ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๓. หลิททิกานิสูตร
ว่าด้วยหลิททิกานิคหบดี
[๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน เขตเมืองกุรรฆระ แคว้นอวันตี ครั้งนั้น คหบดีชื่อหลิททิกานิเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้ในมาคัณฑิยปัญหาอันมาในอัฏฐกวรรคว่า ‘บุคคลละที่อยู่๓- แล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย๔- มุนีไม่ทำความเยื่อใยในบ้าน ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหวังอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน’๕- ข้าแต่ท่านมหากัจจานะผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้โดยย่อนี้ พึงทราบโดยพิสดารอย่างไร” @เชิงอรรถ : @ เดือดร้อน ในที่นี้หมายถึงมีอุปสรรค มีอันตราย(อุปัททวะ) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๕/๑๕๓) @ เร่าร้อน ในที่นี้หมายถึงเร่าร้อนทางกายและใจ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๕/๑๕๓) @ ที่อยู่ หมายถึงขันธ์ ๕ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) (สํ.ข.อ. ๒/๓/๒๘๕-๒๘๖) @ ที่อาศัย หมายถึงอารมณ์ ๖ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) (สํ.ข.อ. ๒/๓/๒๘๕-๒๘๖) @ ขุ.สุ. ๒๕/๘๕๑/๕๐๐ และดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๙/๒๓๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มูลปัณณาสก์ ๑. นกุลปิตุวรรค ๓. หลิททิกานิสูตร

ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า “คหบดี รูปธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูกพันกับราคะในรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’ เวทนาธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูกพันกับราคะในเวทนาธาตุ ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’ สัญญาธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูกพันกับราคะในสัญญาธาตุ ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’ สังขารธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูกพันกับราคะในสังขารธาตุ ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’ คหบดี บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่ เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่ เป็นอย่างไร คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในรูปธาตุ พระตถาคตทรงละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกพระ ตถาคตว่า ‘ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย และความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในเวทนาธาตุ ฯลฯ ในสัญญาธาตุ ฯลฯ ในสังขารธาตุ ฯลฯ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย และความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในวิญญาณธาตุ พระตถาคตทรงละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกพระ ตถาคตว่า ‘ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’ คหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่ เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร คือ ความเที่ยวซ่านไปหาและความผูกพันกับที่อาศัย คือรูปนิมิต ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มูลปัณณาสก์ ๑. นกุลปิตุวรรค ๓. หลิททิกานิสูตร

ความเที่ยวซ่านไปหาและความผูกพันกับที่อาศัย คือสัททนิมิต ฯลฯ คันธนิมิต ... รสนิมิต ... โผฏฐัพพนิมิต ... ธัมมนิมิต ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย’ คหบดี บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร คือ ความซ่านไปหาและความผูกพันกับที่อาศัย คือรูปนิมิต พระตถาคต ทรงละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกพระตถาคตว่า ‘ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย’ ความซ่านไปหาและความผูกพันกับที่อาศัย คือสัททนิมิต ... คันธนิมิต ... รสนิมิต ... โผฏฐัพพนิมิต ... ธัมมนิมิต พระตถาคตละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป ไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกพระตถาคตว่า ‘ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย’ คหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้เกิดความเยื่อใยในบ้าน เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เกี่ยวข้องอยู่กับคฤหัสถ์ เพลิดเพลิน ร่วมกัน เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุข ก็สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขามีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง คหบดี บุคคลผู้เกิดความเยื่อใยในบ้าน เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้ไม่เกิดความเยื่อใยในบ้าน เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เกี่ยวข้องอยู่กับคฤหัสถ์ ไม่ เพลิดเพลินร่วมกัน ไม่เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุข ก็มิได้สุขด้วย เมื่อพวก เขาทุกข์ ก็มิได้ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขามีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ไม่ลงมือช่วยเหลือ ด้วยตนเอง คหบดี บุคคลผู้ไม่เกิดความเยื่อใยในบ้าน เป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มูลปัณณาสก์ ๑. นกุลปิตุวรรค ๓. หลิททิกานิสูตร

บุคคลผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจาก ความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความ เร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย คหบดี บุคคลผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้ว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ปราศจากความกำหนัด ปราศจาก ความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย คหบดี บุคคลผู้ว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้มุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า ‘ในอนาคตกาล เราพึงมีรูปอย่างนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีสังขารอย่างนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีวิญญาณอย่างนี้’ คหบดี บุคคลผู้มุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้ไม่มุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ไม่มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า ‘ในอนาคตกาล เราพึงมีรูปอย่างนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีสังขารอย่างนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีวิญญาณอย่างนี้’ คหบดี บุคคลผู้ไม่มุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้กล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มูลปัณณาสก์ ๑. นกุลปิตุวรรค ๓. หลิททิกานิสูตร

คือ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ‘ท่าน ไม่รู้พระธรรมวินัยนี้ เรารู้พระธรรมวินัยนี้ ท่านรู้พระธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่าน ปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูก คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านก็กล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าว ทีหลัง ท่านก็กล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ ท่านเคยปฏิบัติมาผิดเสียแล้ว เรากล่าวหาท่าน ท่านจงแก้ข้อกล่าวหาเสีย เราข่ม ท่านได้แล้ว หรือหากท่านสามารถก็จงแก้ไขเถิด’ คหบดี บุคคลผู้กล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้ไม่กล่าวถ้อยคำขัดแย้ง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ‘ท่านไม่รู้พระธรรมวินัยนี้ เรารู้พระธรรมวินัยนี้ ท่านรู้พระธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูก คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านก็กล่าวทีหลัง คำที่ควร กล่าวทีหลัง ท่านก็กล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคยปฏิบัติมาผิดเสียแล้ว เรากล่าวหาท่าน ท่านจงแก้ข้อกล่าวหาเสีย เราข่มท่านได้แล้ว หรือหากท่านสามารถก็จงแก้ไขเถิด’ คหบดี บุคคลผู้ไม่กล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างนี้แล คหบดี พระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในมาคัณฑิยปัญหา อันมาใน อัฏฐกวรรคว่า ‘บุคคลละที่อยู่แล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย มุนีไม่ทำความเยื่อใยในบ้าน ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหวังอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน’ คหบดี เนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ พึงทราบ โดยพิสดารอย่างนี้แล”
หลิททิกานิสูตรที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๑๑-๑๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=17&siri=3              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=181&Z=267                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=11              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=17&item=11&items=14              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=6265              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=17&item=11&items=14              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=6265                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i001-e.php#sutta3 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.003.than.html https://suttacentral.net/sn22.3/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.3/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :