ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร
[๘๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขต กรุงราชคฤห์ ภิกษุหลายรูปเป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบกัน ช่วยกันทำกุฎีมุงหญ้า อยู่จำ พรรษา ที่เชิงภูเขาอิสิคิลิ ท่านพระธนิยกุมภการบุตรก็ทำกุฎีมุงหญ้าอยู่จำพรรษาใน ที่นั้น ต่อเมื่อล่วงไตรมาสไปแล้ว ภิกษุเหล่านั้นรื้อกุฏีมุงหญ้า เก็บหญ้าและตัวไม้ไว้ แล้วพากันหลีกจาริกไปในชนบท ส่วนพระธนิยกุมภการบุตร ยังพักอยู่ที่นั้นตลอด ฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน วันหนึ่งเมื่อท่านไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืน รื้อกุฎีหญ้าของท่าน แล้วขนเอาหญ้าและไม้ไป ท่านพระธนิยกุมภการบุตร ได้หาหญ้าและไม้มาทำกุฎีหญ้าเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อท่านไป บิณฑบาตในหมู่บ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีหญ้าของท่าน แล้วขนหญ้า และไม้ไป เป็นครั้งที่ ๓ ท่านคิดว่า เมื่อเราไปบิณฑบาตในบ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืน รื้อกุฎีหญ้า แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปถึง ๓ ครั้ง เรามีการศึกษาดี ไม่บกพร่อง สำเร็จศิลปะช่าง หม้อเทียบเท่าอาจารย์ อย่ากระนั้นเลย เราพึงขยำโคลนทำกุฎีดินล้วนด้วยตัวเอง ดังนั้น ท่านจึงขยำโคลนก่อกุฎีดินล้วน และรวบรวมหญ้า ไม้และขี้วัวแห้งมา สุมไฟเผากุฎีนั้นจนสุก กุฎีนั้นงดงามน่าดูน่าชม มีสีแดงเหมือนสีแมลงค่อมทอง (เวลาลมพัด)ส่งเสียงเหมือนเสียงกระดึง [๘๕] ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏพร้อมกับภิกษุ จำนวนมาก ทอดพระเนตรเห็นกุฎีอันงดงามน่าดู น่าชม ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย นั่นอะไรน่าดูน่าชม สีเหมือนแมลงค่อมทอง” ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น ให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ ของโมฆบุรุษนั่นไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนโมฆบุรุษจึงขยำโคลนก่อกุฎีดินล้วนเล่า โมฆบุรุษนั้นชื่อว่ามิได้มี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๗๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย พวกเธอจงไป ทำลายกุฎีนั้นเสีย อย่าให้เพื่อนพรหมจารีในภายหลังได้เบียดเบียนหมู่สัตว์เลย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำกุฎีดินล้วน ภิกษุใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ” ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธฎีกาแล้วพากันไปที่กุฎี ช่วยกันทำลายกุฎีนั้น ในขณะนั้น ท่านพระธนิยกุมภการบุตรมาถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ทำไม พวกท่านจึงทำลายกุฎีของกระผม” “ท่าน พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ทำลาย” “ถ้า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นธรรมสามีรับสั่งให้ทำลาย ก็ทำลายเถิด” [๘๖] ต่อมา ท่านพระธนิยกุมภการบุตรคิดว่า เมื่อเราไปบิณฑบาตใน หมู่บ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืนมารื้อกุฎีหญ้า ขนหญ้าและตัวไม้ไปถึง ๓ ครั้ง แม้กุฎีดินล้วนที่ทำไว้พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งให้ทำลาย เรารู้จักพนักงานป่าไม้ที่ชอบ พอกัน อย่ากระนั้นเลย เราควรขอไม้มาทำกุฎีไม้ แล้วไปหาเจ้าพนักงานป่าไม้ กล่าว ว่า “เจริญพร เมื่ออาตมาไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืนไปรื้อ กุฎีหญ้า ขนหญ้าและตัวไม้ไปถึง ๓ ครั้ง แม้กุฎีดินล้วนที่ทำไว้ พระผู้มีพระภาคก็ รับสั่งให้ทำลาย ท่านจงให้ไม้แก่อาตมา อาตมาต้องการจะทำกุฎีไม้” เจ้าพนักงานป่าไม้ตอบว่า “กระผมไม่มีไม้จะถวายพระคุณเจ้าได้ขอรับ จะมี ก็แต่ไม้ของหลวงที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็น ถ้าพระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่ง ให้พระราชทาน พระคุณเจ้าก็ให้คนไปขนเอาเถิด” ท่านพระธนิยกุมภการบุตรกล่าวว่า “เจริญพร พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทาน ไม้นั้นแล้ว” ลำดับนั้น เจ้าพนักงานป่าไม้คิดว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินยังทรงเลื่อมใสมาก พระธนิยะคงไม่กล้าพูดสิ่งที่พระเจ้าแผ่น ดินยังไม่ได้พระราชทานว่า ได้พระราชทานแล้ว” ลำดับนั้น เจ้าพนักงานป่าไม้ จึงกล่าวกับท่านพระธนิยะดังนี้ว่า “นิมนต์ท่านให้คนขนไปเถิด ขอรับ” ท่านพระธนิยะสั่งให้ตัดไม้เหล่านั้นเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่บรรทุกเกวียนไป ทำกุฎีไม้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๗๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

วัสสการพราหมณ์ตรวจราชการ
[๘๗] เวลานั้น วัสสการพราหมณ์มหาอมาตย์มคธรัฐไปตรวจราชการ เข้า ไปหาเจ้าพนักงานป่าไม้ถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับเจ้าพนักงานป่าไม้ดังนี้ว่า “นี่ แน่ะคุณ ไม้ของหลวงที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็นอยู่ที่ไหน” เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตอบว่า “ใต้เท้าขอรับ พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานไม้แก่ พระธนิยกุมภการบุตรไปแล้ว” วัสสการพราหมณ์ไม่พอใจว่า “ทำไมพระเจ้าแผ่นดินจึงได้พระราชทานไม้ของ หลวงที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็นแก่พระธนิยกุมภการบุตรไปเล่า” จึง เข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระเจ้า พิมพิสารจอมทัพมคธดังนี้ว่า “ได้ทราบเกล้าว่า พระองค์ได้พระราชทานไม้ของหลวง ที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็นแก่พระธนิยกุมภการบุตรไปแล้ว จริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า” “ใครกล่าวอย่างนั้น” “เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พระพุทธเจ้าข้า” “ถ้าเช่นนี้ จงไปเรียกเจ้าหน้าที่ป่าไม้มา” วัสสการพราหมณ์สั่งให้เจ้าหน้าที่คุมตัวเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาทันที พระธนิยภุมภการบุตรเห็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ถูกควบคุมตัวไปจึงกล่าวว่า “เจริญพร ท่านถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวด้วยเรื่องอะไร” “เรื่องไม้นั่นแหละ ขอรับ” “ท่านจงไปก่อนเถิด อาตมาจะตามไป” เจ้าหน้าที่ป่าไม้กล่าวว่า “พระคุณเจ้าควรไปก่อนที่กระผมจะเดือดร้อนนะ ขอรับ” [๘๘] พระธนิยกุมภการบุตร เข้าไปพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสารแล้ว นั่งบนอาสนะ ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสารเสด็จเข้าไปหาพระธนิยกุมภการบุตร ทรง ไหว้แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า ทราบว่าไม้ของหลวง ที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็น โยมถวายแก่พระคุณเจ้าจริงหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๗๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

“จริง มหาบพิตร” “พระคุณเจ้า โยมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีกรณียกิจมากมาย ถึงจะถวายไป แล้วก็จำไม่ได้ พระคุณเจ้าโปรดเตือนความจำให้โยมด้วย” พระธนิยกุมภการบุตร ทูลว่า “ขอถวายพระพร พระองค์จำได้ไหม ครั้งที่ พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ใหม่ๆ ทรงเปล่งพระวาจาว่า ข้าพเจ้าถวายหญ้า ไม้ และน้ำแก่สมณพราหมณ์ ขอสมณพราหมณ์โปรดใช้สอยเถิด” “พระคุณเจ้า โยมจำได้ ที่โยมพูดนั้นหมายถึงสมณพราหมณ์ผู้มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา มีความรังเกียจแม้ในโทษเล็กน้อย หญ้า ไม้และน้ำ นั้นยังมิได้มีใครจับจอง อยู่ในป่า ท่านจงใจอ้างจะขนไม้ที่ไม่ให้ไป พระเจ้าแผ่นดิน เช่นโยมจะฆ่า จองจำหรือเนรเทศสมณพราหมณ์อย่างไรได้ นิมนต์กลับไปเถิด ท่าน รอดตัวเพราะขน๑- แต่อย่าได้ทำอย่างนี้อีก”
ประชาชนตำหนิ
ประชาชนพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร เหล่านี้ไม่มีความละอาย ทุศีล ชอบพูดเท็จ แต่ก็ปฏิญญาว่า ประพฤติธรรม ประพฤติ สงบ ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกท่านไม่มีความเป็น สมณะ ไม่มีความเป็นพราหมณ์ ความเป็นสมณะ ความเป็นพราหมณ์ของพวกท่าน เสื่อมสิ้นไปแล้ว พวกท่านจะเป็นสมณะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร พวกท่านปราศจาก ความเป็นสมณะ ปราศจากความเป็นพราหมณ์ แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ยังถูกสมณะ เหล่านั้นหลอกลวงได้ ไฉนคนอื่นจักไม่ถูกหลอกลวงเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มัก น้อยสันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึงตำหนิ ประณาม @เชิงอรรถ : @ โลเมน ตฺวํ มุตฺโตสีติ เอตฺถ โลมมิว โลมํ, กึ ปน ตํ ปพฺพชฺชาลิงฺคํ คำว่า “ขน” ในที่นี้ หมายถึงเพศบรรพชิต @คือผ้ากาสาวพัสตร์ที่ท่านพระธนิยะห่มอยู่ ท่านธนิยะทำความผิดลักไม้ของหลวง ควรถูกจับฆ่าหรือจองจำ @แต่ท่านนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ จึงรอดตัวจากการถูกฆ่าถูกจองจำ ท่านอุปมา @เหมือนแพะมีขนยาวที่จะถูกฆ่ากินเนื้อ พอดีมีบุรุษคนหนึ่งเห็นว่า แพะนี้ขนมีราคา จึงเอาแพะที่ขนสั้น ๒ ตัว @มาแลกไป แพะขนยาวจึงรอดตัวเพราะขน (วิ.อ. ๑/๘๘/๓๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๗๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ พระบัญญัติ

โพนทะนาว่า “ไฉน ท่านพระธนิยกุมภการบุตรจึงขโมยไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไป เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระธนิยกุมภการบุตรโดยประการต่างๆ แล้วจึง นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระธนิยกุมภการบุตรว่า “ธนิยะ ทราบว่าเธอขโมยไม้หลวงจริงหรือ” ท่านทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใสหรือ ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสแล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป” สมัยนั้น มีมหาอมาตย์เคยเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งบวชอยู่ในหมู่ภิกษุ นั่งอยู่ ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงรับสั่งถามภิกษุรูปนั้นว่า “พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธ จับโจรได้แล้วประหารบ้าง จองจำบ้าง เนรเทศบ้าง ด้วยอัตราโทษตาม มูลค่าทรัพย์ที่โจรกรรมมาเท่าไร” ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า “ด้วยมูลค่า ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง พระพุทธเจ้าข้า” สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ ทรัพย์ ๑ บาท เท่ากับ ๕ มาสก พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิท่านพระธนิยกุมภการบุตร โดยประการต่างๆ แล้วได้ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ฯลฯ คุณแห่งการปรารภความเพียร แล้วทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะสมกับเรื่องนั้นแล้วจึงรับสั่งให้ ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๘๙] ก็ ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก มีมูลค่าเท่ากับอัตราโทษที่พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้วประหารบ้าง จองจำ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๗๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ พระบัญญัติ

บ้าง เนรเทศบ้าง บริภาษว่า “เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้า เป็นขโมย” ดังนี้ เพราะถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เช่นใด ภิกษุผู้ถือเอา ทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เช่นนั้น แม้ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๗๔-๗๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=1&siri=14              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=6087&Z=6234                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=79              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=1&item=79&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=7185              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=1&item=79&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=7185                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pj2/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :