ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๒. อามคันธสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีกลิ่นดิบ
[๒๔๒] (ติสสดาบสทูลถามพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้) สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เผือกมัน และผลไม้ที่ได้มาโดยชอบธรรม ถึงใคร่ในกาม ก็ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ [๒๔๓] ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใด ที่ผู้อื่นปรุงเป็นพิเศษเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตบแต่งอย่างประณีตถวาย เมื่อเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วก็ชื่อว่า เสวยกลิ่นดิบ๑- [๒๔๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘กลิ่นดิบไม่สมควรแก่เรา’ แต่ยังเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วกับเนื้อนกที่เขาปรุงเป็นพิเศษ @เชิงอรรถ : @ กลิ่นดิบ ในที่นี้หมายถึงอาหารจำพวกปลาและเนื้อสัตว์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๔๓/๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๒. อามคันธสูตร

ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้อนี้กับพระองค์ กลิ่นดิบของพระองค์ มีความหมายอย่างไร [๒๔๕] (พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบดังนี้) การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ การลักขโมย การพูดเท็จ การเห็นแก่ได้ การหลอกลวง การศึกษาตำราที่ไร้ประโยชน์ และการเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่ [๒๔๖] ในโลกนี้ คนผู้ไม่ควบคุมตนในกามทั้งหลาย ติดอยู่ในรสต่างๆ เจือปนด้วยของไม่สะอาด มีความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล มีการงานไม่เสมอ ว่ายากสอนยาก นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่ [๒๔๗] พวกคนผู้เศร้าหมอง มีใจหยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก ประทุษร้ายมิตร ไร้ความกรุณาผู้อื่น ถือตัวจัด ไม่ชอบให้ทาน และไม่เคยให้อะไรแก่ใครๆ นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่ [๒๔๘] ความโกรธ ความมัวเมา ความดื้อรั้น การตั้งตนไว้ผิด ความมีมายา ความริษยา การยกตนข่มผู้อื่น การถือตัวเหยียดหยามผู้อื่น และการสมาคมกับอสัตบุรุษ นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่ [๒๔๙] ในโลกนี้ คนผู้ประพฤติชั่วเป็นปกติ กู้หนี้แล้วไม่ชดใช้ ชอบพูดเสียดสี เป็นพยานให้การเท็จ ปลอมเป็นนักบวชในศาสนานี้ เป็นคนต่ำทราม ทำความชั่วร้ายแรงไว้ นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๒. อามคันธสูตร

[๒๕๐] ในโลกนี้ คนผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ประพฤติชั่ว ร้ายกาจ พูดคำหยาบ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่ [๒๕๑] คนผู้รักใคร่ เกลียดชัง ลุ่มหลง ประกอบอกุศลกรรมอยู่เสมอ ตายแล้วต้องตกไปสู่ที่มืด หรือไม่ก็ดิ่งหัวจมลงไปสู่นรก นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่ [๒๕๒] มิใช่การบริโภคปลาและเนื้อ มิใช่การเป็นคนเปลือย มิใช่ความเป็นคนโล้น มิใช่การเกล้าชฎา และการเป็นคนหมักหมมด้วยธุลี มิใช่การครองหนังเสือที่ยังมีเล็บ มิใช่การบำเรอไฟ หรือความเศร้าหมองในกาย ที่เป็นไปด้วยความปรารถนาความเป็นเทพ ความเป็นผู้ไม่ตาย การทำตนให้ลำบากหลากหลายวิธี เวทมนตร์ทั้งหลาย การบูชาไฟ การบูชายัญ และการทรมานตนตามฤดูกาล ที่ทำคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้ [๒๕๓] ผู้ใดคุ้มครองอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้นได้ เข้าใจชัดอินทรีย์ ๖ อยู่เสมอ ดำรงตนอยู่ในธรรม ยินดีในความซื่อตรงและความอ่อนโยน ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ละทุกข์ทั้งหมดได้เด็ดขาด ผู้นั้นชื่อว่า เป็นปราชญ์ ไม่ยึดติดในอารมณ์ที่ได้เห็น ได้ฟัง และได้รับรู้ [๒๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความที่กล่าวมานี้เนืองๆ จนติสสดาบสผู้เรียนจบมนตร์เข้าใจข้อความนั้นได้แล้ว พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ได้ทรงประกาศด้วยพระคาถาอันไพเราะว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๓. หิริสูตร

บุคคลผู้ไม่มีกิเลสคือกลิ่นดิบ ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย ใครๆ ก็แนะนำได้ยาก [๒๕๕] ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตว่าด้วยเรื่องสิ่งที่ไม่มีกลิ่นดิบ ที่เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว มีใจอ่อนน้อม ถวายอภิวาทพระตถาคต และกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท ณ ที่นั้นนั่นเอง
อามคันธสูตรที่ ๒ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๕๗-๕๖๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=14789&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=241              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=7747&Z=7809&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=315              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=315&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=315&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]