ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑. จูฬโคสิงคสูตร

๔. มหายมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดใหญ่
๑. จูฬโคสิงคสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในโคสิงคสาลวัน สูตรเล็ก
[๓๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำหนักอิฐในบ้านชื่อนาทิกะ สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ อยู่ที่ป่าโคสิงค- สาลวัน ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปยัง ป่าโคสิงคสาลวัน นายทายบาล(ผู้รักษาป่า) ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล แล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระสมณะ ท่านอย่าเข้าไปในป่านี้เลย ในป่านี้มีกุลบุตร (พระเถระ) ๓ ท่าน ซึ่งเป็นผู้มุ่งประโยชน์ตนอยู่ ท่านอย่าได้รบกวนกุลบุตรทั้ง ๓ นั้นเลย” เมื่อนายทายบาลกราบทูลพระผู้มีพระภาคอยู่นั้น ท่านพระอนุรุทธะได้ยินแล้ว จึงได้บอกกับนายทายบาลว่า “นายทายบาล ท่านอย่าได้ห้ามพระผู้มีพระภาคเลย พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว” ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะได้เข้าไปหาท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมิละถึงที่ อยู่ แล้วได้บอกว่า “รีบไปกันเถิดท่าน รีบไปกันเถิดท่าน พระผู้มีพระภาคผู้เป็น พระศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว” ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละได้ต้อนรับพระผู้มี พระภาค รูปหนึ่งรับบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่ง ตั้งน้ำล้างพระบาท พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ครั้นล้าง พระบาทแล้ว ท่านทั้ง ๓ รูปนั้นได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่าน พระกิมิละว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๕๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑. จูฬโคสิงคสูตร

[๓๒๖] “อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ เธอทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยัง พอเป็นอยู่ได้หรือ๑- ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ” ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย ยังสบายดี ยังพอเป็นอยู่ได้ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต” “เธอทั้งหลายยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนม กับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่หรือ” “ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่ วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่ พระพุทธเจ้าข้า” “เธอทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำ นมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่ได้อย่างไร” “ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่กับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’ ข้าพระองค์ตั้งมั่นเมตตากายกรรม ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม และตั้งมั่นเมตตามโนกรรม๒- ในท่านเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและ ลับหลัง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรเก็บความนึกคิดของตน แล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่านเหล่านี้’ ข้าพระองค์ก็เก็บความนึกคิด ของตนแล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่านเหล่านี้ กายของข้าพระองค์ ทั้งหลายต่างกันก็จริง แต่ความนึกคิดดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า” แม้ท่านพระนันทิยะ ฯลฯ แม้ท่านพระกิมิละก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส แม้ข้าพระองค์ก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่กับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’ ข้าพระองค์ตั้งมั่นเมตตากายกรรม ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม และตั้งมั่นเมตตามโนกรรม @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๗๔/๖๖, องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๖/๕๔๐ @ ดูเทียบ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๑๑/๔๒๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๕๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑. จูฬโคสิงคสูตร

ในท่านเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรเก็บความนึกคิดของตนแล้ว ประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่าน เหล่านี้’ ข้าพระองค์ก็เก็บความนึกคิดของตน แล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิด ของท่านเหล่านี้ กายของข้าพระองค์ทั้งหลายต่างกันก็จริง แต่ความนึกคิดดูเหมือน เป็นอันเดียวกัน ข้าพระองค์ทั้งหลายยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็น เหมือนน้ำนมกับน้ำ มองกันและกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่อย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า” [๓๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ เธอทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่หรือ” ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พระพุทธเจ้าข้า” “เธอทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ได้อย่างไร” “ขอประทานวโรกาส บรรดาข้าพระองค์ทั้งหลาย รูปใดกลับจากบิณฑบาต จากหมู่บ้านก่อน รูปนั้นก็ปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ตั้งถาดสำรับไว้ รูปใด กลับจากบิณฑบาตจากหมู่บ้านทีหลัง ถ้ามีบิณฑบาตที่เหลือจากฉัน หากประสงค์ ก็ฉัน หากไม่ประสงค์ก็เททิ้งบนพื้นที่ปราศจากของเขียว หรือเทลงในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้นเก็บอาสนะ เก็บน้ำฉันน้ำใช้ เก็บถาดสำรับ กวาดโรงอาหาร รูปใดเห็น หม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำชำระว่างเปล่า รูปนั้นก็นำไปตั้งไว้ ถ้าเหลือ วิสัยของท่าน ก็กวักมือเรียกรูปที่ ๒ มาช่วยกันยกนำไปตั้งไว้ ข้าพระองค์ ทั้งหลายไม่เปล่งวาจาเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย และทุก ๕ วัน ข้าพระองค์ทั้งหลาย นั่งสนทนาธรรมีกถาตลอดคืนยังรุ่ง ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความ เพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๕๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑. จูฬโคสิงคสูตร

ธรรมเครื่องอยู่อย่างผาสุก
[๓๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่ อย่างผาสุกที่เธอทั้งหลายผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ได้บรรลุแล้ว มีอยู่หรือ” ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ ทั้งหลายสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือญาณทัสสนะที่ ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ได้บรรลุแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้ บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ” “จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ข้าพระองค์ ทั้งหลายบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มี วิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่ อย่างผาสุกอย่างอื่น ที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรม เป็นเครื่องอยู่นั้น” “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุ เพื่อก้าวล่วง และเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ” “จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะปีติจางคลายไป ข้าพระองค์ ทั้งหลายมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๖๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑. จูฬโคสิงคสูตร

พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ นี้คือญาณทัสสนะ ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก อย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุ เพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ” “จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุ เพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ” “จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุอากาสานัญ- จายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวังนี้คือ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่าง ผาสุกอย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่อง อยู่อย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้ บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๖๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑. จูฬโคสิงคสูตร

“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดย ประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง ฯลฯ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตน- ฌานโดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดย กำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง ฯลฯ เพราะล่วงอากิญจัญญายตน- ฌานโดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่ง กว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น พระพุทธเจ้าข้า” [๓๒๙] “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่าง อื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ” “จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วย ปัญญา อาสวะของข้าพระองค์ทั้งหลายย่อมสิ้นไปตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่ อย่างผาสุกอย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรม เป็นเครื่องอยู่นั้น พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระองค์ทั้งหลายยังไม่พิจารณาเห็น ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่น ที่ยิ่งหรือประณีตกว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่ อย่างผาสุกนี้ พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก อย่างอื่น ที่ยิ่งหรือประณีตกว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกนี้ หามีไม่” [๓๓๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระอนุรุทธะ ท่าน พระนันทิยะ และท่านพระกิมิละเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้ อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจาก อาสนะเสด็จจากไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๖๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑. จูฬโคสิงคสูตร

ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละตามส่งเสด็จพระ ผู้มีพระภาค ครั้นกลับจากที่นั้นแล้ว ท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมิละได้กล่าว กับท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านอนุรุทธะประกาศคุณวิเศษใดของพวกกระผม จนถึง ความสิ้นอาสวะ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกกระผมได้บอกคุณวิเศษ นั้นแก่ท่านอนุรุทธะอย่างนั้นหรือว่า ‘พวกเราได้วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้๑-” ท่านพระอนุรุทธะกล่าวว่า “พวกท่านมิได้บอกแก่กระผมอย่างนี้ว่า ‘พวกเราได้ วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้’ แต่กระผมกำหนดจิตของพวกท่านด้วยจิตของ กระผมแล้วรู้ได้ว่า ‘ท่านเหล่านี้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้’ แม้พวกเทวดา ก็ได้บอกเนื้อความข้อนี้แก่กระผมว่า ‘ท่านเหล่านี้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้’ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหา กระผมจึงทูลตอบเนื้อความนั้น”
เทวดาสรรเสริญพระเถระทั้ง ๓ รูป
[๓๓๑] ยักษ์ชื่อทีฆปรชนเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว ที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านนี้ คือ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละก็มาพักอยู่” เทพชั้นภุมมะได้ฟังเสียงของยักษ์ชื่อทีฆปรชนแล้วได้ประกาศ(ต่อไป)ว่า “ท่าน ผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว ที่พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านนี้ คือ ท่าน พระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละก็มาพักอยู่” @เชิงอรรถ : @ เหล่านี้และเหล่านี้ ในที่นี้หมายถึงโลกิยธรรมมีปฐมฌานเป็นต้น และโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๓๓๐/๑๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๖๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑. จูฬโคสิงคสูตร

เทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของเทพชั้นภุมมะแล้ว ... เทพชั้นดาวดึงส์ ... เทพชั้นยามา ... เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เทพที่นับเข้าในหมู่พรหมได้ฟังเสียงของเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว ได้ประกาศ (ต่อไป)ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว ที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านนี้ คือ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละก็มาพักอยู่” โดยขณะเพียงครู่หนึ่งนั้น ท่าน(พระเถระ)เหล่านั้นได้เป็นผู้ที่เทพทั้งหลาย รู้จักกันจนถึงพรหมโลกด้วยประการอย่างนี้
การปฏิบัติดีของพระสงฆ์เป็นประโยชน์แก่มหาชน
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ทีฆะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ทีฆะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากตระกูลใด ถ้าตระกูลนั้นมีจิต เลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ตระกูลนั้นตลอดกาลนาน กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากวงศ์ตระกูลใด ถ้าวงศ์ ตระกูลนั้นเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อ ความสุขแก่วงศ์ตระกูลนั้นตลอดกาลนาน กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากหมู่บ้านใด ถ้าหมู่บ้าน นั้นมีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อ ความสุขแก่หมู่บ้านนั้นตลอดกาลนาน กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากนิคมใด ถ้านิคมนั้นมีจิต เลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่นิคมนั้นตลอดกาลนาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๖๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑. จูฬโคสิงคสูตร

กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากนครใด ถ้านครนั้นมีจิต เลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่นครนั้นตลอดกาลนาน กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากชนบทใด ถ้าชนบทนั้น มีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความ สุขแก่ชนบทนั้นตลอดกาลนาน ถ้ากษัตริย์ทั้งมวลมีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่กษัตริย์ทั้งมวลตลอดกาลนาน ถ้าพราหมณ์ทั้งมวล ... ถ้าแพศย์ทั้งมวล ... ถ้าศูทรทั้งมวลมีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ศูทรทั้งมวลตลอดกาลนาน ถ้ามนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์มีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึง เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ตลอดกาลนาน ทีฆะ ท่านจงเห็นเถิด กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ปฏิบัติก็เพียงเพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ยักษ์ชื่อทีฆปรชนมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬโคสิงคสูตรที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๖๕}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๕๗-๓๖๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=12&A=10247&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=12&siri=31              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=6696&Z=6876&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=361              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=361&items=8              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=361&items=8              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]