ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

๘. มหานารทกัสสปชาดก๑- (๕๔๕)
ว่าด้วยพระมหานารทกัสสปะทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๑๕๓] พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระราชาของชาวแคว้นวิเทหะ ทรงพระนามว่าอังคติ ทรงมีพระราชยาน พระราชทรัพย์มากมาย ทรงมีพลนิกายเหลือที่จะคณานับ [๑๑๕๔] เมื่อปฐมยามคืนวันเพ็ญเดือน ๔ ซึ่งเป็นเวลาที่ดอกโกมุทบานยังไม่ผ่านไป พระองค์รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ [๑๑๕๕] ราชบัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยการศึกษาเล่าเรียน มีปกติยิ้มก่อนจึงพูด เฉลียวฉลาด และอำมาตย์ผู้ใหญ่อีก ๓ นาย คือ (๑) วิชัยอำมาตย์ (๒) สุนามอำมาตย์ (๓) อลาตเสนาบดีอำมาตย์ [๑๑๕๖] พระเจ้าวิเทหะตรัสถามอำมาตย์ ๓ นายนั้นทีละคนว่า ท่านทั้งหลายจงกล่าวตามความพอใจของตนๆ ว่า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๔ นี้ ดวงจันทร์แจ่มจรัส กลางคืนวันนี้ เราทั้งหลายจะพึงพักอยู่ ตลอดฤดูกาลเช่นนี้นี้ ด้วยความยินดีอะไร [๑๑๕๗] ลำดับนั้น อลาตเสนาบดีอำมาตย์ได้กราบทูล คำนี้แด่พระราชาว่า “ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงจัด ราชยาน กองพลช้าง กองพลม้า กองพลเสนา ที่ยินดีร่าเริงแล้วให้พร้อมสรรพ @เชิงอรรถ : @ พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ อุทยานลัฏฐิวัน ทรงปรารภการที่ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะ ตรัสมหา- @นารทกัสสปชาดกซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า ได้มีพระราชาแห่งกรุงวิเทหะ ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๑๕๘] ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะนำกองทัพ ที่ทรงพลังเกรียงไกรออกต่อสู้การยุทธ์ให้ได้ พวกใดยังไม่มาสู่อำนาจ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะนำมาสู่อำนาจ นี้เป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพระพุทธเจ้า เราทั้งหลายจะได้ชัยชนะผู้ที่ยังไม่ชนะ” [๑๑๕๙] สุนามอำมาตย์ได้ฟังคำของอลาตเสนาบดีอำมาตย์แล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราช พวกศัตรูของฝ่าพระบาทมาสู่พระราชอำนาจหมดแล้ว [๑๑๖๐] ต่างพากันวางศัสตรา ยอมสวามิภักดิ์แล้วทั้งหมด วันนี้เป็นวันมหรสพสนุกสนานยิ่ง การรบข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ [๑๑๖๑] ขอชนทั้งหลายจงรีบนำข้าวน้ำ และของควรเคี้ยวมาเพื่อพระองค์เถิด ขอเดชะ ขอฝ่าพระบาทจงทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ ในการฟ้อนรำ ขับร้อง และการประโคมอันไพเราะเถิด” [๑๑๖๒] วิชัยอำมาตย์ได้ฟังคำของสุนามอำมาตย์แล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราช กามทุกอย่าง ได้ปรากฏแก่พระองค์อยู่เป็นนิตย์แล้ว [๑๑๖๓] ขอเดชะ การเพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย พระองค์ทรงหาได้ไม่ยากเลย ทรงปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ การรื่นรมย์กามคุณทั้งหลายมิใช่ความคิดเห็นของข้าพระองค์ [๑๑๖๔] วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้ดีกว่า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๑๖๕] พระเจ้าอังคติได้สดับคำของวิชัยอำมาตย์แล้ว ได้ตรัสว่า แม้เราก็ชอบใจคำพูดของวิชัยอำมาตย์ตามที่พูดไว้ [๑๑๖๖] วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้ดีกว่า [๑๑๖๗] ท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกท่านจงลงมติว่า “วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาบัณฑิต ผู้รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้” [๑๑๖๘] อลาตเสนาบดีได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า ได้มีชีเปลือย ที่ชาวโลกยอมรับว่าเป็นนักปราชญ์อยู่ในมฤคทายวัน [๑๑๖๙] ชีเปลือยผู้นี้ชื่อว่าคุณะ ผู้กัสสปโคตร เป็นพหูสูต พูดจาไพเราะ เป็นเจ้าหมู่คณะ ขอเดชะ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาท่าน ท่านจักกำจัดความสงสัยของพวกเราได้” [๑๑๗๐] พระราชาได้ทรงสดับคำของอลาตเสนาบดีแล้ว ได้รับสั่งสารถีว่า “เราจะไปยังมฤคทายวัน ท่านจงนำยานที่เทียมม้าแล้วมาที่นี้” [๑๑๗๑] พวกนายสารถีได้จัดเทียมพระราชยานที่ทำด้วยงา มีกระพองเป็นเงิน และจัดรถพระที่นั่งรองที่บุผ้าขาวอันผุดผ่อง ดังดวงจันทร์ในราตรีที่ปราศจากมลทินโทษ มาถวายแด่พระราชานั้น [๑๑๗๒] รถนั้นเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัวล้วนแต่มีสีดังดอกโกมุท เป็นม้ามีฝีเท้าเร็วดังลมพัด วิ่งเรียบ ประดับด้วยดอกไม้ทอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๑๗๓] ฉัตร รถ ม้า และพัดวีชนีล้วนมีสีขาว พระเจ้าวิเทหะพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จออกย่อมงดงามเหมือนดวงจันทร์ [๑๑๗๔] หมู่พลราชบริพารผู้กล้าหาญอยู่บนหลังม้า ถือหอกดาบตามเสด็จจอมกษัตริย์ผู้ประเสริฐกว่านรชน [๑๑๗๕] พระเจ้าวิเทหะบรมกษัตริย์พระองค์นั้น เสด็จไปถึงมฤคทายวันโดยครู่เดียว เสด็จลงจากพระราชยานแล้ว ทรงดำเนินเข้าไปหาคุณาชีวก พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ [๑๑๗๖] ในคราวนั้น มีพราหมณ์และคหบดีแม้เหล่าใด มาประชุมกันในพระราชอุทยานนั้น พระราชามิให้พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น ผู้นั่งอยู่ที่ภาคพื้นซึ่งไม่ได้เว้นที่ไว้ลุกหนีไป [๑๑๗๗] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนราชอาสน์ ที่ปูลาดด้วยพระยี่ภู่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม ณ ที่อันสมควร [๑๑๗๘] ได้ทรงปราศรัยไต่ถามสุขทุกข์ว่า “พระคุณเจ้าสบายดีอยู่หรือ ลมมิได้กำเริบเสียดแทงหรือ [๑๑๗๙] พระคุณเจ้าเลี้ยงชีวิตโดยไม่ฝืดเคืองหรือ ได้บิณฑบาตพอประทังชีวิตให้เป็นไปอยู่หรือ พระคุณเจ้ามีอาพาธน้อยหรือ จักษุมิได้เสื่อมไปหรือ” [๑๑๘๐] คุณาชีวกทูลปราศรัยกับพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยินดีในวินัยว่า “ถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพสบายดีทุกประการ [๑๑๘๑] บ้านเมืองของพระองค์ไม่กำเริบหรือ ช้างม้าของพระองค์มิได้มีโรคหรือ ราชพาหนะก็ยังเป็นไปหรือ พยาธิไม่มีมาเบียดเบียนพระวรกายของพระองค์บ้างหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๑๘๒] ลำดับนั้น พระราชาผู้เป็นจอมทัพทรงใคร่ธรรม อันอาชีวกทูลชมเชยแล้ว ได้ตรัสถามอรรถธรรมและเหตุในลำดับว่า [๑๑๘๓] “ท่านกัสสปะ นรชนพึงประพฤติธรรม ในบิดาและมารดาอย่างไร พึงประพฤติธรรมในอาจารย์อย่างไร พึงประพฤติธรรมในบุตรภรรยาอย่างไร [๑๑๘๔] พึงประพฤติธรรมในวุฑฒบุคคลอย่างไร พึงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์อย่างไร พึงประพฤติธรรมในพลนิกายอย่างไร พึงประพฤติธรรมในชาวชนบทอย่างไร [๑๑๘๕] ชนทั้งหลายประพฤติธรรมอย่างไร ละโลกนี้แล้วจึงไปสู่สุคติ ส่วนคนบางพวกไม่ดำรงอยู่ในธรรม ทำไมจึงตกนรก” [๑๑๘๖] คุณาชีวกกัสสปโคตรได้ฟังพระดำรัส ของพระเจ้าวิเทหะแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสดับ ทางที่จริงแท้ของพระองค์เถิด [๑๑๘๗] ผลดีผลชั่วแห่งธรรมที่ประพฤติแล้วไม่มี ข้าแต่สมมติเทพ โลกอื่นไม่มี ใครเล่าจากโลกอื่นนั้นมาสู่โลกนี้ [๑๑๘๘] ข้าแต่สมมติเทพ ปู่ย่าตายายไม่มี มารดาบิดาจะมีได้ที่ไหน ชื่อว่าอาจารย์ไม่มี ใครจักฝึกคนที่ยังไม่ฝึก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๑๘๙] สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ทัดเทียมกันหมด ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี กำลังหรือความเพียรไม่มี บุรุษผู้มีความหมั่นจะได้รับผลแต่ที่ไหน สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดตามกันมาเหมือนเรือพ่วงตามเรือไป [๑๑๙๐] สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรจะได้ ในข้อนั้น ผลทานจะมีแต่ที่ไหน ข้าแต่สมมติเทพ ผลทานไม่มี เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร๑- พระเจ้าข้า [๑๑๙๑] พวกคนพาลบัญญัติทาน พวกบัณฑิตรับทาน พวกคนพาลถือตนว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้ไร้อำนาจ ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย [๑๑๙๒] รูปกายอันเป็นที่รวม ๗ ประการนี้ คือ (๑) ดิน (๒) น้ำ (๓) ไฟ (๔) ลม (๕) สุข (๖) ทุกข์ (๗) ชีวิต เป็นของเที่ยง ไม่ขาดสูญ ไม่กำเริบ ความขาดสูญไม่มีแก่สัตว์เหล่าใด รูปกาย ๗ ประการนี้ย่อมมีแก่สัตว์เหล่านั้น [๑๑๙๓] ผู้ฆ่า ผู้ตัด หรือใครๆ ผู้ถูกฆ่า ก็ไม่มี ศัสตราทั้งหลายสอดแทรกเข้าไป ในระหว่างรูปกาย ๗ ประการนี้ @เชิงอรรถ : @ เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร หมายถึงเมื่อผลทานไม่มีอย่างนี้ ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นคนโง่ก็ยังให้ @ทานอยู่ แต่เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร โดยสรุปอาชีวกกราบทูลชี้แจงว่า คนผู้นั้นไม่เชื่อว่าให้ทาน @ด้วยอำนาจ ด้วยกำลังของตน แต่สำคัญว่า ผลทานมีจึงให้ทาน เพราะเชื่อคนโง่พวกอื่น @(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๑๙๐/๑๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๑๙๔] ผู้ใดตัดศีรษะของผู้อื่นด้วยดาบที่ลับแล้ว ผู้นั้นไม่ชื่อว่าตัดรูปกายเหล่านั้น ในการทำเช่นนั้น ผลบาปจะมีแต่ที่ไหน [๑๑๙๕] สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ๘๔ มหากัป ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น แม้สำรวมดีแล้วก็บริสุทธิ์ไม่ได้ [๑๑๙๖] เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น แม้จะประพฤติความดีมากมายก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม้ถ้าทำบาปไว้มากมายก็ไม่ล่วงพ้นขณะนั้นไปได้ [๑๑๙๗] ในวาทะของเราทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ตามลำดับ เมื่อถึง ๘๔ กัป พวกเราย่อมไม่ล่วงเลยเขตที่แน่นอนนั้น เหมือนสาครไม่ล้นฝั่งไป” [๑๑๙๘] อลาตเสนาบดีได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรแล้ว ได้กล่าวดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าชอบใจ คำของท่านผู้เจริญตามที่กล่าวไว้ [๑๑๙๙] แม้ข้าพเจ้าเองก็ระลึกชาติก่อนที่ตนท่องเที่ยวไปได้ คือ ในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสี ที่เป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นพรานฆ่าโคชื่อปิงคละ [๑๒๐๐] ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสีที่เป็นเมืองมั่งคั่งแล้ว ได้ทำบาปกรรมไว้เป็นอันมาก คือ ได้ฆ่าสัตว์มีชีวิต ได้แก่ กระบือ สุกร แพะเป็นจำนวนมาก [๑๒๐๑] จุติจากชาตินั้นแล้วมาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริบูรณ์นี้ บาปไม่มีผลแน่นอน ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปตกนรก” [๑๒๐๒] ครั้งนั้น ในกรุงมิถิลานี้ ได้มีคนเข็ญใจเป็นทาสชื่อว่าวีชกะ กำลังรักษาอุโบสถ เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๐๓] ได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวก และของอลาตเสนาบดีกล่าวกันแล้ว จึงถอนหายใจอึดอัดร้องไห้หลั่งน้ำตา [๑๒๐๔] พระเจ้าวิเทหะได้ตรัสถามนายวีชกะนั้นว่า “สหาย เจ้าร้องไห้ทำไม เจ้าได้ฟังได้เห็นอะไรมาหรือ เจ้าได้รับทุกขเวทนาอะไร จงบอกให้เราทราบเถิด” [๑๒๐๕] นายวีชกะได้ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว ได้กราบทูลให้ทรงทราบดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราชข้าพระองค์ไม่มีทุกขเวทนาเลย ขอพระองค์ได้ทรงสดับคำของข้าพระพุทธเจ้าเถิด [๑๒๐๖] แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังระลึกถึง ความสุขในชาติก่อนของตนเองได้ คือ ในชาติก่อน ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยเกิดเป็นเศรษฐี ชื่อว่าภาวเศรษฐี ยินดีในคุณธรรมอยู่ในเมืองสาเกต [๑๒๐๗] ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้รับการยกย่องจากพราหมณ์และคหบดี ยินดีในการบริจาคทาน มีการงานสะอาด ระลึกถึงบาปกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ไม่ได้เลย [๑๒๐๘] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ ข้าพระพุทธเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว มาเกิดในครรภ์ของนางกุมภทาสี ซึ่งเป็นหญิงขัดสนยากจนในกรุงมิถิลานี้ ตั้งแต่เวลาที่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้า ก็เป็นยาจกเข็ญใจตลอดมา [๑๒๐๙] แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นคนยากจนอย่างนี้ ก็ยังตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติชอบ ได้ให้อาหารกึ่งหนึ่งแก่ผู้ที่ปรารถนา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๑๐] ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้รักษาอุโบสถศีล ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำทุกเมื่อ ไม่เบียดเบียนสัตว์และไม่ลักทรัพย์ [๑๒๑๑] กรรมทั้งปวงที่ข้าพระพุทธเจ้า ได้ประพฤติมาดีแล้วนี้ไร้ผลแน่ ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์เหมือนอลาตเสนาบดีกล่าว [๑๒๑๒] ข้าพระพุทธเจ้ากำเอาแต่ความปราชัยไว้ เหมือนนักเลงผู้ไร้ศิลปะเป็นแน่ ส่วนอลาตเสนาบดีกำเอาไว้แต่ชัยชนะ เหมือนนักเลงผู้ฝึกฝนการพนัน [๑๒๑๓] ข้าแต่พระราชา ข้าพระพุทธเจ้ายังมองไม่เห็นประตู ที่จะเป็นทางไปสู่สุคติเลย ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟัง คำของกัสสปคุณาชีวกแล้ว จึงร้องไห้” [๑๒๑๔] พระเจ้าอังคติได้สดับคำพูดของนายวีชกะแล้ว ได้ตรัสว่า “ประตูสุคติไม่มี ท่านยังสงสัยอีกหรือวีชกะ” [๑๒๑๕] ได้ทราบว่า “สุขหรือทุกข์สัตว์ได้เองแน่นอน สัตว์ทั้งหลายหมดจดได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ เมื่อยังไม่ถึงเวลา ท่านอย่าได้รีบด่วนไปเลย [๑๒๑๖] เมื่อก่อน แม้เราก็เคยทำความดีมา ขวนขวายช่วยเหลือพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สั่งสอนราชกิจอยู่เนืองๆ งดเว้นจากความยินดี(ในกามคุณ) ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ [๑๒๑๗] ท่านผู้เจริญ พวกเราจะได้พบกันอีก ถ้าจักมีการคบหาสมาคมกัน” พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ได้เสด็จกลับไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๑๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว พระเจ้าอังคติรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ในสถานที่ประทับสำราญของพระองค์แล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า [๑๒๑๙] “ขอเหล่าอำมาตย์จงจัดกามคุณทั้งหลายให้แก่เราทุกเมื่อ ในจันทกปราสาทของเรา เมื่อราชการลับถูกเปิดเผยขึ้น ใครๆ อย่าได้เข้ามาหาเรา [๑๒๒๐] อำมาตย์ฉลาดในราชกิจ ๓ นาย คือ (๑) วิชัยอำมาตย์ (๒) สุนามอำมาตย์ (๓) อลาตเสนาบดี จงนั่งพิจารณาข้อราชการเหล่านี้” [๑๒๒๑] พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า “ขอท่านทั้งหลายจงใส่ใจในกามคุณให้มาก และอย่าได้ไปยุ่งในกิจการอะไรๆ ในพวกพราหมณ์และคหบดีเลย” [๑๒๒๒] ตั้งแต่วันนั้นมา ๒ สัปดาห์ พระราชกัญญาพระนามว่ารุจา ผู้เป็นพระธิดาเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหะ ได้ตรัสกับพระพี่เลี้ยงว่า [๑๒๒๓] “ขอพวกท่านจงช่วยกันประดับประดาให้ฉันด้วย และขอให้เพื่อนหญิงของฉันจงช่วยกันประดับ พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำเป็นวันทิพย์๑- ฉันจะไปเฝ้าพระบิดา” @เชิงอรรถ : @ วันทิพย์ หมายถึงวันที่เทวดาประชุมกันประดับตกแต่งร่างกาย (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๒๓/๑๕๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๒๔] พระพี่เลี้ยงทั้งหลายได้จัดมาลัย แก่นจันทน์ แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา และผ้าสีต่างๆ ที่มีค่ามากมาถวายแด่พระนางรุจานั้น [๑๒๒๕] หญิงเป็นอันมากแวดล้อมพระนางรุจาราชธิดา ผู้มีพระฉวีวรรณงามนั้น ผู้ประทับนั่งอยู่บนพระภัทรบิฐ๑- สวยงามยิ่งนักดังนางเทพกัญญา [๑๒๒๖] พระนางรุจาราชธิดานั้นทรงประดับสรรพาภรณ์ เสด็จไป ณ ท่ามกลางเพื่อนหญิง เหมือนสายฟ้าแลบออกจากเมฆ ได้เสด็จเข้าสู่จันทกปราสาท [๑๒๒๗] ครั้นเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหะ ถวายบังคมพระบิดาผู้ทรงยินดีในคำแนะนำแล้ว ประทับอยู่บนพระภัทรบิฐอันขจิตด้วยทอง ณ ที่อันสมควร [๑๒๒๘] พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นพระนางรุจา ประทับอยู่ท่ามกลางพระสหายหญิง ซึ่งเป็นเหมือนสมาคมของนางเทพอัปสร จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า [๑๒๒๙] “ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาท และสระโบกขรณีในภายในอุทยานอยู่หรือ คนเหล่านั้นยังนำของเสวยเป็นอันมาก มาให้ลูกหญิงอยู่เสมอหรือ [๑๒๓๐] ลูกหญิงและเพื่อนหญิงของลูก ยังเก็บดอกไม้หลายชนิดมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทำเรือนหลังเล็กๆ แต่ละหลังเล่นเพลิดเพลินอยู่หรือ @เชิงอรรถ : @ ภัทรบิฐ หมายถึงตั่งทอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๓๑] อีกประการหนึ่ง ลูกหญิงยังขาดแคลนบกพร่องอะไรบ้าง คนเหล่านั้นรีบนำสิ่งของมาให้ทันใจลูกหรือ ลูกรักผู้มีพักตร์ผ่องใส ลูกจงทำใจของเจ้าให้ผ่องใส เช่นกับดวงจันทร์เถิด” [๑๒๓๒] พระนางรุจาราชธิดาได้สดับพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว ได้กราบทูลพระบิดาว่า “ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันได้สิ่งนี้ทั้งหมดในสำนักของพระองค์ [๑๒๓๓] พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์ ขอราชบุรุษทั้งหลายจงนำพระราชทรัพย์พันหนึ่งมาให้หม่อมฉัน หม่อมฉันจักให้ทานแก่วณิพกทั้งปวงตามที่เคยให้มา” [๑๒๓๔] พระเจ้าอังคติได้สดับพระดำรัส ของพระนางรุจาแล้วตรัสว่า ลูกหญิงทำลายทรัพย์ให้พินาศไปเสียเป็นจำนวนมาก หาผลประโยชน์มิได้ [๑๒๓๕] ลูกหญิงรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์ ลูกหญิงจักต้องไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์ บุญไม่มีแก่ผู้ไม่บริโภค [๑๒๓๖] แม้นายวีชกะได้ฟังคำพูดของคุณาชีวกกัสสปโคตรในเวลานั้น ถอนหายใจฮึดฮัด ร้องไห้หลั่งน้ำตาแล้ว [๑๒๓๗] ลูกหญิงรุจาเอ๋ย ตราบใดที่ลูกยังมีชีวิตอยู่ ก็อย่าได้อดอาหารเลย ปรโลกไม่มีหรอก ลูกหญิงจะลำบากเดือดร้อนไปทำไมไร้ประโยชน์” [๑๒๓๘] พระนางรุจาผู้มีพระฉวีวรรณงดงาม ได้สดับพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว ก็ทรงทราบกฎธรรมดาในอดีต ๗ ชาติ ในอนาคต ๗ ชาติ กราบทูลพระบิดาดังนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๓๙] “แต่ก่อน หม่อมฉันได้แต่ฟังเท่านั้น หม่อมฉันได้เห็นข้อนี้อย่างประจักษ์ว่า ผู้ใดคบหาคนพาล ผู้นั้นก็พลอยเป็นพาลไปด้วย [๑๒๔๐] เพราะว่าคนหลงอาศัยคนหลง ก็ยิ่งเข้าถึงความหลงหนักขึ้น อลาตเสนาบดี และนายวีชกะสมควรจะหลง [๑๒๔๑] ข้าแต่สมมติเทพ ส่วนพระองค์ทรงพระปรีชา เป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดในอรรถ จะทรงเป็นเหมือนพวกคนพาลเข้าถึงทิฏฐิต่ำทรามได้อย่างไร [๑๒๔๒] แม้ถ้าสัตว์จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ การบวชของคุณาชีวกก็ไร้ประโยชน์ เขาเป็นคนหลงใหลงมงายจะเข้าถึงความเป็นคนเปลือย เหมือนแมลงหลงบินเข้ากองไฟที่ลุกโชน [๑๒๔๓] คนส่วนมากผู้ไม่รู้อะไร พอได้ฟังคำของคุณาชีวกว่า ความหมดจดมีได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ก็เชื่อมั่นเสียก่อนทีเดียว จึงพากันปฏิเสธกรรมและผลของกรรม ผลที่เคยยึดถือผิดมาก่อนยากที่จะแก้ได้ เหมือนปลาติดเบ็ดยากที่จะแก้ตนออกจากเบ็ดได้ [๑๒๔๔] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันจักยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ เพื่อประโยชน์แก่ทูลกระหม่อมเอง บัณฑิตบางพวกในโลกนี้ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยการเปรียบเทียบ [๑๒๔๕] เหมือนเรือของพ่อค้าบรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ ย่อมทำสินค้าที่หนักยิ่งจมดิ่งลงในมหาสมุทรฉันใด [๑๒๔๖] คนสั่งสมบาปกรรมไว้ทีละน้อยๆ ก็จะพาเอาบาปกรรมที่หนักอย่างยิ่ง จมดิ่งลงในนรกฉันนั้นเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๔๗] ขอเดชะเสด็จพ่อ ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน อกุศลอันหนักของอลาตเสนาบดียังไม่บริบูรณ์ก่อน อลาตเสนาบดีสั่งสมแต่บาปที่เป็นเหตุให้ไปทุคติ [๑๒๔๘] ขอเดชะเสด็จพ่อ ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน การที่อลาตเสนาบดีได้รับความสุขอยู่ในบัดนี้ เป็นผลบุญที่ตนได้เคยทำไว้ในปางก่อนนั่นเอง พระเจ้าข้า [๑๒๔๙] บุญของอลาตเสนาบดีนั้นกำลังจะหมดสิ้น จริงอย่างนั้น บัดนี้ อลาตเสนาบดี จึงกลับมายินดีในอกุศลกรรมที่ไม่ใช่คุณ เลิกละทางตรงไปตามทางผิด [๑๒๕๐] ตราชั่งที่กำลังชั่งของต่ำลงข้างหนึ่ง เมื่อเอาของหนักออก ข้างที่ต่ำจะสูงขึ้นฉันใด [๑๒๕๑] นรชนก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสั่งสมบุญทีละน้อยๆ ย่อมไปสู่สวรรค์ เหมือนนายวีชกะผู้เป็นทาสยินดีในกรรมอันงาม [๑๒๕๒] นายวีชกะผู้เป็นทาสเห็นทุกข์ในตนวันนี้ เพราะได้ประสบบาปกรรม ที่ตนเคยได้ทำไว้ในปางก่อนนั่นเอง [๑๒๕๓] บาปกรรมของเขากำลังจะหมดสิ้นไป บัดนี้ เขาจึงกลับมายินดีในข้อแนะนำ ทูลกระหม่อมอย่าคบกัสสปคุณาชีวกเลย ขอพระองค์อย่าดำเนินทางผิดเลย [๑๒๕๔] ข้าแต่พระบิดา บุคคลคบบุคคลเช่นใด เป็นสัตบุรุษผู้มีศีล หรืออสัตบุรุษผู้ไม่มีศีล เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของบุคคลนั้นเท่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๕๕] บุคคลทำคนเช่นใดให้เป็นมิตรและคบหาคนเช่นใด แม้เขาก็ย่อมเป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันก็เป็นเช่นนั้น [๑๒๕๖] ผู้คบย่อมแปดเปื้อนคนคบ ผู้สัมผัสย่อมแปดเปื้อนคนสัมผัส เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่ง เพราะกลัวจะแปดเปื้อน นักปราชญ์ไม่ควรมีคนชั่วเป็นสหาย [๑๒๕๗] การคบหาคนพาลก็เหมือนคนเอาใบไม้ห่อปลาเน่า แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปด้วย [๑๒๕๘] การคบนักปราชญ์ก็เหมือนคนเอาใบไม้ห่อกฤษณา แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไปด้วย [๑๒๕๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตน ดังใบไม้สำหรับห่อแล้ว จึงเลิกคบอสัตบุรุษ คบแต่สัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก ส่วนสัตบุรุษย่อมนำให้ถึงสุคติ [๑๒๖๐] แม้หม่อมฉันก็ระลึกชาติที่ตนได้ท่องเที่ยวมาแล้ว ได้ ๗ ชาติ และรู้ชาติที่ตนจุติจากโลกนี้แล้ว จักไปเกิดในอนาคตอีก ๗ ชาติ [๑๒๖๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปกครองประชาชน ชาติที่ ๗ ของหม่อมฉันในอดีต หม่อมฉันได้เกิดเป็นบุตรชายของนายช่างทอง ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ [๑๒๖๒] หม่อมฉันอาศัยสหายชั่วทำบาปกรรมไว้มาก เที่ยวประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่นเหมือนจะไม่ตาย [๑๒๖๓] กรรมนั้นยังไม่ทันให้ผลเหมือนไฟที่ถูกกลบไว้ด้วยเถ้า ต่อมา ด้วยกรรมอื่นๆ หม่อมฉันจึงได้เกิดในแคว้นวังสะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๖๔] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันเป็นบุตรคนเดียว ในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มากในกรุงโกสัมพี ได้รับสักการะบูชาอยู่เป็นนิตย์ [๑๒๖๕] ในชาตินั้น หม่อมฉันได้คบหามิตรสหาย ผู้ยินดีในกรรมอันงาม ผู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต สหายนั้นได้แนะนำให้หม่อมฉันตั้งอยู่ในกรรมอันเป็นประโยชน์ [๑๒๖๖] หม่อมฉันได้รักษาอุโบสถศีล ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตลอดราตรีเป็นอันมาก กรรมนั้นยังไม่ทันให้ผลเหมือนขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้น้ำ [๑๒๖๗] ครั้นต่อมา บรรดาบาปกรรมทั้งหลาย กรรมคือการล่วงละเมิดภรรยาของผู้อื่นใด ที่หม่อมฉันได้กระทำไว้ในแคว้นมคธ ผลของกรรมนั้นได้มาถึงหม่อมฉันเข้าแล้วในภายหลัง เหมือนดื่มยาพิษอันร้ายแรง [๑๒๖๘] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ หม่อมฉันจุติจากตระกูลเศรษฐีในกรุงโกสัมพีนั้นแล้ว ต้องหมกไหม้อยู่ในโรรุวนรกตลอดกาลนาน เพราะกรรมของตน หม่อมฉันระลึกถึงทุกข์ ที่ตนเคยได้เสวยมาในนรกนั้น ไม่ได้รับความสุขเลย [๑๒๖๙] หม่อมฉันทำทุกข์มากมายให้หมดสิ้นไป ในนรกนั้นมากมายหลายปีแล้ว จึงเกิดเป็นลาถูกตอนอยู่ในภินนาคตนคร พระเจ้าข้า [๑๒๗๐] หม่อมฉันต้องพาลูกอำมาตย์ไปด้วยหลังบ้าง ด้วยรถบ้าง นั่นเป็นผลของกรรมที่ล่วงละเมิดภรรยาของคนอื่นของหม่อมฉัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ครองแคว้นวิเทหะ หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลานั้นแล้วได้ไปเกิดเป็นลิงในป่าใหญ่ ถูกหัวหน้าฝูงตัวคะนองกัดลูกอัณฑะออก นั่นเป็นผลของกรรมที่ล่วงละเมิดภรรยาของคนอื่นของหม่อมฉัน [๑๒๗๒] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลิงนั้นแล้ว ได้ไปเกิดเป็นโคในแคว้นทสันนะ ถูกตอน มีกำลังแข็งแรงดี หม่อมฉันต้องเทียมยานอยู่เป็นเวลานาน นั่นเป็นผลของกรรมที่ล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่นของหม่อมฉัน [๑๒๗๓] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นโคนั้นแล้ว ได้ไปเกิดเป็นกะเทยในตระกูลที่มีโภคสมบัติมากในแคว้นวัชชี จะได้เกิดเป็นมนุษย์ก็แสนยาก นั่นเป็นผลของกรรมคือการล่วงละเมิดภรรยาคนอื่นของหม่อมฉัน [๑๒๗๔] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นกะเทยนั้นแล้ว ได้ไปเกิดเป็นนางอัปสรในพระอุทยานนันทวันชั้นดาวดึงสพิภพ มีฉวีวรรณงามน่ารักใคร่ [๑๒๗๕] มีผ้าและอาภรณ์งามวิจิตร ใส่ตุ้มหูแก้วมณี เก่งในการฟ้อนรำขับร้อง เป็นปริจาริกาของท้าวสักกะ [๑๒๗๖] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ เมื่อหม่อมฉันอยู่ในชั้นดาวดึงสพิภพนั้น ระลึกชาติแม้ในอนาคตได้อีก ๗ ชาติ ที่หม่อมฉันจุติจากดาวดึงสพิภพนั้นแล้วจักเกิดต่อไป [๑๒๗๗] กุศลที่หม่อมฉันได้ทำไว้ในกรุงโกสัมพีได้ตามมาให้ผล หม่อมฉันจุติจากดาวดึงสพิภพแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๗๘] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันนั้น ได้รับสักการะบูชาเป็นนิตย์มาตลอด ๗ ชาติ หม่อมฉันไม่พ้นจากความเป็นหญิงตลอด ๖ ชาติ [๑๒๗๙] ข้าแต่สมมติเทพ ชาติที่ ๗ หม่อมฉันจักได้เกิดเป็นเทวดาผู้ชาย คือ เป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา [๑๒๘๐] แม้วันนี้ เหล่านางอัปสรผู้เป็นปริจาริกาของหม่อมฉัน ยังช่วยกันร้อยดอกไม้เป็นพวงมาลัยอยู่ในพระอุทยานนันทวัน เทพบุตรนามว่าชวะ ยังรับพวงมาลัยของหม่อมฉันอยู่ [๑๒๘๑] ๑๖ ปีในมนุษย์นี้เป็นเหมือนครู่หนึ่งของเทวดา ๑๐๐ ปีของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดา [๑๒๘๒] ดังที่ได้กราบทูลมานี้ กรรมทั้งหลายติดตามไปได้ แม้ตั้งอสงไขยชาติ ด้วยว่ากรรมจะดีหรือชั่วก็ตามย่อมไม่พินาศไป [๑๒๘๓] บุคคลใดปรารถนาจะเป็นชายทุกๆ ชาติไป บุคคลนั้นพึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย เหมือนคนล้างเท้าสะอาดแล้วเว้นเปือกตม [๑๒๘๔] หญิงใดปรารถนาจะเป็นชายทุกๆ ชาติไป หญิงนั้นก็พึงยำเกรงสามีเหมือนนางเทพอัปสร ผู้เป็นปริจาริกายำเกรงพระอินทร์ [๑๒๘๕] ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุ ยศ และสุขทิพย์ ผู้นั้นพึงเว้นบาปทั้งหลายแล้วประพฤติธรรม ๓ อย่าง๑- เถิด @เชิงอรรถ : @ ธรรม ๓ อย่าง ในที่นี้หมายถึงสุจริต ๓ ที่เป็นไปทางกาย วาจา ใจ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๘๖] หญิงหรือชายก็ตาม ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน [๑๒๘๗] มนุษย์เหล่าใดในชีวโลกนี้ เป็นผู้มียศ มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ทุกอย่าง มนุษย์เหล่านั้นได้สั่งสมกรรมดีไว้ในปางก่อนโดยไม่ต้องสงสัย สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นของของตน [๑๒๘๘] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริ ด้วยพระองค์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน พระสนมผู้ทรงโฉมงามปานดังนางเทพอัปสร ประดับประดาคลุมกายด้วยข่ายทองเหล่านี้ พระองค์ทรงได้มาเพราะผลแห่งกรรมอะไร” [๑๒๘๙] พระนางรุจาราชกัญญาทรงให้พระเจ้าอังคติ พระชนกนาถพอพระทัย พระราชกุมารีผู้มีวัตรดีงาม ทรงกราบทูลทางแห่งสุคติแก่พระชนกนาถพระองค์นั้นแล้ว เหมือนบอกทางให้แก่คนหลงทาง และได้กราบทูลข้อธรรมถวายด้วยประการฉะนี้ [๑๒๙๐] ต่อมา นารทมหาพรหมตรวจดูชมพูทวีป ได้เห็นพระเจ้าอังคติ จึงมาจากพรหมโลกถึงถิ่นมนุษย์ [๑๒๙๑] ลำดับนั้น นารทมหาพรหมได้ยืนอยู่ที่ปราสาท เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าวิเทหะ พระนางรุจาราชกัญญาได้เห็นนารทฤๅษีนั้น มาถึงที่แล้ว จึงนมัสการ [๑๒๙๒] ครั้งนั้น พระราชาทรงมีพระทัยหวาดกลัว เสด็จลงจากราชอาสน์ เมื่อจะตรัสถามนารทฤๅษี จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๒๙๓] “ท่านผู้มีผิวงามดังเทวดา ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศดังดวงจันทร์ ท่านมาจากที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกนามและโคตรแก่ข้าพเจ้า คนทั้งหลายในมนุษยโลกย่อมรู้จักท่านได้อย่างไร” (นารทฤๅษีกราบทูลว่า) [๑๒๙๔] อาตมภาพมาจากเทวโลก ณ บัดนี้เอง ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศดังดวงจันทร์ มหาบพิตรตรัสถามแล้ว อาตมภาพขอถวายพระพรนามและโคตรให้ทรงทราบ คนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยนามว่านารทะ และโดยโคตรว่า กัสสปะ (พระราชาตรัสถามว่า) [๑๒๙๕] สัณฐานของท่าน การที่ท่านเหาะไป และยืนอยู่บนอากาศได้น่าอัศจรรย์ ท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงมีฤทธิ์เช่นนี้ (นารทฤๅษีทูลตอบว่า) [๑๒๙๖] คุณธรรม ๔ ประการนี้ คือ (๑) สัจจะ (๒) ธรรม (๓) ทมะ (๔) จาคะ๑- อาตมภาพได้ทำไว้แล้วในภพก่อน เพราะคุณธรรมที่อาตมภาพได้เสพมาดีแล้วนั้นแหละ อาตมภาพจึงไปได้เร็วทันใจตามความปรารถนา @เชิงอรรถ : @ คุณธรรม ๔ ประการนี้ มีอธิบาย ดังนี้ สัจจะ หมายถึงวจีสัจที่เว้นจากมุสาวาท ธรรม หมายถึงธรรม @คือสุจริต ๓ และธรรมคือการเพ่งกสิณบริกรรม (การปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน) ทมะ หมายถึงการฝึก @อินทรีย์ (สำรวมทวาร ๖) จาคะ หมายถึงการสละกิเลสและการสละไทยธรรม (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๙๘/๑๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

(พระราชาตรัสถามว่า) [๑๒๙๗] เมื่อท่านบอกความสำเร็จแห่งบุญ ชื่อว่าท่านบอกความอัศจรรย์ ถ้าเป็นจริงอย่างที่ท่านกล่าว ท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน ขอท่านจงพยากรณ์ให้ดี (นารทฤๅษีทูลตอบว่า) [๑๒๙๘] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ข้อใดพระองค์ทรงสงสัย ขอเชิญมหาบพิตรตรัสถามข้อนั้นกับอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะวิสัชนาถวายให้มหาบพิตรทรงสิ้นสงสัย ทั้งโดยนัยด้วยความรู้และด้วยเหตุผล (พระราชาตรัสถามว่า) [๑๒๙๙] ท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน ท่านอย่าได้กล่าวมุสาต่อข้าพเจ้า ที่คนพูดกันว่า “เทวดามี มารดาและบิดามี ปรโลกมี” นั้นเป็นจริงหรือ (นารทฤๅษีทูลตอบว่า) [๑๓๐๐] ที่คนพูดกันว่า “เทวดามี มารดาและบิดามี และปรโลกมี” นั้นเป็นจริงทั้งนั้น แต่คนทั้งหลายหมกมุ่น ติดใจ หลงใหล งมงายในกามคุณ จึงไม่รู้จักปรโลก (พระราชาตรัสถามว่า) [๑๓๐๑] ท่านนารทะ ถ้าท่านเชื่อว่า “ปรโลกมีจริง” เหล่าสัตว์ที่ตายไปแล้วก็ต้องมีที่อยู่ในปรโลก ขอท่านจงให้ทรัพย์ ๕๐๐ แก่ข้าพเจ้าในโลกนี้แหละ ข้าพเจ้าจักให้แก่ท่านพันหนึ่งในปรโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

(นารทฤๅษีทูลตอบว่า) [๑๓๐๒] ถ้าอาตมภาพรู้ว่า “มหาบพิตรทรงมีศีล ทรงรู้ความประสงค์ของพวกผู้ขอ อาตมภาพก็จะให้มหาบพิตรสัก ๕๐๐ แต่มหาบพิตรหยาบช้า ทรงจุติจากโลกนี้แล้ว จะต้องไปอยู่ในนรก ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกได้ [๑๓๐๓] ผู้ใดในโลกนี้ไม่มีศีลธรรม ประพฤติชั่ว เกียจคร้าน มีกรรมหยาบ บัณฑิตทั้งหลายไม่ให้กู้หนี้ในผู้นั้น เพราะจะไม่ได้ทรัพย์คืนจากคนเช่นนั้น [๑๓๐๔] ส่วนคนขยันหมั่นเพียร มีศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ คนทั้งหลายรู้แล้วย่อมนำโภคทรัพย์มาเชื้อเชิญเอง ด้วยคิดว่า “ผู้นี้ทำการงานเสร็จแล้วพึงนำมาใช้คืนให้” [๑๓๐๕] ขอถวายพระพร มหาบพิตรจุติจากที่นี่แล้ว จักทอดพระเนตรเห็นพระองค์เองอยู่ในนรกนั้น ผู้ถูกฝูงกายื้อแย่งฉุดคร่าอยู่ ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร ผู้ตกอยู่ในนรกซึ่งถูกฝูงกา แร้ง และสุนัขรุมกัดกิน ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมอยู่ [๑๓๐๖] ในโลกันตนรกนั้นมืดมิดที่สุด ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ โลกันตนรกนั้นมืดมิดอยู่เป็นนิตย์ น่ากลัว กลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ ผู้ต้องการทรัพย์ ใครเล่าจะพึงเที่ยวไปในสถานที่นั้นได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๓๐๗] ในโลกันตนรกนั้นมีสุนัข ๒ ตัว คือ สุนัขด่างและสุนัขดำคล้ำ มีตัวกำยำ ล่ำสัน แข็งแรง พากันใช้เขี้ยวเหล็กกัดกินผู้ที่จุติจากมนุษยโลกนี้แล้ว ไปตกอยู่ในนรก [๑๓๐๘] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร ผู้ถูกฝูงสุนัขทารุณโหดร้าย ตัวนำทุกข์มาให้รุมกัดกินอยู่ อยู่ในนรกจนตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม [๑๓๐๙] และในนรกที่โหดร้าย มีพวกนายนิรยบาลชื่อกาฬะและอุปกาฬะ ผู้เป็นข้าศึกใช้ดาบและหอกที่ลับไว้เป็นอย่างดี เชือดเฉือนและทิ่มแทงคนผู้ทำกรรมชั่วไว้ในภพก่อน [๑๓๑๐] ใครเล่าจะพึงไปทวงถามเอาทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลก กับมหาบพิตรผู้ถูกทิ่มแทงเข้าที่พระอุทร ที่พระปรัศว์ มีพระอุทรพรุนวิ่งไปมาอยู่ในนรก มีตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้ [๑๓๑๑] ในโลกันตนรกนั้น มีห่าฝนชนิดต่างๆ คือ ฝนหอก ฝนดาบ ฝนแหลน ฝนหลาว มีประกายลุกวาว เหมือนถ่านเพลิงตกลงบนศีรษะ สายอัสนีบาตศิลาแดงโชนตกลงทับสัตว์นรกผู้มีกรรมหยาบช้า [๑๓๑๒] และในนรกนั้น มีลมร้อนอันยากที่จะทนได้ สัตว์ในนรกนั้นไม่ได้รับความสุขแม้แต่น้อย ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร ผู้ทรงกระสับกระส่ายวิ่งพล่านไปมา หาที่ซ่อนเร้นมิได้ [๑๓๑๓] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร ผู้ถูกเทียมไว้ในรถวิ่งไปมาอยู่ ต้องทรงเหยียบแผ่นดินที่ลุกโชน ถูกทิ่มแทงด้วยดีด้วยปฏักอยู่ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๓๑๔] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กับมหาบพิตร ผู้ทนอยู่ไม่ได้วิ่งไปขึ้นภูเขาที่ดารดาษไปด้วยขวากกรด ลุกโชนน่าสยดสยองอย่างยิ่ง มีตัวถูกตัดขาด หลั่งเลือดไหลโทรมอยู่ได้ [๑๓๑๕] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร ผู้ต้องวิ่งขึ้นไปเหยียบถ่านเพลิงกองเท่าภูเขาที่ลุกโชน น่ากลัว มีตัวถูกไฟไหม้ทนไม่ไหว ร้องครวญครางอย่างน่าสงสารอยู่ได้ [๑๓๑๖] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคม กระหายจะดูดดื่มเลือดคน [๑๓๑๗] หญิงทั้งหลายที่ประพฤตินอกใจสามี และชายหญิงทั้งหลายที่เป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น ถูกนายนิรยบาลผู้ทำตามคำสั่งของพญายม ถือหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น [๑๓๑๘] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์นั้น กับมหาบพิตรผู้ต้องปีนขึ้นต้นงิ้วในนรก มีเลือดไหลเปรอะเปื้อน มีกายไหม้เกรียม มีหนังและเนื้อถลอกปอกเปิกกระสับกระส่าย เสวยเวทนาอย่างหนัก [๑๓๑๙] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์นั้นกับมหาบพิตร ผู้เหนื่อยหอบมีความผิดเพราะบุรพกรรมในทางผิด เนื้อตัวมีหนังถลอกปอกเปิกไป [๑๓๒๐] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยใบเหล็กคมดังดาบ กระหายจะดูดดื่มเลือดคน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๓๒๑] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กับมหาบพิตร ผู้กำลังปีนขึ้นต้นงิ้วนั้น ก้าวไปเหยียบใบเหล็กอันคมเหมือนดาบ ก็ถูกดาบอันคมนั้นบาด ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมอยู่ในปรโลกได้ [๑๓๒๒] ทรัพย์จำนวนนั้น ใครเล่าจะพึงไปขอกับมหาบพิตร ผู้เดินหนีออกจากขุมนรกไม้งิ้วมีใบเป็นดาบ พลัดตกลงไปสู่แม่น้ำเวตตรณีได้ [๑๓๒๓] แม่น้ำเวตตรณีมีน้ำเป็นกรด หยาบแข็ง เผ็ดร้อน ข้ามได้ยาก ปกคลุมไปด้วยบัวเหล็กมีใบคมไหลไปอยู่ [๑๓๒๔] ทรัพย์จำนวนนั้น ใครเล่าจะไปขอกับมหาบพิตร ผู้มีตัวขาดกระจัดกระจาย มีเลือดเปรอะเปื้อน ลอยอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี ที่นั้นหาที่เกาะมิได้ (พระราชาตรัสว่า) [๑๓๒๕] ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด ข้าพเจ้าหลงสำคัญผิด จึงไม่รู้จักทิศ ท่านฤๅษี ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาภาษิตของท่านแล้ว ร้อนใจ เพราะกลัวมหาภัย [๑๓๒๖] ท่านฤๅษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า เหมือนน้ำสำหรับแก้กระหายในเวลาร้อน เหมือนเกาะเป็นที่พึ่งของพวกคนที่มีเรืออับปาง หาที่พึ่งไม่ได้ในมหาสมุทร และเหมือนดวงประทีปสำหรับส่องทาง ของพวกคนผู้เดินทางมืดเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๓๒๗] ท่านฤๅษี ขอท่านจงสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า ในกาลก่อน ข้าพเจ้าได้ทำความผิดไว้ส่วนเดียว ท่านนารทะ ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า โดยที่ข้าพเจ้าจะไม่พึงตกไปในนรกด้วยเถิด (นารทฤๅษีกราบทูลว่า) [๑๓๒๘] พระราชา ๖ พระองค์นี้ คือ (๑) ท้าวธตรัฏฐะ (๒) ท้าวเวสสามิตะ (๓) ท้าวอัฏฐกะ (๔) ท้าวยมทัคคิ (๕) ท้าวอุสินนระ (๖) ท้าวสิวิราช ได้ทรงบำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายแล้ว [๑๓๒๙] พระราชาเหล่านั้นและพระราชาเหล่าอื่นเสด็จไปสู่สวรรค์ฉันใด มหาบพิตรผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตรก็ฉันนั้น จงทรงเว้นอธรรมแล้วทรงประพฤติธรรมเถิด [๑๓๓๐] ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศในพระราชนิเวศน์ และภายในพระนครว่า ใครหิว ใครกระหาย ใครปรารถนาดอกไม้ ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้ ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม ก็จงนุ่งห่มผ้าสีต่างๆ ตามปรารถนาเถิด [๑๓๓๑] ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้าที่อ่อนนุ่ม สวยงาม ในทางเปลี่ยว ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศไปดังนี้ ในพระนครของพระองค์ทั้งในเวลาเย็นและเวลาเช้า [๑๓๓๒] มหาบพิตรจงอย่าใช้งานคนแก่ โคแก่ และม้าแก่เหมือนแต่ก่อน และจงพระราชทานเครื่องบริหารแก่คนที่เป็นกำลัง ซึ่งเคยได้ทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด [๑๓๓๓] มหาบพิตรจงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ มีใจเป็นนายสารถี กระปรี้กระเปร่า มีอวิหิงสาเป็นเพลา มีปริจาคะเป็นหลังคา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๓๓๔] มีการสำรวมเท้าเป็นกง มีการสำรวมมือเป็นดุม มีการสำรวมท้องเป็นน้ำมันหยอด มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบสนิท [๑๓๓๕] มีการกล่าวคำสัตย์เป็นส่วนประกอบรถที่บริสุทธิ์ มีการไม่กล่าวคำส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้ได้สนิท มีการกล่าวคำอ่อนหวานเป็นเครื่องรถที่เกลี้ยงเกลา มีการกล่าวพอประมาณเป็นเครื่องผูกมัด [๑๓๓๖] มีศรัทธาและความไม่โลภเป็นเครื่องประดับ มีความถ่อมตนและการทำอัญชลีเป็นธูป มีความไม่แข็งกระด้างเป็นงอน มีความสำรวมศีลเป็นเชือกขันชะเนาะ [๑๓๓๗] มีความไม่โกรธเป็นเครื่องกันกระทบกระทั่ง มีคุณธรรมเป็นเศวตฉัตร มีพาหุสัจจะเป็นสายพาน มีจิตตั้งมั่นเป็นที่มั่น [๑๓๓๘] มีความคิดรู้จักกาลเป็นไม้แก่น มีความแกล้วกล้าเป็นไม้ค้ำสามแฉก มีความประพฤติถ่อมตนเป็นเชือกขันแอก มีความไม่เย่อหยิ่งเป็นแอกเบา [๑๓๓๙] มีจิตไม่หดหู่เป็นเครื่องลาด มีการคบคนผู้เจริญเป็นเครื่องกำจัดธุลี นักปราชญ์มีสติเป็นปฏัก มีความเพียรและการใช้การปฏิบัติเกื้อกูลเป็นสายบังเหียน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๘. มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)

[๑๓๔๐] มีใจที่ฝึกฝนดีแล้วเหมือนม้า ที่ได้รับฝึกสม่ำเสมอเป็นเครื่องนำทาง ความปรารถนาและความโลภเป็นทางคด ส่วนความสำรวมเป็นทางตรง [๑๓๔๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ปัญญาเป็นเครื่องทิ่มแทงม้า ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตร ที่กำลังโลดแล่นไปในรูป เสียง กลิ่น รส ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตรนั้น มีตนคือจิตของพระองค์เท่านั้นเป็นนายสารถี [๑๓๔๒] ถ้าความประพฤติชอบ และความเพียรมั่นคงมีอยู่กับยานนี้ รถนั้นจะให้สมบัติที่น่าใคร่ได้ทุกอย่างและไม่นำไปเกิดในนรก (พระศาสดาทรงประชุมชาดก ดังนี้) [๑๓๔๓] อลาตเสนาบดีเป็นพระเทวทัต สุนามอำมาตย์เป็นพระภัททชิ วิชัยอำมาตย์เป็นพระสารีบุตร ชีวกบุรุษเป็นพระโมคคัลลานะ [๑๓๔๔] สุนักขัตตะเป็นบุตรของเจ้าลิจฉวี คุณาชีวกเป็นชีเปลือย พระนางรุจาราชธิดาผู้ทรงนำพระราชาให้ทรงเลื่อมใส เป็นพระอานนท์ [๑๓๔๕] พระเจ้าอังคติผู้มีทิฏฐิชั่วในครั้งนั้นเป็นพระอุรุเวลกัสสปะ ท้าวมหาพรหมโพธิสัตว์เป็นเราตถาคต พวกเธอจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้แล
มหานารทกัสสปชาดกที่ ๘ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๓๖๓-๓๙๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=28&siri=20              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=5180&Z=5625                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=834              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=834&items=59              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=2853              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=834&items=59              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=2853                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja545/en/cowell-rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :