ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส

อำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจ ความใคร่ ความกระหายด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความยินดีด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วย อำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลส เครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ใน กามทั้งหลาย (สมจริงดังที่พระเจ้าอัฑฒมาสกเปล่งอุทานว่า) เจ้ากามเอ๋ย เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว เจ้าเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก เจ้าจักไม่เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อีกละเจ้ากามเอ๋ย๑- เหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความติดใจ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒- คำว่า ไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย อธิบายว่า ไม่พึงปรารถนายิ่งๆ ขึ้นไป คือ ไม่พึงพัวพันในวัตถุกาม เป็นผู้ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่น คือ เป็นผู้คลายความยินดีแล้ว ปราศจากความยินดีแล้ว สละความยินดีแล้ว คลายความยินดีแล้ว ปล่อยความยินดีแล้ว ละความยินดีแล้ว เป็นผู้สลัดทิ้งความ ยินดีแล้ว คือ เป็นผู้คลายราคะแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลาย ราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยาก แล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า ไม่พึง ปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย คำว่า พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว อธิบายว่า @เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา. ๒๗/๓๙/๑๘๘, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑/๒ @ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ๑- ที่เกิดจากผัสสะเป็นต้นนั้น จิตย่อมขุ่นมัว คือ เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยกายทุจริต ... จิตขุ่นมัว เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยวจีทุจริต ... มโนทุจริต ... ราคะ (ความกำหนัด) ... โทสะ (ความขัดเคือง) ... โมหะ (ความลุ่มหลง) ... โกธะ (ความโกรธ) ... อุปนาหะ (ความผูกโกรธ) ... มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) ... ปฬาสะ (ความตีเสมอ) ... อิสสา (ความริษยา) ... มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ... มายา (ความหลอกลวง) ... สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ... ถัมภะ (ความหัวดื้อ) ... สารัมภะ (ความแข่งดี) ... มานะ (ความถือตัว) ... อติมานะ (ความดูหมิ่น ) ... มทะ (ความมัวเมา) ... ปมาทะ (ความประมาท) ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความ เร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท คำว่า พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว อธิบายว่า พึงเป็นผู้มีจิตไม่ขุ่นมัว คือ ไม่ เศร้าหมอง ไม่ยุ่งยาก ไม่วุ่นวาย ไม่หวั่นไหว ไม่หมุนวน สงบ ได้แก่ พึงละ ทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสที่ก่อความขุ่นมัว คือ พึง เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก สงบ หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลส ที่ก่อความขุ่นมัว มีใจเป็นอิสระ(จากความขุ่นมัว)อยู่ รวมความว่า พึงเป็นผู้มีใจ ไม่ขุ่นมัว @เชิงอรรถ : @ ชื่อว่า จิต เพราะเป็นสภาวะวิจิตร @ชื่อว่า มโน เพราะรับรู้อารมณ์ @ชื่อว่า มานัส เพราะมีธรรมที่สัมปยุตกับมโน หรือมานัสก็คือใจนั่นเอง @ชื่อว่า หทัย เพราะอยู่ภายใน @ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะเป็นธรรมชาติผ่องใส @ชื่อว่า มนายตนะ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม เป็นแดนเกิดแห่งใจ @ชื่อว่า มนินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์ @ชื่อว่า วิญญาณ เพราะรับรู้อารมณ์ต่างๆ @ชื่อว่า วิญญาณขันธ์ เพราะเป็นกองแห่งวิญญาณ @ชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ เพราะเป็นสภาวะที่รับรู้และรับทราบอันสมควรแก่ธรรมทั้งหลาย มีผัสสะเป็นต้น @(ขุ.ม.อ. ๑/๒๒-๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า ฉลาดในธรรมทั้งปวง อธิบายว่า เป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ชื่อว่าฉลาดในธรรมทั้งปวง อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง โดยความเป็นของไม่เที่ยง ... เป็นทุกข์ ... เป็นโรค ... เป็นดุจหัวฝี .... เป็นดุจลูกศร ... เป็นของลำบาก .... เป็นอาพาธ ... เป็นอย่างอื่น (บังคับไม่ได้) ... เป็นของทรุดโทรม ... เป็นเสนียด ... เป็น อุปัททวะ... เป็นของไม่น่ายินดี... เป็นภัย ... เป็นอุปสรรค ... เป็นของไม่น่าชอบใจ ... เป็นของหวั่นไหว ... เป็นของผุพัง ...เป็นของไม่ยั่งยืน ... เป็นของไม่มีที่ต้านทาน ... เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น ... เป็นของไม่มีที่พึ่ง ... เป็นของไม่มีที่อาศัย... เป็น ของว่าง... เป็นของเปล่า ... เป็นของสูญ ... เป็นอนัตตา ... เป็นของมีโทษ ... เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา ... เป็นของไม่มีแก่นสาร ... เป็นเหตุแห่งความ ลำบาก ... เป็นดุจเพชฌฆาต ... เป็นของปราศจากความเจริญ ... เป็นของมีอาสวะ ... เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ... เป็นเหยื่อแห่งมาร ... มีชาติเป็นธรรมดา ... มีชราเป็นธรรมดา... มีพยาธิเป็นธรรมดา... มีมรณะเป็นธรรมดา ... มีโสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความ ทุกข์ใจ) อุปายาส(ความคับแค้นใจ)เป็นธรรมดา ... มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ... เป็นเหตุเกิดทุกข์ ... ตั้งอยู่ไม่ได้ ... หาความแช่มชื่นไม่ได้... เป็นโทษ ... เป็นของที่ต้องสลัดออกไป ชื่อว่าฉลาดในธรรมทั้งปวง อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดใน ปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ชื่อว่าฉลาดในธรรมทั้งปวง อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง อายตนะ ๑๒ ตรัสเรียกว่า ธรรมทั้งปวง คือ ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์ ความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจในอายตนะภายในและภายนอก ภิกษุละความกำหนัดด้วย อำนาจความพอใจในอายตนะภายในและภายนอกได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส

เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ ไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง แม้ด้วยเหตุมีประมาณ เท่านี้ รวมความว่า ฉลาดในธรรมทั้งปวง
ลักษณะผู้มีสติ ๔
คำว่า มีสติ ในคำว่า ภิกษุ ... มีสติดำรงอยู่ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต ๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ ๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กระทำสิ่งทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ ๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดสิ่งทั้งหลายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสติ ๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นมูลเหตุแห่งสติ มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสติ ๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ชำนาญในสติ ๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วในสติ ๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะมีอยู่ตามปกติ ๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้สงบ ๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ระงับ ๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส

(มีสติด้วยเหตุอีก ๑๐ อย่าง คือ) ๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงพุทธคุณ ๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมคุณ ๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงสังฆคุณ ๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงศีลที่ตนรักษา ๕. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว ๖. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา ๗. ชื่อว่ามีสติ เพราะตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ๘. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา ๙. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกทั่วไปในกาย(ให้เห็นว่าไม่งาม) ๑๐. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมที่สงบระงับ (กิเสสและความทุกข์) คือ นิพพาน สติ ฯลฯ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ตรัสเรียกว่า สติ๑- ภิกษุเป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ ๑. ทำลายสักกายทิฏฐิได้แล้ว ๒. ทำลายวิจิกิจฉาได้แล้ว ๓. ทำลายสีลัพพตปรามาสได้แล้ว ๔. ทำลายราคะได้แล้ว ๕. ทำลายโทสะได้แล้ว ๖. ทำลายโมหะได้แล้ว ๗. ทำลายมานะได้แล้ว คือ ภิกษุนั้นทำลายบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพ ใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไปได้แล้ว @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔-๕๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส

(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ) ผู้ใดควรแก่คำชมเชยว่าเป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ๑- คำว่า ภิกษุ ... มีสติดำรงอยู่ อธิบายว่า ภิกษุพึงมีสติ ดำรงอยู่ คือ พึง มีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติ ถอยกลับ พึงมีสติมองดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติใช้ผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ภิกษุ... มีสติดำรงอยู่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติดำรงอยู่ พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุ๒- ไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิด ขึ้นแก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์ การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันมากับพราหมณ์ จิตของพราหมณ์นั้นก็หลุดพ้นจาก อาสวะเพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและ หนวดของอชิตพราหมณ์ก็หายไป พร้อมกับการบรรลุอรหัตตผล ท่านเป็นภิกษุ มี ศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร เพื่อการปฏิบัติเอื้อประโยชน์ จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
อชิตมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๐/๔๓๕, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๘/๘๔ @ ธรรมจักษุ ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ขุ.จู.อ. ๘/๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๗๒}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๖๗-๗๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=30&A=1916&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=30&siri=20              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=170&Z=643&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=57              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=30&item=57&items=43              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=30&item=57&items=43              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu30

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]