ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

การสนทนากับพระพรหม

คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้ อาศัยเสนาสนะอันสงัดคือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง’ คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้ คำของท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลก นี้มีกรุณาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่’ คำของ ท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้ อนึ่ง เมื่อท่านผู้เจริญ พูดถึงกลิ่นชั่วร้ายอยู่ ข้าพเจ้าไม่รู้จัก(กลิ่นนั้น)’ มหาโควินทพราหมณ์ทูลถามด้วยคาถาว่า ‘ข้าแต่พรหม บรรดามนุษย์ พวกไหนมีกลิ่นชั่วร้าย ข้าพเจ้าไม่รู้จักพวกนั้น ขอท่านผู้เป็นปราชญ์ จงบอกมาในที่นี้เถิด อะไรร้อยรัด หมู่สัตว์จึงเหม็นเน่าคลุ้ง ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว’ สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า ‘โกธะ (ความโกรธ) โมสวัชชะ (การพูดเท็จ) นิกติ (การโกง) โทพภะ (การประทุษร้ายมิตร) กทริยตา๑- (ความตระหนี่) อติมานะ (ความดูหมิ่น) อุสุยา (ความริษยา) อิจฉา (ความปรารถนา) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ปรเหฐนา (การเบียดเบียนผู้อื่น) โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) @เชิงอรรถ : @ กทริยตา ในที่นี้หมายถึงความตระหนี่จัด (ที.ม.อ. ๓๒๐/๒๗๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ

มทะ (ความมัวเมา) โมหะ (ความหลง) สัตว์ผู้ประกอบด้วยกิเลสเหล่านี้ จัดว่าเป็นผู้มีกลิ่นชั่วร้าย ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว’ มหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘เมื่อท่านผู้เจริญตรัสบอกกลิ่นชั่วร้าย ข้าพเจ้าจึงรู้จัก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ สนังกุมารพรหมตรัสว่า ‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ
[๓๒๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า พระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ขอได้โปรดแสวงหาปุโรหิตคนอื่น ผู้จะถวายคำปรึกษาราชกิจแด่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ปรารถนาจะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหม ตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์ จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’ (ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลด้วยคาถาว่า) ‘ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลา พระเจ้าเรณุผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ขอพระองค์ทรงทราบพระราชกิจ ข้าพระองค์ไม่ยินดีในตำแหน่งปุโรหิต’ (พระเจ้าเรณุตรัสตอบด้วยคาถาว่า) ‘ถ้าท่านยังพร่องด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา เราจะเพิ่มให้เต็ม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ

ผู้ใดเบียดเบียนท่าน เราผู้เป็นเจ้าแผ่นดินจะห้ามผู้นั้นเอง (ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลตอบว่า) ‘ข้าพระองค์ไม่พร่องด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา ไม่มีใครเบียดเบียนข้าพระองค์ แต่เพราะได้ฟังคำของผู้ไม่ใช่มนุษย์ ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีการอยู่ครองเรือน’ (พระเจ้าเรณุตรัสถามว่า) ‘ท่านผู้ไม่ใช่มนุษย์มีวรรณะอย่างไร บอกอะไรซึ่งท่านฟังแล้ว ยอมทอดทิ้งทั้งเหย้าเรือนของพวกเรา ทั้งพวกเราและชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น’ (ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลตอบว่า) ‘เมื่อข้าพระองค์อยู่เพียงลำพัง เมื่อก่อนต้องการจะเซ่นสรวงบูชา จึงสุมไฟให้ลุกโพลงด้วยใบหญ้าคา ทันใดนั้น สนังกุมารพรหมผู้เป็นพรหมตลอดกาล มาจากพรหมโลกปรากฏแก่ข้าพระองค์ พระพรหมตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังคำตอบ ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในการอยู่ครองเรือน’ (พระเจ้าเรณุตรัสถามว่า) ‘ท่านโควินทะ ข้าพเจ้าเชื่อคำที่ท่านบอก ท่านฟังคำของผู้ไม่ใช่มนุษย์แล้ว จะประพฤติเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

เราจะประพฤติตามท่าน ท่านโควินทะเป็นครูของเรา พวกเราจักประพฤติให้บริสุทธิ์ ตามคำสั่งสอนของท่านโควินทะ เหมือนแก้วไพฑูรย์ไม่มีฝ้า ไร้ราคี งดงาม ฉะนั้น’ (พระเจ้าเรณุตรัสว่า) ‘ถ้าท่านโควินทะจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราก็ จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง ท่านมีคติใด เราก็จะมีคตินั้นด้วย’
ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์
[๓๒๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า กษัตริย์ ๖ พระองค์ถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ขอได้โปรดแสวงหา ปุโรหิตคนอื่นผู้จะถวายคำปรึกษาราชกิจแด่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ ปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่ว ร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’ ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงเลี่ยงไปด้านหนึ่ง ทรงคิดกันว่า ‘ธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักอยากได้ทรัพย์ ทางที่ดี เราควรเกลี้ยกล่อมมหาโควินท- พราหมณ์ด้วยทรัพย์’ แล้วเสด็จเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า ‘ในราชอาณาจักรทั้ง ๗ นี้ มีทรัพย์สมบัติมากพอ เราจะขนมาให้ตามที่ท่าน ต้องการ’ ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘อย่าเลย พระเจ้าข้า ทรัพย์ของ ข้าพระองค์นี้มีมากพอกับทรัพย์ของพระองค์ ข้าพระองค์จะทอดทิ้งทรัพย์ทั้งสิ้นออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่า ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหม ตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์ จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’ ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงเลี่ยงไปด้านหนึ่ง ทรงคิดกันว่า ‘ธรรมดา พราหมณ์เหล่านี้มักอยากได้สตรี ทางที่ดี เราควรเกลี้ยกล่อมมหาโควินทพราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

ด้วยสตรี’ แล้วเสด็จเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า ‘ในราชอาณาจักร ทั้ง ๗ นี้ มีสตรีมากมาย เราจะนำสตรีมาให้ตามที่ท่านต้องการ’ ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘อย่าเลย พระเจ้าข้า ข้าพระองค์มี ภรรยาฐานะเท่ากันถึง ๔๐ คน ข้าพระองค์จะทอดทิ้งภรรยาทุกๆ คน ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’ [๓๒๓] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าท่านโควินทะจะออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต พวกเราก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’ ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘หากพระองค์จะทรงละสิ่งที่น่าปรารถนา อันเป็นที่ข้องอยู่ของปุถุชน ขอจงปรารภความเพียร ทรงประกอบด้วยกำลังขันติ เจริญให้มั่นอยู่ ทางนี้เป็นทางตรง ไม่มีทางอื่นดีกว่า นี้เป็นพระสัทธรรมที่สัตบุรุษรักษาไว้ เพื่อไปเกิดในพรหมโลก’ กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านมหาโควินทะขอจงรอคอยสัก ๗ ปีเมื่อเวลาล่วง ๗ ปี พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’ ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ ปี นานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๗ ปี ก็ใครจะ รู้(ชะตา)ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำ กุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่น ชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัด ได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๖ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๕ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๔ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอย สัก ๓ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๒ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๑ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๑ ปี พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคติ นั้นด้วย’ ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๑ ปีนานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๑ ปี ก็ใครจะรู้ชีวิต ได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้าย ที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’ กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๗ เดือน เมื่อเวลาล่วง ๗ เดือน พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมี คติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’ ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ เดือน นานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๗ เดือน ก็ใครจะรู้ชีวิต ได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่น ชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัด ได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’ กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๖ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๕ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๔ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๓ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๒ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๑ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสักกึ่งเดือน เมื่อเวลาล่วงไปกึ่งเดือน พวกเราจะออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

บอกลาพราหมณมหาศาลเป็นต้น

ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา กึ่งเดือนนานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึงกึ่งเดือน ก็ใครจะรู้ ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้าย ที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’ กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๗ วัน พอให้พวกเราสั่งสอนเรื่องราชกิจกับบุตรและพี่ชายน้องชายของตนๆ เสียก่อน เมื่อ เวลาล่วงไป ๗ วัน พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเรา ก็จะมีคตินั้นด้วย’ ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ วัน ไม่นานเกินไป ข้าพระองค์จักรอคอยสัก ๗ วัน’
บอกลาพราหมณมหาศาลเป็นต้น
[๓๒๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหา พราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คน ถึงที่อยู่ แล้วบอกว่า ‘บัดนี้ พวกท่านจงแสวงหาอาจารย์อื่นผู้จะสอนมนตร์แก่พวกท่าน เราปรารถนา จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก เราจะออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต’ พวกพราหมณมหาศาลและพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ อย่าออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเลย บรรพชามีศักดิ์น้อยและมีลาภน้อย ความเป็น พราหมณ์มีศักดิ์ใหญ่และมีลาภมาก’ ท่านมหาโควินทพราหมณ์ตอบว่า ‘พวกท่าน อย่าพูดอย่างนี้ว่า ‘บรรพชามีศักดิ์น้อยและมีลาภน้อย ความเป็นพราหมณ์มีศักดิ์ ใหญ่และมีลาภมาก’ ใครกันเล่าที่มีศักดิ์ใหญ่กว่าหรือมีลาภมากกว่าเรา เวลานี้เรา เป็นเหมือนพระราชาของพระราชาทั้งหลาย เป็นเหมือนพระพรหมของพวกพราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

มหาโควินทพราหมณ์ออกบวช

เป็นเหมือนเทวดาของพวกคหบดี เราจะทอดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ด้วยว่าเราได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก เราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ พวกพราหมณมหาศาลและพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ถ้าท่านโควินทะจะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้พวกเราก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’
บอกลาภรรยา
[๓๒๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไป หาภรรยาผู้มีฐานะเท่ากันทั้ง ๔๐ คนถึงที่อยู่ แล้วบอกว่า ‘น้องหญิงทั้งหลาย น้องหญิงคนใดปรารถนาจะกลับไปยังตระกูลแห่งญาติของตนก็กลับได้ หรือจะหาสามี ใหม่ก็ได้ ฉันปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะว่าฉันได้ฟังเรื่องกลิ่น ชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัด ได้ง่ายนัก ฉันจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ ภรรยาเหล่านั้นกล่าวว่า ‘ท่านเท่านั้นที่เป็นญาติของพวกดิฉันผู้ต้องการญาติ เป็นสามีของพวกดิฉันผู้ต้องการสามี ถ้าท่านจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พวกดิฉันก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย ท่านมีคติใด พวกดิฉันก็จะมีคติ นั้นด้วย’
มหาโควินทพราหมณ์ออกบวช
[๓๒๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อเวลาล่วงไป ๗ วัน ท่านมหาโควินท- พราหมณ์โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อท่านบวชแล้ว ได้มีผู้โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตตามอีกจำนวนมาก ได้แก่ กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๗ พระองค์ พราหมณมหาศาล ๗ คน พราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คน ภรรยาผู้มีฐานะ เท่ากันทั้ง ๔๐ คน กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีและหญิงรับใช้อีกหลายพันคน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

ได้ทราบว่า ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีบริษัทนั้นแวดล้อม จาริกไปในหมู่บ้าน นิคมและราชธานีทั้งหลาย เมื่อท่านเข้าไปยังหมู่บ้านหรือนิคมใด ก็เป็นเหมือน พระราชาของพระราชาทั้งหลาย เป็นเหมือนพระพรหมของพวกพราหมณ์ เป็น เหมือนเทวดาของพวกคหบดีในหมู่บ้านหรือนิคมนั้น เวลานั้น ชาวบ้านผู้พลาดพลั้ง หรือลื่นหกล้มพากันพูดอย่างนี้ว่า ‘ขอนอบน้อมแด่ท่านมหาโควินทพราหมณ์ ขอนอบน้อมแด่ท่านปุโรหิตของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๗ พระองค์’
เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ
[๓๒๗] มหาโควินทพราหมณ์มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุก หมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีมุทิตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยมุทิตาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มหาโควินทพราหมณ์แสดงหนทางแห่งความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมใน พรหมโลกแก่เหล่าสาวก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

[๓๒๘] สมัยนั้น เหล่าสาวกของมหาโควินทพราหมณ์ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด๑- หลังจากตายไป ไปเกิดในสุคติพรหมโลก ส่วนเหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด๒- หลังจากตายไป บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้ อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดุสิต บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นยามา บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ บางพวกเข้าถึงความเป็น ผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นจาตุมหาราช ผู้ที่ได้รับผลอย่างต่ำกว่าเขาทั้งหมด ได้เป็น หมู่คนธรรพ์ การบวชของกุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมด จึงไม่เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ด้วยประการฉะนี้แล” [๓๒๙] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึง เรื่องนั้นได้อยู่หรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปัญจสิขะ เรายังระลึกได้ สมัยนั้น เราเป็น มหาโควินทพราหมณ์ ได้แสดงทางแห่งความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมในพรหมโลกแก่ สาวกเหล่านั้น แต่พรหมจรรย์นั้นไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อไปเกิด ในพรหมโลกเท่านั้น ส่วนพรหมจรรย์ของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อ คลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน พรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น คืออะไร @เชิงอรรถ : @ ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๖ (ที.ม.อ. ๓๒๘/๒๘๕) @ ผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ไม่รู้สมาบัติแม้เพียงอย่างเดียว (ที.ม.อ. ๓๒๘/๒๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) ๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) ๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) ปัญจสิขะ นี้แลคือพรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน [๓๓๐] ปัญจสิขะ เหล่าสาวกของเราผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด ทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด บางพวกเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจาก โลกนั้นอีก บางพวกเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และ เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บางพวกเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า การบวชของกุลบุตรเหล่านี้ทั้งหมด จึงไม่ เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ด้วยประการฉะนี้แล” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมีใจยินดี ชื่นชม อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ ประทักษิณแล้วหายไปจากที่นั้นเอง
มหาโควินทสูตรที่ ๖ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๘}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๒๔๘-๒๕๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=7254&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=10&siri=6              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=4871&Z=5539&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=209              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=10&item=209&items=26              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=10&item=209&items=26              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]