ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๐๒. ชีวกวัตถุ

๘. จีวรขันธกะ
๒๐๒. ชีวกวัตถุ
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจ
เรื่องคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์พบหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
[๓๒๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น กรุงเวสาลีเป็นถิ่นอุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ เรือนยอด ๗,๗๐๗ สวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ และ มีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี รูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพา เธอไปร่วมอภิรมย์ด้วยต้องจ่ายค่าตัวถึงคืนละ ๕๐ กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลี นี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์และมีความงดงามเป็นพิเศษ ครั้งนั้น คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์ เดินทางไปกรุงเวสาลีด้วยธุระจำเป็น บางอย่าง ได้พบเห็นกรุงเวสาลีที่อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ เรือนยอด ๗,๗๐๗ สวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี มีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่า ตัวถึงคืนละ ๕๐ กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลีนี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์ และมีความงดงามเป็นพิเศษ [๓๒๗] ครั้นคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์เสร็จธุระที่จำเป็นในกรุงเวสาลีแล้ว เดินทางกลับมายังกรุงราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้กราบทูล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๗๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๐๒. ชีวกวัตถุ

ว่า “ขอเดชะ กรุงเวสาลีเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ เรือนยอด ๗,๗๐๗ สวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี มีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่า ตัวถึงคืนละ ๕๐ กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลีนี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์ และมีความงดงามเป็นพิเศษ ขอเดชะ แม้ชาวเราตั้งตำแหน่งหญิงงามเมืองขึ้นบ้าง ก็จะเป็นการดี” พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งว่า “พนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงหา เด็กสาวผู้มีความงามอย่างนั้นที่ควรคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง”
เรื่องบุตรของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดี
ก็สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีเด็กสาวชื่อสาลวดีมีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิว พรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์จึงคัดเลือกเธอให้เป็นหญิงงามเมือง เมื่อเธอได้รับเลือกไม่นานนักก็เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่าตัวถึงคืนละ ๑๐๐ กหาปณะ ต่อมาเธอมีครรภ์จึงคิดว่า “ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษ ถ้าใครทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเราจะเสื่อมหมด อย่ากระนั้นเลย เราควรแจ้ง ว่าเราป่วย” แล้วได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า “นายประตู ท่านอย่าอนุญาตให้ชายใดเข้ามา ถ้ามีคนถามหาดิฉัน ก็จงตอบให้เขาทราบว่าดิฉันเป็นไข้” คนเฝ้าประตูนั้นรับคำของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดีว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ต่อมา เมื่อนางมีครรภ์ครบกำหนดคลอดจึงได้คลอดบุตรชาย ได้กำชับหญิงรับใช้ ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงวางทารกคนนี้ในกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองขยะ” หญิงรับใช้รับคำแล้ววางทารกลงในกระด้งเก่าๆ นำออกไปทิ้งที่กองขยะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๐๒. ชีวกวัตถุ

[๓๒๘] ก็เวลานั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัยกำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอด พระเนตรเห็นทารกนั้นถูกฝูงกาแวดล้อม จึงตรัสถามคนทั้งหลายว่า “พนาย ฝูงกา รุมล้อมอะไร” คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ทารกพระเจ้าข้า” เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “เขายังมีชีวิตอยู่หรือ” คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า” เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกไปในพระราชวังของเรามอบให้ แม่นมดูแล” คนเหล่านั้นรับสนองพระบัญชาแล้ว นำทารกนั้นไปวังเจ้าชายมอบให้แม่นมว่า “โปรดเลี้ยงไว้ด้วย” แล้วตั้งชื่อทารกนั้นว่า “ชีวก” เพราะบ่งถึงคำว่า “ยังมีชีวิตอยู่” ตั้งชื่อว่า “โกมารภัจ” เพราะเป็นผู้ที่เจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้ ไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจ เจริญวัยรู้เดียงสา เขาเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัยกราบ ทูลถามว่า “ใครคือบิดามารดาของเกล้ากระหม่อม พระเจ้าข้า” เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า “พ่อชีวก แม้ตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า แต่เราคือ บิดาของเจ้า เพราะเราให้เลี้ยงเจ้าไว้” ชีวกโกมารภัจคิดว่า “คนที่ไม่มีศิลปะจะเข้าพึ่งราชสกุลนี้ได้ยาก อย่ากระนั้น เลย เราควรเรียนศิลปวิทยาไว้”
เรื่องชีวกเดินทางไปกรุงตักกสิลา
[๓๒๙] สมัยนั้น นายแพทย์ทิศาปาโมกข์๑- ตั้งสำนักอยู่ ณ กรุงตักกสิลา ชีวกโกมารภัจไม่กราบทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางรอนแรมไปจนถึงกรุงตักกสิลา เข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นแล้วบอกว่า “ท่านอาจารย์ ผมใคร่จะศึกษาศิลปวิทยา” @เชิงอรรถ : @ ทิศาปาโมกข์ หมายถึง มีชื่อเสียง ปรากฏเป็นที่รู้จัก หรือเป็นหัวหน้าอยู่ในทิศทั้งปวง @(วิ.อ. ๓/๓๒๙/๒๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ

นายแพทย์กล่าวว่า “พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงศึกษาเถิด” ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจเรียนได้มาก เรียนได้รวดเร็ว ทรงจำได้ดี ที่เรียนไว้ก็ไม่ ลืมเลือน พอล่วงมาได้ ๗ ปี จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราเรียนได้มาก เรียนได้ รวดเร็ว ทรงจำได้ดี ที่เรียนไว้ก็ไม่ลืมเลือน และเรียนมาถึง ๗ ปีแล้วก็ยังไม่จบ ศิลปวิทยานี้ เมื่อไรจะจบศิลปวิทยานี้สักที” ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจ เข้าไปหา นายแพทย์ ณ ที่อยู่ถามว่า “ท่านอาจารย์ ผมเรียนศิลปวิทยาได้มาก เรียนได้เร็ว ทรงจำได้ดี ที่เรียนไว้ก็ไม่ลืมเลือน และเรียนมาถึง ๗ ปีแล้วก็ยังไม่จบศิลปวิทยานี้ เมื่อไรจะจบศิลปวิทยานี้สักทีเล่าขอรับ” นายแพทย์ตอบว่า “พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียมแล้วเที่ยวไปรอบๆ กรุงตักกสิลาในระยะ ๑ โยชน์ พบสิ่งที่ไม่ใช่ตัวยาก็จงนำมาด้วย” ชีวกโกมารภัจรับคำของนายแพทย์แล้วถือเสียมเดินไปรอบๆ กรุงตักกสิลา ในระยะ ๑ โยชน์ ไม่พบเห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างเดียว จึงเดินทางกลับไป หานายแพทย์ ณ ที่อยู่ กราบเรียนว่า “ท่านอาจารย์ ผมเดินไปรอบๆ กรุง ตักกสิลาในระยะ ๑ โยชน์แล้ว ไม่พบเห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง” นายแพทย์บอกว่า “พ่อชีวก เธอเรียนได้ดีแล้ว ความรู้เท่านี้พอครองชีพได้” แล้วได้ให้เสบียงเดินทางเล็กน้อยแก่ชีวกโกมารภัจ ต่อมา ชีวกโกมารภัจถือเสบียงออกเดินทางมุ่งไปกรุงราชคฤห์ ระหว่างทาง เสบียงหมดลงที่กรุงสาเกต ได้ตระหนักว่า ทางเหล่านี้กันดาร ขาดแคลนน้ำและ อาหาร คนไม่มีเสบียงเดินทางไปจะลำบาก ถ้ากระไร เราพึงหาเสบียงทาง”
๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ
ว่าด้วยภรรยาเศรษฐีปวดศีรษะ
[๓๓๐] สมัยนั้น ภรรยาเศรษฐีกรุงสาเกต ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะ เป็นเวลา ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษา ให้หายได้ ได้เงินไปเป็นจำนวนมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ

ชีวกโกมารภัจเดินทางเข้ากรุงสาเกต สอบถามคนทั้งหลายว่า “พนาย ใคร เจ็บไข้บ้าง ผมจะรักษาใคร” คนเหล่านั้น ตอบว่า “ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีป่วยเป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี เชิญท่านไปรักษานางเถิด” ชีวกโกมารภัจเดินทางไปถึงถิ่นที่อยู่ของเศรษฐีคหบดีสั่งคนเฝ้าประตูว่า “นี่แน่ะ นายประตู ท่านไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า หมอมาแล้วขอรับ เขาจะเยี่ยมภรรยา ท่านเศรษฐี” คนเฝ้าประตูรับคำแล้วเข้าไปหาภรรยาเศรษฐีกราบเรียนว่า “หมอมาแล้วขอรับ เขาจะเยี่ยมคุณนาย” ภรรยาเศรษฐีถามว่า “หมอเป็นคนเช่นไร” คนเฝ้าประตูตอบว่า “เป็นหมอหนุ่ม ขอรับ” ภรรยาเศรษฐีกล่าวว่า “อย่าเลย หมอหนุ่มจะช่วยอะไรฉันได้ นายแพทย์ทิศา ปาโมกข์คนสำคัญหลายคน มารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ได้เงินไปเป็น จำนวนมาก” นายประตูออกมาหาชีวกโกมารภัจแล้วบอกว่า “ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐี บอกว่า ‘ไม่ละ หมอหนุ่มจะช่วยอะไรฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์’ คนสำคัญ หลายคน มารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ได้เงินไปเป็นจำนวนมาก” ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนาย หมอสั่ง มาว่า คุณนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ต่อเมื่อโรคหายแล้วจึงค่อยให้สิ่งที่ประสงค์จะให้ ก็ได้” นายประตูรับคำของชีวกโกมารภัจเข้าไปหาภรรยาเศรษฐีแล้วกราบเรียนตามนั้น ภรรยาเศรษฐีตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น เชิญคุณหมอเข้ามาได้” นายประตูรับคำของภรรยาเศรษฐีแล้วเข้าไปหาชีวกโกมารภัจบอกว่า “ท่าน อาจารย์ ภรรยาเศรษฐีขอเชิญท่านเข้าไป” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ]

๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ

ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจเข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ตรวจดูอาการของโรคแล้ว บอกว่า “คุณนายขอรับ ผมต้องการเนยใส ๑ ซองมือ” เมื่อภรรยาเศรษฐีให้หา เนยใสมา ๑ ซองมือแล้ว เขาจึงหุงเนยใสนั้นกับยาต่างๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอนหงาย บนเตียงแล้วนัตถุ์ยา ขณะนั้นเนยใสที่นัตถุ์เข้าไปได้พุ่งออกทางปาก ภรรยาเศรษฐีถ่มเนยใสนั้นลงกระโถนสั่งหญิงรับใช้ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงเอา สำลีซับเนยใสนี้ไว้” ขณะนั้นชีวกโกมารภัจตระหนักว่า “แปลกจริงๆ แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกนัก เนยใสที่ต้องทิ้งก็ยังให้หญิงรับใช้เอาสำลีซับไว้อีก ส่วนยาของเรามีราคาแพงมากกว่า จะปล่อยให้เสีย เธอจะให้ไทยธรรมอะไรแก่เราบ้างนะ” ภรรยาเศรษฐีสังเกตอาการของเขาจึงถามว่า “แปลกใจอะไรหรืออาจารย์” ชีวกโกมารภัจจึงเล่าเรื่องนั้นให้ทราบ ภรรยาเศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ ดิฉันเป็นคนมีครอบครัว จำเป็นจะต้องรู้จัก สิ่งที่ควรเก็บไว้ใช้ เนยใสนี้ยังดีอยู่จะใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกร ก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้ ท่านอย่าวิตกไปเลย รางวัลของท่านจะไม่ลดลง” ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจได้รักษาโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นเรื้อรัง มาถึง ๗ ปี ให้หายได้โดยวิธีนัตถุ์ยาครั้งเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรค แล้วจึงให้รางวัลแก่เขาเป็นเงิน ๔,๐๐๐ กหาปณะ บุตรเศรษฐีคหบดีพอได้ทราบ ว่ามารดาของตนหายดีเป็นปกติ จึงให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ สะใภ้พอ ได้ทราบว่าแม่ผัวของตนหายดีเป็นปกติ จึงให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ เศรษฐีคหบดีพอได้ทราบว่าภรรยาของตนหายเป็นปกติ จึงให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ พร้อมกับให้ทาส ทาสี และรถม้า ชีวกโกมารภัจรับเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ พร้อมกับทาส ทาสี และรถม้า ออกเดินทางไปกรุงราชคฤห์ ครั้นถึงแล้วได้เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย กราบทูลว่า “เงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ พร้อมกับทาส ทาสี และรถม้านี้เป็นผลตอบแทนครั้งแรก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ]

๒๐๔. พิมพิสารราชวัตถุ

ของเกล้ากระหม่อม ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูของเกล้ากระหม่อม ด้วยเถิด พระเจ้าข้า” เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า “อย่าเลยพ่อชีวก ทรัพย์นี้เป็นของเจ้าคนเดียว เจ้าสร้าง บ้านอยู่ในวังของเราเถิด” ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับพระบัญชาว่า “เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่ง พระเจ้าข้า” แล้วได้สร้างบ้านอยู่ในวังของเจ้าชายอภัย
๒๐๔. พิมพิสารราชวัตถุ
ว่าด้วยพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
เรื่องรักษาโรคริดสีดวงทวารของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
[๓๓๑] สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงประชวรเป็นริดสีดวง ทวาร พระภูษาเปื้อนพระโลหิต พวกนางสนมเห็นจึงพากันหัวเราะเยาะว่า “เวลานี้พระราชาทรงมีระดู ต่อม พระโลหิตเกิดแก่พระองค์ อีกไม่นานก็จะมีพระประสูติกาล” ท้าวเธอทรงเก้อเขินเพราะคำหัวเราะเยาะของพวกนางสนม ทรงเล่าเรื่องนั้นให้ เจ้าชายอภัยทราบว่า “อภัย พ่อป่วยเป็นริดสีดวงทวารถึงกับภูษาเปื้อนโลหิต พวก นางสนมเห็นแล้วพากันหัวเราะเยาะว่า ‘เวลานี้พระราชาทรงมีระดู ต่อมาพระโลหิต เกิดแก่พระองค์ อีกไม่นานก็จะมีพระประสูติกาล’ เจ้าช่วยหาหมอที่พอจะรักษาพ่อ ได้ให้ทีเถิด” เจ้าชายอภัยกราบทูลว่า “ขอเดชะ นายชีวกผู้นี้เป็นหมอประจำข้าพระองค์ยัง หนุ่ม ทรงคุณวุฒิจะรักษาพระองค์ได้” พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงสั่งหมอชีวกให้ รักษาพ่อ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ]

๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ

ต่อมาเจ้าชายอภัยสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ชีวก เธอจงไปรักษาพระราชา” ชีวกโกมารภัจรับสนองพระบัญชาแล้วใช้เล็บตักยาเดินไปในราชสำนัก เข้าเฝ้า พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐกราบทูลว่า “ข้าพระองค์จะตรวจโรคของพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วรักษาริดสีดวงทวารของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐให้ หายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
เรื่องพระราชทานตำแหน่งแพทย์หลวง
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐทรงหายประชวรจึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นาง แต่งตัวเต็มยศแล้วให้เปลื้องออกรวมเป็นห่อ ตรัสกับชีวกโกมารภัจว่า “ชีวก เครื่องประดับทั้งหมดของสตรี ๕๐๐ คนนี้เป็นสมบัติของเจ้า” ชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “อย่าเลยพระพุทธเจ้าข้า พระองค์โปรดระลึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพระองค์” พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับ พวกฝ่ายในและภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคทรงเป็นประธาน” ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระราชดำรัสว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะทรงโปรด พระพุทธเจ้าข้า”
๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ
ว่าด้วยเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์
เรื่องรักษาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะ
[๓๓๒] สมัยนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะเป็นเวลา ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ]

๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ

เงินไปเป็นจำนวนมาก นายแพทย์หลายคนบอกเลิกรักษา นายแพทย์บางพวก กล่าวว่า “เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕” นายแพทย์บางพวกกล่าวว่า “เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗” ต่อมา คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์มีความคิดดังนี้ว่า “เศรษฐีคหบดีผู้นี้สร้าง คุณประโยชน์มากมายแก่พระราชาและชาวนิคม แต่กลับถูกพวกแพทย์บอกเลิก รักษา แพทย์บางพวกกล่าวว่าเศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ แพทย์บาง พวกกล่าวว่าเศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ก็ชีวกเป็นแพทย์หลวงหนุ่ม ทรงคุณวุฒิ อย่ากระนั้นเลย พวกเราพึงกราบทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระราชา เพื่อให้รักษาเศรษฐี” พากันไปในราชสำนักเข้าเฝ้ากราบทูลว่า “ขอเดชะ เศรษฐี คหบดีผู้นี้สร้างคุณประโยชน์มากมายแก่พระราชาและชาวนิคม แต่กลับถูกพวก แพทย์บอกเลิกรักษา แพทย์บางพวกกล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ แพทย์บางพวกกล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์โปรดมีรับสั่งนายแพทย์ชีวกโกมารภัจเพื่อให้รักษา ท่านเศรษฐีเถิด” ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐจึงทรงมีรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ชีวก เจ้าจงไปรักษาเศรษฐีคหบดี” ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วเข้าไปหาเศรษฐีคหบดี ตรวจดูอาการของเศรษฐีคหบดีแล้วถามว่า “ท่านคหบดี ถ้าผมรักษาท่านหาย จะมีอะไรเป็นรางวัลบ้าง” เศรษฐีตอบว่า “ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทุกอย่างจะเป็นของท่าน และเรา ก็ขอยอมเป็นทาสของท่าน” ชีวกโกมารภัจถามว่า “ท่านจะนอนตะแคงข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหม” เศรษฐีตอบว่า “ได้” ชีวกโกมารภัจถามว่า “ท่านจะนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนได้ไหม” เศรษฐีตอบว่า “ได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ]

๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ

ชีวกโกมารภัจถามว่า “ท่านจะนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม” เศรษฐีตอบว่า “ได้” ต่อมา ชีวกโกมารภัจให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียงแล้วถลก หนังศีรษะเปิดรอยประสานกะโหลก นำสัตว์มีชีวิตออกมา ๒ ตัว แสดงแก่ชาว บ้านว่า “พวกท่านจงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ ตัวหนึ่งเล็ก อีกตัวหนึ่งใหญ่ พวก อาจารย์ที่กล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ คงจะมองเห็นสัตว์ตัวใหญ่ มันจะเจาะกินมันสมองของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๕ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมอง ก็จะถึงอนิจกรรม สัตว์ใหญ่ตัวนี้พวกอาจารย์เห็นถูกต้อง ส่วนพวกอาจารย์ที่กล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ คงจะมองเห็นสัตว์ตัวเล็ก มันจะเจาะกิน มันสมองของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมองก็จะถึงอนิจ กรรม สัตว์เล็กตัวนี้พวกอาจารย์เห็นถูกต้อง” แล้วให้ปิดแนวประสานกะโหลก เย็บหนังศีรษะแล้วทายาสมานแผล ครั้นผ่านไป ๑ สัปดาห์ เศรษฐีคหบดีกล่าวกับชีวกโกมารภัจว่า “อาจารย์ เราไม่สามารถนอนตะแคงข้างเดียวได้ตลอด ๗ เดือน” ชีวกโกมารภัจถามว่า “คหบดีท่านรับคำไว้มิใช่หรือว่า อาจารย์ เราสามารถ นอนตะแคงข้างเดียวได้ตลอด ๗ เดือน” เศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ เรารับรองไว้ก็จริง แต่เราคงตายแน่ เราไม่ สามารถนอนตะแคงข้างเดียวได้ตลอด ๗ เดือน” ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือน” ครั้นผ่านไป ๑ สัปดาห์ เศรษฐีคหบดีกล่าวกับหมอชีวกโกมารภัจว่า “อาจารย์ เราไม่สามารถนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งได้ตลอด ๗ เดือน” ชีวกโกมารภัจถามว่า “คหบดี ท่านรับรองเราไว้มิใช่หรือว่า อาจารย์ เรา สามารถนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือน” เศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ เรารับรองไว้ก็จริง แต่เราคงตายแน่ เราไม่สามารถ นอนตะแคงอีกข้างหนึ่งได้ตลอด ๗ เดือน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ]

๒๐๖. เสฏฐิปุตตวัตถุ

ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงายตลอด ๗ เดือน” ครั้นผ่านไป ๑ สัปดาห์ เศรษฐีคหบดีกล่าวกับหมอชีวกโกมารภัจว่า “อาจารย์ เราไม่สามารถนอนหงายได้ตลอด ๗ เดือน” ชีวกโกมารภัจถามว่า “คหบดี ท่านรับรองเราไว้มิใช่หรือว่า อาจารย์ เรา สามารถนอนหงายได้ตลอด ๗ เดือน” เศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ เรารับรองไว้ก็จริง แต่เราคงตายแน่ เราไม่สามารถ นอนหงายได้ตลอด ๗ เดือน” ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านคหบดี ถ้าผมไม่บอกท่านไว้เช่นนั้น ท่านก็จะนอน เท่านั้นไม่ได้ ผมทราบอยู่ก่อนแล้วว่า “เศรษฐีคหบดีจะหายดีเป็นปกติใน ๓ สัปดาห์ ลุกขึ้นเถิด คหบดี ท่านหายป่วยแล้ว จะให้อะไรเป็นรางวัลเล่า” เศรษฐีคหบดีตอบว่า จงรู้ว่า “อาจารย์ ทรัพย์สมบัติทุกอย่างเป็นของท่าน เราเองก็ขอยอมเป็นทาสท่าน” ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “อย่าเลยขอรับ ท่านอย่าให้ทรัพย์สมบัติทุกอย่าง ท่านเอง ก็ไม่ต้องยอมเป็นทาสของผม ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ แด่พระราชา ให้ผม ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะก็พอแล้ว” เมื่อเศรษฐีคหบดีหายป่วยได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะแด่ พระราชา และให้แก่ชีวกโกมารภัจ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ
๒๐๖. เสฏฐิปุตตวัตถุ
ว่าด้วยบุตรเศรษฐี
เรื่องรักษาโรคเนื้องอกในลำไส้
[๓๓๓] สมัยนั้น บุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีกำลังเล่นตีลังกา เกิดป่วยเป็น โรคลำไส้บิด ข้าวต้มที่เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานไม่ย่อยไปด้วยดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๘๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ]

๒๐๖. เสฏฐิปุตตวัตถุ

อุจจาระ ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น บุตรเศรษฐีนั้น จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง ต่อมา เศรษฐีชาวกรุงพาราณสี คิดว่า “บุตรของเราเจ็บป่วยถึงเพียงนี้ ข้าวต้มที่เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานก็ไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น เธอจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง อย่ากระนั้นเลย เราควรไปกรุงราชคฤห์ กราบทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระราชา เพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา” แล้วเดินทางไปกรุงราชคฤห์เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธรัฐกราบทูลว่า “ขอเดชะ บุตรของข้าพระองค์เจ็บป่วยขนาดข้าวต้มที่ เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานก็ไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ ปัสสาวะ ไม่สะดวก ดังนั้น เธอจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง ขอ ประทานวโรกาสเถิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โปรดรับสั่งนายแพทย์ชีวกเพื่อจะได้ รักษาบุตรของข้าพระองค์ด้วยเถิด” ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ไปเถิด ชีวก เจ้าเดินทางไปกรุงพาราณสี จงรักษาบุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี” ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เดินทางไปกรุงพาราณสี เข้า ไปหาบุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี ตรวจดูอาการของเขาแล้วให้คนออกไป ขึงม่าน มัดไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่ต่อหน้าแล้วผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้ออกมาแสดง แก่ภรรยาว่า “เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ ข้าวต้มที่เธอดื่มจึงไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานจึงไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น บุตร เศรษฐีนี้จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง” แล้วตัดเนื้องอกใน ลำไส้ออก สอดใส่ลำไส้กลับไว้ตามเดิมแล้วเย็บหนังท้องทายาสมานแผล ต่อมาไม่ นานนัก บุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีจึงหายป่วยเป็นปกติ ต่อมาเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีคิดว่า “บุตรของเราหายป่วยแล้ว” จึงให้รางวัล แก่ชีวกโกมารภัจเป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ ชีวกโกมารภัจรับเงินจำนวนนั้นแล้ว เดินทางกลับกรุงราชคฤห์ตามเดิม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๙๐}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๗๙-๑๙๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=5&A=4803 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=32              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=3258&Z=3513&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=128              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5 https://84000.org/tipitaka/english/?index_5


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]