ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๖. เอสุการีสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อเอสุการี
[๔๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อเอสุการีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้นั่ง ณ ที่สมควร
การบำเรอ ๔ ประเภท
เอสุการีพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พราหมณ์ ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ ๔ ประเภท คือ ๑. บัญญัติการบำเรอพราหมณ์ ๒. บัญญัติการบำเรอกษัตริย์ ๓. บัญญัติการบำเรอแพศย์ ๔. บัญญัติการบำเรอศูทร @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๐๐ (อปัณณกสูตร) หน้า ๑๐๖ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๖. เอสุการีสูตร

ในการบำเรอทั้ง ๔ ประเภทนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอพราหมณ์ ไว้ว่า ‘พราหมณ์ควรบำเรอพราหมณ์ กษัตริย์ควรบำเรอพราหมณ์ แพศย์ควรบำเรอ พราหมณ์ หรือศูทรควรบำเรอพราหมณ์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอพราหมณ์ ไว้เช่นนี้แล พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอกษัตริย์ไว้ว่า ‘กษัตริย์ควรบำเรอกษัตริย์ แพศย์ควรบำเรอกษัตริย์ หรือศูทรควรบำเรอกษัตริย์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ การบำเรอกษัตริย์ไว้เช่นนี้แล พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้ว่า ‘แพศย์ควรบำเรอแพศย์ หรือศูทรควรบำเรอแพศย์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้เช่นนี้แล พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอศูทรไว้ว่า ‘ศูทรเท่านั้นควรบำเรอศูทร ผู้อื่นใครเล่าจักบำเรอศูทร’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอศูทรไว้เช่นนี้แล ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ ๔ ประเภทนี้ ท่าน พระโคดมตรัสการบำเรอนี้ไว้อย่างไร” [๔๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ชาวโลกทั้งปวงเห็นด้วยกับ คำของพราหมณ์ที่ว่า ‘พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ ๔ ประเภทเท่านี้หรือ” เอสุการีพราหมณ์ ทูลตอบว่า “ไม่ใช่ ท่านพระโคดม” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บุรุษผู้ขัดสน ไม่มีทรัพย์สินสิ่งไรเป็น ของตน ยากจน ชนทั้งหลายแขวนก้อนเนื้อที่อาบยาพิษไว้สำหรับเขาซึ่งไม่ชอบพอกัน โดยแกล้งพูดว่า ‘พ่อคุณ เชิญท่านกินเนื้อนี้ แต่ต้องจ่ายค่าเนื้อเพิ่มขึ้น’ แม้ฉันใด พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ ๔ ประเภทแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น ฝ่ายเดียว โดยไม่มีฝ่ายอื่นยินยอม ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่กล่าวว่า ‘สิ่งทั้งปวง ควรบำเรอ’ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่ควรบำเรอ’ เพราะว่า เมื่อบุคคลบำเรอ สิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย เราจึงไม่ กล่าวว่า ‘สิ่งนั้นควรบำเรอ’ แต่เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดเพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้น พึงมีแต่ความดีเท่านั้น ไม่มีความชั่วเลย เราจึงกล่าวว่า ‘สิ่งนั้นควรบำเรอ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๖. เอสุการีสูตร

ถ้าแม้ชนทั้งหลายจะพึงถามกษัตริย์อย่างนี้ว่า ‘เมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะ เหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย หรือว่าเมื่อท่านบำเรอ สิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย ในกรณี เช่นนี้ท่านควรบำเรอสิ่งไหน’ กษัตริย์เมื่อจะตรัสตอบให้ถูกต้อง ควรตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มี ความดีเลย ข้าพเจ้าไม่ควรบำเรอสิ่งนั้น แต่เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุ แห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย ข้าพเจ้าควรบำเรอสิ่งนั้น’ ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามพราหมณ์ ฯลฯ ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามแพศย์ ฯลฯ ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามศูทรอย่างนี้ว่า ‘เมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุ แห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย หรือว่าเมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย ในกรณีเช่นนี้ท่าน ควรบำเรอสิ่งไหน’ แม้ศูทรเมื่อจะตอบให้ถูกต้อง ควรตอบอย่างนี้ว่า ‘เมื่อข้าพเจ้า บำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย ข้าพเจ้าไม่ควรบำเรอสิ่งนั้น แต่เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ สิ่งนั้นพึงมีแต่ความดีเท่านั้น ไม่มีความชั่วเลย ข้าพเจ้าควรบำเรอสิ่งนั้น’ เราจะกล่าวว่า ‘บุคคลเป็นผู้ประเสริฐเพราะเกิดในตระกูลสูง’ ก็หาไม่ จะกล่าว ว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทรามเพราะเกิดในตระกูลสูง’ ก็หาไม่ จะกล่าวว่า ‘บุคคลเป็น ผู้ประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่ง’ ก็หาไม่ จะกล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทราม เพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่ง’ ก็หาไม่ เรากล่าวว่า ‘บุคคลเป็นผู้ประเสริฐ เพราะ ความเป็นผู้มีโภคะมาก’ ก็หาไม่ แต่จะกล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทราม เพราะความ เป็นผู้มีโภคะมาก’ ก็หาไม่ [๔๓๘] พราหมณ์ เพราะบุคคลบางคนในโลกนี้ แม้เกิดในตระกูลสูงก็ยังเป็น ผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้ประเสริฐเพราะเกิดในตระกูลสูง’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๖. เอสุการีสูตร

แต่บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้เกิดในตระกูลสูงก็ยังเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ พูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการ พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทราม เพราะเกิดในตระกูลสูง’ [๔๓๙] พราหมณ์ เพราะบุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีวรรณะสูงก็ยังเป็นผู้ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึง ไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้ประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีวรรณะสูง’ บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีวรรณะสูงก็เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจาก การลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง อยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทรามเพราะความเป็นผู้มีวรรณะสูง’ บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีทรัพย์สมบัติมากก็ยังเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้ประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมาก’ บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีทรัพย์สมบัติมากก็ยังเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ พูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการ พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทรามเพราะความเป็นผู้มีทรัพย์ สมบัติมาก’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๖. เอสุการีสูตร

พราหมณ์ เราไม่กล่าวว่า ‘บุคคลต้องบำเรอสิ่งทั้งปวง’ แต่เราก็ไม่ปฏิเสธว่า ‘บุคคลไม่ต้องบำเรอสิ่งทั้งปวง’ เพราะว่า เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดอยู่ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาย่อมเจริญ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ เราจึงกล่าวว่า ‘บุคคลต้องบำเรอ สิ่งนั้น”
ทรัพย์ ๔ ชนิด
[๔๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เอสุการีพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ ชนิด คือ ๑. บัญญัติทรัพย์ของพราหมณ์ ๒. บัญญัติทรัพย์ของกษัตริย์ ๓. บัญญัติทรัพย์ของแพศย์ ๔. บัญญัติทรัพย์ของศูทร ในทรัพย์ ๔ ชนิดนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของพราหมณ์คือการ เที่ยวไปเพื่ออาหาร แต่พราหมณ์เมื่อดูหมิ่นทรัพย์คือการเที่ยวไปเพื่ออาหาร ชื่อว่า เป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ พราหมณ์ ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของพราหมณ์ไว้เช่นนี้แล พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของกษัตริย์คือแล่งธนู แต่กษัตริย์เมื่อดูหมิ่น ทรัพย์คือแล่งธนู ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของมิได้ให้ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของกษัตริย์ไว้เช่นนี้แล พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของแพศย์คือกสิกรรมและโครักขกรรม แต่แพศย์ เมื่อดูหมิ่นทรัพย์คือกสิกรรมและโครักขกรรม ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือน คนเลี้ยงโคถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของแพศย์ ไว้เช่นนี้แล พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของศูทรคือเคียวและไม้คาน แต่ศูทรเมื่อดูหมิ่น ทรัพย์คือเคียวและไม้คาน ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของมิได้ให้ ฉะนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของศูทรไว้เช่นนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๖. เอสุการีสูตร

ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ ชนิดนี้ ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมจะตรัสว่าอย่างไร” [๔๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ชาวโลกทั้งปวงเห็นด้วยกับ คำนั้นว่า ‘พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ ชนิดเท่านี้หรือ” เอสุการีพราหมณ์ทูลตอบว่า “ไม่ใช่ ท่านพระโคดม” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บุรุษผู้ขัดสน ไม่มีทรัพย์สินสิ่งไรเป็น ของตน ยากจน ชนทั้งหลายแขวนก้อนเนื้ออาบยาพิษไว้สำหรับเขาซึ่งไม่ชอบพอกัน โดยแกล้งพูดว่า ‘พ่อคุณ เชิญท่านกินเนื้อนี้ แต่ต้องจ่ายค่าเนื้อเพิ่มขึ้น’ แม้ฉันใด พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ ประเภท แก่สมณพราหมณ์เหล่านั้นฝ่ายเดียว โดยไม่มีฝ่ายอื่นยินยอม ฉันนั้นเหมือนกัน แต่เราบัญญัติโลกุตตรธรรมอันเป็นอริยะว่าเป็นทรัพย์ของบุคคล เมื่อเขาระลึกถึง วงศ์ตระกูลเก่าอันเป็นของมารดาบิดา อัตภาพเกิดในวงศ์ตระกูลใดๆ ก็นับตามวงศ์ ตระกูลนั้นๆ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลกษัตริย์ก็นับว่า ‘เป็นกษัตริย์’ ถ้าอัตภาพเกิด ในตระกูลพราหมณ์ก็นับว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลแพศย์ก็นับว่า ‘เป็นแพศย์’ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลศูทรก็นับว่า ‘เป็นศูทร’ เปรียบเหมือนไฟอาศัย เชื้อใดๆ ติดขึ้นก็นับตามเชื้อนั้นๆ ถ้าไฟอาศัยไม้ติดขึ้น ก็นับว่า ‘เป็นไฟไม้’ ถ้าอาศัย หยากเยื่อติดขึ้น ก็นับว่า ‘เป็นไฟหยากเยื่อ’ ถ้าอาศัยหญ้าติดขึ้น ก็นับว่า ‘เป็นไฟหญ้า’ ถ้าอาศัยมูลโคติดขึ้นก็นับว่า ‘เป็นไฟมูลโค’ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน บัญญัติ โลกุตตรธรรมอันเป็นอริยะว่าเป็นทรัพย์ของบุคคล เมื่อเขาระลึกถึงวงศ์ตระกูลเก่าอันเป็น ของมารดาบิดา อัตภาพเกิดในตระกูลใดๆ ก็นับตามตระกูลนั้นๆ ถ้าอัตภาพเกิดใน ตระกูลกษัตริย์ ก็นับว่า ‘เป็นกษัตริย์’ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลพราหมณ์ ก็นับว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลแพศย์ ก็นับว่า ‘เป็นแพศย์’ ถ้าอัตภาพเกิด ในตระกูลศูทร ก็นับว่า ‘เป็นศูทร’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๖. เอสุการีสูตร

คนจะดีหรือชั่วมิใช่เพราะตระกูล
พราหมณ์ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขา อาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจาก การลักทรัพย์ เว้นขาดจากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการ พูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการ พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ฯลฯ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลศูทรบวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด จากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจาก การพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง อยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่อง นำออกจากทุกข์ [๔๔๒] พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในประเทศนี้พราหมณ์ เท่านั้นหรือย่อมสามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ไม่สามารถหรือ” เอสุการีพราหมณ์กราบทูลว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ในประเทศนี้แม้ กษัตริย์ก็สามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนได้ แม้พราหมณ์ ฯลฯ แม้แพศย์ ฯลฯ แม้ศูทร ฯลฯ ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ในประเทศนี้ แม้วรรณะ ๔ ทั้งหมดก็สามารถ เจริญเมตตาจิต อันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๖. เอสุการีสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกันแล ถ้าแม้กุลบุตร ออกจากตระกูลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากพฤติกรรม อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของ ของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่องนำออก จากทุกข์ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ฯลฯ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลศูทรบวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด จากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการ พูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง อยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็น เครื่องนำออกจากทุกข์ [๔๔๓] พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์เท่านั้นหรือ ย่อมสามารถถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลีได้ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ไม่สามารถหรือ” เอสุการีพราหมณ์กราบทูลว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ก็สามารถ ถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลีได้ แม้พราหมณ์ ฯลฯ แม้แพศย์ ฯลฯ แม้ศูทร ฯลฯ ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ในประเทศนี้ แม้วรรณะ ๔ ทั้งหมดก็สามารถ ถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลีได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๖. เอสุการีสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกันแล ถ้าแม้กุลบุตร ออกจากตระกูลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากพฤติกรรมอันเป็น ข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ฯลฯ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลศูทรบวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด จากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจาก การพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง อยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่อง นำออกจากทุกข์ [๔๔๔] พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชามหากษัตริย์ ในโลกนี้ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว จะพึงทรงเกณฑ์บุรุษผู้มีฐานะต่างๆ กัน ๑๐๐ คน ให้มาประชุมกันตรัสว่า ‘มาเถิดท่านทั้งหลาย ในจำนวนบุรุษเหล่านั้น บุรุษเหล่าใด เกิดจากตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ราชตระกูล บุรุษเหล่านั้นจงถือเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วจงสีให้ไฟลุกโพลงขึ้น มาเถิดท่านทั้งหลาย ในจำนวนบุรุษเหล่านั้น บุรุษเหล่าใด เกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลพราน ตระกูลช่างจักสาน ตระกูลช่างรถ ตระกูลคนขนขยะ บุรุษเหล่านั้น จงถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่งมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วจงสีให้ไฟลุกโพลงขึ้น’ พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูล กษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ราชตระกูล ถือเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๖. เอสุการีสูตร

ไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นเท่านั้นหรือ เป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้ ส่วนไฟที่บุรษทั้งหลาย ผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างจักสาน ตระกูลช่างรถ ตระกูล คนขนขยะ ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่งมาทำเป็นไม้ สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นนั้น เป็นไฟไม่มีเปลว ไม่มีสี ไม่มีแสงสว่าง และไม่สามารถ ทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้กระนั้นหรือ” เอสุการีพราหมณ์กราบทูลว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้ไฟที่บุรุษ ทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ราชตระกูล ถือเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นนั้น ก็เป็น ไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้ แม้ไฟ ที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างจักสาน ตระกูลช่างรถ ตระกูลคนขนขยะ ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นนั้น ก็เป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟให้สำเร็จได้ ท่านพระโคดม ความจริงแม้ไฟทุกชนิด ก็เป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟให้สำเร็จได้ทั้งหมด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าแม้บุคคลออกจาก ตระกูลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากพฤติกรรมอันเป็น ข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลศูทรบวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด จากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจาก การพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่ง เล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็น เครื่องนำออกจากทุกข์ได้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เอสุการีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่าน พระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน ตลอดชีวิต” ดังนี้แล
เอสุการีสูตรที่ ๖ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๕๔๗-๕๕๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=46              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=10535&Z=10724                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=661              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=661&items=11              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=7726              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=661&items=11              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=7726                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i661-e1.php# https://suttacentral.net/mn96/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :