ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
๗. อเจลกัสสปสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่ออเจลกัสสปะ
[๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร และจีวร๑- เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ อเจลกัสสปะได้เห็นพระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูล ถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าขอถามเหตุบางอย่างกับท่านพระโคดม ถ้าท่านพระโคดมเปิดโอกาส เพื่อตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า” “กัสสปะ ยังไม่ใช่เวลาที่จะตอบปัญหาของท่าน เรากำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน” @เชิงอรรถ : @ ทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร หมายถึงพระองค์ทรงผลัดเปลี่ยนสบงหรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ @แล้วทรงถือบาตรด้วยพระหัตถ์ถือจีวรด้วยพระวรกาย คือห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, @ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓, ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, ขุ.อุ.อ. ๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๒๖}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๒. อาหารวรรค ๗. อเจลกัสสปสูตร

แม้ครั้งที่ ๒ อเจลกัสสปะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ‘ข้าพเจ้า ขอถามเหตุบางอย่างกับท่านพระโคดม ถ้าท่านพระโคดมเปิดโอกาส เพื่อตอบปัญหา แก่ข้าพเจ้า” “กัสสปะ ยังไม่ใช่เวลาที่จะตอบปัญหาของท่าน เรากำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน” แม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ ‘เรากำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว อเจลกัสสปะได้กราบทูลว่า “ข้าพเจ้า ไม่ประสงค์ที่จะถามท่านพระโคดมมากนัก” “กัสสปะ จงถามปัญหาที่ท่านประสงค์เถิด” “ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองหรือ” “อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ” “ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้หรือ” “อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ” “ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองด้วย และคนอื่นกระทำให้ด้วยหรือ” “อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ” “ท่านพระโคดม ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตนกระทำเองก็มิใช่ และคนอื่น กระทำให้ก็มิใช่หรือ” “อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ” “ท่านพระโคดม ทุกข์ไม่มีหรือ” “กัสสปะ ทุกข์ไม่มีก็มิใช่ ทุกข์มีอยู่” “ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้เห็นทุกข์หรือ” “กัสสปะ เราไม่รู้เห็นทุกข์ก็มิใช่ เรานี่แหละที่รู้เห็นทุกข์โดยแท้” “เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองหรือ ท่านตรัสว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้หรือ’ ท่านตรัสว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๒๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๒. อาหารวรรค ๗. อเจลกัสสปสูตร

เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองด้วย และ คนอื่นกระทำให้ด้วยหรือ’ ท่านตรัสว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตน กระทำเองก็มิใช่ และคนอื่นกระทำให้ก็มิใช่หรือ’ ท่านตรัสว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์ไม่มีหรือ’ ท่านตรัสว่า ‘กัสสปะ ทุกข์ไม่มีก็มิใช่ ทุกข์มีอยู่’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้เห็นทุกข์หรือ’ ท่านตรัสว่า ‘กัสสปะ เราไม่รู้เห็นทุกข์ก็มิใช่ เรานี่แหละที่รู้เห็นทุกข์โดยแท้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดตรัสบอกทุกข์แก่ข้าพเจ้า ด้วยเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงทุกข์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด” “กัสสปะ เมื่อเบื้องต้นมี(วาทะ)ว่า ‘ผู้นั้นกระทำ ผู้นั้นเสวย(ทุกข์)’ ต่อมา มีวาทะว่า ‘ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง’ อันนั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) เมื่อมีผู้ถูกเวทนาเสียดแทง เบื้องต้นว่า ‘คนอื่นกระทำ คนอื่นเป็นผู้เสวย(ทุกข์)’ ต่อมามีวาทะว่า ‘ทุกข์คนอื่นกระทำให้’ อันนั้นเป็นอุจเฉททิฏฐิ(ความเห็นว่าขาดสูญ) ตถาคตไม่เข้าไปใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้ ย่อมแสดงธรรมโดยสายกลางว่า ‘เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ ความ เกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้ อนึ่ง เพราะอวิชชานั้นดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อเจลกัสสปะได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ ฯลฯ ด้วยตั้งใจว่า ‘คนตาดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๒๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๒. อาหารวรรค ๗. อเจลกัสสปสูตร

จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น สรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของ พระผู้มีพระภาค” “กัสสปะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส๑- ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือนสิ้นสุดการอยู่ปริวาสแล้ว เมื่อภิกษุ พอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ อนึ่ง ในเรื่องนี้เราคำนึงถึงความแตกต่างระหว่าง บุคคลด้วย” เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ประสงค์ จะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือน สิ้นสุดการอยู่ปริวาสแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ ข้าพระองค์ จักขออยู่ปริวาส ๔ ปี หลังจาก ๔ ปีสิ้นสุดการอยู่ปริวาสแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะ ให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ” อเจลกัสสปะได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้ว เมื่อบวชแล้ว ไม่นาน หลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๒- อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์๓- ที่ เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ อนึ่ง ท่านกัสสปะได้เป็นพระ- อรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
อเจลกัสสปสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ ปริวาส ในพระสูตรนี้เรียกว่า ติตถิยปริวาส ได้แก่ ข้อปฏิบัติสำหรับนักบวชนอกพระพุทธศาสนาผู้ที่เคย @เป็นอัญเดียรถีย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยแล้วประสงค์จะบวชเป็นภิกษุ ให้ขอปริวาสต่อสงฆ์ แล้วดำรงตน @อย่างสามเณรครบ ๔ เดือน จนสงฆ์พอใจจึงจะขออุปสมบทเป็นภิกษุได้ (สํ.นิ.อ. ๒/๑๗/๔๒, @ที.สี.อ. ๔๐๕/๒๙๙) @ ประโยชน์ยอดเยี่ยม หมายถึงอรหัตตผลหรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์ @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๕/๗, ม.ม.อ. ๒/๘๒/๘๐) @ ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ หมายถึงจุดสุดท้ายของการประพฤติธรรม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลอันเป็น @จุดหมายสูงสุดแห่งมรรคพรหมจรรย์ (ที.สี.อ. ๔๐๕/๓๐๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๒๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๒๖-๒๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=16&siri=13              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=431&Z=505                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=47              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=16&item=47&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=881              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=16&item=47&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=881                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/16i028-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn12/sn12.017.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn12/sn12.017x.wlsh.html https://suttacentral.net/sn12.17/en/sujato https://suttacentral.net/sn12.17/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :