ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป อธิบายว่า คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป๑- ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ คำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป อธิบายว่า ไม่พึงทำความเสน่หา คือ ไม่พึงทำความพอใจ ไม่พึงทำความรัก ไม่พึงทำ ได้แก่ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนัดในรูป รวมความว่า ไม่พึงทำ ความเสน่หาในรูป
ว่าด้วยความถือตัวมีนัยต่างๆ
คำว่า ความถือตัว ในคำว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว อธิบายว่า ความถือตัว นัยเดียว คือ ความที่จิตใฝ่สูง ความถือตัว ๒ นัย คือ ๑. การยกตน ๒. การข่มผู้อื่น ความถือตัว ๓ นัย คือ ๑. ความถือตัวว่า เราเลิศกว่าเขา ๒. ความถือตัวว่า เราเสมอเขา ๓. ความถือตัวว่า เราด้อยกว่าเขา ความถือตัว ๔ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวเพราะลาภ ๒. เกิดความถือตัวเพราะยศ ๓. เกิดความถือตัวเพราะสรรเสริญ ๔. เกิดความถือตัวเพราะความสุข ความถือตัว ๕ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวว่าเราได้รูปที่ถูกใจ ๒. เกิดความถือตัวว่าเราได้เสียงที่ถูกใจ ๓. เกิดความถือตัวว่าเราได้กลิ่นที่ถูกใจ ๔. เกิดความถือตัวว่าเราได้รสที่ถูกใจ ๕. เกิดความถือตัวว่าเราได้โผฏฐัพพะที่ถูกใจ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๐/๕๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ความถือตัว ๖ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวเพราะมีตาสมบูรณ์ ๒. เกิดความถือตัวเพราะมีหูสมบูรณ์ ๓. เกิดความถือตัวเพราะมีจมูกสมบูรณ์ ๔. เกิดความถือตัวเพราะมีลิ้นสมบูรณ์ ๕. เกิดความถือตัวเพราะมีกายสมบูรณ์ ๖. เกิดความถือตัวเพราะมีใจสมบูรณ์ ความถือตัว ๗ นัย คือ ๑. ความดูหมิ่น ๒. ความดูหมิ่นด้วยอำนาจความถือตัว ๓. ความถือตัวว่าเราด้อยกว่าเขา ๔. ความถือตัวว่าเราเสมอเขา ๕. ความถือตัวว่าเราเลิศกว่าเขา ๖. ความถือเราถือเขา ๗. ความถือตัวผิดๆ ความถือตัว ๘ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวเพราะได้ลาภ ๒. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมลาภ ๓. เกิดความถือตัวเพราะมียศ ๔. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมยศ ๕. เกิดความถือตัวเพราะสรรเสริญ ๖. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะถูกนินทา ๗. เกิดความถือตัวเพราะความสุข ๘. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะความทุกข์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ความถือตัว ๙ นัย คือ ๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา ๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ๔. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ๕. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเสมอเขา ๖. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ๗. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ๘. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา ๙. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ความถือตัว ๑๐ นัย คือ คนบางคนในโลกนี้ ๑. เกิดความถือตัวเพราะชาติ ๒. เกิดความถือตัวเพราะโคตร... (๑๐) ... หรือเกิดความถือตัว เพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว๑- ความถือตัว กริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตนเป็นดุจธงเห็น ปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความถือตัว คำว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว อธิบายว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัวด้วย ปริญญา ๓ คือ ๑. ญาตปริญญา ๒. ตีรณปริญญา ๓. ปหานปริญญา ญาตปริญญา เป็นอย่างไร คือ นรชนรู้จักความถือตัว คือ รู้เห็นว่า นี้ความถือตัวนัยเดียว คือ ความที่จิต ใฝ่สูง นี้ความถือตัว ๒ นัย คือ (๑) การยกตน (๒) การข่มผู้อื่น ... นี้ ความถือตัว ๑๐ นัย คนบางคนในโลกนี้ (๑) เกิดความถือตัวเพราะชาติ (๒) เกิดความถือตัว @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๙๔-๙๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

เพราะโคตร... (๑๐) ... หรือเกิดความถือตัวเพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว นี้ชื่อว่า ญาตปริญญา ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร คือ นรชนทำความถือตัวที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้วพิจารณาความถือตัวโดย ความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์... เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา ปหานปริญญา เป็นอย่างไร คือ นรชนครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความถือตัว นี้ชื่อว่าปหานปริญญา คำว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว ได้แก่ พึงกำหนดรู้ความถือตัวด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้ รวมความว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว คำว่า และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน อธิบายว่า ความประพฤติผลุนผลัน เป็นอย่างไร คือ ความประพฤติด้วยอำนาจราคะของบุคคลผู้กำหนัด ชื่อว่าความประพฤติ ผลุนผลัน ความประพฤติด้วยอำนาจโทสะของบุคคลผู้ขัดเคือง ชื่อว่าความประพฤติ ผลุนผลัน ความประพฤติด้วยอำนาจโมหะของบุคคลผู้หลง ชื่อว่าความประพฤติ ผลุนผลัน ความประพฤติด้วยอำนาจความถือตัวของบุคคลผู้ยึดติด ชื่อว่าความประพฤติ ผลุนผลัน ความประพฤติด้วยอำนาจทิฏฐิของบุคคลผู้ยึดมั่นทิฏฐิ ชื่อว่าความประพฤติ ผลุนผลัน ความประพฤติด้วยอำนาจอุทธัจจะของบุคคลผู้ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าความประพฤติ ผลุนผลัน ความประพฤติด้วยอำนาจวิจิกิจฉาของบุคคลผู้ลังเล ชื่อว่าความประพฤติ ผลุนผลัน ความประพฤติด้วยอำนาจอนุสัยของบุคคลผู้ตกไปในพลังกิเลส ชื่อว่าความ ประพฤติผลุนผลัน นี้ชื่อว่าความประพฤติผลุนผลัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน อธิบายว่า พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความประพฤติผลุนผลัน มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ คือ ประพฤติ เที่ยวไป เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า และพึงประพฤติละเว้นจากความ ผลุนผลัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป พึงกำหนดรู้ความถือตัว และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน [๑๗๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) นรชนไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่ เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง คำว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอดีต ตรัสเรียกว่า สังขารเก่า นรชนไม่พึงยินดี คือไม่พึงบ่นถึง ไม่พึงติดใจสังขารที่เป็นอดีต ด้วยอำนาจ ตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความยินดี ความบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น รวมความว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า คำว่า ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่ อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า สังขารใหม่ นรชนไม่พึงทำความพอใจ คือ ไม่พึงทำความชอบใจ ไม่พึงทำความรัก ไม่พึงทำ ได้แก่ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนัด ในสังขารที่เป็นปัจจุบันด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ไม่พึงทำ ความพอใจสังขารใหม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก อธิบายว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป คือ เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป ไม่พึงเศร้าโศก คือ ไม่พึงลำบาก ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึงคร่ำครวญ ไม่พึงตีอกพร่ำเพ้อ ไม่พึงถึงความหลงใหล ได้แก่ เมื่อตาเสื่อมไป คือ เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป เมื่อหูเสื่อมไป คือ เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป เมื่อจมูก... ลิ้น... กาย... รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ... ตระกูล... หมู่คณะ... อาวาส... ลาภ... ยศ... สรรเสริญ... สุข... จีวร... บิณฑบาต... เสนาสนะ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร... ก็ไม่พึงเศร้าโศก คือ ไม่พึงลำบาก ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึง คร่ำครวญ ไม่พึงตีอกพร่ำเพ้อ ไม่พึงถึงความหลงใหล รวมความว่า เมื่อสังขารเสื่อม ไปก็ไม่พึงเศร้าโศก
ว่าด้วยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
คำว่า ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือ โลภะ เพราะเหตุไร ตัณหา จึงตรัสเรียกว่า กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง บุคคลย่อม เกี่ยวข้อง คือ เกี่ยวเกาะ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป ย่อมเกี่ยวข้อง คือ เกี่ยวเกาะ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นเวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ... คติ... การถือกำเนิด... ปฏิสนธิ... ภพ... สงสาร... วัฏฏะ ด้วยตัณหาใด เพราะเหตุนั้น ตัณหานั้น จึงตรัสเรียกว่า กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง คำว่า ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง อธิบายว่า ไม่พึงติดอยู่กับตัณหา คือ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหา ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับตัณหา มีใจเป็นอิสระ(จาก กิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี- พระภาคจึงตรัสว่า นรชนไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่ เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

[๑๘๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่ เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา เรียกอารมณ์ว่า ความหวั่นไหว เปือกตมคือกามเป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก
ว่าด้วยตัณหาตรัสเรียกว่าห้วงน้ำใหญ่
คำว่า เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความติดใจ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ ตัณหาตรัสเรียกว่า ห้วงน้ำใหญ่ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ คำว่า เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่ อธิบายว่า เราเรียก คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความติดใจว่า “เป็นห้วงน้ำใหญ่” รวมความว่า เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่ คำว่า เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความโลดแล่น คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ ตัณหาตรัสเรียกว่า ความปรารถนา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ คำว่า เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา อธิบายว่า เรียก คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความโลดแล่นว่า “เป็นความปรารถนา” รวมความว่า เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา คำว่า เรียกอารมณ์ว่า ความหวั่นไหว อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า อารมณ์ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวั่นไหว คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ รวมความว่า เรียกอารมณ์ว่า ความหวั่นไหว คำว่า เปือกตมคือกามเป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก อธิบายว่า เปือกตมคือ กาม ได้แก่ หล่มคือกาม กิเลสคือกาม โคลนคือกาม ความกังวลคือกาม เป็นสภาวะ ที่ลุล่วงไปได้ยาก คือ ก้าวพ้นไปได้ยาก ข้ามไปได้ยาก ข้ามพ้นไปได้ยาก ก้าวล่วงไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ได้ยาก ล่วงเลยไปได้ยาก รวมความว่า เปือกตมคือกามเป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่ เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา เรียกอารมณ์ว่า ความหวั่นไหว เปือกตมคือกามเป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก [๑๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก มุนีสลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงได้แล้ว มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ คำว่า มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ อธิบายว่า ไม่ก้าวล่วงวาจาสัจ ไม่ก้าวล่วง สัมมาทิฏฐิ ไม่ก้าวล่วงอริยมรรคมีองค์ ๘ คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑- รวมความว่า มุนีไม่ ก้าวล่วงสัจจะ
ว่าด้วยอมตนิพพานตรัสเรียกว่าบก
คำว่า เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า บก ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท คำว่า เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว ... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์๒- คำว่า เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก อธิบายว่า เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก คือดำรงอยู่บนเกาะ ดำรงอยู่ในที่ป้องกัน ดำรงอยู่ในที่หลีกเร้น ดำรงอยู่ในที่พึ่ง @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑ @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ดำรงอยู่ในที่ไม่มีภัย ดำรงอยู่ในที่ไม่จุติ ดำรงอยู่ในที่ไม่ตาย ดำรงอยู่ในนิพพาน รวม ความว่า เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก คำว่า มุนีสลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า อายตนะ ๑๒ ตรัสเรียกว่า สิ่งทั้งปวง คือ ตาและรูป... ใจและธรรมารมณ์ ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในอายตนะทั้งภายในและภายนอก มุนี นั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่มุนีนั้นสละ คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งได้แล้ว ตัณหา ทิฏฐิ และ มานะ มุนีนั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่มุนีนั้นสละ คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งได้แล้ว ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร มุนีนั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป ไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่มุนีนั้นสละ คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งได้แล้ว รวมความว่า มุนีสลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงได้แล้ว คำว่า มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ อธิบายว่า มุนีนั้น เราเรียก คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงว่าผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ สงัด รวมความว่า มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก มุนีสลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงได้แล้ว มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ [๑๘๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ ย่อมไม่ใฝ่หาใครๆ ในโลกนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า มีความรู้ ในคำว่า มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท อธิบายว่า มีความรู้ คือ ถึงวิชชา มีญาณ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่อง ทำลายกิเลส คำว่า จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท... เป็นผู้ ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง ก้าวล่วงเวทนาทั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท๑- รวม ความว่า มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท คำว่า รู้แล้ว ในคำว่า รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว คือ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” คำว่า ไม่อาศัย ได้แก่ ความอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) ความอาศัยด้วยอำนาจ ตัณหา (๒) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ มุนีละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความอาศัยด้วยอำนาจ ทิฏฐิได้แล้ว ไม่อาศัยตา ไม่อาศัยหู... ไม่อาศัยจมูก... ไม่อาศัย คือ ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่ติดใจแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้และธรรมารมณ์ ที่พึงรู้แจ้ง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย คำว่า มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ อธิบายว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจความ พอใจในอายตนะทั้งภายในและภายนอก มุนีละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป ไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ มุนีชื่อว่าเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปในโลกโดยชอบ... @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๘๑/๒๔๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร มุนีละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ มุนีชื่อว่าเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปในโลกโดยชอบ รวม ความว่า มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ คำว่า ย่อมไม่ใฝ่หาใครๆ ในโลกนี้ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความ ใฝ่หา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก...อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ ตัณหาที่ตรัสเรียกว่า ความใฝ่หานี้ มุนีใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้นย่อมไม่ ใฝ่หาใครๆ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ รวมความว่า ย่อมไม่ใฝ่หาใครๆ ในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ ย่อมไม่ใฝ่หาใครๆ ในโลกนี้ [๑๘๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้แล้ว ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก
ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้แล้ว ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม คำว่า เครื่องข้อง ได้แก่ เครื่องข้อง ๗ อย่าง คือ ๑. เครื่องข้องคือราคะ ๒. เครื่องข้องคือโทสะ ๓. เครื่องข้องคือโมหะ ๔. เครื่องข้องคือมานะ ๕. เครื่องข้องคือทิฏฐิ ๖. เครื่องข้องคือกิเลส ๗. เครื่องข้องคือทุจริต คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก คำว่า และเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลก อธิบายว่า ผู้ใด ข้ามได้แล้ว คือ ข้ามไปได้แล้ว ข้ามพ้นได้แล้ว ก้าวล่วงแล้ว ล่วงเลยแล้วซึ่งกามและเครื่องข้องที่ละได้ ยาก คือ ประพฤติล่วงได้ยาก ก้าวข้ามได้ยาก ก้าวพ้นได้ยาก ก้าวล่วงได้ยาก ประพฤติล่วงได้ยากในโลกแล้ว รวมความว่า ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้ ยากในโลกได้แล้ว คำว่า ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ อธิบายว่า ย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ แปรผันไป หรือเมื่อสิ่งนั้นแปรผันไป ย่อมไม่เศร้าโศก คือ ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “ตาของเราแปรผันไป” ไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “หูของเรา... จมูกของเรา... ลิ้นของเรา... กายของเรา... รูปของเรา... เสียงของเรา... กลิ่นของเรา... รสของเรา... โผฏฐัพพะของเรา... ตระกูลของเรา... หมู่คณะของเรา... อาวาสของเรา... ลาภของเรา... ยศของเรา... สรรเสริญของเรา... ความสุขของเรา... จีวรของเรา... บิณฑบาตของเรา... เสนาสนะของเรา... คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของ เรา... มารดาของเรา... บิดาของเรา... พี่ชายน้องชายของเรา... พี่สาวน้องสาวของเรา... บุตรของเรา... ธิดาของเรา... มิตรของเรา... อำมาตย์ของเรา... ญาติและผู้ร่วมสาย โลหิตของเราแปรผันไป” รวมความว่า ไม่เศร้าโศก คำว่า ไม่ละโมบ ได้แก่ ไม่ละโมบ คือ ไม่มุ่งหวัง ไม่เข้าไปเพ่ง ไม่เพ่งถึง ไม่เพ่งเล็งถึง อีกนัยหนึ่ง ผู้นั้น ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่ต้องเข้าถึงกำเนิด จึงชื่อว่าไม่ละโมบ รวมความว่า ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ว่าด้วยตัณหาตรัสเรียกว่ากระแส
คำว่า เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า กระแส คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ ตัณหาที่ตรัสเรียกว่า กระแสนี้ ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้ ตัดกระแสได้แล้ว คำว่า ไม่มีเครื่องผูก ได้แก่ เครื่องผูก ๗ อย่าง คือ ๑. เครื่องผูกคือราคะ ๒. เครื่องผูกคือโทสะ ๓. เครื่องผูกคือโมหะ ๔. เครื่องผูกคือมานะ ๕. เครื่องผูกคือทิฏฐิ ๖. เครื่องผูกคือกิเลส ๗. เครื่องผูกคือทุจริต เครื่องผูกเหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีเครื่องผูก รวมความว่า เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้แล้ว ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก [๑๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อธิบาย ว่ากิเลสเหล่าใดพึงปรารภสังขารที่เป็นอดีตเกิดขึ้น เธอจงให้กิเลสเหล่านั้นแห้งไป เหือดแห้งไป คือ แห้งเหือดไป แห้งหายไป ทำให้หมดพืชพันธุ์ ละ บรรเทา ทำให้ หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วน เบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง กรรมาภิสังขารที่เป็นอดีตซึ่งยังไม่ให้ผลเหล่าใด เธอจงทำ กรรมาภิสังขารเหล่านั้นให้แห้งไป เหือดแห้งไป คือ แห้งเหือดไป แห้งหายไป ทำให้ หมดพืชพันธุ์ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อย่างนี้บ้าง
ว่าด้วยอนาคตตรัสเรียกว่าส่วนภายหลัง
คำว่า เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ อธิบายว่า อนาคต ตรัสเรียกว่า ส่วนภายหลัง เครื่องกังวลเหล่าใดพึงปรารภสังขารในอนาคตเกิดขึ้น ได้แก่ เครื่องกังวลคือ ราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวล คือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต เครื่องกังวลเหล่านี้อย่าได้มีแก่เธอ คือ เธออย่าทำให้ปรากฏ อย่าให้เกิด อย่าให้เกิดขึ้น อย่าให้บังเกิด อย่าให้บังเกิดขึ้น ได้แก่ จงละ บรรเทา ทำให้หมด สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลัง อย่าได้มีแก่เธอ คำว่า ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า ส่วนท่ามกลาง เธอจักไม่ถือ คือ ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่ยึดถือ ไม่ใยดี ไม่พูดถึง ไม่ชอบใจสังขารที่ เป็นปัจจุบันด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ จักละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น รวมความว่า ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ... ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ... ชื่อว่าเป็นผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ เข้าไประงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภทได้แล้ว จักเที่ยวไป คือ จักอยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป [๑๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง และผู้ใดไม่เศร้าโศก เพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก
ว่าด้วยนามรูป
คำว่า โดยประการทั้งปวง ในคำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่ง โดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า โดยประการทั้งปวง นี้ เป็นคำกล่าว รวมๆ ไว้ทั้งหมด อรูปขันธ์ ๔ ชื่อว่านาม มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่ารูป คำว่า ผู้ใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของ เราด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูปย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการ ทั้งปวง อธิบายว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง คือ ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป ผู้ใดละ ได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วย ไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด โดยประการทั้งปวง
ว่าด้วยผู้ไม่เศร้าโศก
คำว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา อธิบายว่า ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่แปรผันไป หรือเมื่อสิ่งนั้นแปรผันไปแล้วก็ไม่เศร้าโศก คือ ไม่เศร้า โศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “ตาของเรา แปรผันไป” ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “หูของเรา... จมูกของเรา... ลิ้นของเรา... กายของเรา... รูปของเรา... เสียงของเรา... กลิ่นของเรา... รสของเรา... โผฏฐัพพะของเรา... ตระกูลของเรา... หมู่คณะของเรา... อาวาสของเรา... ลาภของเรา... ญาติและผู้ร่วมสายโลหิตของเราแปรผันไป” รวมความว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง ผู้ถูกทุกขเวทนาอันไม่สำราญกระทบ ครอบงำ ย่ำยี มาถึงแล้วก็ไม่ เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหล รวมความว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง ผู้ถูกโรคตากระทบ ครอบงำ... ถูกสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด กระทบ ครอบงำ ย่ำยี มาถึงแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอก พร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหล รวมความว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึด ถือว่าเป็นของเรา อย่างนี้บ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

อีกนัยหนึ่ง เมื่อนามรูปไม่มี ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ก็ไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “นามรูปได้มีแก่เราแล้วหนอ นามรูปนั้นไม่มีแก่เราหนอ นามรูปพึงมีแก่เราหนอ เราไม่ได้นามรูปนั้นหนอ” รวม ความว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา อย่างนี้บ้าง
ว่าด้วยความเสื่อมมีแก่ผู้ยึดถือ
คำว่า ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก อธิบายว่า ผู้ใดมีความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไรๆ ว่า “สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น” ผู้นั้นย่อมมีความเสื่อม สมจริงดังภาษิตนี้ว่า เธอเสื่อมแล้วจากรถ ม้า แก้วมณี และตุ้มหู เสื่อมแล้วจากบุตรภรรยา และโภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ใช้สอยทั้งปวง เหตุไร เธอจึงไม่เดือดร้อน ในเวลาเศร้าโศก โภคทรัพย์ย่อมละบุคคลไปก่อนบ้าง บุคคลย่อมละโภคทรัพย์ไปก่อนบ้าง โจรราชผู้ใคร่กาม หมู่ชนผู้มีโภคทรัพย์ เป็นผู้ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกในเวลาเศร้าโศก ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็ลับไป ดวงอาทิตย์กำจัดความมืดแล้วก็ลับไป ศัตรูเอ๋ยเรารู้จักโลกธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศก ในเวลาเศร้าโศก๑- ผู้ใดไม่มีความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความชอบใจ ความน้อมใจเชื่อ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไรๆ ว่า “สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น” ผู้นั้นย่อมไม่มีความเสื่อม สมจริงดังภาษิตนี้ว่า สมณะ ท่านยินดีหรือ เราได้อะไรมาจึงยินดีเล่า ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น ท่านเศร้าโศกหรือ สมณะ เราเสียอะไรไปเล่า ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งไม่ยินดี และไม่เศร้าโศกหรือ สมณะ อย่างนั้น ผู้มีอายุ @เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา. ๒๗/๒-๓/๑๒๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

เป็นเวลานานหนอ พวกเราจึงได้พบภิกษุผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ดับกิเลส ไม่ยินดี ไม่มีทุกข์ ข้ามตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในโลก๑- รวมความว่า ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง และผู้ใดไม่เศร้าโศก เพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก [๑๘๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมไม่เศร้าโศกว่าของๆ เราไม่มี คำว่า ผู้ใด ในคำว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ อธิบายว่า ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความชอบใจ ความน้อมใจเชื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไรๆ ว่า “สิ่งนี้ของเรา หรือ สิ่งนี้ของคนอื่น” ย่อมไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพใด ได้แก่ กิเลสเครื่องกังวลนั้นพระอรหันตขีณาสพใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง @เชิงอรรถ : @ สํ.ส. ๑๕/๙๙/๖๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ว่าด้วยอิทัปปัจจยตา
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย กายนี้ มิใช่ของพวกเธอ ทั้งมิใช่ของคนอื่น ภิกษุทั้งหลาย กายนี้กรรมเก่าควบคุมไว้ จิตประมวลไว้ พึงเห็นว่า เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมมนสิการ ปฏิจจสมุปบาทอย่างดี โดยแยบคายในกายนั้นว่า “เพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้นมีได้ด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ... ความดับแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการอย่างนี้” รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่นย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า เป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงถอนความตามเห็นว่ามีตัวตนเสีย เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลพิจารณาโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น๑- รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สิ่งใดมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละ สิ่งนั้นเสียเถิด สิ่งที่พวกเธอละได้แล้วนั้นแลจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ของ พวกเธอ เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสียเถิด รูปที่พวกเธอละได้แล้วนั้นแลจักมีเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสียเถิด วิญญาณที่พวกเธอ ละได้แล้วนั้นแล จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๒๖/๕๔๙, ขุ.จู. ๓๐/๘๘/๑๘๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

พวกเธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คนพึงเอาหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวัน วิหารนี้ไปเผา หรือจัดการไปตามรูปเรื่อง พวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้บ้างไหมว่า “คนย่อมเอาพวกเราไปเผาหรือจัดการไปตามรูปเรื่อง” ความดำริเช่นนั้นไม่มีเลย พระเจ้าข้า ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร เพราะนั่นมิใช่ตน หรือของเนื่องด้วยตนของพวกข้าพระองค์เลย พระเจ้าข้า อย่างเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละ สิ่งนั้นเสีย สิ่งที่พวกเธอละได้แล้วนั้นจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอด กาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสียเถิด รูปที่พวกเธอละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสียเถิด วิญญาณที่พวกเธอละได้แล้วจักมีเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง สมจริงดังภาษิตนี้ว่า คามณี ภัยย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มองเห็น ความเกิดขึ้นแห่งธรรมล้วนๆ และความสืบต่อแห่งสังขารล้วนๆ ตามเป็นจริง เมื่อใดบุคคลมองเห็นขันธโลกว่า เสมอด้วยหญ้าและท่อนไม้ ด้วยปัญญา เมื่อนั้น เขาย่อมไม่ปรารถนาอะไรอื่น นอกจากความไม่ปฏิสนธิ รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง นางวชิราภิกษุณีได้กล่าวคำนี้กับมารผู้ชั่วช้าว่า มารเอ๋ย ทิฏฐิของเจ้าเชื่อใครหนอว่าเป็นสัตว์ ร่างกายที่เป็นกองแห่งสังขารล้วนๆ นี้บัณฑิตจะเรียกว่า สัตว์ไม่ได้เลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่าสัตว์ก็มีได้ เหมือนเสียงพูดว่ารถย่อมมีได้ เพราะการคุมกันแห่งส่วนประกอบ อนึ่งทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นดำรงอยู่และ แปรผันไป นอกจากทุกข์ไม่มีสิ่งอื่นเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรอื่นดับไปเลย๑- รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า) ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้เองแล ภิกษุค้น หารูปตลอดคติแห่งรูปที่มีอยู่ ค้นหาเวทนา... สัญญา... สังขาร... ค้นหาวิญญาณ ตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ เมื่อภิกษุนั้นค้นหารูปตลอดคติแห่งรูป ค้นหาเวทนา... สัญญา... สังขาร... ค้นหาวิญญาณตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ ความถือว่า “เรา ของเรา หรือมีเรา” ของภิกษุนั้นไม่มีเลย๒- รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง
ว่าด้วยโลกว่าง
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลคำนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ตรัสว่าโลกว่าง โลกว่าง” ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุแค่ไหนหนอแล จึงตรัสว่า “โลกว่าง” อานนท์ เพราะโลกว่างจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า “โลกว่าง” อานนท์ อะไรเล่าที่ว่างจากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน อานนท์ ตาว่างจาก ตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน รูปว่าง... จักขุวิญญาณว่าง... จักขุสัมผัสว่าง คือ ความ เสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ ที่เกิดขึ้นเพราะ จักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่าง... หู... เสียง... จมูก... กลิ่น... ลิ้น... รส... กาย... โผฏฐัพพะ... ใจ... ธรรมารมณ์... มโนวิญญาณ... มโนสัมผัส ก็ว่าง คือ ความเสวย อารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ ที่เกิดขึ้นเพราะ @เชิงอรรถ : @ สํ.ส. ๑๕/๑๗๑/๑๖๓ @ สํ.สฬา. ๑๘/๒๔๖/๑๘๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

มโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างจากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน อานนท์ เพราะโลกว่าง จากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า “โลกว่าง” รวมความว่า กิเลส เครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ในคำว่า ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือ ว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือว่า เป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ ชื่อว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของ เราด้วยอำนาจทิฏฐิ ผู้นั้นละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความยึดถือ ว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว จึงไม่พบ ไม่ได้ คือ ไม่สมหวัง ไม่ได้เฉพาะ ความยึดถือว่าเป็นของเรา รวมความว่า ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือว่าเป็นของเรา คำว่า ย่อมไม่เศร้าโศกว่าของๆ เราไม่มี อธิบายว่า ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ แปรผันไปแล้ว หรือ เมื่อสิ่งนั้นแปรผันไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก คือ ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “ตาของเรา แปรผันไป”... หูของเรา... ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า... “ผู้ร่วมสายโลหิตของเราแปรผันไป” รวมความว่า ย่อมไม่ เศร้าโศกว่าของๆ เราไม่มี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความถือว่าเป็นของเรา ย่อมไม่เศร้าโศกว่าของๆ เราไม่มี [๑๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ว่าด้วยผู้ไม่ริษยา
คำว่า บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ อธิบายว่า ความไม่ริษยา เป็นอย่างไร คือ คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ริษยา คือ ย่อมอิจฉา ชิงชัง ผูกริษยาในลาภ สักการะ การทำความเคารพ การนับถือ การกราบไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ความ ริษยา การทำความริษยา ความอิจฉา กิริยาที่อิจฉา ภาวะที่อิจฉา ความเกลียดชัง กิริยาที่เกลียดชัง ภาวะที่เกลียดชัง เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความริษยา ความริษยานี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ริษยา คำว่า ไม่ติดใจ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความติดใจ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ ความติดใจนี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ติดใจ เขาไม่ติดในรูป... ไม่ติดใจ คือ ไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูปที่เห็น เสียง ที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ เป็นผู้คลาย ความติดใจแล้ว ปราศจากความติดใจแล้ว สละความติดใจแล้ว คายความติดใจแล้ว ปล่อยวางความติดใจแล้ว ละความติดใจแล้ว สลัดทิ้งความติดใจแล้ว เป็นผู้คลาย ความกำหนัดแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยวางราคะ แล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะได้แล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ
ว่าด้วยผู้ไม่หวั่นไหว
คำว่า ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง อธิบายว่า ตัณหาตรัส เรียกว่า ความหวั่นไหว คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูล คือโลภะ ตัณหาที่ตรัสเรียกว่าความหวั่นไหวนี้ บุคคลใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคล นั้นตรัสเรียกว่า ไม่หวั่นไหว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

เพราะเป็นผู้ละความหวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าไม่หวั่นไหว บุคคลนั้นย่อมไม่ หวั่นไหว ไม่สะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะ เสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง จึงชื่อว่าไม่หวั่นไหว คำว่า สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง อธิบายว่า อายตนะ ๑๒ ตรัสเรียกว่า สิ่งทั้งปวง คือ ตาและรูป... ใจและธรรมารมณ์ เมื่อใด ความกำหนัดด้วยความพอใจในอายตนะทั้งภายในและภายนอก บุคคลใด ละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ บุคคลนั้นตรัสเรียกว่า สม่ำเสมอใน อายตนะทั้งปวง เขาเป็นผู้มั่นคงในอายตนะทั้งปวง มีตนเป็นกลางในอายตนะทั้งปวง วางเฉยในอายตนะทั้งปวง รวมความว่า ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง คำว่า เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น อธิบายว่า เราถูกถามถึง คือ ถูกขอ ถูกเชื้อเชิญ ถูกขอให้แสดงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอก อานิสงส์ ๔ เหล่านี้ คือ กล่าว บอก... ประกาศว่า บุคคลผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง รวมความว่า เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่ หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น [๑๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) อภิสังขารไรๆ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง คำว่า ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวั่นไหว คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ตัณหาที่ตรัสเรียกว่า ความหวั่นไหว นี้ บุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคล นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่หวั่นไหว เพราะเป็นผู้ละความหวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้ไม่หวั่นไหว บุคคลย่อมไม่หวั่นไหว คือ ไม่สะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อม ลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า ผู้ไม่หวั่นไหว คำว่า รู้แจ่มแจ้ง ได้แก่ รู้ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง คือ รู้เฉพาะ แทงตลอดว่า “สังขาร ทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์”... รู้ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง คือ รู้เฉพาะ แทงตลอดว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็น ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง คำว่า อภิสังขารไรๆ ย่อมไม่มี อธิบายว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร ตรัสเรียกว่า อภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร๑- อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร เขาละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อภิสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ คือ อภิสังขารเขาละได้แล้ว ตัดขาด ได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า อภิสังขารไรๆ ย่อมไม่มี คำว่า เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร อธิบายว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร ตรัสเรียกว่า อภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร เขาละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป ไม่ได้ด้วยเหตุใด ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เขาเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถข้อ ๒๕/๑๐๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการปรารภอภิสังขาร มีใจเป็นอิสระ(จากอภิสังขาร)อยู่ รวม ความว่า เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร คำว่า ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง อธิบายว่า ราคะ โทสะ โมหะ... กิเลสทั้งหลาย เป็นเหตุก่อภัย เพราะเป็นผู้ละราคะซึ่งเป็นเหตุก่อภัยเสียได้... เพราะเป็นผู้ละกิเลสทั้งหลายซึ่งเป็นเหตุก่อภัย เขาจึงมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ ทั้งปวง คือ มองเห็นความปลอดภัยในที่ทั้งปวง มองเห็นความไม่มีเสนียดจัญไรในที่ ทั้งปวง มองเห็นความไม่มีอุปัทวะในที่ทั้งปวง มองเห็นความไม่มีอุปสรรคในที่ทั้งปวง มองเห็นความไม่ติดขัดในที่ทั้งปวง รวมความว่า ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ ทั้งปวง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อภิสังขารไรๆ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง [๑๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่คนที่เสมอกัน ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย มุนีนั้น เป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง
ว่าด้วยคุณสมบัติของมุนี
คำว่า มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่คนที่เสมอกัน ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่า เลย อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด... ผู้ก้าวล่วง กิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี มุนีย่อมไม่กล่าวถึง คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงว่า “เราเลิศกว่าเขา เราเสมอเขา หรือเราด้อยกว่าเขา” รวมความว่า มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่คนที่ เสมอกัน ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า มุนีนั้น เป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ... {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ชื่อว่าเป็นผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า มุนีนั้น เป็นผู้สงบ คำว่า คลายความตระหนี่ อธิบายว่า มัจฉริยะ ๕ อย่าง คือ (๑) อาวาส- มัจฉริยะ... ความมุ่งแต่จะได้ ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่ ความตระหนี่นี้ มุนีใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้น ตรัสเรียกว่า คลายความตระหนี่ คือ ปราศจากความตระหนี่ สละความตระหนี่ คายความตระหนี่ ปล่อยความตระหนี่ ละความตระหนี่ สลัดทิ้งความตระหนี่ รวมความว่า มุนีนั้น เป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ คำว่า ไม่ยึดถือ ในคำว่า ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง อธิบายว่า ไม่ยึดถือ คือ ไม่ถือเอา ไม่เข้าไปยึดถือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ... คติ... การถือกำเนิด... ปฏิสนธิ... ภพ... สงสาร ไม่ยึดถือ คือ ไม่ถือเอา ไม่เข้าไปยึดถือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งวัฏฏะ รวมความว่า ไม่ยึดถือ คำว่า ไม่สลัดทิ้ง อธิบายว่า ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่ทำให้ถึง ความไม่มีอีกซึ่งรูป คือ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความ ไม่มีอีก ซึ่งเวทนา... สัญญา...สังขาร... วิญญาณ... คติ... การถือกำเนิด... ปฏิสนธิ... ภพ... สงสาร... วัฏฏะ รวมความว่า ไม่สลัดทิ้ง คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ... คำว่า พระผู้มี- พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่คนที่เสมอกัน ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย มุนีนั้น เป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง๑-
อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕ จบ
@เชิงอรรถ : @ ขุ. สุ. ๒๕/๙๖๑/๕๒๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๓๔}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๕๐๘-๕๓๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=15121&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=29&siri=15              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=9094&Z=10136&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=788              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=29&item=788&items=93              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=29&item=788&items=93              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]