ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๘. อุทเทสวิภังคสูตร
ว่าด้วยอุทเทสและวิภังค์
[๓๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุทเทสและวิภังค์แก่เธอ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังอุทเทสและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะ ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะ ไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๘. อุทเทสวิภังคสูตร

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว ทรงลุกจากพุทธอาสน์ เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ [๓๑๔] ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้มี ความสงสัยว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อนี้แก่เรา ทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะ ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะ ไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอจะพึงชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้” ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเกิดความคิดขึ้นว่า “ท่านพระมหากัจจานะนี้ เป็นผู้ที่ พระศาสดาทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่าน พระมหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไป หาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ” ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้สนทนา ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าว กับท่านพระมหากัจจานะว่า “ท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อนี้แก่เราทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุ เกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจง เนื้อความโดยพิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๘. อุทเทสวิภังคสูตร

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน พวกกระผมได้มีความสงสัยว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อนี้แก่เราทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ พึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปใน ภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดน เกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความโดยพิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอจะพึงชี้แจงเนื้อความแห่ง อุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้’ ท่านกัจจานะ เราทั้งหลายคิดว่า ‘ท่านมหากัจจานะนี้เป็นผู้ที่พระศาสดาทรง ยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะ ก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่าน พระมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ’ ขอท่านมหากัจจานะโปรดชี้แจงเถิด”
พระมหากัจจานะอธิบายอุทเทส
[๓๑๕] ท่านพระมหากัจจานะจึงตอบว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบ เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ ละเลยโคนและลำต้น ของต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นไป เขาเข้าใจว่าแก่นไม้ต้องแสวงหาที่กิ่งและใบ แม้ ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาทรงปรากฏเฉพาะหน้าท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายก็ละเลยพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไป และพึงเข้าใจเนื้อความนั้นว่า ต้องสอบถามกับกระผม แท้จริง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ ทรงเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็น ผู้เผยแผ่ ประกาศ ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็น พระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่ท่านทั้งหลายจะทูลถามเนื้อความนี้ กับพระองค์ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงตอบอย่างใด ท่านทั้งหลายพึง ทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้นเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๘. อุทเทสวิภังคสูตร

ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวตอบว่า “ท่านกัจจานะ เป็นความจริงที่พระผู้มี พระภาคทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ ทรงเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ ประกาศ ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่เราทั้งหลาย จะทูลถามเนื้อความนี้กับพระองค์ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงตอบอย่างใด เราทั้งหลายจะพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น อนึ่ง ท่านมหากัจจานะเป็นผู้ที่ พระศาสดาทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่าน มหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ขอท่านมหากัจจานะไม่ต้องหนักใจ ชี้แจงเถิด” ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงอุทเทสโดยย่อไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อ พิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความโดยพิสดาร ทรงลุกจากอาสนะเสด็จ เข้าไปยังที่ประทับ กระผมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงไว้โดยพิสดาร โดยพิสดารอย่างนี้ [๓๑๖] วิญญาณที่เรียกว่า ‘ฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก‘ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว มีวิญญาณซ่านไปตามนิมิต คือรูป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกวิญญาณที่ถูกความยินดีในนิมิตคือรูปตรึงไว้ ถูก ความยินดีในนิมิตคือรูปผูกมัดไว้ ที่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความยินดีในนิมิตคือรูปว่า ‘ฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๘. อุทเทสวิภังคสูตร

ฟังเสียงทางหูแล้ว ... ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ... ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว มีวิญญาณซ่านไปตามนิมิตคือธรรมารมณ์ พระผู้มี พระภาคตรัสเรียกวิญญาณที่ถูกความยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ตรึงไว้ ที่ถูกความ ยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ผูกมัดไว้ ที่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความยินดีในนิมิต คือธรรมารมณ์ว่า ‘ฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก’ วิญญาณที่เรียกว่า ‘ฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก’ เป็นอย่างนี้ [๓๑๗] วิญญาณที่เรียกว่า ‘ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก‘ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว มีวิญญาณไม่ซ่านไปตาม นิมิตคือรูป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกวิญญาณที่ไม่ถูกความยินดีในนิมิตคือรูปตรึงไว้ ที่ไม่ถูกความยินดีในนิมิตคือรูปผูกมัดไว้ ไม่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความยินดีใน นิมิตคือรูปว่า ‘ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก’ ฟังเสียงทางหูแล้ว ... ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ... ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว มีวิญญาณไม่ซ่านไปตามนิมิตคือธรรมารมณ์ พระผู้ มีพระภาคตรัสเรียกวิญญาณที่ไม่ถูกความยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ตรึงไว้ ที่ไม่ ถูกความยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ผูกมัดไว้ ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความ ยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ว่า ‘ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก’ วิญญาณที่เรียกว่า ‘ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก’ เป็นอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๘. อุทเทสวิภังคสูตร

[๓๑๘] จิตที่เรียกว่า ‘ตั้งมั่นอยู่ในภายใน‘ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ภิกษุนั้นมีวิญญาณ ซ่านไปตามปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกจิตที่ถูกความ ยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกตรึงไว้ ที่ถูกความยินดีในปีติและสุขอันเกิดจาก วิเวกผูกมัดไว้ ที่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกว่า ‘ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิอยู่ ภิกษุนั้นมีวิญญาณซ่านไปตามปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกจิตที่ถูกความยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิตรึงไว้ ที่ถูกความยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิผูกมัดไว้ ที่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือ ความยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิว่า ‘ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ ภิกษุนั้นมีวิญญาณซ่านไปตามอุเบกขา พระผู้มีพระภาคจึงตรัส เรียกจิตที่ถูกความยินดีในสุขอันเกิดจากอุเบกขาตรึงไว้ ที่ถูกความยินดีในสุขอัน เกิดจากอุเบกขาผูกมัดไว้ ที่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความยินดีในสุขอันเกิดจาก อุเบกขาว่า ‘ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ภิกษุนั้นมี วิญญาณซ่านไปในอทุกขมสุข พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกจิตที่ถูกความยินดีใน อทุกขมสุขตรึงไว้ ที่ถูกความยินดีในอทุกขมสุขผูกมัดไว้ ที่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์ คือความยินดีในอทุกขมสุขว่า ‘ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ จิตที่เรียกว่า ‘ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ เป็นอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๘. อุทเทสวิภังคสูตร

[๓๑๙] จิตที่เรียกว่า ‘ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน‘ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ ภิกษุนั้นมีวิญญาณไม่ซ่านไปตามปีติและสุขอันเกิดจาก วิเวก พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกจิตที่ไม่ถูกความยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก ตรึงไว้ ที่ไม่ถูกความยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกผูกมัดไว้ ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย สังโยชน์คือความยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกว่า ‘ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ ภิกษุนั้นมีวิญญาณไม่ซ่านไปตามปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสเรียกจิตที่ไม่ถูกความยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิตรึงไว้ ที่ไม่ถูกความ ยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิผูกมัดไว้ ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความ ยินดีในปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิว่า ‘ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ ภิกษุนั้นมีวิญญาณไม่ซ่านไป ตามอุเบกขา พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกจิตที่ไม่ถูกความยินดีในสุขอันเกิดจาก อุเบกขาตรึงไว้ ที่ไม่ถูกความยินดีในสุขอันเกิดจากอุเบกขาผูกมัดไว้ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยสังโยชน์คือความยินดีในสุขอันเกิดจากอุเบกขาว่า ‘ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ ภิกษุนั้นมีวิญญาณไม่ซ่านไปตามอทุกขมสุข พระผู้มี พระภาคตรัสเรียกจิตที่ไม่ถูกความยินดีในอทุกขมสุขตรึงไว้ ที่ไม่ถูกความยินดีใน อทุกขมสุขผูกมัดไว้ ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความยินดีในอทุกขมสุขว่า ‘ไม่ ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ จิตที่เรียกว่า ‘ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน’ เป็นอย่างนี้ [๓๒๐] ความสะดุ้งเพราะตามยึดมั่น๑- เป็นอย่างไร คือ ปุถุชน๒- ในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของ พระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดใน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ข. (แปล) ๑๗/๗/๒๑, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๔๕/๓๗๖ @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘๗ (มหาปุณณมสูตร) หน้า ๙๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๘. อุทเทสวิภังคสูตร

ธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดย ความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง รูปนั้นของเขาย่อมแปรผันเป็นอย่างอื่นได้ เพราะ ความที่รูปแปรผันเป็นอย่างอื่น เขาจึงมีวิญญาณคล้อยตามความแปรผันของรูป๑- ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งธรรม๒- อันเกิดจากการคล้อยตามความแปรผัน ของรูป ย่อมครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะจิตถูกครอบงำ เขาจึงเป็นผู้มีความ หวาดหวั่น คับแค้น ห่วงใย และเพราะตามยึดมั่น เขาจึงสะดุ้ง พิจารณาเห็นเวทนา ... พิจารณาเห็นสัญญา ... พิจารณาเห็นสังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามี วิญญาณบ้าง พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ บ้าง วิญญาณนั้นของเขาย่อมแปรผันเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความที่วิญญาณแปร ผันเป็นอย่างอื่น เขาจึงมีวิญญาณคล้อยตามความแปรผันของวิญญาณ ความสะดุ้ง และความเกิดขึ้นแห่งธรรมอันเกิดจากการคล้อยตามความแปรผันของวิญญาณ ย่อมครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะจิตถูกครอบงำ เขาจึงเป็นผู้มีความหวาดหวั่น คับแค้น ห่วงใย และเพราะตามยึดมั่น เขาจึงสะดุ้ง ความสะดุ้งเพราะตามยึดมั่น เป็นอย่างนี้แล [๓๒๑] ความไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เป็นอย่างไร คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดใน ธรรมของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาด @เชิงอรรถ : @ ความแปรผันของรูป หมายถึงกรรมวิญญาณแปรผันไปตามความแตกสลายของรูปว่า ‘รูปของเราแปรผัน @ไปแล้ว หรือ รูปใดมีอยู่ รูปนั้นของเราไม่มี’ (ม.อุ.อ. ๓/๓๒๐/๑๙๖) @ ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งธรรม ในที่นี้หมายถึงความสะดุ้งเพราะตัณหา และความเกิดขึ้นแห่ง @อกุศลธรรม (ม.อุ.อ. ๓/๓๒๐/๑๙๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๘. อุทเทสวิภังคสูตร

ในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดย ความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตา บ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง รูปนั้นของเขาย่อมแปรผันเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความที่รูปแปรผันเป็นอย่างอื่น เขาจึงไม่มีวิญญาณคล้อยตามความแปรผัน ของรูป ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งธรรมอันเกิดจากการคล้อยตามความ แปรผันของรูป ย่อมไม่ครอบงำจิตเขาตั้งอยู่ เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ เขาจึงเป็น ผู้ไม่มีความหวาดหวั่น ไม่คับแค้น ไม่ห่วงใย และเพราะไม่ยึดมั่น เขาจึงไม่สะดุ้ง ไม่พิจารณาเห็นเวทนา ... ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ... ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามี วิญญาณบ้าง ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาใน วิญญาณบ้าง วิญญาณนั้นของเขาย่อมแปรผันเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความที่ วิญญาณแปรผันเป็นอย่างอื่น เขาจึงไม่มีวิญญาณคล้อยตามความแปรผันของวิญญาณ ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งธรรมอันเกิดจากการคล้อยตามความแปรผันของ วิญญาณ ย่อมไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ เขาจึงเป็น ผู้ไม่มีความหวาดหวั่น ไม่คับแค้น ไม่ห่วงใย และเพราะความไม่ยึดมั่น เขาจึงไม่ สะดุ้ง ความไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เป็นอย่างนี้แล ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อไว้ว่า ‘ภิกษุพึง พิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปใน ภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดน เกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความโดยพิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ กระผมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งอุทเทส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๘. อุทเทสวิภังคสูตร

โดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร โดยพิสดารอย่างนี้ แต่ท่านทั้งหลายเมื่อหวัง พึงเข้าไปเฝ้าแล้วสอบถามเนื้อความนั้นเถิด พระผู้มี พระภาคของเราทั้งหลายทรงตอบอย่างใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้ อย่างนั้นเถิด” [๓๒๒] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของท่านพระมหา กัจจานะแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะ ไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่ สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความโดยพิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยัง ที่ประทับ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ข้าพระองค์ ทั้งหลายนั้นได้มีความสงสัยว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดง อุทเทสโดยย่อนี้แก่เราทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่ เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้ง เพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่น อยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์ เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอจะพึงชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระ ภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นเกิดความคิดขึ้นว่า ‘ท่านพระ มหากัจจานะนี้ เป็นผู้ที่พระศาสดาทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ สรรเสริญแล้ว และท่านพระมหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๘๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๙. อรณวิภังคสูตร

โดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร โดยพิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วพึงสอบถาม เนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ’ ลำดับนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้ว สอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ ท่านพระมหากัจจานะได้ชี้แจง เนื้อความแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแล้วโดยอาการเหล่านี้ โดยบทเหล่านี้ โดย พยัญชนะเหล่านี้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะ เป็นบัณฑิต มี ปัญญามาก แม้ถ้าเธอทั้งหลายพึงสอบถามเนื้อความนั้นกับเรา ถึงเราก็พึงตอบ อย่างเดียวกับที่มหากัจจานะตอบแล้วเหมือนกัน ก็เนื้อความแห่งอุทเทสนั้นเป็นอย่างนี้ เธอทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้นเถิด” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
อุทเทสวิภังคสูตรที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๘๐-๓๙๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=38              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=8267&Z=8510                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=638              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=638&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4952              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=638&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4952                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i638-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i638-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.138.than.html https://suttacentral.net/mn138/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :