ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี ๖. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ ๗. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์เหมาะแก่เวลา [๒๙๓] ๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๑- และภูตคาม๒- ๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๓- ๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการ ละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล ๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว ๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่ ๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน ๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๔- ๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ ๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี @เชิงอรรถ : @ พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, @ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘) @ ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่มี ๕ ชนิด คือ ที่เกิดจากเหง้า เช่นกระชาย, @เกิดจากต้น เช่น โพ, เกิดจากตา เช่น อ้อย, เกิดจากยอด เช่น ผักชี, เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว @(ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘) @ ฉันในเวลาวิกาล คือ เวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง เวลาวิกาลในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้ @คือตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงเวลาอรุณขึ้น (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๐/๗๕) @ ธัญญาหารดิบ ในที่นี้หมายถึงธัญชาติ ๗ ชนิด คือ (๑) ข้าวสาลี (๒) ข้าวเปลือก (๓) ข้าวเหนียว @(๔) ข้าวละมาน (๕) ข้าวฟ่าง (๖) ลูกเดือย (๗) หญ้ากับแก้ (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย ๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ ๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร ๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา ๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน ๒๒. เว้นขาดจากการรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร ๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย ๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด ๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง ๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการขู่กรรโชก [๒๙๔] ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง เธอไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที นกมีปีกจะบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกของมันเป็น ภาระบินไป แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง เธอจะไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบ ด้วยอริยสีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษภายใน [๒๙๕] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ ความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม คืออภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น) และโทมนัส(ความทุกข์ใจ)ครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทาง จมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวม แล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษา มนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอริยอินทรียสังวรนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง [๒๙๖] ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยสันโดษ อริยอินทรีย- สังวร และอริยสติสัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์๑- ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ)ได้แล้ว เป็นผู้ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
รอยพระบาทของพระตถาคต
[๒๙๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตและ เป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท๒- ‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต๓- ‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต๔- ‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็น @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๐๗ (มหาสติปัฏฐานสูตร) หน้า ๑๐๒ ในเล่มนี้ @ ตถาคตบท หมายถึงทางแห่งญาณ หรือร่องรอยแห่งญาณของพระตถาคต ได้แก่ ฐานที่ญาณเหยียบแล้ว @กล่าวคือ ฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นพื้นฐานแห่งญาณชั้นสูงๆ ขึ้นไปของพระตถาคต @(ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕) @ ตถาคตนิเสวิต หมายถึงฐานที่ซี่โครงคือญาณของพระตถาคตเสียดสีแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕) @ ตถาคตรัญชิต หมายถึงฐานที่พระเขี้ยวแก้วคือญาณของพระตถาคตกระทบแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติ ดีแล้ว’ อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิอยู่ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ฯลฯ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ฯลฯ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว’ อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ข้อนี้เรา เรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว’ [๒๙๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑- ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ด่วน ตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรม ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล้ว แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาค เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๒๙๙] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุ นั้นน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ แม้ข้อนี้เราก็เรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต’ บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกที่ยังไม่ด่วนตัดสินใจก็ตัดสินใจได้เลยว่า ‘พระผู้มี พระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ เมื่อภิกษุนั้นรู้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต’บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกจึงตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้อความเปรียบเทียบ ด้วยรอยเท้าช้างเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารแล้ว” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระ โคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง สรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
จูฬหัตถิปโทปมสูตรที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๘}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๒๔-๓๒๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=12&A=9281&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=12&siri=27              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=5763&Z=6041&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=329              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=329&items=11              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=329&items=11              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]