ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
๑๐. สมิทธิสูตร
ว่าด้วยพระสมิทธิ
[๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตโปทาราม เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระสมิทธิลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ไปที่แม่น้ำตโปทาเพื่อสรงน้ำ เสร็จแล้วขึ้นมา มีจีวร ผืนเดียว๑- ได้ยืนรอให้ตัวแห้งอยู่ ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงาม ยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วแม่น้ำตโปทา เข้าไปหาท่านพระสมิทธิถึงที่อยู่แล้วยืนอยู่ ในอากาศได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิด้วยคาถาว่า ภิกษุ ท่านไม่บริโภคแต่ยังขออยู่ ท่านบริโภคแล้วก็ต้องไม่ขอเลย ภิกษุ ท่านบริโภคแล้วจงขอเถิด กาล๒- อย่าได้ล่วงท่านไปเลย @เชิงอรรถ : @ มีจีวรผืนเดียว หมายถึงนุ่งสบงผูกประคตเอวเรียบร้อยแล้วยืนถือจีวรไว้ (สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๓๙) @ กาล ในที่นี้หมายถึงเวลาที่ยังเป็นหนุ่ม-สาว ควรแก่การเสพเมถุน (สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักกาลเลย เพราะกาลถูกปกปิดอยู่ยังไม่ปรากฏ ฉะนั้น ถึงข้าพเจ้าไม่บริโภคแต่ก็ยังขออยู่ กาล๑- อย่าได้ล่วงข้าพเจ้าไปเลย ครั้งนั้น เทวดานั้นลงมายืนอยู่ที่พื้นดินแล้วได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิว่า “ภิกษุ ท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่นมีผมดำสนิท อยู่ในวัยแรกรุ่นอันเจริญ ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลาย ขอท่านจงบริโภคกามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์เถิด อย่าละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามอันมีอยู่ตามกาล๒- เลย” ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า “เทวดา ข้าพเจ้ามิได้ละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่ง ไปหากามอันมีอยู่ตามกาลเลย ข้าพเจ้าละกามอันมีอยู่ตามกาลแล้ววิ่งไปหาธรรม ที่เห็นเฉพาะหน้า กามทั้งหลายอันมีอยู่ตามกาลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษยิ่งนัก ธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน พึงรู้เฉพาะตน” เทวดากล่าวว่า “ภิกษุ ก็กามทั้งหลายอันมีอยู่ตามกาลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษยิ่งนัก เป็นอย่างไร ธรรมนี้เป็นธรรม ที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เป็นอย่างไร” ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า “เทวดา ข้าพเจ้าเองเป็นพระใหม่ บวชมาไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้าไม่อาจจะบอกท่านโดยพิสดารได้ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ตโปทาราม เขต กรุงราชคฤห์ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามข้อความนั้นเถิด พึงจำ ข้อความนั้นตามที่พระองค์ทรงเฉลยเถิด” @เชิงอรรถ : @ กาล ในที่นี้หมายถึงเวลาสำหรับบำเพ็ญสมณธรรม (สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๔๑) @ กามอันมีอยู่ตามกาล หมายถึงกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่เป็นทิพย์และเป็น @ของมนุษย์ (สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

เทวดากล่าวว่า “ภิกษุ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พวกเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ ทั้งหลายเหล่าอื่นแวดล้อมอยู่ พวกข้าพเจ้าจะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ง่ายนัก หากท่านเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้ แม้พวกข้าพเจ้าก็จะมาฟังธรรมด้วย” ท่านพระสมิทธิรับคำของเทวดานั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ไปที่แม่น้ำตโปทา เพื่อสรงน้ำ เสร็จแล้วขึ้นมา มีจีวรผืนเดียวได้ยืนรอให้ตัวแห้งอยู่ ครั้นเมื่อราตรี ผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วแม่น้ำตโปทา เข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่แล้วยืนอยู่ในอากาศ ได้กล่าวคาถานี้ว่า ภิกษุ ท่านไม่บริโภคแต่ยังขออยู่ ท่านบริโภคแล้วก็ต้องไม่ขอเลย ภิกษุ ท่านบริโภคแล้วจงขอเถิด กาลอย่าได้ล่วงท่านไปเลย เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับเทวดานั้นด้วยคาถาว่า ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักกาลเลย เพราะกาลถูกปกปิดอยู่ยังไม่ปรากฏ ฉะนั้น ถึงข้าพเจ้าไม่บริโภคแต่ก็ยังขออยู่ กาลอย่าได้ล่วงข้าพเจ้าไปเลย ครั้งนั้น เทวดานั้นลงมายืนอยู่ที่พื้นดินแล้วได้กล่าวกับข้าพระองค์ดังนี้ว่า “ภิกษุ ท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่นมีผมดำสนิท อยู่ในวัยแรกรุ่นอันเจริญ ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลาย ขอท่านจงบริโภคกามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์เถิด อย่าละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามอันมีอยู่ตามกาลเลย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์จึงได้กล่าวกับเทวดานั้นดังนี้ว่า “เทวดา ข้าพเจ้ามิได้ละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามอันมีอยู่ตามกาลเลย ข้าพเจ้าละกามอันมีอยู่ตามกาลแล้ววิ่งไปหาธรรมที่เห็นเฉพาะหน้า กามทั้งหลาย อันมีอยู่ตามกาลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้ มีโทษยิ่งนัก ธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวกับข้าพระองค์ดังนี้ว่า “ภิกษุ ก็กามทั้งหลายอันมีอยู่ตามกาลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความ คับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษยิ่งนัก เป็นอย่างไร ธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึง เห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เป็นอย่างไร” เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับเทวดานั้นดังนี้ว่า “เทวดา ข้าพเจ้าเองเป็นพระใหม่ บวชมาไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้าไม่อาจจะ บอกท่านโดยพิสดารได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ตโปทาราม เขตกรุงราชคฤห์ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามข้อความนั้นเถิด พึงจำข้อความนั้นตามที่พระองค์ทรงเฉลยเถิด” เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวกับข้าพระองค์ดังนี้ว่า “ภิกษุ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พวกเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทั้งหลายเหล่าอื่น แวดล้อมอยู่ พวกข้าพเจ้าจะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ง่ายนัก หากท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคแล้วทูลถามข้อความนี้แทน แม้พวกข้าพเจ้าก็จะมาฟังธรรมด้วย ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ถ้าคำของเทวดานั้นเป็นจริง เทวดานั้นก็พึงมาใกล้ตโปทารามนี้” เมื่อท่านพระสมิทธิกราบทูลอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิ ดังนี้ว่า “ทูลถามเถิด ทูลถามเถิด ภิกษุ ข้าพเจ้าตามมาถึงที่นี้แล้ว” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกเทวดานั้น ด้วยคาถาทั้งหลายว่า สัตว์ทั้งหลายมีความหมายรู้ในสิ่งที่เรียกขาน๑- ติดอยู่ในสิ่งที่เรียกขาน๒- ไม่กำหนดรู้สิ่งที่เรียกขาน จึงตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความตาย ส่วนภิกษุกำหนดรู้สิ่งที่เรียกขานแล้ว๓- ไม่กำหนดหมายสิ่งที่เรียกขาน เพราะสิ่งที่เรียกขานนั้นไม่มีแก่ภิกษุนั้น ฉะนั้น เหตุที่จะเรียกขานท่านจึงไม่มี ยักษ์๔- ถ้าท่านรู้ชัดก็จงบอกมาเถิด เทวดานั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความ แห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดตรัสให้ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระองค์ ตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารเถิด” @เชิงอรรถ : @ สิ่งที่เรียกขาน หมายถึงชื่อที่ใช้เรียกขันธ์ ๕ ในลักษณะต่างๆ มีเทวดา มนุษย์ สัตว์ บุคคล เป็นต้น @(สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๔๔) @ ติดอยู่ในสิ่งที่เรียกขาน หมายถึงติดอยู่ในขันธ์ ๕ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ด้วย @อาการ ๘ คือ (๑) ราคะ (๒) โทสะ (๓) โมหะ (๔) ทิฏฐิ (๕) อนุสัย (๖) มานะ (๗) วิจิกิจฉา (๘) อุทธัจจะ @(สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๔๔) @ กำหนดรู้...แล้ว หมายถึงกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ ประการ คือ (๑) ญาตปริญญา (๒) ตีรณปริญญา @(๓) ปหานปริญญา (สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๔๔) @ คำว่า ยักษ์ นี้เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกเทวดา (สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๔๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสคาถานี้ว่า บุคคลใดถือตัวว่าเราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา หรือเราด้อยกว่าเขา บุคคลนั้นก็พึงทะเลาะกับเขา เพราะความถือตัวนั้น บุคคลผู้ไม่หวั่นไหวในความถือตัวทั้ง ๓ นั้น ย่อมไม่มีความถือตัวว่าเราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา หรือเราด้อยกว่าเขา ยักข์ ถ้าท่านรู้ชัดก็จงบอกมาเถิด เทวดานั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความ แห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดตรัสให้ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระองค์ ตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสคาถานี้ว่า บุคคลละบัญญัติได้แล้ว ไม่เข้าถึงวิมาน๑- ตัดตัณหาในนามรูปนี้ได้แล้ว เทวดาและมนุษย์ในโลกนี้ หรือในโลกอื่น ในสวรรค์ หรือในสถานที่อยู่อาศัยของสัตว์ทุกจำพวก๒- ถึงจะเที่ยวค้นหาก็ไม่พบบุคคลนั้น ผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกได้แล้ว ไร้ทุกข์หมดความกระหาย @เชิงอรรถ : @ วิมานมี ๒ ความหมาย คือ (๑) มานะ (๒) ครรภ์มารดา (สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๔๖) @ สถานที่อยู่อาศัยของสัตว์ทุกจำพวก หมายถึงภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ @(สํ.ส.อ. ๑/๒๐/๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

๒. นันทนวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ยักข์ ถ้าท่านรู้ชัดก็จงบอกมาเถิด เทวดานั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความ แห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า บุคคลไม่ควรทำบาปทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ทางใดทางหนึ่งในโลกทั้งปวง ควรละกามทั้งหลาย มีสติสัมปชัญญะ ไม่พึงเสวยทุกข์อันประกอบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์”
สมิทธิสูตรที่ ๑๐ จบ
นันทนวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. นันทนสูตร ๒. นันทติสูตร ๓. นัตถิปุตตสมสูตร ๔. ขัตติยสูตร ๕. สณมานสูตร ๖. นิททาตันทิสูตร ๗. ทุกกรสูตร ๘. หิริสูตร ๙. กุฏิกาสูตร ๑๐. สมิทธิสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๘-๒๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=15&siri=20              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=248&Z=374                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=44              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=44&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=1000              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=44&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=1000                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i023-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn01/sn01.020.than.html https://suttacentral.net/sn1.20/en/sujato https://suttacentral.net/sn1.20/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :