ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๖. โสณาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสณาเถรี
(พระโสณาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๒๒๐] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๒๒๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี เป็นผู้มีความสุข ถูกประดับตกแต่ง เป็นที่รัก เข้าไปเฝ้าพระมุนีผู้ประเสริฐพระองค์นั้น ได้ฟังพระดำรัสที่ไพเราะ [๒๒๒] พระชินเจ้าทรงสรรเสริญภิกษุณีรูปหนึ่งว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร หม่อมฉันได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้วเป็นผู้มีความยินดี ทำสักการะพระศาสดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๖. โสณาเถริยาปทาน

[๒๒๓] หม่อมฉันไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ปรารถนาตำแหน่งนั้นในกาลนั้น พระมหาวีรพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่า ‘ความตั้งใจปรารถนาของเธอจักสำเร็จ [๒๒๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๒๒๕] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่าโสณา เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’ [๒๒๖] หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ด้วยปัจจัยทั้งหลายโดยประการเช่นนั้นจนตลอดชีวิต [๒๒๗] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๒๒๘] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี เจริญมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก ในกรุงสาวัตถีที่ประเสริฐ [๒๒๙] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาวแล้ว ได้ไปสู่ตระกูลสามี คลอดบุตรชาย ๑๐ คน ล้วนแต่มีรูปงามยิ่งนัก [๒๓๐] บุตรทุกคนนั้นดำรงอยู่ในความสุข ติดตาตรึงใจผู้คนให้นิยม แม้แต่พวกศัตรูก็ชอบใจ สำหรับหม่อมฉันไม่ต้องพูดถึง พวกเขาเป็นที่รัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๖. โสณาเถริยาปทาน

[๒๓๑] ครั้งนั้น โดยที่หม่อมฉันไม่ต้องการ สามีหม่อมฉันพร้อมด้วยบุตรทั้ง ๑๐ คน พากันไปบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ [๒๓๒] ในกาลนั้น หม่อมฉันอยู่แต่ผู้เดียวคิดว่า ‘พอละด้วยชีวิตของเรา ผู้พลัดพรากจากสามีและบุตร เป็นคนแก่ น่าสงสาร [๒๓๓] แม้เราก็จักไปยังอารามที่สามีเราไปถึง’ ครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงบวชเป็นบรรพชิต [๒๓๔] ครั้งนั้น พวกภิกษุณีปล่อยหม่อมฉันไว้ในสำนักแต่เพียงผู้เดียว สั่งหม่อมฉันว่า ‘เธอจงต้มน้ำไว้’ แล้วก็พากันจากไป [๒๓๕] ขณะนั้น หม่อมฉันนำน้ำมาแล้ว ใส่ลงไปในหม้อ ตั้งบนก้อนเส้าแล้วนั่ง จากนั้นก็ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ [๒๓๖] ได้พิจารณาเห็นขันธ์โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว ก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๒๓๗] เมื่อภิกษุณีกลับมาได้ถามถึงน้ำร้อน หม่อมฉันอธิษฐานเตโชธาตุให้น้ำร้อนเร็วพลัน [๒๓๘] ภิกษุณีเหล่านั้นพากันอัศจรรย์ใจ ไปกราบทูลพระชินเจ้าผู้ประเสริฐให้ทรงทราบเรื่องนั้น พระผู้เป็นนาถะทรงสดับเรื่องนั้นแล้วทรงชื่นชม ได้ตรัสคาถานี้ว่า [๒๓๙] ‘แท้จริง บุคคลผู้ปรารภความเพียรอย่างหนัก มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็ประเสริฐกว่าคนเกียจคร้าน และละทิ้งความเพียรมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี’ [๒๔๐] พระมหาวีรเจ้า หม่อมฉันให้ทรงพอพระทัยแล้ว เพราะการปฏิบัติดี พระมหามุนีพระองค์นั้น ตรัสสรรเสริญหม่อมฉันว่าเป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุณีทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน

[๒๔๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๒๔๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๒๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระโสณาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสณาเถริยาปทานที่ ๖ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๘๔-๔๘๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=33&A=13579 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=177              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=5708&Z=5750&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=166              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_33 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33 https://84000.org/tipitaka/english/?index_33


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]