ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๑๘. มลวรรค
หมวดว่าด้วยมลทินทางใจ
๑. โคฆาตกปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรของคนฆ่าโค
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บุตรของคนฆ่าโคผู้แก่เฒ่า ดังนี้) [๒๓๕] บัดนี้ ท่านเปรียบเหมือนใบไม้เหลือง ทั้งยมทูต๑- มาปรากฏแก่ท่านแล้ว ท่านอยู่ใกล้ปากแห่งความเสื่อม และแม้แต่เสบียงเดินทาง๒- ของท่านก็ยังไม่มีเลย @เชิงอรรถ : @ ยมทูต ในที่นี้หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๗/๔) @ เสบียงเดินทาง หมายถึงกุศล (ขุ.ธ.อ. ๗/๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๒. อัญญตรพราหมณวัตถุ

[๒๓๖] ท่านนั้นจงทำที่พึ่ง๑- แก่ตนเอง จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน จะเข้าถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์๒- [๒๓๗] บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว๓- เตรียมจะไปสำนักพระยายม ที่พักระหว่างทางของท่านยังไม่มี และแม้แต่เสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มีเลย [๒๓๘] ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตนเอง จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ก็จะไม่ต้องเข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป
๒. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ทำกุศลอยู่บ่อยๆ ดังนี้) [๒๓๙] ผู้มีปัญญา พึงกำจัดมลทิน๔- ของตน ทีละน้อย ทุกขณะ โดยลำดับ เหมือนช่างทองกำจัดสนิมทอง ฉะนั้น๕- @เชิงอรรถ : @ ที่พึ่ง หมายถึงกุศลกรรม (ขุ.ธ.อ. ๗/๔) @ อริยภูมิอันเป็นทิพย์ ในที่นี้หมายถึงสุทธาวาสภูมิ ที่อยู่ของพระอนาคามี มี ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา @สุทัสสีและอกนิฏฐา (ขุ.ธ.อ. ๗/๔, ที.ปา. ๑๑/๓๑๘/๒๑๑) @ มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว หมายถึงล่วงวัยทั้ง ๓ ใกล้จะถึงอายุขัยแล้ว (ขุ.ธ.อ. ๗/๕) @ มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๘) @ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๒๗๘/๑๐๒, ๓๔๖/๑๘๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๔. โลลุทายีวัตถุ

๓. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๔๐] สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ฉันใด กรรมทั้งหลายของตน ย่อมนำคนผู้ประพฤติล่วงโธนา๑- ไปสู่ทุคติ ฉันนั้น
๔. โลลุทายีวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระโลลุทายีผู้เล่าเรียนธรรมเพียงเล็กน้อยและ ไม่ท่องบ่น จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๔๑] มนตร์๒- มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน เรือนมีความไม่ขยันหมั่นเพียร๓- เป็นมลทิน ผิวพรรณมีความเกียจคร้าน๔- เป็นมลทิน ผู้รักษามีความประมาท๕- เป็นมลทิน @เชิงอรรถ : @ โธนา หมายถึงปัญญาที่พิจารณาปัจจัย ๔ แล้วจึงบริโภค ดังนั้น “ผู้ประพฤติล่วงโธนา” จึงหมายถึงผู้ @ปราศจากปัญญาพิจารณาปัจจัย ๔ แล้วจึงบริโภค (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑) @ มนตร์ หมายถึงปริยัติและศิลปะ เมื่อไม่ท่องบ่น และไม่เอาใจใส่ ก็เสื่อมสูญ หรือหายไปได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔) @ ไม่ขยันหมั่นเพียร หมายถึงไม่เอาใจใส่ดูแล หรือไม่บูรณะซ่อมแซมบ้านเรือน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔) @ ความเกียจคร้าน หมายถึงการไม่หมั่นชำระร่างกายและอวัยวะส่วนอื่นๆ ให้สะอาดทำให้มีผิวพรรณมัวหมอง @(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔) @ ความประมาท สำหรับคฤหัสถ์ หมายถึงประมาทในทรัพย์สมบัติ เช่น สัตว์เลี้ยง สำหรับบรรพชิต @หมายถึงไม่คุ้มครองอินทรีย์ทวารทั้ง ๖ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๖. จูฬสาริภิกขุวัตถุ

๕. อัญญตรกุลปุตตวัตถุ
เรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุลบุตรคนหนึ่งซึ่งมีภรรยามักนอกใจ ดังนี้) [๒๔๒] สตรีมีความประพฤติชั่ว๑- เป็นมลทิน ผู้ให้มีความตระหนี่เป็นมลทิน บาปธรรม๒- เป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า [๒๔๓] มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้นคืออวิชชา๓- ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละมลทินนั้นให้ได้ แล้วเป็นอยู่อย่างผู้ปราศจากมลทินเถิด
๖. จูฬสาริภิกขุวัตถุ
เรื่องจูฬสารีภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระจูฬสารีผู้เป็นหมอปรุงยาให้ชาวบ้านเพื่อแลกกับ โภชนะ จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๔๔] ผู้ไม่มีความละอาย กล้าเหมือนกา ชอบทำลายคนอื่น ชอบเอาหน้า มีความคะนอง มีพฤติกรรมสกปรก เป็นอยู่สบาย [๒๔๕] ส่วนผู้มีความละอาย แสวงหาความบริสุทธิ์เป็นนิตย์ ไม่เกียจคร้าน ไม่มีความคะนอง มีอาชีพบริสุทธิ์ และมีปัญญา เป็นอยู่ลำบาก @เชิงอรรถ : @ ประพฤติชั่ว หมายถึงการประพฤตินอกใจสามี (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๖, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๑๕-๑๘/๒๗๙) @ บาปธรรม ในที่นี้หมายถึงอกุศลธรรมทั้งหมด (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๖) @ ดู องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๕/๒๔๑-๒๔๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๘. ติสสทหรวัตถุ

๗. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก ๕ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสก ๕ คน ดังนี้) [๒๔๖] นรชนใดในโลก ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ คบชู้กับภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ [๒๔๗] และหมกมุ่นในการดื่มสุราและเมรัย๑- นรชนนั้นชื่อว่า ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน๒- ของตนในโลกนี้ [๒๔๘] ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้มีบาปธรรมทั้งหลาย มักไม่สำรวม ขอโลภะและอธรรม๓- อย่าย่ำยีท่านให้เป็นทุกข์ตลอดกาลนานเลย
๘. ติสสทหรวัตถุ
เรื่องภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระติสสะเที่ยวติเตียนทานของคนอื่น จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๔๙] บุคคลย่อมให้ทานตามความเชื่อตามความเลื่อมใส ภิกษุไม่พอใจในข้าวและน้ำที่เป็นทานของคนอื่นนั้น ย่อมไม่บรรลุสมาธิ๔- ในเวลากลางวันหรือกลางคืน [๒๕๐] ส่วนภิกษุผู้ตัดอกุศลจิตนี้ได้ ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว ย่อมบรรลุสมาธิในเวลากลางวันหรือกลางคืน @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๗๔/๒๙๑ @ ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน หมายถึงนำที่นาและสวนไปจำนอง หรือขายขาด เพื่อนำทรัพย์ไปซื้อสุรามาดื่ม @(ขุ.ธ.อ. ๗/๒๑) @ อธรรม หมายถึงโทสะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๑) @ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ หรือมัคคสมาธิ และผลสมาธิ (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑๐. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ

๙. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก ๕ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสกคนหนึ่ง ในจำนวน ๕ คน ดังนี้) [๒๕๑] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี๑-
๑๐. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องเมณฑกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เมณฑกเศรษฐี ดังนี้) [๒๕๒] โทษ๒- ของคนอื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะคนนั้นชอบโปรยโทษของผู้อื่น เหมือนคนโปรยแกลบ แต่กลับปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดร่างพรางกายตนไว้ ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ ความหมายในคาถานี้ คือ ไฟยังแสดงควันให้รู้ว่ายังมีไฟคนจึงสามารถดับได้ แต่ราคะเผาสัตว์ภายในไม่ @แสดงอาการให้รู้, ผู้จับ เช่น ยักษ์ เป็นต้น สามารถจับสัตว์ได้ในชาติเดียวเท่านั้น แต่โทสะจับสัตว์ไม่มีที่ @สิ้นสุด, ตาข่ายที่รัดรึงสัตว์ยังสามารถแก้หรือคลายได้ แต่โมหะที่รัดรึงสัตว์ยากที่จะแก้หรือคลายได้, แม่น้ำ @ยังมีวันพร่องหรือเต็มปรากฏให้เห็นได้ แต่ตัณหาไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันเหือดแห้ง ทั้งยังปรากฏความพร่อง @อยู่เป็นนิตย์ เติมให้เต็มได้ยาก (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๗) @ โทษ หมายถึงความพลั้งพลาด (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑๒. สุภัททปริพาชกวัตถุ

๑๑. อุชฌานสัญญิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระอุชฌานสัญญีผู้เที่ยวจับผิดภิกษุ จึงตรัสพระ คาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๕๓] ผู้ที่คอยแต่สอดส่ายหาโทษคนอื่น คอยเพ่งโทษอยู่เนืองนิตย์ จะมีอาสวะพอกพูนยิ่งขึ้น และห่างไกลจากความสิ้นอาสวะโดยแท้
๑๒. สุภัททปริพาชกวัตถุ
เรื่องสุภัททปริพาชก
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาของสุภัททปริพาชก ดังนี้) [๒๕๔] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก๑- หมู่สัตว์เป็นผู้ยินดีในปปัญจธรรม๒- แต่พระตถาคตทั้งหลาย ไม่มีปปัญจธรรม [๒๕๕] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก ไม่มีสังขาร๓- ที่เที่ยงแท้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความหวั่นไหว
มลวรรคที่ ๑๘ จบ
@เชิงอรรถ : @ ไม่มีสมณะภายนอก หมายถึงไม่มีสมณะผู้ดำรงอยู่ในอริยมรรคและอริยผลภายนอกพระพุทธศาสนา @(ขุ.ธ.อ. ๗/๔๐) @ ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า คือตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๐) @ สังขาร ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๑๐๕-๑๑๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=27              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=895&Z=945                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=28              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=28&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=28&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i028-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i028-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.18.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.18.budd.html https://suttacentral.net/dhp235-255/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp235-255/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/dhp235-255/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :