ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

[๗๗] บุคคลใดคิดปัญหาที่ลึกซึ้งได้ด้วยใจ ไม่ทำกรรมอันหยาบช้าซึ่งหาประโยชน์เกื้อกูลมิได้ ไม่ตัดรอนประโยชน์ที่มาถึงตามกาลให้เสียไป บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีปัญญา [๗๘] บุคคลใดเป็นคนกตัญญูกตเวที เป็นปราชญ์ มีกัลยาณมิตร และมีความภักดีมั่นคง ช่วยกระทำกิจของมิตรที่ตกยากด้วยความเต็มใจ บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า สัตบุรุษ [๗๙] บุคคลใดประกอบด้วยคุณสมบัติทั้งปวงเหล่านี้ มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทานด้วยดี รู้ความประสงค์ของผู้ขอ สิริย่อมไม่ละคนเช่นนั้น ผู้มีปกติสงเคราะห์ มีวาจาอ่อนหวาน สละสลวย (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๘๐] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น ศีล ๑ สิริ ๑ ธรรมของสัตบุรุษ ๑ ปัญญา ๑ บัณฑิตกล่าวข้อไหนว่า ประเสริฐกว่า (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบว่า) [๘๑] ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาแลประเสริฐที่สุด ดุจดวงจันทร์ราชาแห่งนักษัตรประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย ศีล สิริ และแม้ธรรมของสัตบุรุษย่อมเป็นไปตามบุคคลผู้มีปัญญา (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๘๒] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น บุคคลในโลกนี้กระทำอย่างไร กระทำกรรมอะไร ประพฤติกรรมอะไร คบหาคนอย่างไร จึงจะได้ปัญญา บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าโปรดบอกปฏิปทาแห่งปัญญาว่า บุคคลกระทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าผู้มีปัญญา (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสกล่าวว่า) [๘๓] บุคคลควรคบหาท่านผู้เจริญด้วยปัญญา มีความรู้ละเอียดลออเป็นพหูสูต ควรศึกษาเล่าเรียน สอบถาม ฟังคำสุภาษิตโดยเคารพ บุคคลกระทำอย่างนี้ จึงจะชื่อว่าผู้มีปัญญา [๘๔] ท่านผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นกามคุณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และโดยความเป็นโรค เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้ จึงละความพอใจในกามทั้งหลาย ซึ่งเป็นทุกข์เป็นภัยอันใหญ่หลวงเสียได้ [๘๕] เขาปราศจากราคะแล้ว พึงกำจัดโทสะได้ เจริญเมตตาจิตหาประมาณมิได้ วางอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก เป็นผู้ไม่ถูกนินทา เข้าถึงพรหมสถาน (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสทราบว่า พระราชาทั้ง ๓ พระองค์ละความกำหนัด ยินดีในเบญจกามคุณได้แล้ว จึงกล่าวคาถาด้วยอำนาจความร่าเริงของพระราชา เหล่านั้นว่า) [๘๖] ขอถวายพระพรมหาบพิตรอัฏฐกะ การเสด็จมาของพระองค์ ของพระเจ้าภีมรถ และของพระเจ้ากาลิงคะผู้มีพระยศระบือไปทั่ว ได้มีความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ทุกพระองค์ทรงละกามราคะได้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

(พระราชาทั้งหลายทรงชมเชยพระมหาสัตว์สรภังคดาบสว่า) [๘๗] พระคุณเจ้ารู้จิตของผู้อื่นว่า โยมทุกคนละกามราคะได้แล้ว ข้อนั้นเป็นจริงอย่างนั้นแหละ ขอพระคุณเจ้าจงกระทำโอกาสเพื่ออนุเคราะห์ โดยประการที่โยมทุกคนจะบรรลุถึงคติของพระคุณเจ้าเถิด (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสให้โอกาสแก่พระราชาทั้ง ๓ พระองค์ว่า) [๘๘] อาตมาจะกระทำโอกาสเพื่ออนุเคราะห์ เพราะมหาบพิตรทั้งหลายทรงละกามราคะได้แล้วอย่างแท้จริง ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงแผ่ปีติที่ไพบูลย์ให้แผ่ซ่านไปทั่วพระวรกาย โดยประการที่จะบรรลุถึงคติของอาตมาเถิด (พระราชาเหล่านั้นเมื่อจะทรงยอมรับ จึงได้ตรัสว่า) [๘๙] ท่านผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน พระคุณเจ้าจะกล่าวคำใดใด โยมทั้งหลายจะกระทำตามคำพร่ำสอนของพระคุณเจ้านั้นทุกอย่าง จะแผ่ปีติที่ไพบูลย์ไปทั่วกาย โดยประการที่จะบรรลุถึงคติของพระคุณเจ้า (ลำดับนั้น พระมหาสัตว์สรภังคดาบสให้พระราชาเหล่านั้นพร้อมทั้งพลนิกาย บวช เมื่อจะส่งหมู่ฤๅษีไป จึงกล่าวว่า) [๙๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราทำการบูชา กีสวัจฉดาบสอย่างนี้แล้ว ขอฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดี จงไปยังที่อยู่ของตนเถิด ท่านทั้งหลายจงยินดีในฌาน มีจิตตั้งมั่นในกาลทุกเมื่อ ความยินดีนั้นเป็นคุณชาติประเสริฐสุดสำหรับบรรพชิต (พระศาสดาทรงทราบความนี้แล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า) [๙๑] ครั้นได้สดับคาถาซึ่งประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ฤๅษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวดีแล้ว เทวดาทั้งหลายผู้มียศเหล่านั้น เกิดปีติและโสมนัสอนุโมทนาอยู่ ได้พากันหลีกไปยังเทพบุรี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)

[๙๒] คาถาที่ฤๅษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวดีแล้วเหล่านี้ มีอรรถและพยัญชนะอันดีงาม ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสดับคาถาเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ พึงได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ครั้นได้แล้ว พึงบรรลุสถานที่ที่พญามัจจุราชมองไม่เห็น (พระศาสดาครั้นทรงรวบยอดเทศนาด้วยพระอรหัตอย่างนี้แล้วประกาศ สัจจะทั้งหลาย ทรงประชุมชาดกว่า) [๙๓] สาลิสสรดาบสคือสารีบุตร เมณฑิสสรดาบสคือกัสสปะ ปัพพตดาบสคืออนุรุทธะ เทวิลดาบสคือกัจจายนะ [๙๔] อนุสิสสดาบสคืออานนท์ กีสวัจฉดาบสคือโกลิตะ นารทดาบสคืออุทายีเถระ บริษัททั้งหลายคือพุทธบริษัท ส่วนสรภังคโพธิสัตว์คือเราตถาคต เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้แล
สรภังคชาดกที่ ๒ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๖๐๘-๖๑๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=27&A=17327&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=522              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=10186&Z=10323&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2446              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2446&items=32              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2446&items=32              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]