ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๔. ยักขปหารสูตร
ว่าด้วยยักษ์ตีศีรษะพระสารีบุตรเถระ
[๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ที่ กโปตกันทราวิหาร๒- ในคืนเดือนเพ็ญ ท่านพระสารีบุตรปลงผมใหม่ๆ นั่งเข้าสมาธิ อยู่ในที่แจ้ง @เชิงอรรถ : @ ดูธรรมบทข้อ ๔๒ หน้า ๓๙ ในเล่มนี้ @ กโปตกันทราวิหาร หมายถึงวิหารสร้างใกล้ซอกเขาซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ของนกพิราบ (ขุ.อุ.อ. ๓๔/๒๖๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค]

๔. ยักขปหารสูตร

ขณะนั้นมียักษ์ ๒ ตนเป็นสหายกัน เดินทางจากทิศเหนือไปทางทิศใต้เพื่อ ทำกิจที่จะต้องทำบางอย่าง ยักษ์ทั้งสองนั้นได้เห็นท่านพระสารีบุตรปลงผมใหม่ๆ นั่งเข้าสมาธิอยู่ในที่แจ้ง ยักษ์ตนหนึ่งได้กล่าวกับยักษ์อีกตนหนึ่งว่า “สหาย เราคิด อยากตีศีรษะสมณะรูปนี้” เมื่อยักษ์ตนนั้นกล่าวอย่างนี้ ยักษ์ตนหนึ่งจึงกล่าวดังนี้ว่า “อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้ายสมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก” แม้ครั้งที่ ๒ ยักษ์ตนนั้นได้กล่าวกับยักษ์ตนหนึ่งดังนี้ว่า “สหาย เราคิดอยากตี ศีรษะสมณะรูปนี้” ยักษ์ตนหนึ่งได้กล่าวกับยักษ์ตนนั้นดังนี้ว่า “อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้าย สมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก” แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์ตนนั้นได้กล่าวกับยักษ์ตนหนึ่งดังนี้ว่า “สหาย เราคิดอยากตี ศีรษะสมณะรูปนี้” ยักษ์ตนหนึ่งก็ได้กล่าวกับยักษ์ตนนั้นดังนี้ว่า “อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้าย สมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก” ครั้งนั้น ยักษ์นั้นไม่เชื่อยักษ์ผู้เป็นสหาย จึงได้ตีศีรษะท่านพระสารีบุตรเถระ เป็นการตีอย่างรุนแรง การตีเช่นนั้น สามารถทำให้ช้างสูง ๗-๘ ศอกจมดินได้ หรือสามารถทำลายยอดภูเขามหึมาให้ทลายลงได้ และทันใดนั้นเอง ยักษ์ตนนั้นได้ ร้องว่า “โอย ร้อนเหลือเกิน” แล้วล้มตกไปสู่มหานรก ณ ที่นั้นเอง ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นยักษ์ตนนั้นตีศีรษะท่านพระสารีบุตร ด้วย ตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรแล้วได้กล่าวกับท่าน พระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร ท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ไม่มี ทุกข์อะไรหรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี พอเป็นอยู่ได้ เพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค]

๔. ยักขปหารสูตร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่าน สารีบุตร ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ยักษ์ตนหนึ่งได้ตีศีรษะท่านในที่นี้ เป็นการตีอย่างรุนแรง การตีเช่นนี้สามารถทำให้ช้างสูง ๗-๘ ศอกจมดินได้ หรือ สามารถทำลายยอดภูเขามหึมาให้ทลายลงได้ แต่กระนั้น ท่านก็ยังกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี พอเป็นอยู่ได้ เพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย” ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่านโมคคัลลานะ ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง เห็นแม้กระทั่งยักษ์ ส่วนผมขณะนี้ แม้แต่ปีศาจ คลุกฝุ่นสักตนก็ยังไม่เห็น” พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ของพระอัครสาวก ทั้ง ๒ รูปนั้นด้วยพระโสตทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ดุจภูเขา ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง ผู้ใด อบรมจิตได้อย่างนี้ ทุกข์จะมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน๑-
ยักขปหารสูตรที่ ๔ จบ
@เชิงอรรถ : @ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙๑/๓๖๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๔๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๒๓๙-๒๔๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=69              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=2618&Z=2661                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=93              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=93&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=5823              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=93&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=5823                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/ud/ud.4.04.than.html https://suttacentral.net/ud4.4/en/anandajoti https://suttacentral.net/ud4.4/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :