ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๖. สันทกสูตร

ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ เมื่อศาสดาเชื่อถือการฟังตามกันมา เชื่อว่าจริง ด้วยการฟังตามกันมา ย่อมมีการฟังถูกบ้าง การฟังผิดบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง’ วิญญูชนนั้น รู้ดังนี้ว่า ‘ลัทธินี้เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ ที่ไม่น่า วางใจ’ ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น สันทกะ พรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่ ๒ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้แล้ว [๒๓๑] สันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นนักตรรกะ๑- เป็นนักอภิปรัชญา๒- ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมตามปฏิภาณของตน ตามหลักเหตุผล และการคาดคะเนความจริง ศาสดาผู้เป็นนักตรรกะ เป็นนักอภิปรัชญา ก็ย่อม มีการใช้เหตุผลถูกบ้าง การใช้เหตุผลผิดบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘ศาสดานี้ เป็นนักตรรกะ เป็นนักอภิปรัชญา ศาสดานั้นย่อมแสดงธรรมตามปฏิภาณของตน ตามหลักเหตุผลและการคาดคะเนความจริง ศาสดาผู้เป็นนักตรรกะ เป็นนัก อภิปรัชญา ก็ย่อมมีการใช้เหตุผลถูกบ้าง การใช้เหตุผลผิดบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง’ วิญญูชนนั้นรู้ดังนี้ว่า ‘ลัทธินี้เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ ที่ไม่น่า วางใจ’ ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น @เชิงอรรถ : @ นักตรรกะ (ตกฺกี) ผู้ที่ใช้เหตุผลตามแนวของตรรกศาสตร์ (Logic) มี ๔ จำพวก คือ อนุสสติกะ อนุมาน @จากข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ ชาติสสระ อนุมานโดยการระลึกชาติ ลาภิตักกิกะ อนุมานจาก @ประสบการณ์ภายในของตน และสุทธิตักกิกะ อนุมานโดยใช้เหตุผลล้วนๆ (ที.สี.อ. ๑/๓๔/๙๘-๙๙) @ นักอภิปรัชญา (วีมํสี) ผู้ที่ใช้เหตุผลโดยการคาดคะเนความจริงเอาจากการเทียบเคียงจนพอใจถูกใจแล้ว @ยึดถือเป็นทฤษฎี เช่น คาดคะเนในเรื่องที่เกี่ยวกับปฐมเหตุของโลกและจักรวาล (ที.สี.อ. ๑/๓๔/๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๗๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๖. สันทกสูตร

สันทกะ พรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่ ๓ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้แล้ว [๒๓๒] สันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นคนเขลา งมงาย เพราะเป็นคนเขลา งมงาย ศาสดานั้นเมื่อถูกถามปัญหาอย่างนั้นๆ ย่อมพูดแบ่งรับ แบ่งสู้ คือตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า ‘ความเห็นของเราว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างอื่นก็ไม่ใช่ มิใช่ก็ไม่ใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็ไม่ใช่’ ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘ท่านศาสดานี้ เป็นคนเขลา งมงาย’ เพราะเป็นคนเขลางมงาย ศาสดานั้นเมื่อถูกถามปัญหา อย่างนั้นๆ ย่อมพูดแบ่งรับแบ่งสู้ คือตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า ‘ความเห็นของเรา ว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างอื่นก็ไม่ใช่ มิใช่ก็ไม่ใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็ไม่ใช่’ วิญญูชนนั้นรู้ดังนี้ว่า ‘ลัทธินี้เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจ’ ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น พรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรม ที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้แล้ว สันทกะ พรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่ออยู่ ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ ๔ ประการนี้แลที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้แล้ว” สันทกปริพาชกถามว่า “ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจ ๔ ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติเลย ถึงเมื่อ อยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จไม่ได้ว่า ‘เป็นพรหมจรรย์ที่ไม่น่าวางใจ’ ท่านพระอานนท์ ศาสดานั้นมักกล่าวกันอย่างไร บอกกันอย่างไร ในพรหมจรรย์ ที่วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติจริงจัง และเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๗๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๖. สันทกสูตร

พรหมจรรย์ที่ควรประพฤติ
[๒๓๓] ท่านพระอานนท์ตอบว่า “สันทกะ พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นมา ในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็น ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นเครื่องทอนกำลัง ปัญญาแล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันยิ่งเห็นปานนี้ใน ศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้ อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้ อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุผู้มีอุเบกขา บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้ อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอย่างยิ่งเห็นปานนี้ใน ศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑- ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไป @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๔ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๗๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๖. สันทกสูตร

เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติ บ้าง ฯลฯ๑- เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ อย่างนี้ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันยิ่งเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้ สำเร็จได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม และไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการอย่างนี้ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันยิ่งเห็นปานนี้ใน ศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ ก็ทำกุศลธรรมที่ถูกต้องให้สำเร็จได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม จิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้อีกต่อไป’ สันทกะ สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชน พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นอย่างจริงจัง และเมื่ออยู่ก็ทำกุศลธรรมที่ถูก ต้องให้สำเร็จได้” @เชิงอรรถ : @ ดูเนื้อความเต็มข้อ ๑๔ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๗๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๖. สันทกสูตร

พระอรหันตขีณาสพไม่ละเมิดฐานะ ๕
[๒๓๔] สันทกปริพาชกถามว่า “ท่านพระอานนท์ ภิกษุใดเป็นพระอรหันต- ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้น จะยังบริโภคกามอยู่อีกหรือ” ท่านพระอานนท์ตอบว่า “สันทกะ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นเป็นผู้ ไม่สามารถละเมิดฐานะ ๕ ประการ คือ ๑. เป็นผู้ไม่สามารถแกล้งปลงสัตว์จากชีวิต ๒. เป็นผู้ไม่สามารถถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ อันเป็นส่วนแห่ง ความเป็นขโมย ๓. เป็นผู้ไม่สามารถเสพเมถุนธรรม ๔. เป็นผู้ไม่สามารถกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ๕. เป็นผู้ไม่สั่งสมบริโภคกามทั้งหลายเหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน สันทกะ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควร ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ไม่สามารถละเมิดฐานะ ๕ ประการนี้”
ญาณทัสสนะของพระอรหันตขีณาสพ
[๒๓๕] “ท่านพระอานนท์ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหม- จรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระแล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นเดินไปอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะว่า ‘อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้ว’ จะปรากฏต่อเนื่อง ตลอดไปไหม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๗๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๖. สันทกสูตร

“สันทกะ ถ้าเช่นนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมรู้ทั่ว ถึงเนื้อความแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนคนที่มีมือและเท้าขาดไป เมื่อคน นั้นเดินไปอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ก็รู้เสมอต่อเนื่องว่า ‘มือและเท้าของเรา ขาดแล้ว’ หรือเมื่อเขาพิจารณาเหตุนั้นอยู่ก็รู้ว่า ‘มือและเท้าของเราขาดแล้ว’ หรือ” “ท่านพระอานนท์ คนนั้นย่อมไม่รู้เสมอต่อเนื่องว่า ‘มือและเท้าของเรา ขาดแล้ว’ แต่เขาพิจารณาเหตุนั้นแล้วจึงรู้ว่า ‘มือและเท้าของเราขาดแล้ว” “สันทกะ ภิกษุนั้นก็อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เมื่อเธอเดินไปอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะว่า ‘อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้ว’ ก็ไม่ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป แต่เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเหตุนั้นอยู่จึงรู้ว่า ‘อาสวะทั้งหลาย ของเราสิ้นไปแล้ว” [๒๓๖] สันทกปริพาชกถามว่า “ท่านพระอานนท์ ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุ กำจัดกิเลสและกองทุกข์ให้ออกไปได้มีจำนวนมากเพียงไร” ท่านพระอานนท์ตอบว่า “สันทกะ ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้กำจัดกิเลสและ กองทุกข์ให้ออกไปได้ มิใช่มีเพียง ๑๐๐ รูป ๒๐๐ รูป ๓๐๐ รูป ๔๐๐ รูป ๕๐๐ รูป ความจริงแล้วมีอยู่จำนวนมากทีเดียว” สันทกปริพาชกกล่าวว่า “ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ในพระธรรมวินัยนี้ไม่ได้มีการยกย่องธรรมของตน และไม่มีการติเตียนธรรมของ ผู้อื่น มีแต่การแสดงธรรมตามเหตุผลเท่านั้น แต่ก็ปรากฏว่ามีผู้กำจัดกิเลสและ กองทุกข์ได้มากมายถึงเพียงนั้น ส่วนอาชีวกเหล่านี้ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตร ตายแล้ว ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น กลับปรากฏว่ามีผู้กำจัดกิเลสและ กองทุกข์ได้เพียง ๓ คน คือ (๑) นันทะ วัจฉะ (๒) กิสะ สังกิจจะ (๓) มักขลิ โคสาล” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๗๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

ลำดับนั้น สันทกปริพาชกเรียกบริษัทของตนมากล่าวว่า “พ่อผู้เจริญทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์กันเถิด การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมย่อม มีผล แต่บัดนี้ เราทั้งหลายจะสละลาภสักการะและความสรรเสริญนั้นไม่ใช่เป็นของ ทำได้ง่าย” สันทกปริพาชกได้ส่งบริษัทของตนไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาค ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล
สันทกสูตรที่ ๖ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๗๒-๒๗๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=7633&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=26              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=5062&Z=5497&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=293              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=293&items=21              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=293&items=21              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]