ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

เรื่องเจ้าวัฑฒลิจฉวี
[๒๖๕] สมัยนั้น เจ้าวัฑฒลิจฉวีเป็นสหายของพระเมตติยะและพระภุมมชกะ๑- ครั้งนั้น เจ้าวัทฒลิจฉวีได้เข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า โยมไหว้ขอรับ” เมื่อ วัฑฒลิจฉวีกล่าวอย่างนี้ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ยอมพูดด้วย แม้ครั้งที่ ๒ เจ้าวัฑฒลิจฉวีก็กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะดังนี้ว่า “โยม ไหว้ ขอรับ” แม้ครั้งที่ ๒ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ยอมพูดด้วย แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าวัฑฒลิจฉวีก็กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า “โยม ไหว้ ขอรับ” แม้ครั้งที่ ๓ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ยอมพูดด้วย เจ้าวัฑฒลิจฉวีกล่าวต่อไปว่า “โยมมีความผิดอะไรต่อพระคุณเจ้า ทำไม พระคุณเจ้า จึงไม่ยอมพูดกับโยม” ภิกษุทั้งสองตอบว่า “จริงอย่างนั้นแหละ วัฑฒะ พวกเราถูกพระทัพพมัลลบุตร เบียดเบียน ท่านก็ยังทำเพิกเฉยอยู่ได้” เจ้าวัฑฒลิจฉวีถามว่า “โยมจะช่วยได้อย่างไร ขอรับ” ภิกษุทั้งสองตอบว่า “วัฑฒะ ถ้าท่านเต็มใจช่วย วันนี้แหละ พระผู้มีพระภาค ต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก” เจ้าวัฑฒลิจฉวีถามว่า “พระคุณเจ้า โยมจะทำอย่างไร จะช่วยได้ด้วยวิธีไหน” ภิกษุทั้งสองตอบว่า “มาเถิด วัฑฒะ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว จงกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ทิศที่เคยปลอดภัยก็กลับมีภัย ทิศที่ไม่เคยมีเสนียดจัญไรก็กลับมีเสนียด @เชิงอรรถ : @ พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นพระในกลุ่มพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ข้อ ๒๔๓ หน้า ๑ (เชิงอรรถ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๔}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

จัญไร ทิศที่ไม่มีอุปัททวะก็กลับมีอุปัททวะ ในทิศที่ไม่เคยมีลมก็กลับมีลมแรง น้ำก็ดู เป็นเหมือนน้ำร้อนขึ้นมา ปชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรทำมิดีมิร้าย” เจ้าวัฑฒลิจฉวีรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลกับพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ไม่สมควร ไม่ เหมาะสม ทิศที่เคยปลอดภัยก็กลับมีภัย ทิศที่ไม่เคยมีเสนียดจัญไรก็กลับมีเสนียด จัญไร ทิศที่ไม่มีอุปัททวะก็กลับมีอุปัททวะ ในทิศที่ไม่เคยมีลมก็กลับมีลมแรง น้ำก็ดู เป็นเหมือนน้ำร้อนขึ้นมา ปชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรทำมิดีมิร้าย”
ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ ถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอจำได้ไหมว่าได้ทำตามที่เจ้าวัฑฒะนี้กล่าวหา” ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรง ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร” แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตร ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอ จำได้ไหมว่าได้ทำตามที่เจ้าวัฑฒะนี้กล่าวหา” พระทัพพมัลลบุตรก็กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรง ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร” “ทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่แก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าเธอ ไม่ได้ทำก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ” “พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้จักการเสพเมถุนธรรมแม้ ในความฝัน ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อตอนตื่นอยู่” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๕}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตร๑- เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์”
เหตุแห่งการคว่ำบาตร๒-
สงฆ์พึงคว่ำบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ ๑. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย ๒. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย ๓. ขวนขวายเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย ๔. ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย ๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน ๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า ๗. กล่าวติเตียนพระธรรม ๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้
วิธีคว่ำบาตรและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า [๒๖๖] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีใส่ความท่านพระทัพพ มัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ นี่เป็นญัตติ @เชิงอรรถ : @ คว่ำบาตร หมายถึงไม่พึงรับไทยธรรมในเรือนของอุบาสกผู้ถูกคว่ำบาตร และส่งข่าวไปในวัดอื่นๆ ไม่ให้ @ภิกษุทั้งหลายรับภิกษาในเรือนของอุบาสกนั้น (วิ.อ. ๓/๒๖๕/๓๑๑) คว่ำบาตรด้วยกรรมวาจาสวดประกาศ @ไม่ให้รับไทยธรรมที่อุบาสกนั้นถวาย มิใช่หมายความว่าคว่ำปากบาตรลง (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖๕/๔๖๓) @ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๘๗/๔๑๕-๔๑๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๖}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีใส่ความท่านพระทัพพมัลล บุตร ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ท่าน รูปใดเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง เจ้าวัฑฒลิจฉวีถูกสงฆ์คว่ำบาตร ห้ามสมโภคกับสงฆ์แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
พระอานนท์ไปแจ้งข่าวเจ้าวัฑฒลิจฉวี
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ ของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ได้กล่าวกับเจ้าวัฑฒลิจฉวีดังนี้ว่า “วัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรท่าน ห้ามสมโภคกับสงฆ์” ครั้นเจ้าวัฑฒลิจฉวีทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตร ห้ามสมโภค กับสงฆ์ จึงสลบล้มลงที่นั้นเอง ขณะนั้น มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ได้กล่าวกับเจ้าวัฑฒ ลิจฉวี ดังนี้ว่า “ท่านอย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย พวกเราจะขอให้พระผู้มีพระภาคและ ภิกษุสงฆ์ยกโทษให้” ครั้งนั้นแล เจ้าวัฑฒลิจฉวีพร้อมกับโอรสและชายา มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิต มีผ้าเปียกผมเปียก๑- เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ซบศีรษะ ลงแทบพระยุคลบาทแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ หม่อม ฉันได้กระทำความผิด เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาที่ได้ใส่ความพระทัพพมัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อภัยโทษแก่หม่อมฉัน เพื่อความสำรวม ต่อไปเถิด” @เชิงอรรถ : @ การสรงน้ำดำเกล้า จนผ้าเปียกผมเปียกนี้ เป็นเครื่องแสดงความเศร้าโศกก่อนเข้าขอขมา เช่น พระเจ้าอุเทน @ไปขอขมานางสามาวดี พระองค์ทรงดำลงในน้ำจนพระพัสตร์และพระเกสาเปียกแล้วไปมอบแทบเท้าขอขมา @(องฺ.เอก.อ. ๑/๓๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๗}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “เอาเถิด การที่ท่านได้ทำความผิดเพราะความโง่เขลา เบาปัญญาที่ได้ใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล เพราะเหตุที่เห็นความ ผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนั้นเรารับ เพราะการที่บุคคลเห็นความผิดเป็น ความผิดแล้ว แก้ไขให้ถูกต้องและสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้
เหตุแห่งการหงายบาตร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ ๑. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย ๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย ๓. ไม่ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย ๔. ไม่ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย ๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน ๖. ไม่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า ๗. ไม่กล่าวติเตียนพระธรรม ๘. ไม่กล่าวติเตียนพระสงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้
วิธีหงายบาตรและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอย่างนี้ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สงฆ์คว่ำบาตรข้าพเจ้า ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ข้าพเจ้า นั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้แล้ว ขอการหงายบาตรกับสงฆ์” พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ. {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๘}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า [๒๖๗] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้าม สมโภคกับสงฆ์ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอ การหงายบาตรต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภค กับสงฆ์ได้ นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภค กับสงฆ์ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอการหงาย บาตร สงฆ์หงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับ การหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง เจ้าวัฑฒลิจฉวี สงฆ์หงายบาตร ให้สมโภคกับสงฆ์ได้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้” [๒๖๘] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จ จาริกไปทางภัคคชนบท เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงภัคคชนบท ทราบว่าพระผู้ มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามฤคทายวัน เมืองสุงสุมารคิระในภัคคชนบทนั้น


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๔๔-๔๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=7&siri=11              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=767&Z=895                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=110              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=110&items=10              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=110&items=10                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/brahmali#pli-tv-kd15:20.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/horner-brahmali#Kd.15.20



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :