ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

๖. เสนาสนขันธกะ
๑. ปฐมภาณวาร
วิหารานุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตวิหาร
เรื่องเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ขออนุญาตสร้างวิหาร
[๒๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงบัญญัติ(ยัง ไม่ทรงอนุญาต)เสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย และภิกษุเหล่านั้นอยู่ในที่นั้นๆ คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เวลาเช้าตรู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินออกมาจากที่นั้นๆ คือ จากป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ทอดสายตาลงต่ำ มีการก้าวไป การ ถอยหลัง การมองดู การเหลียวดู การคู้แขน การเหยียดแขนน่าเลื่อมใส เป็นผู้ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ ครั้งนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ไปสวนแต่เช้าตรู่ ได้แลเห็นภิกษุเหล่านั้นเดิน ออกจากที่นั้นๆ คือ จากป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ทอดสายตาลงต่ำ มีการก้าวไป การถอยหลัง การมองดู การเหลียวดู การคู้แขน การเหยียดแขนน่าเลื่อมใส เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ ครั้นเห็นแล้ว เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์นั้นก็มีจิตเลื่อมใส ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วจึงได้ กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “ถ้ากระผมจะ ให้สร้างวิหาร พระคุณเจ้าจะอยู่ในวิหาร ของกระผมหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๘๙}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “คหบดี พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงอนุญาตวิหาร” เศรษฐีกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าจงทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วแจ้งให้ กระผมทราบ” ภิกษุเหล่านั้นรับคำของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ต้องการจะให้สร้างวิหารถวาย ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด คือ วิหาร เรือน มุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ” ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปหาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าว กับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ดังนี้ว่า “ท่านคหบดี พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตวิหาร๑- แล้ว บัดนี้ ท่านกำหนดกาลอันควรเถิด” ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้สร้างวิหาร ๖๐ หลัง โดยใช้เวลาแค่เพียง วันเดียว ครั้นให้สร้างเสร็จแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์จงรับนิมนต์ ฉัน ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้งนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึง ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วทูลลาจากไป @เชิงอรรถ : @ วิหาร หมายถึงเสนาสนะที่อยู่อาศัย (ดู วิ.อ. ๓/๒๙๔/๓๑๙, ๓๒๑/๓๔๓, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๙๔/๔๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๙๐}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

ครั้งผ่านราตรีนั้นไป เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอัน ประณีต แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ถวายวิหาร
เวลาเช้าตรู่ พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ ไปนิเวศน์ของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวายพร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรง ห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล ดังนี้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าต้องการบุญ ต้องการสวรรค์จึงให้สร้างวิหาร ๖๐ หลังนี้ไว้ ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติในวิหารเหล่านี้อย่างไรเล่า พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงถวายวิหารเหล่านั้นแก่สงฆ์ ในทิศทั้ง ๔ ผู้มาแล้วและยังไม่มา” เศรษฐีทูลรับพระพุทธดำรัสแล้วได้จัดถวายวิหาร ๖๐ หลังแก่สงฆ์จากทิศทั้ง ๔ ผู้มาแล้วและยังไม่มา
คาถาอนุโมทนาผู้ถวายวิหาร
[๒๙๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ด้วย พระคาถาเหล่านี้ว่า วิหารย่อมป้องกันความหนาวร้อนและสัตว์ร้าย นอกจากนั้น ยังป้องกันงู ยุงและฝนในคราวหนาวเย็น นอกจากนั้น ยังป้องกันลมและแดดอันร้อนจัดที่เกิดขึ้น การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพินิจ และเพื่อเห็นแจ้ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๙๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ถวายภิกษุผู้พหูสูตให้อยู่ในที่นี้เถิด อีกประการหนึ่ง ผู้เป็นบัณฑิตมีจิตเลื่อมใสในภิกษุพหูสูต ผู้ปฏิบัติตรง พึงถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะอันควรแก่ท่านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมอันเป็นเหตุบรรเทาสรรพทุกข์แก่เขา ซึ่งเมื่อเขารู้ทั่วถึงแล้วจะเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพานได้ในชาตินี้ ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ด้วยพระคาถาเหล่านี้ เสร็จแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๘๙-๙๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=7&siri=28              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=1619&Z=1686                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=198              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=198&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=7229              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=198&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=7229                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd16/en/brahmali# https://suttacentral.net/pli-tv-kd16/en/horner-brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :