ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต]

๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)

๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
ว่าด้วยละมั่งทำคุณแก่พระราชา
(พระเจ้าพรหมทัตมีพระทัยเปี่ยมด้วยปีติ ทรงเปล่งอุทานว่า) [๑๓๔] เป็นคนต้องหวังร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้ เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง ปรารถนาอย่างใดก็ได้อย่างนั้น [๑๓๕] เป็นคนต้องหวังร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้ เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง ถูกเขาช่วยให้ขึ้นจากน้ำมาบนบกได้ [๑๓๖] เป็นคนต้องพยายามร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้ เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง ปรารถนาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น [๑๓๗] เป็นคนต้องพยายามร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้ เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง ถูกเขาช่วยให้ขึ้นจากน้ำมาบนบกได้ [๑๓๘] คนมีปัญญาแม้จะตกอยู่ในความทุกข์ ก็ไม่ควรสิ้นความหวัง เพื่อจะบรรลุถึงความสุข เพราะว่าสัมผัส๑- มีอยู่มากมาย ทั้งที่ไม่มีประโยชน์และมีประโยชน์ ถึงจะไม่นึกคิดก็ต้องถึงความตาย [๑๓๙] สิ่งที่ไม่ได้คิดแล้วเป็นไปได้ก็มี สิ่งที่คิดแล้วพินาศไปก็มี ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย โภคะทั้งหลายสำเร็จได้เพราะความคิดไม่มีเลย @เชิงอรรถ : @ สัมผัส คือ สิ่งที่กระทบถูกต้อง ผัสสะที่เป็นทุกข์ ถูกเข้าแล้วถึงตายก็มี ผัสสะที่เป็นสุข ถูกเข้าแล้ว @ทำให้มีชีวิตก็มี (ขุ.ชา.อ. ๖/๑๓๘/๒๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต]

๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)

(พราหมณ์ปุโรหิตถวายพระพรชัยแล้ว ได้กราบทูลว่า) [๑๔๐] ละมั่งตัวใด พระองค์ติดตามไปจนถึงซอกเขา ในตอนแรก เพราะอาศัยความบากบั่นของละมั่งตัวนั้นซึ่งมีจิตไม่ย่อท้อ พระองค์จึงยังทรงพระชนม์อยู่ได้ [๑๔๑] ละมั่งตัวใด พยายามใช้ก้อนหินถม ช่วยพระองค์ขึ้นมาจากเหวที่ขึ้นได้แสนยาก และปลดเปลื้องพระองค์ผู้ทรงระทมทุกข์จากปากพญามัจจุราช พระองค์คงจะทรงรับสั่งถึงละมั่งตัวมีจิตไม่ย่อท้อตัวนั้นแหละ (พระราชาตรัสว่า) [๑๔๒] เวลานั้น ท่านได้อยู่ ณ ที่นั้นเหมือนกันหรือ หรือว่าใครบอกเรื่องนั้นแก่ท่าน ท่านเห็นทุกอย่างหรือ จึงเปิดเผยเรื่องนั้นได้ ญาณของท่านมีกำลังมากจริงนะพราหมณ์ (พราหมณ์ปุโรหิตเมื่อจะชี้แจง จึงกราบทูลว่า) [๑๔๓] เวลานั้น ข้าพระองค์ได้อยู่ที่นั้นด้วยก็หาไม่ และแม้ใครจะบอกเรื่องนั้นๆ แก่ข้าพระองค์ก็หาไม่ ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ปราชญ์ทั้งหลาย ประมวลเนื้อความแห่งบทคาถาสุภาษิตนั้นมา (ต่อมาท้าวสักกะทรงสิงในสรีระของพราหมณ์ปุโรหิตแล้วได้ตรัสกับพระราชาว่า) [๑๔๔] พระองค์ทรงสอดลูกศรมีปีก ซึ่งจะฆ่าได้ด้วยความเพียรของผู้อื่นไว้ที่แล่งแล้ว ทำไมยังทรงลังเลอยู่เล่า ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระปัญญาอันประเสริฐ ขอลูกศรที่แล่นออกจากแล่งไปจงฆ่าละมั่งโดยเร็วเถิด เพราะว่าเนื้อละมั่งนั่นเป็นภักษาของพระราชา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต]

๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)

(ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า) [๑๔๕] ข้อนั้น ถึงเราจะรู้อย่างชัดแจ้งว่า เนื้อเป็นพระกระยาหารของกษัตริย์ก็จริง พราหมณ์ แต่เราเมื่อจะอ่อนน้อมบูชาคุณ ที่ละมั่งตัวนี้ได้ทำไว้แก่เราในกาลก่อน เพราะเหตุนั้น จึงไม่ฆ่าเนื้อละมั่ง (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๑๔๖] พระมหาราชผู้เป็นใหญ่ในทิศ นั่นไม่ใช่เนื้อ นั่นคือท้าวสักกะผู้ยิ่งใหญ่กว่าอสูร พระองค์ผู้จอมมนุษย์ ขอพระองค์ทรงประหารท้าวสักกะนั่น แล้วเป็นจอมเทพเสียเอง [๑๔๗] ขอเดชะพระมหาราช ผู้ประเสริฐกว่าคนผู้กล้าหาญ ถ้าพระองค์ยังทรงลังเลที่จะฆ่าเนื้อละมั่งผู้สหายอยู่ พระองค์พร้อมทั้งพระโอรส พระธิดา และพระมเหสี จะต้องตกเวตตรณีนรกของพญายม (พระราชาตรัสว่า) [๑๔๘] เราและชาวชนบทก็ดี ลูกเมียและหมู่สหายก็ดี จะต้องตกเวตตรณีนรกของพญายมก็ตามที เราไม่ควรจะฆ่าผู้ที่ให้ชีวิตแก่เราเลย [๑๔๙] เนื้อตัวนี้ทำคุณแก่เราผู้กำลังตกยากอยู่คนเดียว ในป่าเปลี่ยวอันแสนทารุณ เราเมื่อระลึกถึงบุพการีที่เนื้อตัวนี้ได้กระทำไว้เช่นนั้น ทั้งที่รู้อยู่จะพึงฆ่าลงได้อย่างไร ท่านมหาพราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต]

๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓) รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้

(ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงประกาศคุณของพระราชาว่า) [๑๕๐] พระองค์ทรงโปรดปรานผู้เป็นมิตร ขอทรงมีพระชนม์ชีพยืนนานเถิด ขอทรงดำรงอยู่ในคุณธรรมปกครองรัฐสีมานี้เถิด พระองค์ผู้มีหมู่นารีบำเรออยู่ จงบันเทิงพระหฤทัยในแว่นแคว้น ดังเช่นท้าววาสวะบันเทิงอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๕๑] ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธ มีพระหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ทรงต้อนรับแขกผู้มาเยือนทั้งปวง จงบำเพ็ญทานบ้าง เสวยเองบ้างตามอานุภาพ จงอย่าทรงถูกชาวโลกนินทา เสด็จสู่แดนสวรรค์เถิด
สรภมิคชาดกที่ ๑๐ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. อัมพชาดก ๒. ผันทนชาดก ๓. ชวนหังสชาดก ๔. จูฬนารทกัสสปชาดก ๕. ทูตชาดก ๖. กาลิงคโพธิชาดก ๗. อกิตติชาดก ๘. ตักการิยชาดก ๙. รุรุมิคราชชาดก ๑๐. สรภมิคชาดก
เตรสกนิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๒๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๔๑๙-๔๒๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=483              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=7157&Z=7221                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1854              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=1854&items=18              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=4718              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=1854&items=18              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=4718                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja483/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :