ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๔. ปิยสูตร

๔. ปิยสูตร
ว่าด้วยผู้รักตน
[๑๑๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความ คิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าไหนหนอชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักตน’ ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ก็ชนเหล่าใดประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชนผู้ไม่รักกันทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำ ความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนเหล่าใด ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน แม้ชนเหล่านั้น จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราไม่รักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชนผู้ที่รักกันทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความ เจริญนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น เพราะว่าชนบางพวกประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชนผู้ไม่รักกันทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำ ความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนบางพวก ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าว อย่างนี้ว่า ‘เราไม่รักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๓๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๔. ปิยสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชนผู้รักกันทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่ตนรักได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความ เจริญนั้นแก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ถ้าบุคคลรู้ว่ารักตน ก็ไม่พึงชักนำตนไปในทางชั่ว เพราะความสุขนั้นบุคคลผู้มักทำชั่วจะไม่ได้โดยง่าย เมื่อบุคคลถูกความตายครอบงำ ก็จะต้องละทิ้งภพมนุษย์ไป ก็อะไรเล่าเป็นสมบัติของเขา และเขาจะนำอะไรไปได้ อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น สัตว์ผู้จะต้องตายในโลกนี้ ทำกรรมอันใด คือบุญและบาปทั้ง ๒ ประการ บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา ทั้งเขาจะนำเอาบุญและบาปนั้นไปได้ อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมติดตามเขาไป ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สะสมไว้เป็นสมบัติในโลกหน้า เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
ปิยสูตรที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๓๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๓๒-๑๓๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=15&siri=115              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=2269&Z=2315                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=334              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=334&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=3452              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=334&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=3452                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i322-e.php#sutta4 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn03/sn03.004.than.html https://suttacentral.net/sn3.4/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :