ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๒. โกสิยวรรค ๘. รูปิยสิกขาบท นิทานวัตถุ

๒. โกสิยวรรค
๘. รูปิยสิกขาบท
ว่าด้วยการรับรูปิยะ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๕๘๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นพระประจำ ตระกูลของตระกูลหนึ่ง รับภัตตาหารอยู่เป็นประจำ หากของเคี้ยวของฉันอันใดเกิด ขึ้นในตระกูลนั้น เขาก็จะเก็บของเคี้ยวของฉันอันนั้นไว้เพื่อท่านส่วนหนึ่ง สมัยนั้น ในเวลาเย็น เนื้อเกิดขึ้นในตระกูลนั้น เขาได้เก็บเนื้อนั้นไว้เพื่อท่าน พระอุปนันทศากยบุตรส่วนหนึ่ง เด็กในตระกูลนั้นตื่นเช้ามืด ร้องไห้อ้อนวอนว่า “พวกท่านโปรดให้เนื้อแก่กระผม” ทีนั้น สามีสั่งภรรยาว่า “เธอจงให้เนื้อส่วนของพระคุณเจ้าแก่เด็ก เราจะซื้อ ของอื่นถวายท่าน” ลำดับนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป ถึงตระกูลนั้น นั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ชายผู้นั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากย บุตรถึงอาสนะ ครั้นถึงแล้วไหว้ท่านแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ เมื่อวันวานในเวลาเย็น ได้มีเนื้อเกิดขึ้น พวกข้าพเจ้าได้เก็บเนื้อนั้นไว้เพื่อพระคุณเจ้า ส่วนหนึ่ง เด็กคนนี้ตื่นเช้ามืด ร้องไห้อ้อนวอนว่า ‘พวกท่านโปรดให้เนื้อแก่กระผม’ พวกเราจึงให้ส่วนของพระคุณเจ้าแก่เด็ก พระคุณเจ้าจะให้กระผมนำกหาปณะไป แลกอะไรมา ขอรับ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า “ท่านบริจาคทรัพย์ ๑ กหาปณะแก่อาตมาหรือ” เขาตอบว่า “ใช่ ขอรับ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตร กล่าวว่า “ท่านจงถวายกหาปณะนั้นแก่อาตมาเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๐๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๒. โกสิยวรรค ๘. รูปิยสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ทีนั้น เขาถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรแล้วตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้รับรูปิยะ๑- เหมือนพวกเรา” พวกภิกษุได้ยินบุรุษนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตร จึงรับรูปิยะ เล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่างๆ แล้วจึง นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอรับรูปิยะจริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงรับรูปิยะเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๘๓] ก็ ภิกษุใดรับหรือใช้ให้ผู้อื่นรับทองและเงิน หรือยินดีทองและ เงินที่เขาเก็บไว้ให้ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๕๘๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ @เชิงอรรถ : @ คำว่า “รูปิยะ” หมายถึงทองและเงิน (วิ.อ. ๒/๕๘๖/๒๐๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๐๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๒. โกสิยวรรค ๘. รูปิยสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ที่ชื่อว่า ทอง พระองค์ตรัสหมายถึงวัตถุที่มีสีดุจพระฉวีของพระศาสดา ที่ชื่อว่า เงิน ได้แก่ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง ที่ใช้เป็นอัตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน คำว่า รับ คือ ภิกษุรับเอง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คำว่า ใช้ให้ผู้อื่นรับ คือ ภิกษุให้คนอื่นรับแทน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คำว่า หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ความว่า ภิกษุยินดีรูปิยะที่เขา เก็บไว้ให้โดยบอกว่า “สิ่งนี้เป็นของท่าน” ดังนี้ รูปิยะนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของ จำต้องสละในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละรูปิยะที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละรูปิยะที่เป็นนิสสัคคีย์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้ แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมรับรูปิยะไว้ รูปิยะนี้ของกระผมเป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดง อาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ ถ้าคนงานวัดหรืออุบาสกผ่านมา พึงบอกเขาว่า “ท่านจงรู้สิ่งนี้” ถ้าเขากล่าวว่า “จะให้กระผมนำสิ่งนี้ไปแลกอะไรมา” ไม่ควรบอกเขาว่า “จงนำของนี้ๆ มา” ควร บอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ถ้าเขานำรูปิยะนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย ยกเว้นภิกษุผู้รับรูปิยะ นอกนั้นทุกรูปฉันได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าทำไม่ได้ พึงบอกเขาว่า “ท่าน โปรดทิ้งของนี้” ถ้าเขาทิ้งให้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทิ้งให้ พึงแต่งตั้งภิกษุผู้ประกอบด้วย คุณสมบัติ ๕ อย่างให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๐๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๒. โกสิยวรรค ๘. รูปิยสิกขาบท บทภาชนีย์

คุณสมบัติของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ ๕ อย่าง
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง ๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว ๕. รู้วิธีว่าเป็นอันทิ้งหรือไม่เป็นอันทิ้งรูปิยะ
วิธีแต่งตั้งภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ และคำแต่งตั้ง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ เบื้องต้นพึงขอให้ภิกษุรับ ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า [๕๘๕] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงแต่งตั้ง ภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ท่าน รูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง ภิกษุชื่อนี้สงฆ์แต่งตั้งให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า ขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้ ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นพึงทิ้งรูปิยะไป อย่ากำหนดที่ตก ถ้าทิ้งโดยกำหนดที่ตก ต้องอาบัติทุกกฏ
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๘๖] รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ รับรูปิยะ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ รูปิยะ ภิกษุไม่แน่ใจ รับรูปิยะ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่รูปิยะ รับรูปิยะ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๑๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๒. โกสิยวรรค ๘. รูปิยสิกขาบท อนาปัตติวาร

ทุกทุกกฏ
สิ่งที่ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ ต้องอาบัติทุกกฏ สิ่งที่ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ สิ่งที่ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่รูปิยะ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ ๑. ภิกษุหยิบเองหรือใช้ให้คนอื่นหยิบรูปิยะตกในวัดหรือในที่อยู่ เก็บไว้ด้วยตั้งใจว่า เจ้าของจะมาเอาไป ๒. ภิกษุวิกลจริต ๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
รูปิยสิกขาบทที่ ๘ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๑๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๐๗-๑๑๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=18              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=2567&Z=2684                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=105              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=105&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4709              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=105&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4709                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np18/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :