ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๒. ฉันโนวาทสูตร

๒. ฉันโนวาทสูตร๑-
ว่าด้วยการให้โอวาทแก่พระฉันนะ
[๓๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่าน พระฉันนะ๒- อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สมัยนั้น ท่านพระฉันนะอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้ หนัก ครั้นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้น๓- แล้วเข้าไปหาท่านพระ มหาจุนทะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับท่านพระมหาจุนทะดังนี้ว่า “มาเถิดท่านจุนทะ พวกเราเข้าไปถามอาการอาพาธของท่านพระฉันนะกันเถิด” ท่านพระมหาจุนทะ รับคำแล้ว ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะเข้าไปหาท่านพระฉันนะ ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระฉันนะดังนี้ว่า “ท่านฉันนะ ท่านยัง สบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาของท่านทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”๔- ท่านพระฉันนะตอบว่า “ท่านสารีบุตร กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เหล็กแหลมคมทิ่มแทงศีรษะ แม้ฉันใด ลมอัน แรงกล้าเสียดแทงศีรษะของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ @เชิงอรรถ : @ ทั้งสูตรดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๐-๘๔ @ พระฉันนะ ในสูตรนี้ เป็นคนละรูปกับพระฉันนะที่นำม้ากัณฐกะส่งเสด็จเมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออก @มหาภิเนษกรมณ์ (ม.อุ.อ. ๓/๓๘๙/๒๓๗, สํ.สฬา.อ. ๓/๘๗/๒๐) @ ที่หลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติ (ม.อุ.อ. ๓/๓๘๙/๒๓๗) @ ดูเทียบ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๖/๕๔๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๔๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๒. ฉันโนวาทสูตร

เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียวขันที่ศีรษะ แม้ฉันใด ลมอัน แรงกล้าเสียดแทงศีรษะของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการ ทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง แม้ฉันใด ลมอันแรงกล้าเสียดแทงท้องของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการ กำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง ๒ คน จับแขนคนที่อ่อนแอกว่าคนละข้างย่างให้ ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด อาการเร่าร้อนในกายของกระผมก็มีมากอย่างยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านสารีบุตร กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของ กระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ ท่านสารีบุตร กระผม จักนำศัสตรา๑- มา กระผมไม่อยากมีชีวิตอยู่” [๓๙๐] “ท่านฉันนะอย่านำศัสตรามา ท่านจงรักษาตัวให้อยู่ต่อไปเถิด พวก เราต้องการให้ท่านรักษาตัวอยู่ต่อไป ถ้าท่านฉันนะไม่มีโภชนะที่เป็นสัปปายะ ผม จักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีเภสัชที่เป็นสัปปายะ ผมก็จักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีพวกอุปัฏฐากผู้เหมาะสม ผมจักอุปัฏฐากเอง ท่านฉันนะอย่า นำศัสตรามาเลย ขอท่านฉันนะจงรักษาตัวให้อยู่ต่อไปเถิด พวกเราต้องการให้ท่าน ฉันนะรักษาตัวอยู่ต่อไป” “ท่านสารีบุตร โภชนะที่เป็นสัปปายะของกระผมไม่ใช่ไม่มี เภสัชที่เป็น สัปปายะของกระผมไม่ใช่ไม่มี อุปัฏฐากที่เหมาะสมของกระผมไม่ใช่ไม่มี อีก ประการหนึ่ง กระผมก็ปรนนิบัติพระศาสดาด้วยความเต็มใจมาตลอดทีเดียว ไม่ใช่ ปรนนิบัติด้วยความไม่เต็มใจ ขอท่านสารีบุตรโปรดจำข้อความนี้ไว้อย่างนี้เถิดว่า ‘ข้อที่พระสาวกปรนนิบัติพระศาสดาด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ปรนนิบัติด้วยความไม่เต็มใจ นี้เป็นการสมควรแก่พระสาวก ฉันนภิกษุจักนำศัสตรามาจึงไม่ควรถูกติเตียน”๒- @เชิงอรรถ : @ ศัสตรา ในที่นี้หมายถึงศัสตราสำหรับฆ่าตัวตาย (ชีวิตหารกสตฺถํ) (ม.อุ.อ. ๓/๓๘๙/๒๓๗) @ ไม่ควรถูกติเตียน ในที่นี้หมายถึงไม่เกิดอีก ไม่ปฏิสนธิอีก (ม.อุ.อ. ๓/๓๙๐/๒๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๔๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๒. ฉันโนวาทสูตร

“พวกเราขอถามปัญหาบางข้อกับท่านฉันนะ ถ้าท่านฉันนะจะให้โอกาสตอบ ปัญหา” “ท่านสารีบุตร นิมนต์ถามมาเถิด ผมฟังแลัวจักตอบให้รู้” [๓๙๑] “ท่านฉันนะ ท่านพิจารณาเห็นจักขุ จักขุวิญญาณ และธรรมที่พึงรู้ แจ้งทางจักขุวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา๑- เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ... พิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ... พิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ... พิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ... พิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ และธรรมที่พึงรู้แจ้งทางมโนวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ หรือ” “ท่านสารีบุตร กระผมพิจารณาเห็นจักขุ จักขุวิญญาณ และธรรมที่พึงรู้แจ้ง ทางจักขุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ... พิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ... พิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ... พิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ... พิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ และธรรมที่พึงรู้แจ้งทางมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา๒- เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” [๓๙๒] “ท่านฉันนะ ท่านพิจารณาเห็นอะไร รู้อะไรในจักขุ ในจักขุวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งทางจักขุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักขุ จักขุวิญญาณ และ ธรรมที่พึงรู้แจ้งทางจักขุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ อัตตาของเรา’ @เชิงอรรถ : @ คำว่า นั่นของเรา เป็นต้น พระเถระกล่าวหมายถึงการถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิ @(ม.อุ.อ. ๓/๓๙๑/๒๓๗) @ คำว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เป็นต้น ท่านพระฉันนะพิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา @(ม.อุ.อ. ๓/๓๙๑/๒๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๔๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๒. ฉันโนวาทสูตร

พิจารณาเห็นอะไร รู้อะไรในโสตะ ในโสตวิญญาณ ... พิจารณาเห็นอะไร รู้อะไรในฆานะ ในฆานวิญญาณ ... พิจารณาเห็นอะไร รู้อะไรในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ... พิจารณาเห็นอะไร รู้อะไรในกาย ในกายวิญญาณ ... พิจารณาเห็นอะไร รู้อะไรในมโน ในมโนวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้ง ทางมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ และธรรมที่พึงรู้แจ้งทาง มโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” “ท่านสารีบุตร กระผมพิจารณาเห็นความดับ รู้ความดับในจักขุ ใน จักขุวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งทางจักขุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักขุ จักขุวิญญาณ และธรรมที่พึงรู้แจ้งทางจักขุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นความดับ รู้ความดับในโสตะ ในโสตวิญญาณ ... พิจารณาเห็นความดับ รู้ความดับในฆานะ ในฆานวิญญาณ ... พิจารณาเห็นความดับ รู้ความดับในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ... พิจารณาเห็นความดับ รู้ความดับในกาย ในกายวิญญาณ ... พิจารณาเห็นความดับ รู้ความดับในมโน ในมโนวิญญาณ และในธรรมที่พึง รู้แจ้งทางมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ และธรรมที่พึงรู้แจ้ง ทางมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” [๓๙๓] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวกับ ท่านพระฉันนะดังนี้ว่า “ท่านฉันนะ เพราะเหตุนี้แล แม้การเห็นนี้ ก็เป็นคำสอนของพระผู้มี พระภาคพระองค์นั้น ท่านพึงใส่ใจให้ดีตลอดกาลเป็นนิตย์ บุคคลผู้มีตัณหา มานะ และทิฏฐิอาศัยอยู่ ย่อมมีความหวั่นไหว บุคคลผู้ไม่มีตัณหา มานะ และทิฏฐิอาศัยอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๔๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๒. ฉันนวาทสูตร

ย่อมไม่มีความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็มีความสงบ๑- เมื่อมีความสงบ ก็ไม่มีความน้อมไป๒- เมื่อไม่มีความน้อมไป การมาและการไป๓- ก็ไม่มี เมื่อไม่มีการ มาและการไป ความตายและความเกิดก็ไม่มี เมื่อไม่มีความตายและความเกิด โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี ระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์” ครั้นท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะสอนท่านพระฉันนะด้วยโอวาทนี้แล้ว ก็ลุกขึ้นจากอาสนะแล้วจากไป เมื่อท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะจากไป ไม่นาน ท่านพระฉันนะก็ได้นำศัสตรามา๔- [๓๙๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ท่านฉันนะได้นำศัสตรามา ท่านมีคติเป็นอย่างไร มีอภิสัมปรายภพ เป็นอย่างไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สารีบุตร ฉันนภิกษุได้บอกว่าจะไม่ถูกติเตียน ไว้ต่อหน้าเธอแล้วมิใช่หรือ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีหมู่บ้านชาววัชชีชื่อปุพพชิระ ในหมู่บ้านนั้น ตระกูลที่เป็นมิตร ตระกูลที่เป็นสหาย เป็นตระกูลที่ท่านฉันนะเข้าไปอาศัยก็มีอยู่” “สารีบุตร ตระกูลที่เป็นมิตรตระกูลที่เป็นสหายเหล่านั้น เป็นตระกูลที่ ฉันนภิกษุเข้าไปอาศัยมีอยู่ แต่เราไม่กล่าวว่า ‘ฉันนภิกษุมีตระกูลที่ตนพึงเข้าไป อาศัยด้วยเหตุเพียงเท่านี้’ เธอจงจำข้อความนี้ไว้อย่างนี้เถิดว่า ‘เรากล่าวถึงภิกษุที่ @เชิงอรรถ : @ ความสงบ ในที่นี้หมายถึงกายปัสสัทธิ(สงบกาย) จิตตปัสสัทธิ(สงบจิต) และกิเลสปัสสัทธิ(สงบกิเลส) @(ม.อุ.อ. ๓/๓๙๓/๒๓๗, สํ.สฬา.อ. ๓/๘๗/๒๑) @ ความน้อมไป ในที่นี้หมายถึงความน้อมไปด้วยตัณหาและทิฏฐิ (ม.อุ.อ. ๓/๓๙๓/๒๓๗, @สํ.สฬา.อ. ๓/๘๗/๒๑) @ การมาและการไป หมายถึงการมาด้วยอำนาจปฏิสนธิ การไปด้วยอำนาจการจุติ (ม.อุ.อ. ๓/๓๙๓/๒๓๗, @สํ.สฬา.อ. ๓/๘๗/๒๒, สํ.ฏีกา ๒/๘๗/๓๕๑) @ นำศัสตรามา ในที่นี้หมายถึงนำศัสตรามาฆ่าตัวตาย คือตัดก้านคอ (ม.อุ.อ. ๓/๓๙๕/๒๓๘, @สํ.สฬา.อ. ๓/๘๗/๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๔๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๓. ปุณโณวาทสูตร

ละกายนี้เข้าถือกายอื่น ว่ามีตระกูลที่ตนพึงเข้าไปอาศัย’ ตระกูลนั้นไม่มีสำหรับ ฉันนภิกษุ ฉันนภิกษุนำศัสตรามาจึงไม่ควรถูกติเตียน” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรมีใจยินดีชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ฉันโนวาทสูตรที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๔๒-๔๔๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=44              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=9525&Z=9640                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=741              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=741&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=6037              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=741&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=6037                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i741-e.php# https://suttacentral.net/mn144/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :