ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๗. ตตุตตริสิกขาบท นิทานวัตถุ

๑. จีวรวรรค
๗. ตตุตตริสิกขาบท
ว่าด้วยการออกปากขอจีวรเกิน
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๕๒๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปหาภิกษุ ที่ถูกโจรชิงจีวรไปแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ ภิกษุที่ถูกโจรชิงจีวรไปหรือจีวรสูญหาย ออกปากขอจีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือ คฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติได้ พวกท่านจงขอจีวรเถิด” ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ไม่ล่ะ ขอรับ พวกกระผมได้จีวรครบแล้ว” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกเราจะออกปากขอเพื่อพวกท่าน” ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “นิมนต์ออกปากขอเถิด ขอรับ” ต่อจากนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปหาพวกคฤหัสถ์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุที่ถูกโจรชิงจีวรไปมาถึงแล้ว พวกท่านจงถวายจีวรแก่พวกเธอ” แล้วออก ปากขอจีวรเป็นอันมาก ก็สมัยนั้น ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุมบอกชายอีกคนหนึ่งว่า “พวกพระ คุณเจ้าที่ถูกโจรชิงจีวรไปมาถึงแล้ว ข้าพเจ้าได้ถวายจีวรท่านเหล่านั้นไปแล้ว” ชายแม้นั้นตอบว่า “ข้าพเจ้าก็ได้ถวายไปแล้ว” ชายอีกคนหนึ่งก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “แม้ข้าพเจ้าก็ได้ถวายไปแล้ว” พวกเขาตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึง ไม่รู้จักประมาณ ออกปากขอจีวรมากมายเล่า พวกเธอจะค้าผ้าหรือจัดตั้งร้านขาย ผ้ากระมัง” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๗. ตตุตตริสิกขาบท พระบัญญัติ

พวกภิกษุได้ยินคำตำหนิ ประณาม โพนทะนาของชาวบ้าน บรรดาภิกษุผู้ มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงไม่รู้ จักประมาณ ออกปากขอจีวรเป็นอันมากเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวก ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอไม่รู้จักประมาณ ขอจีวรเป็นอันมาก จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงไม่ รู้จักประมาณขอจีวรจำนวนมากเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๒๓] ถ้าคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ นำจีวรจำนวนมากมา ปวารณาภิกษุนั้น๑- ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวรมีอุตตราสงค์และอันตรวาสกเป็นอย่าง มากจากจีวรที่เขานำมานั้น ถ้ายินดีเกินกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
@เชิงอรรถ : @ พหูหิ จีวเรหิ อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺย ที่แปลว่า “นำจีวรจำนวนมากมาปวารณา” เป็นไปตามกฎนี้ : อภิหฏฺฐุํ @อภิ+หร+ตฺวา (ตฺวาปัจจัย) โดยสูตรว่า กิจฺจตการตุํตฺวาทีนญฺจ รฏฺฐรฏฺฐุํรฏฺฐาเทสา - รูป. ๖๐๙ (แปลง @ต ในกิจจปัจจัยเป็น ฏฺฐ แปลง ตุํ-ตฺวา ปัจจัยเป็นต้นเป็น ฏฺฐุํ ฏฺฐ) อรรถกถาวินัยก็อธิบายทำนอง @นี้ว่า “อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺยา”ติ อภิหริตฺวา ปวาเรยฺยาติ อตฺโถ. (คำว่า อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺยา มีอธิบายว่า @นำมาปวารณา วิ.อ. ๒/๕๒๒-๕๒๔/๑๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๗. ตตุตตริสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

สิกขาบทวิภังค์
[๕๒๔] คำว่า ถ้า...ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ถูกโจรชิงจีวรไป ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา ตลอดเจ็ดชั่วคน ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์หญิง ได้แก่ สตรีผู้ครองเรือน คำว่า จีวรจำนวนมาก คือ จีวรหลายผืน คำว่า นำ...มาปวารณา คือ นำมาปวารณาว่า ท่านจงรับจีวรตามที่ ปรารถนาเถิด คำว่า ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวรมีอุตตราสงค์และอันตรวาสกเป็นอย่างมากจาก จีวรที่เขานำมานั้น ความว่า ถ้าจีวรหาย ๓ ผืน เธอพึงยินดี ๒ ผืน จีวรหาย ๒ ผืน พึงยินดี ๑ ผืน หายผืนเดียวไม่พึงยินดี คำว่า ถ้ายินดีเกินกว่านั้น ความว่า ภิกษุออกปากขอเกินกว่านั้น ต้องอาบัติ ทุกกฏเพราะพยายาม จีวรเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้ แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้กระผม เข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ แล้วออกปากขอเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละ จีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอ สละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๗. ตตุตตริสิกขาบท บทภาชนีย์

สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืน นี้กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ แล้วออกปากขอเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่าน ทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ ผู้ไม่ใช่ญาติ แล้วออกปากขอเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผมคืน จีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๒๕] คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ขอจีวรเกินกำหนด ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ ขอจีวรเกินกำหนด ต้องอาบัตินิสสัคคิย ปาจิตตีย์ คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ขอจีวรเกินกำหนด ต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๗. ตตุตตริสิกขาบท อนาปัตติวาร

ทุกทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ขอจีวรเกินกำหนด ต้องอาบัติทุกกฏ คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ ขอจีวรเกินกำหนด ต้องอาบัติทุกกฏ คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ขอจีวรเกินกำหนด ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๕๒๖] ๑. ภิกษุที่รับเอาไปเพราะคิดว่า จะนำจีวรที่เหลือมาคืน ๒. ภิกษุที่คฤหัสถ์ถวายด้วยถ้อยคำว่า “จีวรที่เหลือเป็นของท่านรูปเดียว” ๓. ภิกษุที่คฤหัสถ์ไม่ได้ถวายเพราะจีวรถูกชิงไป ๔. ภิกษุที่คฤหัสถ์ไม่ได้ถวายเพราะจีวรสูญหาย ๕. ภิกษุผู้ยินดีจีวรที่ญาติถวาย ๖. ภิกษุผู้ยินดีจีวรที่ทายกปวารณาถวาย ๗. ภิกษุผู้ยินดีจีวรที่ได้มาด้วยทรัพย์ของตน ๘. ภิกษุวิกลจริต ๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
ตตุตตริสิกขาบทที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๖-๕๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=7              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=1089&Z=1203                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=58              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=58&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4142              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=58&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4142                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np7/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :