ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๓. ฉฬภิชาติสูตร
ว่าด้วยอภิชาติ๑- ๖ จำพวก
[๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ ๖ จำพวก คือ ๑. บัญญัติกัณหาภิชาติ (ชาติดำ) ๒. บัญญัตินีลาภิชาติ (ชาติเขียว) ๓. บัญญัติโลหิตาภิชาติ (ชาติแดง) @เชิงอรรถ : @ อภิชาติ ในที่นี้หมายถึงการกำหนดหมายชนเป็นชั้น เป็นกลุ่ม เช่นหมู่คนที่ประพฤติอย่างนี้ๆ @กำหนดเรียกอย่างนี้ๆ (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗) หรือหมายถึงชาติกำเนิด (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๗/๑๓๙, @องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๗/๑๕๐) และดู ที.สี. (แปล) ๙/๑๖๘/๕๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๔๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร

๔. บัญญัติหลิททาภิชาติ (ชาติเหลือง) ๕. บัญญัติสุกกาภิชาติ (ชาติขาว) ๖. บัญญัติปรมสุกกาภิชาติ (ชาติขาวยิ่ง) ปูรณะ กัสสปะบัญญัติคนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร พรานนก พรานเนื้อ ชาวประมง โจร เพชฌฆาต เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือคนทำงานที่โหดร้ายอื่นๆ ว่าเป็นกัณหาภิชาติ บัญญัติพวกภิกษุผู้โน้มเอียงไปในฝ่ายดำ หรือพวกกัมมวาทะ กิริยวาทะอื่นๆ ว่าเป็นนีลาภิชาติ บัญญัตินิครนถ์ผู้ใช้ผ้าผืนเดียวว่าเป็นโลหิตาภิชาติ บัญญัติคฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว หรือสาวกของอเจลก๑- ว่าเป็นหลิททาภิชาติ บัญญัติอาชีวกหรืออาชีวิกาว่าเป็นสุกกาภิชาติ บัญญัติเจ้าลัทธิชื่อว่า นันทวัจฉโคตร เจ้าลัทธิชื่อกิสสังกิจจโคตร เจ้าลัทธิ ชื่อมักขลิโคสาลว่าเป็นปรมสุกกาภิชาติ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ ๖ ประการนี้ไว้” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ การที่ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ ๖ ประการนี้ไว้ ชาวโลกทั้งปวงเห็นคล้อยตามด้วยหรือ” พระอานนท์กราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ คนทั้งหลายบังคับบุรุษยากจน ขัดสน เข็ญใจ ผู้ไม่ปรารถนาส่วนเนื้อว่า ‘แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านพึงกินเนื้อนี้ และต้องให้ ค่าเนื้อ’ ฉันใด ปูรณะ กัสสปะก็ฉันนั้นเหมือนกัน บัญญัติอภิชาติ ๖ ประการนี้ สำหรับสมณพราหมณ์เหล่านั้นไว้ โดยที่ชาวโลกทั้งปวงก็ไม่ยอมรับ เหมือนคนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่รู้หลักการบัญญัติ ไม่ฉลาด อานนท์ เราก็บัญญัติอภิชาติ ๖ ประการไว้ ขอเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” @เชิงอรรถ : @ สาวกของอเจลก หมายถึงสาวกของอาชีวก (นักบวชเปลือย) ซึ่งถือตัวว่าตนมีจิตขาวสะอาดบริสุทธิ์กว่า @พวกนิครนถ์และยกย่องผู้ที่ให้ปัจจัยแก่ตนว่าประเสริฐกว่าพวกนิครนถ์เช่นกัน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๗/๑๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๔๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร

ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า อานนท์ อภิชาติ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว ๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นกัณหาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว ๔. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ ๕. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว ๖. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสุกกาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูล นายพราน ตระกูลช่างสาน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนขนขยะ ซึ่งเป็นตระกูล ยากจน มีข้าวน้ำและสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของ กินและเครื่องนุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความ เจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอกหรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป และเขายังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดใน อบาย ทุคติ วินิบาต๑- นรก บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างนี้แล บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง ประทีป แต่เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต หลังจากตายแล้วจึงไป เกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ อบาย ทุคติ วินิบาต ทั้ง ๓ คำนี้เป็นไวพจน์ของนรก (องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๓/๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๔๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร

บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย เขาโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า กาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาผู้บวชแล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ ๕ ประการอันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ประการ๑- เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ๒- ตามความเป็นจริงแล้ว บรรลุนิพพานที่ไม่ดำ ไม่ขาว บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างนี้แล บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณมหาสาล ตระกูลคหบดีมหาศาล ซึ่งเป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์ มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าว เปลือกมาก๓- และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก มักได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่เขา ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างนี้แล บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ฯลฯ มักได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง @เชิงอรรถ : @ ดู ที.ม. ๑๐/๓๗๒-๓๗๔/๒๔๘-๒๔๙, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๓๕๕/๓๐๖, ๓๗๔/๓๑๙ @ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๕๗-๑๖๓/๔๐๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๔๖๖-๔๗๑/๓๕๘-๓๖๑ @ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ในที่นี้หมายถึงมีทรัพย์คือโคเป็นต้น และมีปุพพัณณชาติ ได้แก่ ธัญญชาติ @๗ ชนิด คือ (๑) ข้าวเปลือก (๒) ข้าวเจ้า (๓) หญ้ากับแก้ (๔) ข้าวละมาน (๕) ลูกเดือย (๖) ข้าวเหนียว @(๗) ข้าวละมาน ตลอดถึงมีอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังอาหารมากมาย @(วิ.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๘, สารตฺถ.ฏีกา ๒/๑๐๔/๑๗๖, สํ.สฬา.อ. ๑/๑๑๔/๑๓๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๔๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร

ประทีป และเขายังประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างนี้แล บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง คือตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณมหาศาล ตระกูลคหบดีมหาศาล ซึ่งเป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์ มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าว เปลือกมาก และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก เขาโกน ผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาผู้บวช แล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ประการ เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ ตามความ เป็นจริงแล้ว บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาวอย่างนี้ บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างนี้แล อานนท์ อภิชาติ ๖ ประการนี้แล
ฉฬภิชาติสูตรที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๕๔๓-๕๔๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=22&siri=308              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=9033&Z=9108                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=328              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=328&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3132              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=328&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3132                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i326-e.php#sutta3 https://suttacentral.net/an6.57/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :