ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๓. อุคคหสูตร
ว่าด้วยอุคคหเศรษฐี
[๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน เขตเมืองภัททิยะ ครั้งนั้น อุคคหเศรษฐีผู้เป็นหลานของเมณฑกเศรษฐี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ ๓ รูป จงรับภัตตาหาร ของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้” พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยพระอาการดุษณีแล้ว อุคคหเศรษฐีทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวาย อภิวาท ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้นคืนนั้นผ่านไป เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร จีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอุคคหเศรษฐี ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ @เชิงอรรถ : @ ความเป็นผู้เลิศ หมายถึงเกิดในหมู่สัตว์ใดๆ ก็เป็นผู้เลิศในหมู่สัตว์นั้นๆ หรือได้บรรลุมรรคและผลอัน @เป็นโลกุตตระ (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๔/๓๖๔) @ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๔/๕๔-๕๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. สุมนวรรค ๓. อุคคหสูตร

ลำดับนั้น อุคคหเศรษฐีได้ถวายอาหารภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็น ประธานให้อิ่มหนำด้วยของเคี้ยวของฉันที่ประณีตด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาค เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์ จึงนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลูกสาวของข้าพระองค์เหล่านี้ จักไปสู่ตระกูลสามี ขอพระผู้มี พระภาคทรงกล่าวสอนพร่ำสอนเด็กเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาตลอดกาล นานเถิด” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนกุมารีเหล่านั้นว่า กุมารีทั้งหลาย ๑. เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘มารดาบิดา ผู้ปรารถนาประโยชน์ หวังเกื้อกูลอนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู ยกให้ สามีใด เราทั้งหลายจักตื่นก่อน นอนทีหลังสามีนั้น คอยรับใช้ ปฏิบัติให้เป็นที่พอใจเขา พูดคำไพเราะต่อเขา’ เธอทั้งหลายพึง สำเหนียกอย่างนี้แล ๒. เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าใด เป็นที่เคารพของสามี คือ บิดา มารดา หรือสมณพราหมณ์ เราทั้งหลายจักสักการะ เคารพ นับถือบูชาชนเหล่านั้น และต้อนรับ ท่านเหล่านั้น ผู้มาถึงแล้วด้วยอาสนะและน้ำ’ เธอทั้งหลายพึง สำเหนียกอย่างนี้แล ๓. เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘การงาน เหล่าใดเป็นการงานในบ้านของสามี คือ การทำผ้าขนสัตว์ หรือ ผ้าฝ้าย เราทั้งหลายจักขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานเหล่านั้น จักประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงาน เหล่านั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้’ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียก อย่างนี้แล ๔. เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย จักรู้การงานที่คนในปกครองภายในบ้านสามี คือ ทาส คนใช้ หรือ กรรมกรว่าทำแล้ว หรือยังไม่ได้ทำ จักรู้อาการของคนเหล่านั้นที่ เป็นไข้ว่าดีขึ้นหรือทรุดลง และจักแบ่งปันของกินของใช้ให้ตามส่วน ที่ควร’ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. สุมนวรรค ๓. อุคคหสูตร

๕. เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้ง หลายจักรักษาคุ้มครองสิ่งที่สามีหามาได้ จะเป็นทรัพย์ ข้าว เงิน หรือทองก็ตาม จักไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักเลง สุรา ไม่ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ’ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล กุมารีทั้งหลาย มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว จะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดาเหล่ามนาปกายิกา๑- (พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า) สตรีผู้เป็นบัณฑิต ย่อมไม่ดูหมิ่นสามี ผู้มีความเพียร ขวนขวายเป็นนิตย์ เลี้ยงตนเองทุกเมื่อ ผู้ให้สิ่งที่ต้องการได้ทุกอย่าง ไม่ทำให้สามีขุ่นเคืองด้วยการแสดงความหึงหวง ยกย่องทุกคนที่สามีเคารพ เป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ปฏิบัติถูกใจสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ สตรีผู้ประพฤติตามใจสามีอย่างนี้ จะเข้าถึงความเป็นเทวดาเหล่ามนาปกายิกา
อุคคหสูตรที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ เทวดาเหล่ามนาปกายิกา หมายถึงเทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดาเหล่านี้เรียกว่า เทพนิมมานรดี และเทพ @มนาปา เพราะเนรมิตรูปตามที่ตนปรารถนาได้ และชื่นชมรูปที่เนรมิตนั้น (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๓๓/๒๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๕๑-๕๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=22&siri=33              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=794&Z=840                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=33              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=33&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=432              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=33&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=432                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i031-e.php#sutta3 https://suttacentral.net/an5.33/en/sujato https://suttacentral.net/an5.33/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :