ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๗. อัตถกรณสูตร

๗. อัตถกรณสูตร
ว่าด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
[๑๑๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้นั่งพิจารณาคดี เห็นขัตติยมหาศาลบ้าง พราหมณมหาศาลบ้าง คหบดีมหาศาลบ้าง ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นเค้ามูล เพราะกามเป็นตัวการณ์ หม่อมฉันได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะพิจารณาคดี (เพราะ)บัดนี้ ราชโอรสนามว่าวิฑูฑภะผู้มีหน้าชื่นบาน จักมาพิจารณาคดี” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล แม้บางพวก เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจ มากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นเค้ามูล เพราะกามเป็นตัวการณ์ ข้อนั้นจักมีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่พวกเขาตลอดกาลนาน” พระผู้มีพระภาค ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคะที่น่าใคร่ มักมาก หมกมุ่นในกาม ไม่รู้สึกตัวว่าละเมิด เหมือนฝูงปลาไม่รู้สึกตัวว่ามีเครื่องดักที่เขาดักไว้ ฉะนั้น ผลเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง เพราะกรรมนั้นมีวิบากเลวทราม
อัตถกรณสูตรที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๓๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๓๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=15&siri=118              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=2373&Z=2394                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=343              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=343&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=3467              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=343&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=3467                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i322-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn03/sn03.007.than.html https://suttacentral.net/sn3.7/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :