ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน

๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกีสาโคตมีเถรี
(พระกีสาโคตมีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๕๕] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๕๖] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงหงสวดี ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่านรชนพระองค์นั้น แล้วได้ถึงพระองค์เป็นสรณะ [๕๗] หม่อมฉันได้ฟังธรรมของพระองค์ ซึ่งประกอบด้วยสัจจะ ๔ ที่ไพเราะจับใจอย่างยิ่ง นำมาซึ่งสันติสุขแห่งจิต [๕๘] แม้ครั้งนั้น พระธีรเจ้าผู้สูงสุดแห่งบุรุษ ทรงยกย่องตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ไว้ในเอตทัคคะ [๕๙] หม่อมฉันได้ฟังคุณของภิกษุณีนั้นแล้ว เกิดปีติมิใช่น้อย ทำสักการะพระพุทธเจ้าตามกำลังความสามารถ [๖๐] หมอบลงใกล้พระธีรมุนีแล้ว ปรารถนาตำแหน่งนั้น ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ตรัสอนุโมทนาเพื่อการได้ตำแหน่งว่า [๖๑] ‘ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๖๒] สตรีผู้นี้ จักมีนามปรากฏว่ากีสาโคตมี เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน

[๖๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต [๖๔] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๖๕] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๖๖] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ทรงเป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๖๗] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๕ ของพระองค์ มีนามปรากฏว่าธรรมา ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้ว พอใจการบรรพชา [๖๘] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี [๖๙] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์ มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า [๗๐] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา (๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา (๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา (๗) พระนางสังฆทาสิกา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน

[๗๑] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด) คือพระเขมาเถรี ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑ พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑ หม่อมฉัน ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑ และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา [๗๒] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๗๓] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี ที่ตกยาก จนทรัพย์ เป็นตระกูลที่ต่ำต้อย ได้(แต่งงาน)ไปยังตระกูลที่มีทรัพย์ [๗๔] ชนทั้งหลายที่เหลือเว้นสามีของหม่อมฉัน เกลียดชังว่าเป็นหญิงไม่มีทรัพย์ เมื่อหม่อมฉันคลอดบุตรแล้ว ก็เป็นที่ชื่นชอบของชนทั้งปวง [๗๕] ในคราวที่บุตรยังเป็นเด็กอ่อน มีความสุข เป็นที่รักใคร่ของหม่อมฉันเหมือนดังชีวิตของตน ก็ตกไปยังอำนาจของพญายม(ตายไป) [๗๖] หม่อมฉันอัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศก มีหน้าเศร้าหมอง ร้องไห้น้ำตานองหน้า อุ้มศพลูกที่ตายแล้วเที่ยวพูดบ่นเพ้อไป [๗๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันอันบุรุษคนหนึ่งเห็นแล้ว พาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นนายแพทย์ที่ประเสริฐที่สุด จึงได้ทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดประทานยาให้บุตรคืนชีพด้วยเถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน

[๗๘] พระชินเจ้าผู้ทรงฉลาดในอุบายแนะนำรับสั่งว่า ‘ในเรือนหลังใดไม่มีคนตาย เธอจงไปนำเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนหลังนั้นมา’ [๗๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันไปจนทั่วกรุงสาวัตถี ไม่ได้พบเรือนเช่นนั้นเลย เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงกลับได้สติว่า จักได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแต่ที่ไหน [๘๐] จึงทิ้งศพแล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พระองค์ผู้มีพระสุรเสียงอันไพเราะ ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันแต่ที่ไกล แล้วตรัสว่า [๘๑] ‘ก็ความเป็นอยู่เพียงวันเดียวของบุคคลผู้เห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ของบุคคลผู้มิได้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป [๘๒] ธรรมนี้ ไม่ใช่ธรรมสำหรับชาวบ้าน ไม่ใช่ธรรมสำหรับชาวนิคม ไม่ใช่ธรรมสำหรับสกุลเดียว แต่เป็นธรรมสำหรับชาวโลกทั้งปวงพร้อมทั้งเทวโลก ธรรมนั่นคืออนิจจตา (ความไม่เที่ยง)’ [๘๓] หม่อมฉันได้ฟังคาถาเหล่านี้แล้ว ได้ชำระธรรมจักษุให้หมดจดโดยพิเศษ แต่นั้น รู้แจ้งพระสัทธรรมแล้วได้บวชเป็นบรรพชิต [๘๔] แม้เมื่อบวชแล้วอย่างนั้น ประกอบความเพียรในศาสนาของพระชินเจ้า ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๘๕] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน

[๘๖] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน [๘๗] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว [๘๘] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ [๘๙] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันบริสุทธิ์ไพบูลย์ เพราะอำนาจของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด [๙๐] หม่อมฉันเก็บผ้ามาจากกองขยะ ป่าช้า ทางรถและทางเกวียน แล้วทำเป็นผ้าสังฆาฏิจากผ้านั้น ทรงจีวรที่เศร้าหมอง [๙๑] พระชินเจ้า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ทรงพอพระทัยในคุณสมบัติคือการทรงจีวรเศร้าหมองนั้น จึงทรงแต่งตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะในบริษัททั้งหลาย [๙๒] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็ได้เผาแล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๙๓] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน

วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๙๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระกีสาโคตมีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กีสาโคตมีเถริยาปทานที่ ๒ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๖๓-๔๖๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=33&A=12945 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=173              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=5401&Z=5476&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=162              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_33 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33 https://84000.org/tipitaka/english/?index_33


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]