ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต]

๑. สัญโญชนสูตร

๗. จิตตสังยุต
๑. สัญโญชนสูตร
ว่าด้วยสังโยชน์
[๓๔๓] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นเถระหลายรูปอยู่ที่อัมพาฏกวัน เขตเมือง มัจฉิกาสัณฑ์ สมัยนั้น ภิกษุผู้เป็นเถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉัน ภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกัน ณ ปะรำ ได้สนทนากันขึ้นว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น” บรรดาภิกษุผู้เป็นเถระเหล่านั้น บางพวกตอบว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม เหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะ ต่างกัน” บางพวกตอบว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรมที่ เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น” สมัยนั้น จิตตคหบดีได้ไปยังบ้านส่วยชื่อมิคปถกะด้วยกิจที่ควรทำบางอย่าง ท่านจิตตคหบดีได้ยินข่าวว่า “ภิกษุผู้เป็นเถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกัน ณ ปะรำ ได้สนทนากันขึ้นว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ เท่านั้น’ บรรดาภิกษุผู้เป็นเถระเหล่านั้น บางพวกตอบว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม เหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะ ต่างกัน’ บางพวกตอบว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรม ที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๗๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต]

๑. สัญโญชนสูตร

ครั้งนั้น จิตตคหบดีเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถามภิกษุผู้เป็นเถระดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กระผมได้ ยินข่าวว่า ‘ภิกษุผู้เป็นเถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหาร เสร็จแล้ว นั่งประชุมกัน ณ ปะรำ ได้สนทนากันขึ้นว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม เหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะ ต่างกัน หรือมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น’ บางพวกตอบว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรมที่ เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน’ บางพวกตอบว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรมที่ เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้นหรือ” ภิกษุผู้เป็นเถระเหล่านั้นตอบว่า “เจริญพร คหบดี” จิตตคหบดีกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น กระผมจักยกอุปมาให้ท่านทั้งหลายฟัง เพราะวิญญูชน บางพวกในโลกนี้ย่อมเข้าใจเนื้อความแห่งภาษิตได้แม้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือน โคดำกับโคขาวเขาผูกติดกันด้วยสายคร่าวหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน ผู้ใดพึงกล่าว อย่างนี้ว่า ‘โคดำเกี่ยวเนื่องกับโคขาว โคขาวเกี่ยวเนื่องกับโคดำ’ ผู้นั้นเมื่อกล่าว พึงกล่าวถูกต้องหรือ” “ไม่ถูกต้อง คหบดี โคดำไม่เกี่ยวเนื่องกับโคขาว แม้โคขาวก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับ โคดำ แต่โคทั้งสองนั้นถูกเขาผูกด้วยสายคร่าวหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน สายคร่าว หรือเชือกนั้นจึงเกี่ยวเนื่องในโคทั้งสองนั้น” “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตาไม่เกี่ยว ข้องกับรูป รูปก็ไม่เกี่ยวข้องกับตา แต่เพราะอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นฉันทราคะ จึงเกิดขึ้น ตาและรูปนั้นจึงเกี่ยวข้องในฉันทราคะนั้น หูไม่เกี่ยวข้องกับเสียง ... จมูกไม่เกี่ยวข้องกับกลิ่น ... {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๗๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต]

๒. ปฐมอิสิทัตตสูตร

ลิ้นไม่เกี่ยวข้องกับรส ... กายไม่เกี่ยวข้องกับโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะก็ไม่เกี่ยวข้องกับกาย แต่เพราะ อาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งสองนั้นฉันทราคะจึงเกิดขึ้น กายและโผฏฐัพพะนั้นจึง เกี่ยวข้องในฉันทราคะนั้น ใจไม่เกี่ยวข้องกับธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็ไม่เกี่ยวข้องกับใจ แต่เพราะ อาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้นฉันทราคะจึงเกิดขึ้น ใจและธรรมารมณ์นั้นจึง เกี่ยวข้องในฉันทราคะนั้น” “คหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่ปัญญาจักษุของท่านหยั่งลงใน พระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้ง”
สัญโญชนสูตรที่ ๑ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๓๗๐-๓๗๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=18&A=10328&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=18&siri=257              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=7184&Z=7235&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=537              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=18&item=537&items=4              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=18&item=537&items=4              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]