ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้ว
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๑๐. มารตัชชนียสูตร
ว่าด้วยการคุกคามของมาร
[๕๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ ณ เภสกฬาวันสถานที่ให้อภัยแก่ หมู่เนื้อ เขตกรุงสุงสุมารคิระ ในแคว้นภัคคะ สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเดิน จงกรมอยู่ในที่แจ้ง ถูกมารใจบาปเข้าสิงในท้องในไส้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “ท้องเราเป็นเหมือนว่ามีก้อนหินหนักๆ และเป็นเช่นกระสอบที่บรรจุถั่วเหลืองเต็ม เพราะเหตุไรหนอ” จึงลงจากที่จงกรมแล้วเข้าไปสู่วิหาร นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ได้มนสิการโดยแยบคายเฉพาะตน ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นมารใจบาป เข้าสิงในท้องในไส้ แล้วจึงได้กล่าว กับมารใจบาปว่า “มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระ- ตถาคตและสาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้นอย่าได้มีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็น ประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน” ลำดับนั้น มารใจบาปมีความดำริอย่างนี้ว่า “สมณะนี้ไม่รู้ ไม่เห็นเรา จึง กล่าวว่า ‘มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคต และสาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้น อย่าได้มีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๔๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑๐. มารตัชชนียสูตร

เพื่อความทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน’ แล้วจึงดำริว่า ‘แม้สมณะที่เป็นศาสดายังไม่ รู้จักเราได้เร็วไว ไฉนสมณะที่เป็นสาวกจักรู้จักเราได้” ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวว่า “มาร เรารู้จักท่านแม้ด้วย เหตุนี้ ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘สมณะนี้ไม่รู้จักเรา’ ท่านเป็นมาร ท่านมีความดำริว่า ‘สมณะนี้ไม่รู้ ไม่เห็นเรา จึงกล่าวว่า ‘มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่าน อย่าเบียดเบียนพระตถาคตและสาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้นอย่าได้มี เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ท่านสิ้นกาลนาน’ แล้วจึงดำริว่า ‘แม้ สมณะที่เป็นศาสดายังไม่รู้จักเราได้เร็วไว ไฉนสมณะที่เป็นสาวกจักรู้จักเราได้” ลำดับนั้น มารใจบาปมีความดำริว่า “สมณะนี้รู้จักและเห็นเราจึงกล่าวอย่าง นี้ว่า ‘มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตและ สาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้น อย่าได้มีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน” จึงออกจากปากของท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วยืนอยู่ข้างบานประตู [๕๐๗] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นมารใจบาปยืนอยู่ข้างบานประตู แล้วจึงถามว่า “มาร เราเห็นท่านแม้ที่ข้างบานประตูนั้น ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘สมณะ นี้ไม่เห็นเรา’ ท่านนั้นยืนอยู่แล้วที่ข้างบานประตู เรื่องเคยมีมาแล้ว เราเป็นมารชื่อทูสี มีน้องสาวชื่อกาลี ท่านเป็นบุตรของ น้องสาวเรา ท่านเป็นหลานชายของเรา ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงมีคู่ พระอัครสาวกชื่อว่าวิธุระและสัญชีวะ ในบรรดาพระสาวกของพระกกุสันธะผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่าที่มีอยู่ ไม่มีสาวกองค์ใดที่จะเสมอด้วยท่าน พระวิธุระในการแสดงธรรม ด้วยเหตุนี้ ท่านพระวิธุระจึงมีชื่อว่า ‘วิธุระ วิธุระ’ ส่วนท่านพระสัญชีวะอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติด้วยความลำบากเล็กน้อย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท่านพระสัญชีวะนั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง พวกคนเลี้ยงโค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๔๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑๐. มารตัชชนียสูตร

พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกคนไถนา และพวกคนเดินทาง ได้เห็นท่านพระสัญชีวะนั่ง เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วได้ปรึกษากันว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่า อัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสมณะนี้นั่งมรณภาพแล้ว เอาละ พวกเราช่วย กันเผาท่านเถิด’ ครั้งนั้น คนเหล่านั้นจึงหาหญ้า ไม้ และมูลโคมากองสุมกาย ท่านพระสัญชีวะ จุดไฟเผาแล้วจากไป เมื่อราตรีนั้นผ่านพ้นไปแล้ว ท่าน พระสัญชีวะออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ก็สลัดจีวร เวลาเช้า ครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกคนไถนา และพวกคนเดินทาง ได้เห็นท่านพระสัญชีวะเที่ยวบิณฑบาตแล้ว ได้ปรึกษากันว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสมณะนี้ นั่งมรณภาพแล้ว กลับฟื้นชีพคืนได้’ ด้วยเหตุนี้ ท่านพระสัญชีวะจึงมีชื่อว่า ‘สัญชีวะ สัญชีวะ’ [๕๐๘] มาร ครั้งนั้น ทูสีมารมีความดำริว่า ‘เราไม่รู้จักการมาและการไป ของภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้ ทางที่ดี เราควรดลใจพวกพราหมณ์และ คหบดีว่า ‘มาเถิด พวกท่านจงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้น ผู้ถูกพวกท่านด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึงได้โอกาส’ ครั้งนั้น ทูสีมารก็ดลใจพวกพราหมณ์และคหบดีว่า ‘มาเถิด พวกท่านจงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้น ผู้ถูกพวกท่านด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนอยู่ จะพึงมีจิต เป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึงได้โอกาส’ พวกพราหมณ์และคหบดีถูกทูสีมารดลใจ แล้วก็ด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมว่า ‘ภิกษุพวกนี้เป็นสมณะหัวโล้น เป็นคหบดี เป็นค่าง เป็นผู้เกิดจากหลังเท้าของพรหม พูดว่า ‘พวกเราเจริญฌาน พวกเราเจริญฌาน’ เป็นผู้คอตก ก้มหน้า เกียจคร้าน ย่อมรำพึง ซบเซา เหงาหงอย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๔๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑๐. มารตัชชนียสูตร

เปรียบเหมือนนกเค้าแมวจ้องหาหนูที่กิ่งต้นไม้ รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ สุนัขจิ้งจอกจ้องหาปลาใกล้ฝั่งน้ำรำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ แมวที่จ้องหา หนูที่รางน้ำ ท่อน้ำครำและกองหยากเยื่อ รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ และลาที่ ปลดต่างแล้ว ก็รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุพวกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นสมณะหัวโล้น เป็นคหบดี เป็นค่าง เป็นผู้เกิดจากหลังเท้าของพรหมพูดว่า ‘พวกเราเจริญฌาน พวกเราเจริญฌาน’ เป็นผู้คอตก ก้มหน้า เกียจคร้าน ย่อมรำพึง ซบเซา เหงาหงอย’ มาร สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายที่ตายไป ก็จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต และนรกโดยมาก [๕๐๙] มาร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย พวกพราหมณ์ และคหบดีถูกทูสีมารดลใจชักชวนว่า ‘มาเถิด พวกท่านจงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นถูกพวกท่าน ด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึง ได้โอกาส’ ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธอจงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศ ที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอด โลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิตแผ่ไป ตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่’ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอน ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๔๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑๐. มารตัชชนียสูตร

ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิตแผ่ไป ตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ [๕๑๐] มาร ครั้งนั้น ทูสีมารมีความดำริว่า ‘เราทำอยู่แม้ถึงอย่างนี้ ก็มิ ได้รู้ถึงการมาและการไปของภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้เลย ทางที่ดี เรา ควรชักชวนพราหมณ์และคหบดีว่า ‘เชิญท่านทั้งหลายมาสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมกันเถิด ทำอย่างไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นผู้ซึ่ง ท่านทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมาร พึงได้โอกาส’ ลำดับนั้น ทูสีมารชักชวนพราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นว่า ‘เชิญท่าน ทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือบูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมกันเถิด ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นผู้ซึ่งท่านทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ จะพึง มีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึงได้โอกาส’ ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น ถูกทูสีมารชักชวนแล้ว พากันสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม มาร สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายที่ตายไป ก็ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์โดยมาก [๕๑๑] มาร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นพระ- อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย พวก พราหมณ์และคหบดี ถูกทูสีมารชักชวนว่า ‘เชิญท่านทั้งหลายมาสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมกันเถิด ทำอย่างไร เมื่อภิกษุเหล่านั้น ผู้ซึ่งท่านสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึง ได้โอกาส’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมา จงพิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม มีความ สำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณา เห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยงอยู่เถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๔๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑๐. มารตัชชนียสูตร

มาร ภิกษุเหล่านั้นผู้ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอน ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็พิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของ ปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็น ของไม่เที่ยงอยู่ [๕๑๒] มาร ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่านพระ- วิธุระเป็นปัจฉาสมณะ(ผู้ติดตาม) เสด็จเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ครั้งนั้น ทูสีมารได้เข้าสิงเด็กคนหนึ่งแล้วเอาก้อนหินขว้างที่ศีรษะของท่าน พระวิธุระแตก ท่านพระวิธุระมีศีรษะแตกเลือดไหลอาบอยู่ เดินตามเสด็จพระผู้มี พระภาคพระนามว่ากกุสันธะไปข้างหลังๆ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชำเลืองดูเหมือนช้างชำเลืองดู แล้วตรัสว่า ‘ทูสีมารนี้ไม่รู้จักประมาณเลย’ ก็แล ทูสีมารเคลื่อนแล้วจากที่นั้น ได้ไปเกิดในมหานรก พร้อมกับพระกิริยาที่ทรงชำเลืองดู มาร มหานรกนั้นมี ๓ ชื่อ คือ (๑) ฉผัสสายตนิกนรก๑- (๒) สังกุสมาหตนรก๒- (๓) ปัจจัตตเวทนียนรก๓- ครั้งนั้น พวกนายนิรยบาลเข้ามาหาเรา(ผู้เป็นทูสีมาร) แล้วบอกว่า ‘เมื่อใดหลาวเหล็กกับหลาวเหล็กมารวมกันที่กลางหทัยของท่าน เมื่อ นั้น ท่านจะพึงรู้ว่า ‘เราไหม้อยู่ในนรกพันปีแล้ว เรานั้น หมกไหม้อยู่ในมหานรก หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี และหมกไหม้อยู่ในอุสสทนรกซึ่งเป็นบริวารแห่ง มหานรกนั้น เสวยทุกขเวทนาหนักกว่าก่อนอีกหนึ่งหมื่นปี เรานั้นมีร่างกายเหมือน มนุษย์ มีศีรษะเป็นปลา’ @เชิงอรรถ : @ ฉผัสสายตนิกนรก หมายถึงนรกที่มีผัสสายตนะ ๖ เป็นเหตุเกิดทุกขเวทนาอันเผ็ดร้อน @(ม.มู.อ. ๒/๕๑๒/๓๒๙) @ สังกุสมาหตนรก หมายถึงนรกที่สัตว์นรกต้องถูกแทงด้วยขอเหล็ก (ม.มู.อ. ๒/๕๑๒/๓๒๙) @ ปัจจัตตเวทนียนรก หมายถึงนรกที่สัตว์นรกก่อทุกขเวทนาให้เกิดแก่ตนเอง (ม.มู.อ. ๒/๕๑๒/๓๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๕๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑๐. มารตัชชนียสูตร

อวสานคาถา
[๕๑๓] ทูสีมารประทุษร้ายพระสาวกชื่อว่าวิธุระ และพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ แล้วไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นไร ทูสีมารประทุษร้ายพระสาวกนามว่าวิธุระ และพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ แล้วไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นนี้ คือมีหลาวเหล็ก ๑๐๐ เล่ม ล้วนก่อให้เกิดทุกขเวทนา ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมรู้จักนรกนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก วิมานทั้งหลายตั้งอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรตลอดกัป มีสีเหมือนแก้วไพฑูรย์ มีความรุ่งเรือง มีรัศมีโชติช่วง เป็นประภัสสร มีเหล่านางอัปสรมีผิวพรรณต่างๆ เป็นอันมากฟ้อนรำอยู่ ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักวิมานนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก ภิกษุรูปใด ผู้ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตักเตือนแล้ว เมื่อภิกษุสงฆ์เห็นอยู่ ทำปราสาทของมิคารมาตา ให้ไหวด้วยปลายนิ้วหัวแม่เท้า ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๕๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑๐. มารตัชชนียสูตร

ภิกษุรูปใดมีกำลังเข้มแข็งด้วยกำลังฤทธิ์ ทำเวชยันตปราสาทให้ไหวด้วยปลายนิ้วหัวแม่เท้า และทำเหล่าเทวดาให้สังเวช ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก ภิกษุรูปใดทูลสอบถามท้าวสักกะในเวชยันตปราสาทว่า ‘ท่านวาสวะ ท่านย่อมรู้ความน้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นไป แห่งตัณหาบ้างไหม’ ท้าวสักกะถูกถามปัญหาแล้ว จึงตอบแก่ภิกษุนั้นตามควรแก่กถา ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก ภิกษุรูปใดสอบถามพรหม ณ ที่ใกล้สุธัมมสภาว่า ‘ท่านเห็นทิฏฐิของท่านในวันนี้ และทิฏฐิของท่านที่มีในวันก่อน ท่านเห็นทิฏฐินั้นล่วงไปแล้ว และรัศมีเป็นประภัสสรในพรหมโลกบ้างหรือ’ พรหมตอบแก่ภิกษุนั้น ตามลำดับโดยควรแก่กถาว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่มีทิฏฐินั้นและทิฏฐิในวันก่อน ข้าพเจ้าเห็นทิฏฐินั้นล่วงไปแล้ว และเห็นรัศมีเป็นประภัสสรในพรหมโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๕๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์

(ฉะนั้น) วันนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวว่า ‘เราเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน ได้อย่างไร’ ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก ภิกษุรูปใด ได้สัมผัสยอดภูเขาใหญ่ชื่อสิเนรุ ชมพูทวีป ปุพพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป และอุตตรกุรุทวีปด้วยวิโมกข์ ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้เหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก คนพาลมาเข้ากองไฟที่กำลังลุกโชน ย่อมเดือดร้อนอยู่ว่า ‘ไฟย่อมไม่คิดจะเผาเรา แต่เราเผาตนผู้เป็นคนพาลเอง’ มาร ท่านเบียดเบียนพระตถาคตแล้ว จักเผาตัวเอง ดังคนพาลที่ถูกไฟเผาฉะนั้น มาร ท่านเบียดเบียนพระตถาคตแล้ว ต้องประสบบาป ท่านเข้าใจหรือว่า ‘บาปไม่ให้ผลแก่เรา’ ผู้ที่สั่งสมบาป ย่อมโอดครวญตลอดกาลนาน มาร ท่านเบื่อหน่ายพระพุทธเจ้า อย่าหวังที่จะทำให้ภิกษุทั้งหลายพินาศเลย ภิกษุได้คุกคามมารในเภสกฬาวัน ด้วยประการฉะนี้” ลำดับนั้น มารนั้นเสียใจ ได้อันตรธานไปจากที่นั้น ดังนี้แล
มารตัชชนียสูตรที่ ๑๐ จบ
จูฬยมกวรรคที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๕๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สาเลยยกสูตร ๒. เวรัญชกสูตร ๓. มหาเวทัลลสูตร ๔. จูฬเวทัลลสูตร ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร ๖. มหาธัมมสมาทานสูตร ๗. วีมังสกสูตร ๘. โกสัมพิยสูตร ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร ๑๐. มารตัชชนียสูตร
รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์นี้ คือ
๑. มูลปริยายวรรค ๒. สีหนาทวรรค ๓. โอปัมมวรรค ๔. มหายมกวรรค ๕. จูฬยมกวรรค
มูลปัณณาสก์ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๕๔}
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๕๔๕-๕๕๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=12&A=15578&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=12&siri=50              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=10287&Z=10459&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=557              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=557&items=10              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=557&items=10              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้ว

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]