ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
ว่าด้วยสังขปาลนาคราช
(พระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสว่า) [๑๔๓] ท่านมีลักษณะคล้ายพระอริยะ มีดวงตาแจ่มใส เห็นจะเป็นคนบวชออกจากสกุล ไฉนหนอท่านผู้มีปัญญาจึงสละทรัพย์และโภคะ ออกจากเรือนบวชเสียเล่า (อาฬารดาบสกราบทูลว่า) [๑๔๔] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นเทพแห่งนรชน อาตมาได้เห็นวิมานของพญาสังขปาลนาคราช ผู้มีอานุภาพมากด้วยตนเอง ครั้นเห็นแล้ว จึงได้บวช เพราะเชื่อวิบากอันยิ่งใหญ่แห่งบุญทั้งหลาย (พระราชาตรัสว่า) [๑๔๕] บรรพชิตทั้งหลายย่อมไม่กล่าวคำเท็จ เพราะความรัก เพราะความชัง เพราะความกลัว พระคุณเจ้า โยมถามแล้ว ขอพระคุณเจ้าโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่โยมเถิด เพราะได้ฟัง ความเลื่อมใสจักเกิดขึ้นแก่โยมบ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)

(อาฬารดาบสกราบทูลว่า) [๑๔๖] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้น อาตมาเมื่อเดินทางไปค้าขายได้เห็นพวกบุตรของนายพราน พากันหามพญานาคตัวมีร่างกายอ้วนพีใหญ่โตร่าเริงเดินไปในหนทาง [๑๔๗] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้จอมชน อาตมานั้น ได้มาประจวบเข้ากับเขาเหล่านั้น ก็เกิดกลัวจนขนพองสยองเกล้า จึงได้ถามขึ้นว่า พ่อบุตรนายพรานทั้งหลาย พวกท่านจะนำนาค ซึ่งมีร่างกายน่ากลัวตัวนี้ไปไหน จะทำอะไรกับนาคตัวนี้ (พวกเขาตอบว่า) [๑๔๘] วิเทหบุตร พวกเราจะนำนาคตัวนี้ไปเพื่อบริโภค นาคตัวนี้มีร่างกายอ้วนพีใหญ่โต เนื้อของมันมาก อ่อนนุ่ม และอร่อย ท่านยังมิได้รู้รสเนื้อมัน [๑๔๙] พวกเราจากที่นี่ไปถึงที่อยู่ของตนแล้ว จะเอามีดสับกินเนื้อกันให้สำราญ เพราะว่าพวกเราเป็นศัตรูของนาคทั้งหลาย (อาตมาจึงพูดว่า) [๑๕๐] ถ้าพวกท่านจะนำนาค ซึ่งมีร่างกายอ้วนพีใหญ่โตตัวนี้ไปเพื่อจะบริโภคไซร้ ข้าพเจ้าจะให้โคผู้ซึ่งมีกำลังแข็งแรงแก่พวกท่าน ๑๖ ตัว ขอพวกท่านจงปล่อยนาคตัวนี้จากเครื่องพันธนาการเถิด (พวกเขาตอบว่า) [๑๕๑] ความจริง นาคนี้เป็นอาหารที่ชอบใจของพวกเราอย่างแท้จริง และพวกเราก็เคยกินนาคมามาก แต่พวกเราจะทำตามคำของท่าน นายอาฬารวิเทหบุตร และขอท่านจงเป็นมิตรของพวกเราด้วยนะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)

[๑๕๒] บุตรนายพรานเหล่านั้นจึงแก้นาคราชตัวนั้น ออกจากเครื่องพันธนาการซึ่งสอดเข้าทางจมูกร้อยไว้ในบ่วง นาคราชตัวนั้นพ้นจากเครื่องผูกแล้ว ครู่หนึ่งจึงบ่ายหน้าสู่ทิศปราจีนหลีกไป [๑๕๓] ครั้นบ่ายหน้าสู่ทิศปราจีนไปได้ครู่หนึ่ง ได้เหลียวกลับมา มองดูอาตมาด้วยดวงตาทั้ง ๒ ที่นองไปด้วยน้ำตา ในคราวนั้น อาตมาได้ประคองอัญชลีทั้ง ๑๐ นิ้ว เดินตามไปข้างหลัง กล่าวเตือนว่า [๑๕๔] ท่านจงรีบด่วนไปโดยเร็วเถิด ขอศัตรูอย่าจับท่านได้อีกเลย เพราะการสมาคมกับพวกพรานอีกเป็นทุกข์ ท่านจงไปยังสถานที่ที่พวกบุตรนายพรานไม่เห็นเถิด [๑๕๕] นาคราชนั้นได้ไปสู่ห้วงน้ำใส สีเขียวครามโอภาส มีท่าอันงดงาม น่ารื่นรมย์ใจ ปกคลุมไปด้วยหมู่ต้นหว้าและต้นอโศก เป็นผู้ปลอดภัย เบิกบานใจ ได้เข้าไปสู่นาคพิภพ [๑๕๖] มหาบพิตรผู้จอมชน นาคราชนั้น ครั้นเข้าไปยังนาคพิภพนั้นได้ไม่นาน ได้มาปรากฏแก่อาตมาพร้อมด้วยบริวารเป็นทิพย์ บำรุงอาตมาเหมือนบุตรบำรุงบิดา กล่าวถ้อยคำอันจับใจสบายหูว่า (พญานาคสังขปาละกล่าวว่า) [๑๕๗] ท่านอาฬาระ ท่านเป็นมารดาบิดาของข้าพเจ้า เป็นดังดวงใจ เป็นผู้ให้ชีวิต เป็นสหาย ข้าพเจ้าจึงได้อิทธิฤทธิ์ของตนคืนมา ขอเชิญท่านไปเยี่ยมที่อยู่ของข้าพเจ้า ซึ่งมีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย ดุจขุนเขาสิเนรุพิภพของท้าววาสวะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)

(พญานาคสังขปาละกล่าวว่า) [๑๕๘] นาคพิภพนั้นประกอบไปด้วยภูมิภาค ภาคพื้นที่ไม่มีก้อนกรวด อ่อนนุ่มและงดงาม มีหญ้าเตี้ยๆ ปราศจากฝุ่นละออง น่าเลื่อมใส เป็นสถานที่ระงับความเศร้าโศกของผู้ที่เข้าไป [๑๕๙] มีสระโบกขรณีที่ไม่อากูล สีเขียวครามเพราะแก้วไพฑูรย์ มีสวนมะม่วงที่น่ารื่นรมย์ยิ่งนักทั้ง ๔ ทิศ ติดผลอยู่เป็นนิตย์ตลอดฤดูกาล มีทั้งผลสุก ผลห่าม และผลอ่อน (อาฬารดาบสกราบทูลว่า) [๑๖๐] ขอถวายพระพร นรเทพมหาบพิตร ณ ท่ามกลาง สวนมะม่วงทั้ง ๔ ทิศ มีนิเวศน์เลื่อมปภัสสรสร้างด้วยทองคำ [๑๖๑] ณ นิเวศน์นั้น มีเรือนยอดและห้องโอฬาร สร้างด้วยแก้วมณีและทองคำ วิจิตรด้วยศิลปะอเนกประการ ซึ่งเนรมิตไว้ดีแล้วติดต่อกัน เต็มไปด้วยนางนาคกัญญาทั้งหลาย ผู้ประดับตบแต่งร่างกายล้วนสวมใส่สายสร้อยทองคำ มหาบพิตร [๑๖๒] สังขปาลนาคราชผู้มีผิวพรรณไม่ทรามนั้น รีบขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งมีอานุภาพนับไม่ได้ มีเสา ๑,๐๐๐ ต้น อันเป็นสถานที่อยู่ของภรรยาผู้เป็นมเหสีของเขา [๑๖๓] และนารีนางหนึ่งไม่ต้องเตือน รีบนำอาสนะอันสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ มีค่ามากงดงาม ประกอบด้วยแก้วมณีชั้นดีมีราคามาปูลาด [๑๖๔] ลำดับนั้น นาคราชจูงมืออาตมาให้นั่ง ณ อาสนะอันเป็นประธานโดยกล่าวว่า นี้อาสนะ ท่านผู้เจริญโปรดนั่ง ณ อาสนะนี้เถิด เพราะบรรดาท่านผู้เป็นที่เคารพทั้งหลายของข้าพเจ้า ท่านผู้เจริญก็เป็นคนหนึ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)

[๑๖๕] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้จอมชน และนารีอีกนางหนึ่งรีบนำน้ำเข้ามาล้างเท้าอาตมา เหมือนภรรยาล้างเท้าภัสดาสามีสุดที่รัก [๑๖๖] และนารีอื่นอีกนางหนึ่งรีบประคองถาดทองคำ น้อมนำภัตตาหารที่น่าพอใจ มีแกงหลายชนิด มีกับหลายอย่างเข้ามา [๑๖๗] ภารตะมหาบพิตรพระองค์ นารีเหล่านั้นรู้ใจภัสดา บำเรออาตมาผู้บริโภคเสร็จแล้วด้วยดนตรีทั้งหลาย ยิ่งไปกว่านั้น นาคราชเข้าไปหาอาตมา พร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ อันโอฬารมิใช่น้อย กล่าวว่า [๑๖๘] ท่านอาฬาระ ภรรยาของข้าพเจ้าทั้ง ๓๐๐ นางเหล่านี้ ล้วนเอวบางร่างน้อย มีผิวพรรณดังกลีบปทุม ท่านอาฬาระ นางเหล่านี้พึงบำเรอกามแก่ท่าน ขอท่านโปรดให้นางเหล่านั้นบำเรอท่านเถิด (อาฬารดาบสกราบทูลต่อไปว่า) [๑๖๙] อาตมาได้เสวยกามรสอันเป็นทิพย์อยู่ ๑ ปี คราวนั้น จึงได้ถามยิ่งขึ้นไปว่า นาคสมบัตินี้ ท่านได้เพราะทำกรรมอะไร ได้อย่างไร ไฉนท่านจึงได้ครอบครองวิมานอันประเสริฐ [๑๗๐] ท่านได้โดยไม่มีเหตุ หรือเกิดเพราะใครน้อมมาเพื่อท่าน ท่านทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายให้ ข้าพเจ้าถามเนื้อความนั้นกับท่านนาคราช ไฉนท่านจึงได้ครอบครองวิมานอันประเสริฐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)

(พญานาคสังขปาละตอบว่า) [๑๗๑] วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาโดยไม่มีเหตุหามิได้ เกิดเพราะใครน้อมมาเพื่อข้าพเจ้าก็หาไม่ ข้าพเจ้าทำเองก็หาไม่ แม้เทวดาทั้งหลายก็มิได้มอบให้ แต่ข้าพเจ้าได้เพราะบุญกรรมซึ่งมิใช่บาปของตน (อาฬารดาบสถามว่า) [๑๗๒] วัตรของท่านเป็นอย่างไร อนึ่ง พรหมจรรย์ของท่านเป็นอย่างไร นี้เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์ที่ท่านประพฤติดีแล้วอย่างไร นาคราช ขอท่านโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิดว่า ท่านได้วิมานนี้อย่างไรหนอ (พญานาคสังขปาละตอบว่า) [๑๗๓] ข้าพเจ้านั้นได้เป็นพระราชา ผู้เป็นใหญ่กว่าชนชาวมคธ มีนามว่า ทุโยธนะ มีอานุภาพมาก ได้เห็นชัดว่า ชีวิตมีเพียงนิดหน่อย ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา [๑๗๔] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ได้ให้ข้าวและน้ำ เป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ พระราชวังของข้าพเจ้าในคราวนั้น เป็นดุจบ่อน้ำ ทั้งสมณะและพราหมณ์จึงอิ่มหนำสำราญ [๑๗๕] ณ ที่พระราชวังนั้น ข้าพเจ้าได้ให้พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ประทีป ยานพาหนะ ที่พักอาศัย ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน ข้าวและน้ำเป็นทานโดยเคารพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)

[๑๗๖] นั่นเป็นพรตและนั่นเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า นี้เป็นวิบากแห่งกรรมนั้นที่ข้าพเจ้าประพฤติดีแล้ว เพราะวิบากแห่งกรรมนั้นนั่นแล ข้าพเจ้าจึงได้วิมานนี้ ซึ่งมีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย และสมบูรณ์ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง แต่วิมานนี้ไม่จีรังยั่งยืนและไม่เที่ยง (อาฬารดาบสถามว่า) [๑๗๗] บุตรนายพรานทั้งหลาย ผู้มีอานุภาพน้อย ไม่มีเดช ย่อมเบียดเบียนท่านผู้มีอานุภาพมาก มีเดชได้ เพราะเหตุไร ท่านผู้มีเขี้ยวเป็นอาวุธ เพราะอาศัยเหตุอะไร ท่านจึงได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของบุตรนายพรานได้ [๑๗๘] มหันตภัยตามมาถึงท่านหรือหนอ หรือว่าพิษแล่นไปไม่ถึงรากเขี้ยวของท่าน ท่านผู้มีเขี้ยวเป็นอาวุธ เพราะอาศัยเหตุอะไรแลหรือ ท่านจึงถึงความทุกข์ในสำนักของพวกบุตรนายพราน (พญานาคสังขปาละตอบว่า) [๑๗๙] มหันตภัยตามมาถึงข้าพเจ้าก็หาไม่ พิษของข้าพเจ้าพวกบุตรนายพรานเหล่านั้นก็ไม่อาจจะทำลายได้ แต่ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายที่ท่านประกาศไว้ดีแล้ว ยากที่จะล่วงได้ดุจเขตแดนแห่งสมุทร [๑๘๐] ท่านอาฬาระ วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ข้าพเจ้าเข้าจำอุโบสถอยู่เป็นนิตย์ คราวนั้น พวกบุตรนายพราน ๑๖ คนถือเชือกและบ่วงอันมั่นคงมา [๑๘๑] พวกพรานช่วยกันเจาะจมูกแล้วร้อยเชือก แล้วช่วยกันหามนำข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าอดกลั้นความทุกข์เช่นนั้น มิได้ทำให้อุโบสถกำเริบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)

(อาฬารดาบสถามว่า) [๑๘๒] พวกบุตรนายพรานได้เห็นท่าน ผู้สมบูรณ์ด้วยพลังและผิวพรรณที่หนทางที่เดินได้คนเดียว นาคราช ก็ท่านเป็นผู้เจริญแล้วด้วยสิริและปัญญา ยังบำเพ็ญตบะอยู่เพื่อประโยชน์อะไร (พญานาคสังขปาละตอบว่า) [๑๘๓] ท่านอาฬาระ ข้าพเจ้าบำเพ็ญตบะ เพราะเหตุแห่งบุตร เพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่ แต่เพราะข้าพเจ้าปรารถนากำเนิดแห่งมนุษย์ เพราะเหตุนั้น จึงบากบั่นบำเพ็ญตบะ (อาฬารดาบสถามว่า) [๑๘๔] ท่านมีนัยน์ตาแดง มีรัศมีรุ่งเรือง ประดับตบแต่งร่างกาย ตัดผมและโกนหนวดเรียบร้อย ลูบไล้ผิวพรรณด้วยดีด้วยจันทน์แดง ส่องสว่างไปทั่วทิศ ดุจราชาแห่งคนธรรพ์ [๑๘๕] ท่านเป็นผู้บรรลุเทวฤทธิ์แล้ว มีอานุภาพมาก พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทุกอย่าง นาคราช ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่านว่า มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพนี้ เพราะเหตุไร (พญานาคสังขปาละตอบว่า) [๑๘๖] ท่านอาฬาระ นอกจากมนุษยโลกแล้ว ความบริสุทธิ์หรือความสำรวมไม่มี ก็ข้าพเจ้าได้กำเนิดมนุษย์แล้ว จักกระทำที่สุดแห่งชาติและมรณะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)

(อาฬารดาบสกล่าวว่า) [๑๘๗] เป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในสำนักของท่าน ได้รับการบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ท่านนาคินทร์ผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าจากมนุษยโลกมานาน จะขอลาท่านไป (พญานาคสังขปาละถามว่า) [๑๘๘] บุตร ภรรยา และชนที่ข้าพเจ้าชุบเลี้ยง ซึ่งข้าพเจ้าพร่ำสอนเป็นนิตย์ว่า พึงบำรุงท่าน ไม่มีใครสักคนสาปแช่งท่านแลหรือ ท่านอาฬาระ ก็การได้พบเห็นท่านนับว่าเป็นที่พอใจของข้าพเจ้า (อาฬารดาบสตอบว่า) [๑๘๙] บุตรสุดที่รักพึงได้รับการปฏิบัติ อยู่ในเรือนมารดาบิดาแม้โดยประการใด ท่านก็ปฏิบัติข้าพเจ้าในที่นี้แล ประเสริฐกว่าแม้โดยประการนั้น เพราะจิตของท่านเลื่อมใสในข้าพเจ้า นาคราช (พญานาคสังขปาละกล่าวว่า) [๑๙๐] แก้วมณีสีแดง ซึ่งนำทรัพย์มาให้ได้ของข้าพเจ้ามีอยู่ ท่านจงถือเอาแก้วมณีอันโอฬารไปยังที่อยู่ของตน ครั้นได้ทรัพย์แล้ว จงเก็บแก้วมณีไว้ (อาฬารดาบสกล่าว ๒ คาถาว่า) [๑๙๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร กามทั้งหลายแม้เป็นของมนุษย์ อาตมาก็ได้เห็นแล้ว เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย อาตมาจึงบวชด้วยศรัทธา [๑๙๒] ทั้งคนหนุ่มทั้งคนแก่ ย่อมมีกายแตกทำลายไป เหมือนผลไม้หล่นจากต้น มหาบพิตร อาตมาเห็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิดแม้นี้ว่า ความเป็นสมณะนั่นแลประเสริฐ จึงได้บวช {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)

(พระราชาตรัสว่า) [๑๙๓] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้ พระคุณเจ้าอาฬาระ โยมได้ฟังเรื่องของนาคราช และของพระคุณเจ้าแล้ว จักทำบุญให้มาก (อาฬารดาบสกล่าวว่า) [๑๙๔] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้ ขอเดชะพระราชา พระองค์ทรงสดับเรื่องนาคราชและของอาตมาแล้ว ขอจงทรงบำเพ็ญบุญให้มากเถิด
สังขปาลชาดกที่ ๔ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๖๑๘-๖๒๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=27&A=17628&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=524              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=10422&Z=10563&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2495              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2495&items=24              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2495&items=24              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]