ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๒. เสลเถราปทาน

ผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา ผู้ทรงบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด [๒๖๕] (เกนิยพราหมณ์ กล่าวว่า) ท่านคงเห็นป่าใหญ่ เขียว ดุจดังก้อนมหาเมฆตั้งขึ้น เปรียบด้วยดอกอัญชัน ซึ่งปรากฏดุจท้องทะเล [๒๖๖] พระพุทธเจ้า ผู้ทรงฝึกฝนคนที่ยังมิได้รับการฝึกฝน ทรงเป็นมุนี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ให้ตรัสรู้โพธิปักขิยธรรม พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ป่านั้น [๒๖๗] ข้าพเจ้าเที่ยวค้นหาพระชินเจ้า เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำแสวงหาน้ำดื่ม เปรียบเหมือนคนหิวข้าวแสวงหาข้าวกิน เปรียบเหมือนแม่โครักลูกโคเที่ยวค้นหาลูกโค [๒๖๘] ข้าพเจ้ารู้จักอาจาระและอุปจาระ สำรวมระวังเหมาะสมแก่เหตุ ให้บรรดาศิษย์ของตนซึ่งจะไปยังสำนักพระชินเจ้า ศึกษาว่า [๒๖๙] พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก เสด็จเที่ยวไปเพียงพระองค์เดียว ดุจดังราชสีห์ มาณพทั้งหลาย พวกท่านควรเข้าแถวกันมา [๒๗๐] พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ดุจอสรพิษกล้า ดุจพญาเนื้อไกรสรราชสีห์ ดุจช้างกุญชรตกมันที่ได้รับการฝึกแล้ว [๒๗๑] มาณพทั้งหลาย พวกท่านจงอย่าไอ อย่าจาม เดินเข้าแถวพากันเข้าไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๒. เสลเถราปทาน

[๒๗๒] พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเป็นผู้หนักในการอยู่ในที่เร้น ชอบสถานที่เงียบเสียง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ยากที่จะเข้าเฝ้า ทรงเป็นครูในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก [๒๗๓] ข้าพเจ้าทูลถามปัญหาข้อใด หรือได้ปราศรัยโต้ตอบอยู่ ขณะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเงียบเสียงนิ่งเฉยอยู่ [๒๗๔] พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรมใด ซึ่งเป็นธรรมปลอดโปร่ง เพื่อบรรลุนิพพาน ขอท่านทั้งหลายจงพิจารณาเนื้อความแห่งพระสัทธรรมนั้น เพราะการฟังพระสัทธรรมเป็นเหตุนำสุขมาให้ [๒๗๕] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับพระมุนี ให้การสนทนานั้นผ่านไปแล้วจึงตรวจดูพระลักษณะ [๒๗๖] ข้าพเจ้าสงสัยพระลักษณะ ๒ ประการ ได้เห็นเพียงพระลักษณะ ๓๐ ประการ พระมุนีจึงได้ทรงแสดงพระคุยหฐาน ซึ่งเร้นอยู่ในฝักให้ปรากฏด้วยฤทธิ์ [๒๗๗] อนึ่ง พระชินเจ้าได้ทรงแลบพระชิวหา สอดเข้าในช่องพระกรรณและเข้าในช่องพระนาสิก แล้วปกปิดไปถึงสุดพระนลาฏทั้งสิ้น [๒๗๘] ข้าพเจ้าได้เห็นพระลักษณะของพระองค์ ครบถ้วนบริบูรณ์พร้อมทั้งพระอนุพยัญชนะ จึงแน่ใจได้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้บวชพร้อมกับบรรดาศิษย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๒. เสลเถราปทาน

[๒๗๙] ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบรรดาศิษย์ ๓๐๐ คน ได้บวชเป็นบรรพชิต ยังไม่ทันถึงครึ่งเดือน พวกเราทั้งหมดก็ได้บรรลุนิพพาน [๒๘๐] ศิษย์ทั้งหลายร่วมกันทำกรรมในนาบุญที่ยอดเยี่ยม ท่องเที่ยวไปร่วมกัน คลายกิเลสได้ร่วมกัน [๒๘๑] ข้าพเจ้าได้ถวายไม้กลอนทั้งหลาย จึงได้อยู่ในธรรมเป็นอันมาก ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น ข้าพเจ้าย่อมได้เหตุ ๘ ประการ [๒๘๒] คือข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เขาบูชาในทิศทั้งหลาย ๑ มีโภคสมบัตินับไม่ถ้วน ๑ เป็นที่พึ่งของคนทั้งปวง ๑ ไม่มีความสะดุ้งกลัว ๑ [๒๘๓] ข้าพเจ้าไม่มีความเจ็บไข้ ๑ รักษาอายุได้ยืนยาว มีผิวพรรณละเอียดอ่อน ๑ อยู่ในที่อยู่ที่ปรารถนาได้ ๑ [๒๘๔] เพราะได้ถวายไม้กลอน ๘ อัน ข้าพเจ้าจึงได้อยู่ในธรรมเป็นอันมาก ความเป็นพระอรหันต์ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เป็นข้อที่ ๘ อีกข้อหนึ่งของข้าพเจ้า [๒๘๕] ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์มีธรรมเครื่องอยู่ทั้งปวงอยู่จบหมดแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ มีชื่อว่าอัฏฐโคปานสี เป็นบุตรของพระองค์ [๒๘๖] เพราะได้ถวายเสา ๕ ต้น ข้าพเจ้าจึงได้อยู่ในธรรมเป็นอันมาก ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น ข้าพเจ้าจึงได้เหตุ ๕ ประการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๒. เสลเถราปทาน

[๒๘๗] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีเมตตาไม่หวั่นไหว ๑ มีโภคสมบัติไม่รู้จักพร่อง ๑ มีถ้อยคำที่ควรเชื่อถือได้ โดยที่ข้าพเจ้าไม่พูดกำจัด ๑ [๒๘๘] ข้าพเจ้ามีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ๑ ไม่เป็นเสี้ยนหนามต่อใครๆ ๑ ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้ปราศจากมลทินในศาสนา [๒๘๙] ข้าแต่พระมุนีผู้มีความเพียรมาก ภิกษุสาวกของพระองค์มีความเคารพ มีความยำเกรง ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ขอกราบไหว้พระองค์ [๒๙๐] ข้าพเจ้าได้ทำบัลลังก์ที่ทำอย่างสวยงามแล้วจัดตั้งไว้ในศาลา ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น ข้าพเจ้าจึงได้เหตุ ๕ ประการ [๒๙๑] คือเกิดในตระกูลสูง ๑ มีโภคะมาก ๑ มีสมบัติทุกอย่าง ๑ ไม่มีความตระหนี่ ๑ [๒๙๒] เมื่อข้าพเจ้าปรารถนาจะไป บัลลังก์ก็ตั้งขึ้น ข้าพเจ้าย่อมไปพร้อมกับบัลลังก์อันประเสริฐ ตามที่ข้าพเจ้าปรารถนา ๑ [๒๙๓] เพราะการถวายบัลลังก์นั้น ข้าพเจ้ากำจัดความมืดทั้งหมดได้แล้ว ข้าแต่พระมหามุนี พระเถระผู้บรรลุอภิญญาและพลธรรมทั้งปวง ขอกราบไหว้พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๒. เสลเถราปทาน

[๒๙๔] ข้าพเจ้าทำกิจทั้งปวงทั้งที่เป็นกิจ ของผู้อื่นและกิจของตนสำเร็จแล้ว ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น ข้าพเจ้าจึงได้เข้าไปยังบุรีที่ไม่มีภัย [๒๙๕] ข้าพเจ้าได้ถวายเครื่องบริโภคในศาลาที่สร้างสำเร็จแล้ว ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น ข้าพเจ้าจึงได้บรรลุความเป็นผู้ประเสริฐ [๒๙๖] ผู้ฝึกเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก ผู้ฝึกเหล่านั้นย่อมฝึกช้างและม้า พวกเขาให้ทำเหตุต่างๆ แล้วฝึกอย่างหนัก [๒๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์หาทรงฝึกเหล่าชายหญิงเช่นนั้นไม่ พระองค์ทรงฝึกในวิธีฝึกอย่างสูงสุด โดยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศัสตรา [๒๙๘] พระมุนีทรงฉลาดในเทศนา ทรงสรรเสริญคุณแห่งทาน และตรัสปัญหาข้อเดียว ก็ให้เวไนยสัตว์ ๓๐๐ ตรัสรู้ได้ [๒๙๙] ข้าพระองค์ทั้งหลาย อันพระองค์ผู้เป็นสารถีฝึกแล้ว จึงพ้นวิเศษด้วยดี ไม่มีอาสวะ บรรลุอภิญญาและพลธรรมทั้งปวง ดับแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ [๓๐๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น ภัยทั้งปวงล่วงพ้นไปแล้ว นี้เป็นผลแห่งการถวายศาลา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๓. สัพพกิตติกเถราปทาน

[๓๐๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าเผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๓๐๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๐๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระเสลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เสลเถราปทานที่ ๒ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๖๑๘-๖๒๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=32&A=16946&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=32&siri=394              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=8288&Z=8466&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=394              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=394&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=394&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]