ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการพรากกายมนุษย์
เรื่องหมู่ภิกษุผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐานกับตาเถนมิคลัณฑิกะ
[๑๖๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ใน ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอสุภกัมมัฏฐาน ทรง พรรณนาคุณอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสสรรเสริญการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสพรรณนา คุณอสุภสมาบัติเนืองๆ แก่ภิกษุทั้งหลาย โดยประการต่างๆ ต่อมา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่ผู้เดียวสักครึ่งเดือน ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา ยกเว้นภิกษุ ผู้นำภัตตาหารเข้าไปให้รูปเดียว” ภิกษุทั้งหลายรับสนองพระพุทธดำรัสว่า “ได้พระพุทธเจ้าข้า” ไม่มีใครเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค นอกจากภิกษุผู้นำภัตตาหารเข้าไปทูลถวายรูปเดียว ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอสุภกัมมัฏฐาน ทรง พรรณนาคุณอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสสรรเสริญการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสพรรณนา คุณอสุภสมาบัติเนืองๆ แก่ภิกษุทั้งหลายโดยประการต่างๆ” แล้วพากันประกอบ ความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฏฐานหลายประการ กระทั่งเกิดความรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจร่างกายของตน เหมือนชายหรือหญิงที่เป็นหนุ่มเป็นสาวชอบแต่ง ตัว อาบน้ำ สระเกล้า มีซากศพงู ซากศพสุนัขหรือซากศพมนุษย์มาติดอยู่ที่คอ เกิด ความรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจ ภิกษุเหล่านั้นจึงฆ่าตัวตายเองบ้าง ใช้กันและ กันให้ฆ่าบ้าง ภิกษุบางกลุ่มพากันเข้าไปหาตาเถนมิคลัณฑิกะ๑- บอกว่า “ขอโอกาส หน่อยเถิด ท่านช่วยฆ่าพวกอาตมาทีเถิด บาตรและจีวรนี้จักเป็นของท่าน” ตาเถน @เชิงอรรถ : @ สมณกุตฺตโกติ สมณเวสธารโก ผู้ทรงเพศคล้ายสมณะ เพียงแต่ศึกษาธรรม โกนผม นุ่งผ้ากาสายะ ผืน @หนึ่ง เอาผืนหนึ่งพาดบ่า อาศัยอยู่ในวัด กินข้าวก้นบาตร ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่า “ตาเถน” @(วิ.อ. ๑/๑๖๒/๔๓๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๓๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

มิคลัณฑิกะรับจ้างเอาบาตรและจีวรจึงฆ่าภิกษุมากมาย ถือดาบเปื้อนเลือดเดินไปถึง แม่น้ำวัคคุมุทา [๑๖๓] เมื่อตาเถนมิลัณฑิกะกำลังล้างดาบเปื้อนเลือดอยู่ ได้มีความกังวลใจ เดือดร้อนใจว่า ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราได้ไม่ ดีหนอ เราได้สร้างบาปไว้มากที่ได้ฆ่าภิกษุผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ขณะนั้นเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่มารตนหนึ่ง เดินมาบนผิวน้ำไม่แตกกระเซ็น กล่าวว่า “ดีแล้วๆ ท่านสัตบุรุษ เป็นลาภเป็นโชคของท่าน ท่านได้สั่งสมบุญไว้มาก ที่ได้ช่วยส่งคนที่ยังไม่พ้นทุกข์ให้ข้ามพ้นทุกข์ได้” ครั้นตาเถนมิคลัณฑิกะได้ทราบว่า เป็นลาภเป็นโชคของเรา เราได้สั่งสมบุญ ไว้มากที่ได้ช่วยส่งคนที่ยังไม่พ้นทุกข์ให้ข้ามพ้นทุกข์ได้ จึงถือดาบคมกริบเข้าไป บริเวณวิหารกล่าวว่า “ใครที่ยังไม่พ้นทุกข์ ข้าพเจ้าจะช่วยให้ใครพ้นทุกข์ได้บ้าง” ในภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยังมีราคะ เกิดความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า ส่วนพวกภิกษุผู้ที่ไม่มีราคะ ย่อมไม่หวาดกลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า เวลานั้น เขาฆ่าภิกษุวันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง ๕ รูปบ้าง ๖ รูปบ้าง ๗ รูปบ้าง ๘ รูปบ้าง ๙ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ๕๐ รูปบ้าง ๖๐ รูปบ้าง
รับสั่งให้เผดียงสงฆ์
[๑๖๔] เมื่อครึ่งเดือนผ่านไป พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น ตรัส เรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ ทำไม ภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนจะน้อยลง” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “จริงพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสสอน อสุภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนาคุณอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสสรรเสริญการเจริญ อสุภกัมมัฏฐาน ตรัสพรรณนาคุณอสุภสมาบัติเนืองๆ แก่ภิกษุทั้งหลายโดยประการ ต่างๆ และภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอสุภกัมมัฏฐาน ทรง พรรณนาคุณอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสสรรเสริญการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสพรรณนา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๓๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

อสุภสมาบัติเนืองๆ โดยประการต่างๆ’ จึงพากันประกอบความเพียรในการเจริญ อสุภกัมมัฏฐานหลายประการ กระทั่งเกิดความรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจร่าง กายของตน เหมือนชายหรือหญิงที่เป็นหนุ่มเป็นสาวชอบแต่งตัวอาบน้ำสระเกล้า มี ซากศพงู ซากศพสุนัขหรือซากศพมนุษย์ มาติดอยู่ที่คอ เกิดความรู้สึกอึดอัด เบื่อ หน่าย รังเกียจ ภิกษุเหล่านั้นจึงฆ่าตัวตายเองบ้าง ใช้กันและกันให้ฆ่าบ้าง ภิกษุบาง กลุ่มพากันไปหาตาเถนมิคลัณฑิกะบอกว่า ‘ขอโอกาสหน่อยเถิด ท่านช่วยฆ่าพวก อาตมาทีเถิด บาตรและจีวรนี้จักเป็นของท่าน’ ตาเถนมิคลัณฑิกะ รับจ้างเอาบาตร และจีวร จึงฆ่าภิกษุวันละ ๑ รูปบ้าง ฯลฯ วันละ ๖๐ รูปบ้าง ขอประทานพระ วโรกาส ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีอื่นที่ภิกษุสงฆ์จะพึงดำรงอยู่ในอรหัตตผลเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงเผดียงภิกษุเท่าที่อาศัย กรุงเวสาลีอยู่ทั้งหมดให้ประชุมกันที่โรงอาหาร” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธดำรัส แล้วเผดียง๑- ภิกษุสงฆ์ที่อาศัย กรุงเวสาลีอยู่ทั้งหมดให้ประชุมที่โรงอาหาร แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุสงฆ์ ประชุมพร้อมกันแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดทราบเวลาอันสมควรในบัดนี้”
ทรงแสดงอานาปานสติสมาธิกถา
[๑๖๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่โรงอาหาร ประทับนั่งบนพุทธ อาสน์ที่จัดถวาย ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ สมาธิแม้นี้ที่เจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบประณีต สดชื่น เป็นธรรม เครื่องอยู่เป็นสุข และทำอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานไป สงบไป โดยเร็ว เปรียบเหมือนฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นท้ายฤดูร้อน ถูกฝนใหญ่นอกฤดูกาลให้ @เชิงอรรถ : @ “เผดียง” คือบอกให้รู้ นิยมใช้ในพิธีกรรมของสงฆ์ เวลาภิกษุสงฆ์จะทำสังฆกรรม ก่อนจะเริ่มทำสังฆกรรม @จะมีการเผดียงสงฆ์ คือบอกให้สงฆ์รู้ว่าจะทำอะไร อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๓๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

อันตรธานไป สงบไปโดยเร็ว อานาปานสติสมาธิที่เจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้ว อย่างไร จึงเป็นสภาพสงบประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขและทำอกุศล ธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานไป สงบไปโดยเร็ว ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๑- มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า๒-
อานาปานสติ ๑๖ ขั้น๓-
(๑) เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว (๒) เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น (๓) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจออก สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจเข้า (๔) สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจออก สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจเข้า (๕) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจออก สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจเข้า (๖) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจออก สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจเข้า (๗) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจออก สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจเข้า @เชิงอรรถ : @ กำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน @ ตามอรรถกถาวินัยนี้ อัสสาสะ หายใจออก ปัสสาสะ หายใจเข้า (อสฺสาโสติ พหินิกฺขมนวาโต. ปสฺสาโสติ @อนฺโตปวิสนวาโต. วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๖) ส่วนตามอรรถกถาพระสูตร กลับกัน อัสสาสะ หายใจเข้า ปัสสาสะ @หายใจออก (อสฺสาโสติ อนฺโตปวิสนนาสิกวาโต. ปสฺสาโสติ พหินิกฺขมนนาสิกวาโต. ม.อ. ๒/๓๐๕/๑๓๖) @ ม.ม. ๑๓/๑๔๑/๙๕-๙๖, ม.อุ. ๑๔/๑๔๗/๑๓๐-๑๓๑, สํ.ม. ๑๙/๙๗๗/๒๖๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๓๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

(๘) สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจออก สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า (๙) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจออก สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจเข้า (๑๐) สำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจออก สำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า (๑๑) สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจออก สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจเข้า (๑๒) สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจออก สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจเข้า (๑๓) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า (๑๔) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า (๑๕) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า (๑๖) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสลัดเสียได้ หายใจออก สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสลัดเสียได้ หายใจเข้า”
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
[๑๖๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้น เหตุทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายฆ่าตัวตาย เองบ้าง ใช้กันและกันให้ฆ่าบ้าง บางกลุ่มพากันเข้าไปหาตาเถนมิคลัณฑิกะ บอกว่า ‘ขอโอกาสหน่อยเถิด ท่านช่วยฆ่าพวกอาตมาทีเถิด บาตรและจีวรนี้จักเป็นของท่าน’ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๓๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ พระบัญญัติ

ทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุเหล่านั้น ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช่ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกษุเหล่านั้น จึงฆ่าตัวตาย เองบ้าง ใช้กันและให้ฆ่าบ้าง บางกลุ่มพากันเข้าไปหาตาเถนมิคลัณฑิกะ บอกว่า ‘ขอโอกาสหน่อยเถิด ท่านช่วยฆ่าพวกอาตมาทีเถิด บาตรและจีวรนี้จักเป็นของท่าน’ บ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๖๗] ก็ ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตรา อันจะพรากกายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องหมู่ภิกษุผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐานกับตาเถนมิคลัณฑิกะ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๓๔-๑๓๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=1&siri=22              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=7436&Z=7557                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=176              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=1&item=176&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=10112              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=1&item=176&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=10112                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pj3/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :