ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๑๐. เวขณสสูตร

๑๐. เวขณสสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อเวขณสะ
[๒๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อเวขณสะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้เปล่งอุทานในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า “นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็นวรรณะสูงสุด”
ทรงเปรียบเทียบวรรณะ ๒ อย่าง
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “กัจจานะ ทำไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็น วรรณะสูงสุด นี้เป็นวรรณะสูงสุด’ วรรณะสูงสุดนั้นเป็นอย่างไร” เวขณสปริพาชกทูลตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่น ยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด” “วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะไหนเล่า” “วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะ สูงสุด พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านกล่าวแต่เพียงว่า ‘วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ คำที่ท่านกล่าวนั้นพึงขยายความได้อย่างยืดยาว แต่ท่านไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า ‘เราปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จัก หญิงคนนั้นหรือว่า เป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้น หรือว่ามีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในหมู่บ้าน นิคม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๑๐. เวขณสสูตร

หรือเมืองโน้น’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถาม อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่า เลื่อนลอย มิใช่หรือ” “เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน พระพุทธเจ้าข้า” “กัจจานะ ท่านก็อย่างนั้นเหมือนกัน กล่าวอยู่แต่เพียงว่า ‘ข้าแต่ท่านพระโคดม วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ แต่ไม่ได้ชี้วรรณะนั้นให้ชัด” “ท่านพระโคดม แก้วไพฑูรย์อันงามเกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่าง เจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลเหลือง ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกายออกมา แม้ฉันใด อัตตา๑- ที่มีวรรณะก็ฉันนั้นเหมือนกัน หลังจากตายไปย่อมเป็นของยั่งยืน” [๒๗๙] ''กัจจานะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร แก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากัมพล เหลือง ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกายออกมากับหิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดา วรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่ากัน” “บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืดนี้ย่อมส่องสว่างกว่าและ ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด กับประทีปน้ำ มันในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่าและ ประณีตกว่ากัน” @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๗๒ (จูฬสกุลุทายิสูตร) หน้า ๓๒๒ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๑๐. เวขณสสูตร

“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืด ส่องสว่างกว่าและ ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืด กับกอง ไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างและ ประณีตกว่ากัน” “บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ กองไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืดส่องสว่างกว่าและ ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร กองไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืดกับดาวศุกร์ ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆในเวลาใกล้รุ่ง บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะ ไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่ากัน” “บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดาวศุกร์ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆในเวลา ใกล้รุ่งส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ดาวศุกร์ในนภากาศอันกระจ่างปราศจาก เมฆในเวลาใกล้รุ่งกับดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศอันกระจ่างปราศจาก เมฆในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างสว่างกว่า และประณีตกว่ากัน” “บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศอันกระจ่าง ปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำนี้ส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศ อันกระจ่างปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ กับดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรง ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสารทกาลเดือนท้ายแห่งฤดูฝน บรรดาวรรณะ ทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะงามกว่าและประณีตกว่ากัน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๑๐. เวขณสสูตร

“ข้าแต่ท่านพระโคดม บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงตรง ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสารทกาลเดือนท้ายแห่งฤดูฝนนี้ ส่องสว่าง กว่าและประณีตกว่า” “กัจจานะ เทวดาเหล่าใดไม่อาศัยแสงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เทวดา เหล่านั้น มีมาก มีมากยิ่งกว่าเหล่าเทวดาที่อาศัยแสงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เรารู้ทั่วถึงเทวดาเหล่านั้น แต่เราก็ไม่กล่าวว่า ‘เป็นวรรณะที่ไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า’ ส่วนท่านกล่าวว่า ‘วรรณะที่เลวกว่าและเศร้าหมองกว่าหิ่งห้อย นั้นเป็นวรรณะที่สูงสุด’ แต่ท่านไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด [๒๘๐] กัจจานะ กามคุณมี ๕ ประการ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ... ๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ... ๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ... ๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด กัจจานะ กามคุณมี ๕ ประการ นี้แล สุข โสมนัสที่อาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้เกิดขึ้น เราเรียกว่า กามสุข ดังนั้น ในกามและกามสุขนั้น เราจึงกล่าวกามสุขว่าเลิศกว่ากามทั้งหลาย (แต่)กล่าวสุขอันเลิศกว่ากาม๑- ว่าเลิศกว่ากามสุข” @เชิงอรรถ : @ สุขอันเลิศกว่ากาม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ม.ม.อ. ๒/๒๘๐/๒๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๑๐. เวขณสสูตร

สรรเสริญสุขอันเลิศกว่ากาม
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวขณสปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้อที่ในกามและกามสุขนั้น ท่านพระโคดมตรัสกามสุขว่าเลิศกว่ากามทั้งหลาย (แต่)ตรัสสุขอันเลิศกว่ากามว่า เลิศกว่ากามสุข ชื่อว่าตรัสดีแล้ว” “กัจจานะ ข้อที่ว่า ‘กามก็ดี กามสุขก็ดี สุขอันเลิศกว่ากามก็ดี’ นี้เธอ ผู้มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความ มุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์แตกต่างกันจึงรู้ได้ยาก ภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันต- ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุ ประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุ เหล่านั้นแล จะพึงรู้กาม กามสุข หรือสุขอันเลิศกว่ากามนี้ได้” [๒๘๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวขณสปริพาชก โกรธ ไม่พอใจ เมื่อจะด่าว่าเย้ยหยันพระผู้มีพระภาค คิดว่า “เราจักทำให้พระสมณโคดมได้รับ ความเสียหาย” จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้น สมณพราหมณ์บางพวกในโลกนี้ ไม่รู้เงื่อนเบื้องต้น ไม่เห็น เงื่อนเบื้องปลาย แต่ยังยืนยันอยู่ว่า เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ คำกล่าวของ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถึงความเป็นคำน่าหัวเราะ เป็นคำต่ำช้า เป็นคำเปล่า เป็นคำ เหลวไหลทีเดียว” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัจจานะ สมณพราหมณ์เหล่าใด เมื่อไม่รู้เงื่อนเบื้องต้น ไม่เห็นเงื่อนเบื้องปลาย ยังยืนยันว่า ‘เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ สมณพราหมณ์ เหล่านั้นถูกข่มก็ชอบอยู่ แต่จงงดเงื่อนเบื้องต้นและเงื่อนเบื้องปลายไว้ก่อน ขอให้ วิญญูชนผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนซื่อตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจัก แสดงธรรม เมื่อเขาปฏิบัติตามคำพร่ำสอน ไม่นานก็จักรู้เอง เห็นเอง ได้ทราบว่า ความหลุดพ้นโดยชอบจากเครื่องผูกคืออวิชชาก็เป็นอย่างนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

รวมพระสูตรที่มีในวรรค

กัจจานะ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงาย ถูกเครื่องผูกที่ทำด้วยด้ายผูกไว้ที่ข้อเท้าทั้งสอง ที่ข้อมือทั้งสองและที่คอรวมเป็น ๕ แห่ง เครื่องผูกเหล่านั้นจะหลุดไปเมื่อเด็กเติบโตขึ้น และมีร่างกายแข็งแรงขึ้น เขาจึงรู้ว่า ‘เราหลุดพ้นแล้วและเครื่องผูกก็ไม่มีแก่เรา’ แม้ฉันใด วิญญูชน ผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนซื่อตรง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ขอจงมาเถิด เราจักสั่งสอน จักแสดงธรรม เมื่อเขาปฏิบัติตามคำพร่ำสอนแล้ว ไม่นานก็จักรู้เอง เห็นเอง ได้ทราบว่า ความหลุดพ้นโดยชอบจากเครื่องผูกคือ อวิชชาก็เป็นอย่างนั้น”
ปริพาชกชื่อเวขณสะแสดงตนเป็นอุบาสก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวขณสปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน พระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
เวขณสสูตรที่ ๑๐ จบ
ปริพาชกวรรคที่ ๓ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร ๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร ๓. มหาวัจฉโคตตสูตร ๔. ทีฆนขสูตร ๕. มาคัณฑิยสูตร ๖. สันทกสูตร ๗. มหาสกุลุทายิสูตร ๘. สมณมุณฑิกสูตร ๙. จูฬสกุลุทายิสูตร ๑๐. เวขณสสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๓๑-๓๓๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=30              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=6464&Z=6595                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=389              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=389&items=14              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5077              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=389&items=14              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5077                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i389-e1.php# https://suttacentral.net/mn80/en/sujato https://suttacentral.net/mn80/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :