ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๑๐. ทุติยอปุตตกสูตร

๑๐. ทุติยอปุตตกสูตร
ว่าด้วยทรัพย์ที่ไม่มีบุตร สูตรที่ ๒
[๑๓๑] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้า ปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “เชิญเถิด มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน” พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คหบดีผู้เป็นเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนี้ ถึงแก่กรรมแล้ว ข้าพระองค์ให้ขนทรัพย์สมบัติที่ไม่มีบุตรนั้นมาไว้ ในพระราชวังแล้วก็มาเข้าเฝ้า เฉพาะเงินเท่านั้นมี ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ส่วนเครื่องเงินนั้น ไม่ต้องพูดถึง อนึ่ง คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้บริโภคอาหารเช่นนี้ คือ บริโภคปลายข้าว กับน้ำผักดอง ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเช่นนี้ คือ นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัดเป็นสามชิ้น เย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะเช่นนี้ คือ ใช้รถเก่าๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น เรื่องเคยมีมาแล้ว คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้สั่งให้จัดเตรียม บิณฑบาตถวายพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าพระนามว่าตครสิขีว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงถวาย อาหารบิณฑบาตแก่สมณะ’ แล้วลุกจากอาสนะเดินจากไป ภายหลังได้มีความ เสียดายว่า ‘อาหารบิณฑบาตนี้ให้ทาสหรือกรรมกรบริโภคยังดีกว่า’ นอกจากนี้ เขายังปลิดชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย เพราะทรัพย์สมบัติเป็นเหตุอีกด้วย มหาบพิตร ด้วยผลของกรรมที่คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น สั่งให้จัดเตรียมอาหาร บิณฑบาตถวายพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าพระนามว่าตครสิขี เขาจึงบังเกิดในสุคติโลก สวรรค์ ๗ ครั้ง ด้วยเศษผลของกรรมนั้นเหมือนกัน ได้เป็นเศรษฐีในกรุงสาวัตถีนี้ แหละถึง ๗ ครั้ง มหาบพิตร ด้วยผลของกรรมที่คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถวายอาหารบิณฑบาตแล้ว ภายหลังได้มีความเสียดายว่า ‘อาหารบิณฑบาตนี้ให้ทาสหรือกรรมกรบริโภค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๕๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๑๐. ทุติยอปุตตกสูตร

ยังดีกว่า’ เขาจึงไม่คิดอยากบริโภคอาหารอันมากมาย ไม่คิดอยากใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่ม อันมากมาย ไม่คิดอยากใช้ยานพาหนะอย่างโอ่อ่า ไม่คิดอยากบริโภคกาม- คุณ ๕ ที่ดีๆ มหาบพิตร อนึ่ง ด้วยผลของกรรมที่คหบดีผู้เศรษฐีนั้นปลิดชีวิตบุตรน้อย คนเดียวของพี่ชาย เพราะทรัพย์สมบัติเป็นเหตุ เขาจึงถูกไฟเผาอยู่ในนรกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี ด้วยเศษผลของกรรมนั้นเหมือนกัน ทรัพย์สมบัติที่ไม่มีบุตรรับเอา จึงถูกขนเข้าคลังหลวงนี้เป็นครั้งที่ ๗ มหาบพิตร ก็บุญเก่าของคหบดี ผู้เป็นเศรษฐีนั้นหมดสิ้นแล้ว และบุญใหม่ก็ ไม่ได้สะสมไว้ ในวันนี้ คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถูกไฟเผาอยู่ในมหาโรรุวนรก” พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คหบดีผู้เป็นเศรษฐี บังเกิดในมหาโรรุวนรกอย่างนั้นหรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่างนั้น มหาบพิตร คหบดีผู้เป็นเศรษฐี บังเกิดในมหาโรรุวนรกแล้ว” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง สิ่งของที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทาส กรรมกร คนรับใช้ และผู้อาศัยที่มีอยู่ ทั้งหมดนั้นเขานำไปไม่ได้ จำต้องละทิ้งไว้ทั้งหมด อนึ่ง บุคคลทำกรรมใดทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ กรรมนั้นแลเป็นสมบัติของเขา ทั้งเขาจะนำกรรมนั้นไปได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๕๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

อนึ่งกรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สะสมไว้เป็นสมบัติในโลกหน้า เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
ทุติยอปุตตกสูตรที่ ๑๐ จบ
วรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้คือ
๑. สัตตชฏิลสูตร ๒. ปัญจราชสูตร ๓. โทณปากสูตร ๔. ปฐมสังคามสูตร ๕. ทุติยสังคามสูตร ๖. ธีตุสูตร ๗. ปฐมอัปปมาทสูตร ๘. ทุติยอัปปมาทสูตร ๙. ปฐมอปุตตกสูตร ๑๐. ทุติยอปุตตกสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๖๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๕๘-๑๖๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=15&siri=131              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=2927&Z=2986                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=390              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=390&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=3985              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=390&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=3985                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i354-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn03/sn03.020.than.html https://suttacentral.net/sn3.20/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :