ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๑๖๘] สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งล้มป่วย เขามีภรรยารูปงาม น่าดู น่าชม พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ชอบภรรยาของเขาจึงปรึกษาว่า “ถ้าอุบาสกยังมีชีวิต พวกเราจัก ไม่ได้นาง มาช่วยกันกล่าวพรรณนาคุณความตายให้เขาฟังเถิด” จึงเข้าไปหาอุบาสกกล่าว ว่า “อุบาสก ท่านทำคุณงามความดี ทำที่ต้านทานความขลาดกลัวไว้แล้ว ไม่ได้ทำ ชั่ว ไม่ได้ทำบาปหยาบช้าทารุณอะไรไว้ ท่านสร้างแต่คุณงามความดี ไม่สร้างกรรมชั่ว เลย จะมีชีวิตอยู่อย่างลำบากยากเข็ญไปทำไม ท่านตายเสียดีกว่า หลังจากตายแล้ว จักไปบังเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ จักเอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์” [๑๖๙] อุบาสกเห็นจริงว่า “ท่านกล่าวจริง เพราะเราทำคุณงามความดี ทำ ที่ต้านทานความขลาดกลัวไว้แล้ว ไม่ได้ทำชั่ว ไม่ได้ทำบาปหยาบช้าทารุณอะไรไว้ เราสร้างแต่คุณงามความดี ไม่สร้างกรรมชั่วเลย จะมีชีวิตอยู่อย่างลำบากยากเข็ญไป ทำไม เราตายเสียดีกว่า หลังจากตายแล้ว จักไปบังเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ จักเอิบ อิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์” จึงรับประทานอาหารแสลง กินของแสลง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๓๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ พระอนุบัญญัติ

ลิ้มของแสลง ดื่มของแสลง จนอาการเจ็บป่วยหนักเข้าถึงกับเสียชีวิต ภรรยาของ อุบาสกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ ไม่มี ความละอาย ทุศีล ชอบกล่าวเท็จ แต่ก็ปฏิญญาตนว่า ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกเธอไม่มีความเป็นสมณะ ความเป็นพราหมณ์ ความเป็นสมณะความเป็นพราหมณ์ของพวกเธอเสื่อมสิ้นไปแล้ว พวกเธอจะเป็นสมณะจะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร พวกเธอปราศจากความเป็นสมณะ ปราศจากความเป็นพราหมณ์ พวกเธอได้กล่าวพรรณนาคุณความตายให้สามีของ เราฟัง สามีของเราถูกพวกเธอฆ่าแล้ว” แม้พวกชาวบ้านอื่นๆ ก็ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มีความละอาย ฯลฯ พวกเธอ กล่าวพรรณาคุณความตายให้อุบาสกฟัง อุบาสกถูกพวกเธอฆ่าแล้ว” ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชน ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุ ผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จึงกล่าว พรรณนาคุณความตายให้อุบาสกฟังเล่า”
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติอนุบัญญัติ
[๑๗๐] ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนั้นไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ให้ทรงทราบ พระองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถาม พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอกล่าวพรรณนาคุณความ ตายให้อุบาสกฟังจริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี พระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอไม่ สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช่ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน พวกเธอ จึงกล่าวพรรณนาคุณความตายให้อุบาสกฟังเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การ ทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๑๗๑] อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตรา อันจะพรากกายมนุษย์นั้น กล่าวพรรณนาคุณความตายหรือชักชวนเพื่อให้ตาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๔๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์

ว่า “ท่านผู้เจริญ จะมีชีวิตอย่างลำบากยากเข็ญนี้ไปทำไม ท่านตายเสียดีกว่า ดังนี้” เธอมีจิตใจอย่างนี้ มีดำริในใจอย่างนี้ กล่าวพรรณนาคุณความตาย หรือชักชวนเพื่อความตายโดยประการต่างๆ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หา สังวาสมิได้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๗๒] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ คำว่า จงใจ ได้แก่ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ตั้งใจ ล่วงละเมิด ที่ชื่อว่า กายมนุษย์ ได้แก่ จิตดวงแรกเกิด คือวิญญาณดวงแรกปรากฏขึ้นใน ครรภ์มารดา จนถึงเวลาตาย อัตภาพในระหว่างนี้ชื่อว่ากายมนุษย์ คำว่า พรากจากชีวิต ได้แก่ ตัดทำลายชีวิตินทรีย์ ตัดความสืบต่อ คำว่า แสวงหาศัสตราอันจะพรากกายมนุษย์นั้น ได้แก่ แสงหาดาบ หอก ฉมวก หลาว ค้อน หิน มีด ยาพิษ หรือเชือก คำว่า กล่าวพรรณนาคุณความตาย ได้แก่ แสดงโทษในความมีชีวิตอยู่ พรรณนาคุณความตาย คำว่า ชักชวนเพื่อให้ตาย คือ ชักชวนให้นำมีดมา ให้กินยาพิษหรือให้เอา เชือกผูกคอตาย คำว่า ท่านผู้เจริญ เป็นคำร้องเรียก คำว่า จะมีชีวิตอย่างลำบากยากเข็ญนี้ไปทำไม ท่านตายเสียดีกว่า นั้นมี อธิบายว่า ชีวิตที่ชื่อว่ายากแค้น คือ เทียบชีวิตของคนมั่งคั่ง ชีวิตของคนขัดสนก็ชื่อ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๔๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์

ว่ายากแค้น เทียบชีวิตของคนมีทรัพย์ ชีวิตของคนไม่มีทรัพย์ก็ชื่อว่ายากแค้น เทียบชีวิตของพวกเทวดา ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายก็ชื่อว่ายากแค้น ที่ชื่อว่า ชีวิตลำบาก ได้แก่ ชีวิตคนมือขาด เท้าขาด ทั้งมือและเท้าขาด หูแหว่ง จมูกวิ่น ทั้งหูแหว่งและจมูกวิ่น มีชีวิตอยู่อย่างยากเข็ญเช่นนี้ไปทำไม ตายเสียดีกว่าอยู่ คำว่า มีจิตใจอย่างนี้ ได้แก่ จิตคือใจ ใจคือจิต คำว่า มีดำริในใจอย่างนี้ คือ มีความมั่นหมายจะให้ตาย มีเจตจำนงจะ ให้ตาย มีความประสงค์จะให้ตาย คำว่า โดยประการต่างๆ คือ โดยอาการสูงต่ำ คำว่า กล่าวพรรณนาคุณความตาย ได้แก่ แสดงโทษของชีวิต พรรณนาคุณ ความตายว่า หลังจากตายแล้ว ท่านจักไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ จักเอิบอิ่มพรั่ง พร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ในที่นั้น คำว่า ชักชวนเพื่อความตาย คือ ชักชวนให้นำมีดมา ให้กินยาพิษ ให้ใช้ เชือกผูกคอตาย ให้โดดลงบ่อ ลงเหว หรือที่ผาชัน คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสเทียบเคียงกับภิกษุ ๒ รูปแรก๑- คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุผู้จงใจพรากกายมนุษย์เสียจากชีวิต ย่อมไม่เป็นสมณะไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร เปรียบเหมือนแผ่นศิลาหนาแตกออกเป็น ๒ เสี่ยงจะประสานให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกันอีกไม่ได้ ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุ รูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้ @เชิงอรรถ : @ ภิกษุ ๒ รูปแรก คือ พระสุทินกลันทบุตรในปฐมปาราชิก และพระธนิยกุมภการบุตรในทุติยปาราชิก @(วิ.อ. ๑/๑๗๒/๔๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๔๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๓๙-๑๔๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=1&siri=23              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=7558&Z=7672                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=180              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=1&item=180&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=11167              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=1&item=180&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=11167                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pj3/en/brahmali#pli-tv-bu-vb-pj3:2.0



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :