ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๕. โพธิราชกุมารสูตร

ทรงพบอุปกาชีวก
[๓๔๑] ราชกุมาร อาตมภาพจึงดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ จึงดำริว่า ‘ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก ที่ได้เฝ้า ปรนนิบัติเราผู้มุ่งบำเพ็ญเพียร ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน’ แล้วดำริต่อไปว่า ‘บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ’ ก็ได้เห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ราชกุมาร ครั้งนั้น อาตมภาพพักอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาตามความต้องการแล้ว จึงหลีกจาริกไปทางกรุงพาราณสี ราชกุมาร อาชีวกชื่ออุปกะได้พบอาตมภาพผู้กำลังเดินทางไกล ณ ระหว่าง แม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ถามเราว่า ‘อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือ ท่านชอบใจธรรมของใคร’ เมื่ออุปกาชีวกถามอย่างนี้แล้ว อาตมภาพจึงได้กล่าวคาถาตอบอุปกาชีวกว่า ‘เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง๑- รู้ธรรมทั้งปวง๒- มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง๓- ละธรรมทั้งปวง๔- ได้สิ้นเชิง หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเอง แล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า เราไม่มีอาจารย์๕- เราไม่มีผู้เสมอเหมือน เราไม่มีผู้ทัดเทียมในโลกกับทั้งเทวโลก @เชิงอรรถ : @ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖) @ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖) @ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖) @ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖) @ เราไม่มีอาจารย์ในที่นี้หมายถึงไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๑๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๕. โพธิราชกุมารสูตร

เพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เราผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้เยือกเย็น ดับกิเลสในโลกได้แล้ว เราจะไปเมืองหลวงของชาวกาสี ประกาศธรรมจักร ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน๑-’ อุปกาชีวกกล่าวว่า ‘อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ’ อาตมภาพจึงกล่าวตอบว่า ‘ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ๒-’ เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนั้นแล้ว อุปกาชีวกจึงกล่าวว่า ‘อาวุโส ควรจะเป็น อย่างนั้น’ โคลงศีรษะแลบลิ้นแล้วเดินสวนทางหลีกไป
ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์
[๓๔๒] ราชกุมาร ลำดับนั้น อาตมภาพจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตน- มฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ได้เข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ถึงที่อยู่ ภิกษุปัญจวัคคีย์ เห็นอาตมภาพเดินมาแต่ไกล จึงนัดหมายกันและกันว่า ‘อาวุโส พระสมณโคดมนี้ เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์ แต่จะจัด อาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง’ อาตมภาพเข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ลืมข้อนัดหมายของตน บางพวกต้อนรับอาตมภาพแล้วรับบาตรและจีวร บางพวกปูลาดอาสนะ บางพวกจัด หาน้ำล้างเท้า แต่ภิกษุปัญจวัคคีย์เรียกอาตมภาพโดยออกนามและใช้คำว่า ‘อาวุโส’ @เชิงอรรถ : @๑-๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๑/๑๗, อภิ.ก. ๓๗/๔๐๕/๒๔๕-๒๔๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๑๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๕. โพธิราชกุมารสูตร

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว อาตมภาพจึงห้ามภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่า ‘อาวุโส’ ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะ สั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เรา สั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้’ เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวกับอาตมภาพว่า ‘อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยัง มิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจัก บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’ เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว อาตมภาพจึงได้กล่าวกับภิกษุปัญจ- วัคคีย์ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร ไม่ได้ เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ เธอทั้งหลาย จงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งประโยชน์ยอดยี่ยมอันเป็นที่สุด แห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้’ แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับอาตมภาพว่า ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๒ อาตมภาพก็ได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับอาตมภาพว่า ‘อาวุโสโคดม แม้ด้วย จริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะ ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุญาณทัสสนะ ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๑๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๕. โพธิราชกุมารสูตร

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยกล่าวในกาล ก่อนแต่นี้’ ภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า ‘ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า’ อาตมภาพจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง โดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้’ อาตมภาพสามารถทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว อาตมภาพกล่าวสอน ภิกษุ ๒ รูป ภิกษุ ๓ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ ๓ รูป นำมา อาตมภาพกล่าวสอนภิกษุ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ ๒ รูปนำมา๑-
ทรงแก้ปัญหาของโพธิราชกุมาร
[๓๔๓] ครั้งนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่อาตมภาพสั่งสอนและพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตร ผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ในปัจจุบัน” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โพธิราชกุมารได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุได้พระตถาคตเป็นผู้แนะนำนานเพียงไรหนอ จึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน ปัจจุบัน” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๑-๒๘๖/๓๐๕-๓๑๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๑๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๕. โพธิราชกุมารสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้อาตมภาพขอย้อนถาม พระองค์ก่อน พระองค์พึงตอบตามที่พอพระทัย พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้น ว่าอย่างไร พระองค์เป็นผู้ฉลาดในศิลปะ คือ การทรงช้าง การใช้ขอช้าง มิใช่หรือ” โพธิราชกุมารทูลว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในศิลปะคือ การทรงช้าง การใช้ขอช้าง” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่า อย่างไร บุรุษมาในเมืองนี้ด้วยเข้าใจว่า ‘โพธิราชกุมารทรงรู้ศิลปะคือการทรงช้าง การใช้ขอช้าง เราจักศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของโพธิราชกุมารนั้น’ แต่เขาไม่มีศรัทธา จึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีศรัทธาจะพึงบรรลุ เขามีสุขภาพ มีโรคาพาธมาก จึงไม่บรรลุผลเท่ากับคนที่มีสุขภาพมีโรคาพาธน้อยจะพึงบรรลุ เขาเป็นคนโอ้อวด มีมารยา จึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจะพึง บรรลุ เขาเป็นผู้เกียจคร้าน จึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภความเพียรจะพึง บรรลุ และเขาเป็นผู้มีปัญญาทรามจึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาจะพึงบรรลุ ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นควรศึกษา ศิลปะ คือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของพระองค์บ้างไหม” โพธิราชกุมารทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นแม้จะประกอบด้วยองค์ ประกอบแต่ละอย่าง ก็ไม่ควรศึกษาศิลปะ คือ การขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของ หม่อมฉัน ไม่จำต้องกล่าวถึงองค์ประกอบทั้ง ๕ ข้อ” [๓๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัย ความข้อนั้นว่าอย่างไร เปรียบเหมือนบุรุษมาเมืองนี้ด้วยเข้าใจว่า ‘โพธิราชกุมาร ทรงรู้ศิลปะคือการทรงช้าง การใช้ขอช้าง เราจักศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้ ขอช้างในสำนักของโพธิราชกุมารนั้น’ เขาเป็นผู้มีศรัทธา จึงบรรลุผลเท่าที่บุคคล ผู้มีศรัทธาจะพึงบรรลุ เขามีโรคาพาธน้อย จึงบรรลุผลเท่าที่คนผู้มีโรคาพาธน้อย จะพึงบรรลุ เขาเป็นคนไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา จึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจะพึงบรรลุ เขาเป็นผู้ปรารภความเพียร จึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภ ความเพียรจะพึงบรรลุ และเขาเป็นผู้มีปัญญาจึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาจะพึง บรรลุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๑๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๕. โพธิราชกุมารสูตร

ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นควรจะ ศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของพระองค์บ้างไหม” โพธิราชกุมารทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นแม้จะประกอบด้วยองค์ ประกอบแต่ละอย่างก็ควรศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของ หม่อมฉันได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงองค์ประกอบทั้ง ๕ ข้อ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ ก็อย่างนั้นเหมือนกัน องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้มีศรัทธา๑- เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า ‘แม้เพราะ เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ๒. เป็นผู้มีสุขภาพ มีโรคาพาธน้อย ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อย อาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลางพอเหมาะแก่การ บำเพ็ญเพียร ๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เปิดเผยตนตามความเป็นจริงในศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ เป็นผู้มีศรัทธา หมายถึงศรัทธา ๔ ประการ คือ (๑) อาคมนสัทธา ได้แก่ ความเชื่อต่อพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ @เพราะศรัทธานั้นมีมาแต่ตั้งความปรารถนา (๒) อธิคมนสัทธา ได้แก่ ความเชื่อต่อการบรรลุอมตธรรม @ของพระอริยสาวกทั้งหลาย (๓) โอกัปปนสัทธา ได้แก่ ความปลงใจเชื่อโดยไม่หวั่นไหว เมื่อกล่าวว่า @‘พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์' (๔) ปสาทสัทธา ได้แก่ การเกิดขึ้นแห่งความเลื่อมใส แต่ในที่นี้ประสงค์ @เอาโอกัปปนสัทธา (ม.ม.อ. ๒/๓๔๔/๒๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๑๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๕. โพธิราชกุมารสูตร

๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึง พร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศล ธรรมทั้งหลาย ๕. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นอริยะ เห็นความเกิดและ ความดับ สามารถชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ราชกุมาร นี้แล คือองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการ [๓๔๕] ราชกุมาร ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ จะพึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้ ใช้เวลาเพียง ๗ ปี ราชกุมาร ไม่ต้องถึง ๗ ปี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ จะพึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้ ใช้เวลาเพียง ๖ ปี ฯลฯ ๕ ปีฯลฯ ๔ ปี ฯลฯ ๓ ปี ฯลฯ ๒ ปี ฯลฯ ๑ ปี ราชกุมาร ไม่ต้องถึง ๑ ปี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ จะพึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้ ใช้เวลาเพียง ๗ เดือน ราชกุมาร ไม่ต้องถึง ๗ เดือน ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ จะพึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๑๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๕. โพธิราชกุมารสูตร

ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้ ใช้เวลาเพียง ๖ เดือน ฯลฯ ๕ เดือน ฯลฯ ๔ เดือน ฯลฯ ๓ เดือน ฯลฯ ๒ เดือน ฯลฯ ๑ เดือน ฯลฯ กึ่งเดือน ราชกุมาร ไม่ต้องถึงกึ่งเดือน ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ จะพึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้ ใช้เวลาเพียง ๗ คืน ๗ วัน ราชกุมาร ไม่ต้องถึง ๗ คืน ๗ วัน ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ จะพึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้ ใช้เวลาเพียง ๖ คืน ๖ วัน ฯลฯ ๕ คืน ๕ วัน ฯลฯ ๔ คืน ๔ วัน ฯลฯ ๓ คืน ๓ วัน ฯลฯ ๒ คืน ๒ วัน ฯลฯ ๑ คืน ๑ วัน ราชกุมาร ไม่ต้องถึง ๑ คืน ๑ วัน ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ มีตถาคตสั่งสอนในเวลาเย็น ก็จักบรรลุ คุณวิเศษได้ในเวลาเช้า มีตถาคตสั่งสอนในเวลาเช้า ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเย็น๑-” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โพธิราชกุมารได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า “พระพุทธเจ้ามีคุณน่าอัศจรรย์จริง พระธรรมมีคุณน่าอัศจรรย์จริง พระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วน่าอัศจรรย์จริง เพราะภิกษุที่พระตถาคตทรงสั่งสอนใน เวลาเย็น จักบรรลุคุณวิเศษในเวลาเช้า ภิกษุที่พระตถาคตทรงสั่งสอนในเวลาเช้า จักบรรลุคุณวิเศษในเวลาเย็น” @เชิงอรรถ : @ พระธรรมเทศนานี้พระพุทธเจ้าตรัสหมายถึงเนยยบุคคล เพราะเนยยบุคคลผู้มีปัญญารู้ได้ช้าจะบรรลุ @อรหัตตผลได้ใน ๗ วัน ผู้มีปัญญารู้เร็วจะบรรลุอรหัตตผลได้ใน ๑ วัน (ม.ม.อ. ๒/๓๔๕/๒๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๑๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๕. โพธิราชกุมารสูตร

โพธิราชกุมารถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตั้งแต่อยู่ในครรภ์
[๓๔๖] เมื่อโพธิราชกุมารตรัสอย่างนี้แล้ว มาณพสัญชิกาบุตรได้กราบทูล โพธิราชกุมารว่า “ท่านโพธิราชพระองค์นี้ทรงประกาศไว้ว่า ‘พระพุทธเจ้ามีคุณน่าอัศจรรย์จริง พระธรรมมีคุณน่าอัศจรรย์จริง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วน่าอัศจรรย์จริง’ แต่พระองค์ไม่ทรงถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะ” โพธิราชกุมารตรัสว่า “สัญชิกาบุตรเพื่อนรัก ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น สัญชิกาบุตรเพื่อนรัก ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น เรื่องนั้นเราได้ฟังมาแล้ว ได้รับมา ต่อพระพักตร์ของพระราชมารดาของเราแล้ว คือ ครั้งหนึ่ง(ครั้งที่ ๑) พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ขณะนั้น เสด็จแม่ของเรากำลังทรง พระครรภ์ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ‘ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ลูกคนที่อยู่ในครรภ์ของหม่อมฉันนี้จะเป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม เขาย่อมถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มี พระภาคจงทรงจำเขาว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต’ ครั้งหนึ่ง(ครั้งที่ ๒) พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ เภสกฬาวัน สถานที่ให้อภัย หมู่เนื้อ เขตกรุงสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะนี้ เวลานั้น แม่นมอุ้มเราใส่สะเอวพาเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพธิราชกุมารพระองค์นี้ ย่อมถึงพระผู้มี พระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำ โพธิราชกุมารนั้นว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต’ สัญชิกาบุตรเพื่อนรัก แม้ครั้งที่ ๓ เรานี้ย่อมถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระ ธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
โพธิราชกุมารสูตรที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๒๐}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๑๒-๔๒๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=11631&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=35              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=7663&Z=8236&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=486              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=486&items=35              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=486&items=35              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]