ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๒. อาหารวรรค ๑๐. ปัจจยสูตร

๑๐. ปัจจยสูตร
ว่าด้วยปัจจัย
[๒๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปฏิจจสมุปบาท และปฏิจจสมุปปันนธรรมแก่เธอ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างไร คือ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ตถาคตเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้น ก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ความ ที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้น ตถาคตรู้ บรรลุธาตุนั้น ครั้นรู้ บรรลุแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย และกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงดูเถิด’ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี ฯลฯ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ... เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ... เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ... เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ... เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ตถาคตเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ความที่มีสิ่งนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๓๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๒. อาหารวรรค ๑๐. ปัจจยสูตร

เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้น ตถาคตรู้ บรรลุธาตุนั้น ครั้นรู้ บรรลุแล้ว จึงบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย และกล่าวว่า ‘เธอ ทั้งหลายจงดูเถิด’ ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงมี ในกระบวนการนี้ ตถตา (ความเป็นอย่างนั้น) อวิตถตา (ความไม่คลาดเคลื่อน) อนัญญถตา (ความไม่เป็นอย่างอื่น) อิทัปปัจจยตา (ความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้) ดังพรรณนามาฉะนี้แล นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปปันนธรรม เป็นอย่างไร คือ ชราและมรณะเป็นสภาวะไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกัน เกิดขึ้น มีความสิ้นไป มีความเสื่อมไป มีความคลายไป มีความดับไปเป็นธรรมดา ชาติเป็นสภาวะไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีความ สิ้นไป มีความเสื่อมไป มีความคลายไป มีความดับไปเป็นธรรมดา ภพเป็นสภาวะไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีความ สิ้นไป มีความเสื่อมไป มีความคลายไป มีความดับไปเป็นธรรมดา อุปาทาน ฯลฯ ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ... วิญญาณ ... สังขารทั้งหลาย ... อวิชชาเป็นสภาวะไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีความ สิ้นไป มีความเสื่อมไป มีความคลายไป มีความดับไปเป็นธรรมดา นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม เมื่อใดอริยสาวก๑- เห็นปฏิจจสมุปบาท และปฏิจจสมุปปันนธรรมเหล่านี้ด้วยดี ด้วยปัญญาอันชอบ๒- ตามความเป็นจริง เมื่อนั้นอริยสาวกนั้น จักเข้าถึงที่สุดเบื้องต้น @เชิงอรรถ : @ อริยสาวก ในที่นี้หมายถึงพระโสดาบัน (สํ.นิ.อ. ๒/๒๐/๔๙) @ ปัญญาอันชอบ ในที่นี้หมายถึงมัคคปัญญา คือปัญญาในมรรค หรือปัญญาที่รู้จักมรรคในวิปัสสนา @(สํ.นิ.อ. ๒/๒๐/๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๓๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๒. อาหารวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ว่า ‘ในอดีตเราได้มีแล้วหรือ ในอดีตเราไม่ได้มีหรือหนอ ในอดีตเราได้เป็นอะไรหนอ ในอดีตเราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตเราเป็นอะไร จึงได้เกิดเป็นอะไรอีก’ หรือว่า จักเข้าถึงที่สุดเบื้องปลายว่า ‘ในอนาคต เราจักมีหรือ ในอนาคตเราจักไม่มีหรือ ในอนาคตเราจักเป็นอย่างไรหนอ ในอนาคตเราจักเป็นอะไร จึงจักเกิดเป็นอะไรอีก’ หรือจักมีความสงสัยในปัจจุบันอันเป็นไปในภายใน ณ บัดนี้ว่า ‘เรามีหรือหนอ เราไม่มีหรือหนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาจากไหนหนอ เขาจักเป็นผู้ไปที่ไหนหนอ’ ข้อนี้เป็นไปไม่ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอริยสาวกเห็นปฏิจจสมุปบาทและปฏิจจสมุปปันนธรรมเหล่านี้ด้วยดี ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง”
ปัจจยสูตรที่ ๑๐ จบ
อาหารวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อาหารสูตร ๒. โมลิยผัคคุนสูตร ๓. สมณพราหมณสูตร ๔. ทุติยสมณพราหมณสูตร ๕. กัจจานโคตตสูตร ๖. ธัมมกถิกสูตร ๗. อเจลกัสสปสูตร ๘. ติมพรุกขสูตร ๙. พาลปัณฑิตสูตร ๑๐. ปัจจยสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๓๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๓๔-๓๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=16&siri=16              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=590&Z=641                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=60              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=16&item=60&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1017              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=16&item=60&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1017                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/16i028-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn12/sn12.020.than.html https://suttacentral.net/sn12.20/en/sujato https://suttacentral.net/sn12.20/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :