ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
๒. วัสสการสูตร
ว่าด้วยวัสสการพราหมณ์๑-
[๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะ @เชิงอรรถ : @ ดู ที.ม. ๑๐/๑๓๑-๑๓๕/๖๕-๖๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓. วัชชิสัตตกวรรค ๒. วัสสการสูตร

เสด็จไปปราบแคว้นวัชชี รับสั่งว่า “เราจะโค่นล้มพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์๑- มากอย่างนี้ มีอานุภาพ๒- มากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ”๓- พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร จึงรับสั่งเรียก วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธมาตรัสว่า “มาเถิด พราหมณ์ ท่านจงไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วทูลถามถึง พระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนาม ว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัย สมบูรณ์ อยู่สำราญ’ และท่านจงกราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่ง แคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไปปราบแคว้น วัชชี มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘เราจะโค่นล้มพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก อย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ’ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงจำ คำพยากรณ์นั้นให้ดีแล้วมาบอกเรา เพราะว่าพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำเท็จ” วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิ บุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระโคดมด้วยพระเศียร ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไป @เชิงอรรถ : @ ฤทธิ์ ในที่นี้หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๒/๑๗๐) @ อานุภาพ ในที่นี้หมายถึงการได้รับการศึกษาฝึกฝนศิลปะต่างๆ เช่น ศิลปะการฝึกช้างเป็นต้น @(องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๒/๑๗๐) @ ให้พินาศย่อยยับ ในที่นี้หมายถึงทำให้ไม่มี ให้ถึงความไม่เจริญ และให้ถึงความเสื่อมไปแห่งญาติ @(องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๒/๑๗๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓. วัชชิสัตตกวรรค ๒. วัสสการสูตร

ปราบแคว้นวัชชี มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ''เราจะโค่นล้มพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ” สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ เบื้องพระ ปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกัน มากครั้ง” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนือง นิตย์ ประชุมกันมากครั้ง” “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง” ''อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียง กันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีพึงทำ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีพึงทำ” “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และ พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีพึงทำ” “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้าง สิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม”๑- “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้ บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม” “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม” @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๕ สัตตกนิบาต ข้อ ๒๑ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓. วัชชิสัตตกวรรค ๒. วัสสการสูตร

“อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจ้าวัชชี ผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่ควร รับฟัง” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่าน เหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง” “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมาก ของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่ควรรับฟัง” “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรีหรือกุลกุมารี ให้อยู่ร่วมด้วย” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรี หรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย” “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรีหรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย” “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรม ที่เคยให้ เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลย การบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้ เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป” “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาว วัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้ เคย กระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓. วัชชิสัตตกวรรค ๒. วัสสการสูตร

“อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกัน พระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรม ด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก” “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดย ชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา และท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้น มคธว่า “พราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ได้แสดง อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้แก่พวกเจ้าวัชชี พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระ โคดม พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียงประการเดียว ก็พึงหวังได้แต่ความ เจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ไม่จำต้องกล่าวว่ามีครบทั้ง ๗ ประการ ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ไม่ควรทำสงครามกับพวกเจ้าวัชชี นอกจากจะใช้วิธีปรองดองทางการทูต หรือไม่ก็ ทำให้แตกสามัคคีกัน ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าอย่างนั้น บัดนี้ ข้าพระองค์ขอ ทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” จากนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธมีใจยินดี ชื่นชมพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคลุกจากที่นั่งแล้วจากไป
วัสสการสูตรที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๒-๓๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=20              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=421&Z=526                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=20              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=20&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3803              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=20&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3803                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i019-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an7.22/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :