ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร
ว่าด้วยการทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์
[๔๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสถามว่า “สารีบุตร เธอมีอินทรีย์ผ่องใส มีผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง เธออยู่ด้วยวิหาร ธรรมอะไรเป็นส่วนมากในบัดนี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๙๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร

ท่านพระสารีบุตรทูลตอบว่า “ข้าพระองค์อยู่ด้วยสุญญตา๑- วิหารธรรมเป็น ส่วนมากในบัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร ได้ยินว่าเธออยู่ด้วยวิหารธรรม ของมหาบุรุษเป็นส่วนมากในบัดนี้ เพราะวิหารธรรมของมหาบุรุษ๒- นี้ก็คือสุญญตา เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุหวังว่า ‘เราพึงอยู่ด้วยสุญญตาวิหารธรรมเป็นส่วนมาก’ ภิกษุนั้นพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เราเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตโดยทางใด เราได้เที่ยว บิณฑบาตในประเทศใด และเรากลับจากบิณฑบาตจากบ้านโดยทางใด ในที่นั้น เรามีฉันทะ(ความพอใจ) ราคะ(ความกำหนัด) โทสะ(ความขัดเคือง) โมหะ (ความลุ่มหลง) หรือปฏิฆะ(ความกระทบ) แห่งใจในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาบ้างไหม’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตโดยทางใด เราได้ เที่ยวบิณฑบาตในประเทศใด และเรากลับจากบิณฑบาตจากบ้านโดยทางใด ในที่นั้น เรามีฉันทะ ราคะ โทสะ โมหะ หรือปฏิฆะแห่งใจในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาอยู่’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตโดยทางใด เราได้เที่ยวบิณฑบาตในประเทศใด และเรากลับจากบิณฑบาตจากบ้านโดยทางใด ในที่นั้น เราไม่มีฉันทะ ราคะ โทสะ โมหะ หรือปฏิฆะแห่งใจในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา’ สารีบุตร ภิกษุนั้นพึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นแล [๔๓๙] สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเข้า บ้านเพื่อบิณฑบาตโดยทางใด เราได้เที่ยวบิณฑบาตในประเทศใด และเรากลับ จากบิณฑบาตจากบ้านโดยทางใด ในที่นั้นๆ เรามีฉันทะ ราคะ โทสะ โมหะใน เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูบ้างไหม @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๗๖ (จูฬสุญญตสูตร) หน้า ๒๑๕ ในเล่มนี้ @ มหาบุรุษ ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระตถาคต และพระมหาสาวกทั้งหลาย @(ม.อุ.อ. ๓/๔๓๘/๒๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๙๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร

เรามีฉันทะ ราคะ โทสะ โมหะในกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกบ้างไหม เรามีฉันทะ ราคะ โทสะ โมหะในรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นบ้างไหม เรามีฉันทะ ราคะ โทสะ โมหะในโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายบ้างไหม เรามีฉันทะ ราคะ โทสะ โมหะหรือปฏิฆะแห่งใจในธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ทางใจบ้างไหม’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตโดยทางใด เราได้ เที่ยวบิณฑบาตในประเทศใด และเรากลับจากบิณฑบาตจากบ้านโดยทางใด ในที่นั้น เรามีฉันทะ ราคะ โทสะ โมหะหรือปฏิฆะแห่งใจในธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจ’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมนั้น แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตโดยทางใด เรา ได้เที่ยวบิณฑบาตในประเทศใด และเรากลับจากบิณฑบาตจากบ้านโดยทางใด ใน ที่นั้น เราไม่มีฉันทะ ราคะ โทสะ โมหะ หรือปฏิฆะแห่งใจในธรรมารมณ์ที่พึงรู้ แจ้งทางใจ’ สารีบุตร ภิกษุนั้นพึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นแล [๔๔๐] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราละกามคุณ ๕ ได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังละกามคุณ ๕ ไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อละกามคุณ ๕ แต่ถ้าภิกษุนั้นพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราละกามคุณ ๕ ได้แล้ว‘ ภิกษุนั้น พึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล [๔๔๑] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราละนิวรณ์ ๕ ได้ แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังละนิวรณ์ ๕ ไม่ได้’ ภิกษุ นั้นพึงพยายามเพื่อละนิวรณ์ ๕ แต่ถ้าภิกษุนั้นพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราละนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว’ ภิกษุนั้นพึง ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ นั้นแล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร

[๔๔๒] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เรากำหนดรู้ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังกำหนดรู้ อุปาทานขันธ์ ๕ ไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อกำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรากำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้ว’ ภิกษุนั้นพึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล [๔๔๓] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้าภิกษุนั้นพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้แล้ว’ ภิกษุนั้นพึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล [๔๔๔] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเจริญสัมมัปปธาน ๔ ได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังเจริญสัมมัปปธาน ๔ ไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อเจริญสัมมัปปธาน ๔ แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเจริญสัมมัปปธาน ๔ ได้แล้ว’ ภิกษุ นั้นพึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล [๔๔๕] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเจริญอิทธิบาท ๔ ได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังเจริญอิทธิบาท ๔ ไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อเจริญอิทธิบาท ๔ แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเจริญอิทธิบาท ๔ ได้แล้ว’ ภิกษุนั้น พึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร

[๔๔๖] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเจริญอินทรีย์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังเจริญอินทรีย์ ๕ ไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อเจริญอินทรีย์ ๕ แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเจริญอินทรีย์ ๕ ได้แล้ว’ ภิกษุนั้น พึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติปราโมทย์นั้นแล [๔๔๗] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเจริญพละ ๕ ได้ แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังเจริญพละ ๕ ไม่ได้’ ภิกษุ นั้นพึงพยายามเพื่อเจริญพละ ๕ แต่ถ้าภิกษุนั้นพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเจริญพละ ๕ ได้แล้ว’ ภิกษุนั้น พึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล [๔๔๘] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเจริญโพชฌงค์ ๗ ได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังเจริญโพชฌงค์ ๗ ไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อเจริญโพชฌงค์ ๗ แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเจริญโพชฌงค์ ๗ ได้แล้ว’ ภิกษุนั้น พึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล [๔๔๙] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเจริญอริยมรรค มีองค์ ๘ ได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังเจริญอริยมรรค มีองค์ ๘ ไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แล้ว’ ภิกษุนั้นพึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร

[๔๕๐] อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเจริญสมถะและ วิปัสสนาได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังเจริญสมถะและ วิปัสสนาไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อเจริญสมถะและวิปัสสนา แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเจริญสมถะและวิปัสสนาได้แล้ว’ ภิกษุนั้นพึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล [๔๕๑] สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราทำ วิชชาและวิมุตติให้แจ้งได้แล้วหรือหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังทำ วิชชาและวิมุตติให้แจ้งไม่ได้’ ภิกษุนั้นพึงพยายามเพื่อทำวิชชาและวิมุตติให้แจ้ง แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราทำวิชชาและวิมุตติให้แจ้งได้แล้ว’ ภิกษุนั้นพึงตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นแล [๔๕๒] สารีบุตร ก็ในอดีต สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้ทำ บิณฑบาตให้บริสุทธิ์ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดก็ได้พิจารณาแล้วๆ อย่างนี้ จึงทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ ในอนาคต สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งจักทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดก็ จักพิจารณาแล้วๆ อย่างนี้ จึงทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ ในบัดนี้ สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ทั้งหมดย่อมพิจารณาแล้วๆ อย่างนี้ จึงทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราพิจารณาแล้วๆ จักทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์’ สารีบุตร เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรมีใจยินดีชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตรที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๓}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๙๘-๕๐๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=14582&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=51              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=10783&Z=10911&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=837              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=837&items=16              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=837&items=16              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]