวแล้ว โรคไข้ตัวร้อนก็หายทันที เหง้าบัวและรากบัวยังเหลืออยู่ มากมาย ก็แลสมัยนั้นอัตคัดอาหาร ภิกษุทั้งหลายรับสิ่งของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณา แล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าภิกษุสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับ ประเคน. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคน ฉันเถิด เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน ซึ่งเกิดในป่า เกิดในสระบัว.
พระพุทธานุญาตผลไม้ที่ใช้เพาะพันธุ์ไม่ได้
[๕๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ในพระนครสาวัตถี มีของฉัน คือ ผลไม้เกิดขึ้นมาก แต่ กัปปิยการกไม่มี ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่ฉันผลไม้ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ที่ใช้ เพาะพันธุ์ไม่ได้ หรือที่ปล้อนเมล็ดออกแล้ว ยังมิได้ทำกัปปะก็ฉันได้.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๑๑๔๔-๑๓๓๘ หน้าที่ ๔๖-๕๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=1144&Z=1338&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=5&A=1144&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=12              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=48              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=5&A=1200              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3938              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=5&A=1200              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3938              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/brahmali#pli-tv-kd6:16.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/horner-brahmali#Kd.6.15.10

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]