ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
รวมเรื่องที่มีในภิกขุนีขันธกะ
พระนางมหาปชาบดีโคตมีทูลขอบรรพชา พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ทรงโปรดเวไนยแล้วเสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปกรุงเวสาลี พระนางมหาปชาบดีโคตมีออกเดินทางไปกรุงเวสาลี มีพระวรกายเปรอะเปื้อนฝุ่นธุลี ชี้แจงความประสงค์ ต่อท่านพระอานนท์ที่ซุ้มประตู(กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน) พระอานนท์กราบทูลแจ้งต่อพระผู้มีพระภาคว่า มาตุคามเป็นภัพพบุคคล พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระมาตุจฉา เป็นผู้เลี้ยงดู พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดครุธรรม ๘ อย่าง ที่ภิกษุณีพึงประพฤติตลอดชีวิต คือ ๑. ภิกษุณีบวชได้ ๑๐๐ พรรษา ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้ที่บวชในวันนั้น ๒. ไม่พึงจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๖๖}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนีขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในภิกขุนีขันธกะ

๓. หวังธรรม ๒ อย่าง ๔. ปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ๕. ต้องครุธรรมพึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ๖. พึงแสวงหาอุปสมบทเพื่อสิกขมานาผู้ได้ศึกษาครบ ๒ ปี ๗. ไม่ด่าภิกษุ ๘. เปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือน การรับครุธรรม ๘ อย่างนั้นเป็นการอุปสัมปทาของ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้ามาตุคามไม่ออกบวช สัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี แต่เพราะมาตุคามออกบวช สัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี ความเสื่อมแห่งพระสัทธรรม เปรียบเหมือนโจรลักทรัพย์ หนอนขยอก เพลี้ย การกำหนดให้มาตุคามผู้จะออกบวชต้องรับครุธรรม ๘ อย่าง เปรียบเหมือนการกั้นทำนบที่ขอบสระใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออกไป พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้อุปสมบทภิกษุณี ต่อมา ภิกษุณีศากิยานีทั้งหลายกล่าวว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมียังไม่ได้อุปสมบท เพราะรับแต่ครุธรรม พระนางมหาปชาบดีโคตมีกราบทูล ขอให้ภิกษุและภิกษุณีอภิวาทกันตามลำดับพรรษา พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำอภิวาทมาตุคาม ตรัสวิธีปฏิบัติในสิกขาบทที่เป็นสาธารณบัญญัติ และไม่เป็นสาธารณบัญญัติ ทรงแสดงหลักตัดสินพระธรรมวินัย ตรัสเรื่องปาติโมกข์ และบุคคลที่ควรยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุณี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๖๗}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนีขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในภิกขุนีขันธกะ

ต่อมา ภิกษุทั้งหลายเข้าไปที่สำนักภิกษุณี ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พระผู้มีพระภาคทรงห้าม ต่อมาภิกษุณีทั้งหลายไม่รู้วิธีทำคืนอาบัติ ทรงอนุญาตให้ภิกษุอธิบายให้ภิกษุณีทราบได้ ต่อมา ภิกษุณีไม่ทำ ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย บอกภิกษุณีเกี่ยวกับวิธีทำคืนอาบัติ วิธีรับอาบัติ ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำกรรมแก่ภิกษุณี คนทั้งหลายตำหนิ ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีทำแก่ภิกษุณีด้วยกัน ต่อมา ภิกษุณีทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุมอบการลงโทษ ของภิกษุณีให้แก่ภิกษุณี ภิกษุณีอันเตวาสินีของ ภิกษุณีอุบลวรรณาเรียนวินัยจนสติฟั่นเฟือน พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้น้ำโคลนรดภิกษุณีทั้งหลาย พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ใช้น้ำโคลนรดภิกษุทั้งหลายในกรุงสาวัตถี ด้วยหวังจะให้ฝ่ายตรงข้ามรัก พระผู้มีพระภาคทรงให้ภิกษุณีประกาศว่าภิกษุนั้นไม่ควรไหว้ ต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เปิดกาย เปิดขาอ่อน เปิดองคชาตอวดภิกษุณี พูดเกี้ยวภิกษุณี พูดชักชวนบุรุษมาคบหาภิกษุณี ภิกษุนั้นภิกษุณีไม่ควรไหว้ พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ก็ทำเช่นเดียวกัน พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม โดยการห้ามปรามภิกษุและภิกษุณีผู้ทำเช่นนั้น เมื่อห้ามปรามไม่เชื่อ พึงงดโอวาท ไม่ควรทำอุโบสถกับภิกษุ ภิกษุณีผู้ถูกงดโอวาท ต่อมา พระอุทายีงดโอวาทแล้วหลีกไป พระผู้มีพระภาคทรงห้ามทำเช่นนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๖๘}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนีขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในภิกขุนีขันธกะ

ทรงห้ามภิกษุโง่เขลางดโอวาท ทรงห้ามงดโอวาทด้วยเรื่องที่ไม่สมควร ทรงห้ามงดโอวาทโดยไม่ให้คำวินิจฉัย ทรงกำหนดให้ภิกษุณีสงฆ์ต้องไปรับโอวาท ทรงห้ามภิกษุณี ๕ รูปไปรับโอวาท ทรงอนุญาตให้ภิกษุณี ๒-๓ รูปไปรับโอวาท ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งไม่รับให้โอวาท พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดให้ภิกษุต้องรับให้โอวาท ทรงกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า ภิกษุโง่เขลา ภิกษุอาพาธ ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทาง ไม่ต้องรับให้โอวาท แต่ภิกษุผู้อยู่ป่าตัองรับให้โอวาท ทรงกำหนดว่า ภิกษุทั้งหลายให้โอวาทแล้วต้องบอก รับให้โอวาทแล้วต้องกลับมาบอก ต่อมา ภิกษุณีใช้ประคดเอวผืนยาวรัดสีข้าง ใช้แผ่นไม้สานแผ่นหนัง ผ้าขาว ช้องผ้า เกลียวผ้า ผ้าผืนเล็ก ช้องผ้าผืนเล็ก เกลียวผ้าผืนเล็ก ช้องถักด้วยด้าย เกลียวด้ายรัดสีข้าง ใช้กระดูกแข้งโค สีตะโพก ใช้ไม้มีสัณฐานดุจคางโคนวดตะโพก นวดมือ นวดหลังมือนวดเท้า นวดหลังเท้า นวดขาอ่อน นวดหน้า นวดริมฝีปาก ต่อมา พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ทาหน้า ถูหน้า ผัดหน้า ใช้มโนศิลาเจิมหน้า ย้อมตัว ย้อมหน้า ย้อมทั้งตัวทั้งหน้า ทั้งสองอย่าง แต้มหน้า ทาแก้ม เล่นหูเล่นตา ยืนแอบที่ประตู ให้ผู้อื่นฟ้อนรำ ตั้งสำนักหญิงแพศยา ตั้งร้านขายสุรา ขายเนื้อ ออกร้านขายของเบ็ดเตล็ด ประกอบการค้ากำไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๖๙}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนีขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในภิกขุนีขันธกะ

ประกอบการค้าขาย ใช้ทาสทาสี กรรมกรชายหญิงให้ปรนนิบัติ ให้สัตว์ดิรัจฉานปรนนิบัติ ขายของสดและของสุก ใช้สันถัตขนเจียมหล่อ ต่อมา ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ห่มจีวรสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีดำ สีแสด สีชมพู จีวรไม้ตัดชาย มีชายยาว มีชายเป็นลายดอกไม้ มีชายเป็นแผ่น สวมเสื้อ สวมหมวก ต่อมา เมื่อภิกษุณี สิกขมานา สามเณรีถึงแก่มรณภาพ ภิกษุณีสงฆ์เป็นใหญ่ในบริขารที่ภิกษุณีเป็นต้นนั้นมอบให้ เมื่อภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และใครอื่นปลงบริขารให้ ภิกษุสงฆ์เป็นใหญ่ ภิกษุณีอดีตภรรยานักมวยใช้ไหล่กระแทกภิกษุทุพพลภาพรูปหนึ่ง ภิกษุณีรูปหนึ่งใช้บาตรใส่ทารกของหญิงคนหนึ่งที่แท้งออกมา พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดให้ภิกษุณีเมื่อพบภิกษุ ต้องแสดงบาตรให้ดู ภิกษุณีรูปหนึ่งแสดงก้นบาตร ภิกษุณีทั้งหลายเพ่งดูองคชาตของบุรุษที่เขาทิ้งไว้กลางถนน ภิกษุทั้งหลายให้อามิสมากมายแก่ภิกษุณี ภิกษุณีทั้งหลายมีอามิสเหลือเฟือ ทรงอนุญาตให้ถวายเป็นของส่วนบุคคล ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีรับอามิสที่ภิกษุเก็บไว้มาบริโภคได้ และทรงอนุญาตให้ภิกษุรับอามิสที่ภิกษุณีทั้งหลาย เก็บไว้มาบริโภคได้เช่นกัน ภิกษุณีรูปหนึ่งมีระดู นั่งบ้าง นอนบ้าง ทำให้เสนาสนะ เปื้อนโลหิต พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้าผลัดเปลี่ยน ทรงอนุญาตผ้าซับใน ทรงอนุญาตให้ใช้เชือกฟั่นผูกสะเอว ในเวลาที่มีระดู ไม่ควรผูกไว้ตลอดเวลา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๗๐}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนีขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในภิกขุนีขันธกะ

ภิกษุณีบางพวกเมื่ออุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าไม่มีเครื่องหมาย เพศบ้าง สักแต่ว่ามีเครื่องหมายเพศบ้าง ไม่มีประจำเดือนบ้าง มีประจำเดือนไม่หยุดบ้าง ใช้ผ้าซับเสมอบ้าง เป็นคนไหลซึมบ้าง มีเดือยบ้าง เป็นบัณเฑาะก์หญิงบ้าง มีลักษณะคล้ายชายบ้าง มีทวารหนักทวารเบาติดกันบ้าง มี ๒ เพศบ้าง พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้สอบถามอันตรายิกธรรมว่า เธอไม่มีเครื่องหมายเพศหรือจนถึงคำว่า เธอเป็นคน ๒ เพศหรือ แล้วถามว่าเป็นโรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู เป็นมนุษย์หรือ เป็นหญิงหรือ เป็นไทหรือ ไม่มีหนี้สินหรือ ไม่เป็นราชภัฏหรือ บิดามารดาหรือ สามีอนุญาตแล้วหรือ มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้วหรือ มีบาตรจีวรครบแล้วหรือ ชื่ออะไร ปวัตตินีของเธอชื่ออะไร รวม ๒๔ อย่าง แล้วให้อุปสมบท ต่อมา อุปสัมปทาเปกขายังไม่ได้สอนซ้อม เกิดความละอายท่ามกลางสงฆ์ ทรงอนุญาตให้ภิกษุณี สอนซ้อมสตรีอุปสัมปทาเปกขาก่อน ทรงอนุญาตให้ถืออุปัชฌาย์ในเบื้องต้น ต่อจากนั้นจึงบอกสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตราวาสก ผ้ารัดถัน ผ้าอาบน้ำแล้ว บอกให้ยืน ณ มุมหนึ่งที่ห่างออกไป ต่อมา ภิกษุณีโง่เขลารูปหนึ่งทำหน้าที่สอนซ้อม พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดว่าภิกษุณีไม่ได้รับแต่งตั้ง ไม่ควรสอนซ้อมถามอันตรายิกธรรม ภิกษุณีอุปสมบทในภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ต้องอุปสมบทในภิกษุสงฆ์อื่นอีก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๗๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนีขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในภิกขุนีขันธกะ

หลังจากที่อุปสมบทในฝ่ายภิกษุสงฆ์แล้ว พึงวัดเงาแดด บอกประมาณฤดู บอกส่วนแห่งวัน บอกสังคีติ(ประชุมสงฆ์) บอกนิสัย ๓ อกรณียกิจ ๘ ต่อมา ภิกษุณีโยกย้ายที่นั่งจนล่วงเวลา พระผู้มีพระภาคทรงให้นั่งตามลำดับพรรษา สำหรับภิกษุณี ๘ รูป ที่เหลือ อนุญาตตามลำดับที่มาในที่ทุกแห่ง ต่อมา ภิกษุณีไม่ปวารณากัน ทรงกำหนดให้ภิกษุณีปวารณา เมื่อปวารณาก็ไม่ปวารณากับภิกษุสงฆ์ ทรงกำหนดให้ปวารณาในภิกษุสงฆ์ด้วย เกิดความชุลมุนในขณะปวารณาพร้อมกับภิกษุ ไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีปวารณาพร้อมกับภิกษุ ไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีปวารณากันในเวลาก่อนภัตตาหาร ต่อมา ภิกษุณีทั้งหลายปวารณาในเวลาวิกาล ทรงอนุญาตให้ปวารณากันเองวันหนึ่ง วันรุ่งขึ้นจึงปวารณาในภิกษุสงฆ์ เมื่อภิกษุณีปวารณาเกิดชุลมุน ทรงอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุณี รูปหนึ่งเป็นตัวแทนปวารณาในภิกษุสงฆ์ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไม่ให้ภิกษุณีงดอุโบสถ ปวารณา สอบถาม เริ่มอนุวาทาธิกรณ์ ขอโอกาส โจทและให้การ แต่ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำอย่างนั้นแก่ภิกษุณีได้ ทรงห้ามภิกษุณีโดยสารยานพาหนะ ยกเว้นภิกษุณีผู้เป็นไข้ ทรงอนุญาตยานพาหนะที่เทียมด้วยโคเพศเมีย ยานพาหนะที่เทียมด้วยโคเพศผู้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๗๒}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนีขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในภิกขุนีขันธกะ

ยานพาหนะที่ใช้มือลากไปภิกษุณีรูปหนึ่งไม่สบายอย่างหนัก เพราะยานพาหนะกระเทือน ทรงอนุญาตวอและเปลหาม หญิงแพศยาชื่ออัฑฒกาสีบวชในสำนักภิกษุณี ต้องการจะไป กรุงสาวัตถีเพื่ออุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค แต่มีโจรแอบซุ่มอยู่ในหนทาง พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยทูต โดยมีภิกษุณีเป็นทูต ทรงห้ามอุปสมบทภิกษุณีโดยมีภิกษุ สิกขมานา สามเณร สามเณรี หรือภิกษุณีผู้โง่เขลาเป็นทูต ต่อมา ภิกษุณีรูปหนึ่งอยู่ในป่า ถูกโจรประทุษร้าย พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภิกษุณีอยู่ป่า ทรงอนุญาตโรงเก็บของ ที่อยู่ นวกรรม และเมื่อนวกรรมไม่เพียงพอก็สามารถทำเป็นของส่วนตัวได้ ต่อมา สตรีคนหนึ่งมีครรภ์ บวชในสำนักภิกษุณี คลอดบุตร พระผู้มีพระภาคทรงห้ามอยู่เพียงลำพัง ทรงห้ามภิกษุณีนอนใน ที่มุงบังเดียวกันกับเด็ก ทรงอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุณีเป็นเพื่อน ของภิกษุณีผู้ต้องอาบัติหนัก กำลังประพฤติมานัต ทรงวางข้อกำหนดว่า ภิกษุณีสึกออกไป โดยไม่บอกคืนสิกขาถือว่าได้สึกไปแล้ว ไม่ทรงอนุญาตให้บวชภิกษุณีทั้งหลายผู้ไปเข้ารีตเดียรถีย์ ภิกษุณีบางพวกไม่ยินดีการกราบ การปลงผม การตัดเล็บ การรักษาแผลจากพวกบุรุษ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ยินดีได้ ไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีนั่งขัดสมาธิ ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีเป็นไข้นั่งกึ่งขัดสมาธิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๗๓}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนีขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในภิกขุนีขันธกะ

ไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีถ่ายอุจจาระในวัจกุฎี ใช้จุรณสรงน้ำ ใช้ดินเหนียวอบกลิ่นสรงน้ำในเรือนไฟ สรงน้ำทวนกระแส สรงน้ำในที่ไม่ใช่ท่าน้ำ สรงน้ำที่ท่าของผู้ชาย พระนางมหาปชาบดีโคตมีและท่านพระอานนท์กราบทูลขอ อย่างระมัดระวัง พุทธบริษัท ๔ บรรพชาในพระศาสนา ของพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงแสดงขันธกะนี้ไว้ เพื่อให้เกิดความสังเวช และความเจริญแห่งพระสัทธรรม เหมือนเภสัชสำหรับระงับความกระวนกระวาย สตรีเหล่าอื่นที่ได้ฝึกฝนดีแล้วในพระสัทธรรมอย่างนี้ ย่อมไปสู่สถานที่อันไม่จุติซึ่งไปแล้วจะไม่เศร้าโศก
ภิกขุนีขันธกะ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๗๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๓๖๖-๓๗๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=7&siri=99              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=7223&Z=7297                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=613              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=613&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=613&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd20/en/horner-brahmali#BD.5.389 https://suttacentral.net/pli-tv-kd20/en/brahmali#pli-tv-kd20:27.4.37



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :