ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
๘. ทุติยอัปปมาทสูตร
ว่าด้วยความไม่ประมาท สูตรที่ ๒
[๑๒๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความคิดคำนึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้หลีกเร้นอยู่ ในที่สงัดอย่างนี้ว่า “ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วนั่นแล เป็นธรรมสำหรับ ผู้มีมิตรดี๑- มีสหายดี๒- มีเพื่อนดี๓- ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรเลว มีสหายเลว มีเพื่อนเลว” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น ธรรมที่อาตมภาพกล่าวไว้ดีแล้วนั่นแล เป็นธรรมสำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรเลว มีสหายเลว มีเพื่อนเลว มหาบพิตร ครั้งหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมของหมู่เจ้าศากยะ ชื่อว่านครกะ ในแคว้นสักกะ ครั้งนั้น ภิกษุอานนท์เข้าไปหาอาตมภาพถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ภิกษุอานนท์ได้กล่าวกับอาตมภาพว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ กึ่งหนึ่ง” @เชิงอรรถ : @ มิตรดี หมายถึงมิตรที่มีคุณธรรม คือศีลเป็นต้น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๐) @ สหายดี หมายถึงเพื่อนร่วมงานที่ดี (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒) @ เพื่อนดี หมายถึงเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมรู้ใจกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๕๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๘. ทุติยอัปปมาทสูตร

อาตมภาพกล่าวว่า “อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ ที่จริง ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์๑- ทั้งหมดทีเดียว อานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรค มีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก (ความสงัด) อาศัยวิราคะ (ความ คลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ (ความดับ) น้อมไปในโวสสัคคะ (ความสละ) ๒. เจริญสัมมาสังกัปปะ ... ๓. เจริญสัมมาวาจา ... ๔. เจริญสัมมากัมมันตะ ... ๕. เจริญสัมมาอาชีวะ ... ๖. เจริญสัมมาวายามะ ... ๗. เจริญสัมมาสติ ... ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มากอย่างนี้แล อนึ่ง ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ ทั้งหมดทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้ ด้วยว่า เหล่าสัตว์ผู้มีชาติ(ความเกิด) เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชรา(ความแก่)เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะ(ความตาย)เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ(ความเศร้าโศก) @เชิงอรรถ : @ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ และอภิญญา ๖ (สํ.ส.อ. ๑/๑๒๙/๑๔๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๕๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๘. ทุติยอัปปมาทสูตร

ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ)เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เพราะอาศัยเราผู้เป็นมิตรดี อานนท์ ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ ทั้งหมดทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้๑- แล’ เพราะเหตุนั้นแล มหาบพิตร พระองค์พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักเป็นผู้ มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พระองค์ผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงอาศัย ธรรมอย่างหนึ่งนี้ คือความไม่ประมาทในกุศลธรรม ทั้งหลายอยู่เถิด มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ นางสนมผู้ ตามเสด็จจักมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ เอาเถิด แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่’ มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ แม้พระบรม- วงศานุวงศ์ ผู้ตามเสด็จจักมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัย ความไม่ประมาทอยู่ เอาเถิด แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ ประมาทอยู่’ มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ แม้กองทัพ ก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ เอาเถิด แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่’ มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ แม้ชาวนิคม ชาวชนบทก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ ประมาทอยู่ เอาเถิด แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่’ @เชิงอรรถ : @ ดู สํ.ม. (แปล) ๑๙/๒/๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๕๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๙. ปฐมอปุตตกสูตร

มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ แม้พระองค์ เองก็จักเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง รักษาแล้ว แม้ท้องพระคลังก็จักเป็นอันได้รับการ คุ้มครอง รักษาแล้ว” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า เมื่อปรารถนาโภคะยิ่งๆ ขึ้นไป บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญ บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมบรรลุประโยชน์ทั้งสอง ธีรชนท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะบรรลุประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในภายหน้า
ทุติยอัปปมาทสูตรที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๕๒-๑๕๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=15&siri=129              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=2791&Z=2866                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=381              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=381&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=3878              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=381&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=3878                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i354-e.php#sutta8 https://suttacentral.net/sn3.18/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :