ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส๑-
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๓๐] (ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้) ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง บุคคลได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๑)
ว่าด้วยการถาม ๓
คำว่า ขอทูลถาม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่ การถาม ๓ อย่าง คือ ๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น ๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว ๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย ฯลฯ การถามอีก ๓ อย่าง ฯลฯ ๓. การถามถึงนิพพาน๒- คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระ องค์ คือ ทูลขอพระองค์ ทูลอัญเชิญให้ตรัส ทูลให้ทรงประกาศว่า ขอพระองค์ โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๖๘-๑๐๗๕/๕๓๗-๕๓๘ @ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๘๘-๙๑, ๑๘/๑๑๐-๑๑๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑- คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า ขอ พระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ พระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง คำว่า โธตกะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๒- รวมความว่า ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับ ฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง อธิบายว่า ข้าพระองค์มุ่งหวัง มุ่งหวังอย่างยิ่ง คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังพระวาจา คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอนของพระองค์ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพราะมีความหมายว่า อย่างไร คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าทรง แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อ ว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่๓- รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอัน ยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘ @ เทียบกับความในข้อ ๙/๗๓ @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๓/๑๓๓-๑๓๕ และ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๐/๔๑๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว อธิบายว่า ฟัง ได้แก่ สดับ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดซึ่งพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอนของพระองค์แล้ว รวมความว่า บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า พึงศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า สิกขา ๓ คือ ๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา ๓. อธิปัญญาสิกขา ฯลฯ นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา๑- คำว่า ธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้งอธิปัญญาสิกขา เพื่อให้ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ ของตนดับไป ฯลฯ เพื่อความสงบ เข้าไปสงบ สงบเย็น เพื่อให้ดับ เพื่อสลัดทิ้ง เพื่อความระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภท สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึง ศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่า พึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๗/๖๓-๖๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

(ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้) ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน [๓๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ) ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๒) คำว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร อธิบายว่า เธอจงทำความเพียร คือ จงทำความอุตสาหะ ความหมั่นเพียร ความพยายาม ความทรงจำ ความ เป็นผู้กล้า ได้แก่ จงให้ฉันทะเกิด คือ จงให้เกิดขึ้น ตั้งขึ้นไว้ ตั้งขึ้นไว้พร้อม ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร คำว่า โธตกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ คำว่า ในที่นี้ ในคำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน มีสติ ... ในที่นี้แล อธิบายว่า ในความเห็นนี้ คือ ในความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความยึดถือนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้ อัตภาพนี้ มนุษยโลกนี้ คำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน ได้แก่ ผู้มีปัญญารักษาตน คือ ผู้เป็นบัณฑิต มี ปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเป็นเครื่อง ทำลายกิเลส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ๑- รวมความว่า ผู้มีปัญญา รักษาตน มีสติ ... ในที่นี้แล คำว่า บุคคลได้ฟังเสียงจากนี้๒- แล้ว อธิบายว่า บุคคลได้ฟัง สดับ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดพระวาจา คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำ พร่ำสอนของเรา จากนี้ รวมความว่า บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า พึงศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า สิกขา ๓ คือ ๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา ๓. อธิปัญญาสิกขา ฯลฯ นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา๓- คำว่า ธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้งอธิปัญญาสิกขา เพื่อให้ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ ของตนดับไป ฯลฯ เพื่อความสงบ เข้าไปสงบ สงบเย็น เพื่อให้ดับ เพื่อสลัดทิ้ง เพื่อความระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภท สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึง ศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่า พึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๐-๗๑ @ จากนี้ หมายถึงจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า (ขุ.จู.อ. ๓๑/๒๘) @ ดูรายละเอียดข้อ ๗/๖๓-๖๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระ ภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โธตกะ) ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน [๓๒] (ท่านโธตกะทูลถามว่า) ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้อง ข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด (๓)
ว่าด้วยเทพ ๓
คำว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น ... ในเทวโลกและมนุษยโลก อธิบายว่า คำว่า เทวะ ได้แก่ เทพ ๓ จำพวก คือ ๑. สมมติเทพ ๒. อุบัติเทพ ๓. วิสุทธิเทพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

สมมติเทพ เป็นอย่างไร คือ พระราชา พระราชกุมาร พระราชเทวี เรียกว่าสมมติเทพ อุบัติเทพ เป็นอย่างไร คือ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นยามา เทวดาชั้นดุสิต เทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหม และเทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เรียกว่าอุบัติเทพ วิสุทธิเทพ เป็นอย่างไร คือ พระอรหันตขีณาสพ ผู้เป็นสาวกของพระตถาคต เรียกว่าวิสุทธิเทพ และพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เรียกว่าวิสุทธิเทพ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นเทพ เป็น อติเทพ และเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ยิ่งกว่าสมมติเทพ อุบัติเทพ และวิสุทธิเทพทั้งหลาย ทรงเป็นราชสีห์ยิ่งกว่าราชสีห์ เป็นนาคยิ่งกว่านาค เป็นผู้นำหมู่ยิ่งกว่าผู้นำหมู่ เป็นพระมุนียิ่งกว่าพระมุนี เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา คำว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น ... ในเทวโลกและมนุษยโลก อธิบายว่า ข้า พระองค์ย่อมเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ ผู้ทรงเป็นอติเทพ ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ รวมความว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น ... ในเทวโลกและมนุษยโลก คำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ในคำว่า ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จ จาริกอยู่ อธิบายว่า เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต เครื่องกังวลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอน โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น ต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีเครื่องกังวล
ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นพราหมณ์
คำว่า เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะทรงลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว ๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว ๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว ๔. ลอยราคะได้แล้ว ๕. ลอยโทสะได้แล้ว ๖. ลอยโมหะได้แล้ว ๗. ลอยมานะได้แล้ว คือ พระผู้มีพระภาคทรงลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และ มรณะต่อไปได้แล้ว (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ) บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑- คำว่า เสด็จจาริกอยู่ ได้แก่ เสด็จเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จ จาริกอยู่ คำว่า พระองค์ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์ เป็นคำที่โธตกพราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค คำว่า ขอนมัสการ อธิบายว่า ขอนมัสการ คือ ขอสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยกาย วาจา ใจ ด้วยการปฏิบัติเอื้อประโยชน์ หรือด้วยการปฏิบัติธรรม ถูกต้องตามหลักธรรม @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๕/๔๓๖, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัสเรียกว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า) สิ่งไรๆ ในไตรโลกธาตุนี้ พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้น ไม่เห็น ไม่มีเลย อนึ่ง ธรรมชาติอะไรๆ ที่ควรรู้ พระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง ก็ไม่มี ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่ พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ๑- รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์ โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ จึงชื่อ ว่าผู้สักกะ พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์ คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะ หลายอย่างเหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๐-๔๓๑, ขุ.ป. ๓๑/๑๒๑/๑๓๖-๑๓๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มี ความสามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ทรงละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้สักกะ
ว่าด้วยความสงสัย
วิจิกิจฉา เรียกว่า ความสงสัย ได้แก่ ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยใน ทุกขสมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความ สงสัยในส่วนเบื้องต้น ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยทั้งในส่วนเบื้อง ต้นและส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยในปฏิจจสมุปบาทว่าเพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงมี ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ภาวะที่สงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเล ความเห็นเป็น ๒ ฝ่าย ๒ ทาง ความไม่แน่ใจ ความยึดถือหลายอย่าง ความ ไม่ตกลงใจ ความตัดสินใจไม่ได้ ความกำหนดถือไม่ได้๑- ความหวาดหวั่นแห่งจิต ความติดขัดในใจเห็นปานนี้ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จาก ความสงสัยทั้งหลายเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดเปลื้องข้าพระองค์ โปรด ปลดเปลื้องข้าพระองค์ คือ โปรดปล่อย ปลดปล่อย ถอน ฉุดรั้งข้าพระองค์ ได้แก่ ทรงให้ข้าพระองค์ออกจากลูกศรคือความสงสัยเถิด รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด ด้วย เหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้อง ข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด @เชิงอรรถ : @ เทียบกับความใน อภิ.สงฺ (แปล) ๓๔/๔๒๕/๑๒๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

[๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใครๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้ แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรม๑- อันประเสริฐ ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ (๔) คำว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อธิบายว่า เราไม่อาจเปลื้อง ปลดเปลื้อง ปล่อย ปลดปล่อย ถอนเธอขึ้น ได้แก่ ให้เธอถอนออก ให้ขึ้นจากลูกศรคือ ความสงสัยได้ รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง เราไม่อาจ คือ ไม่สามารถ ไม่อุตสาหะ ไม่พยายาม ไม่ทำ ความอุตสาหะ ไม่ทำความหมั่นเพียร ไม่ทำความพยายาม ไม่ทำความทรงจำ ไม่ทำความเป็นผู้กล้า ได้แก่ ไม่ให้ฉันทะเกิด คือ ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ ให้บังเกิดขึ้น เพื่อแสดงธรรม(ปลดเปลื้อง) บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ เกียจคร้าน ละความเพียร ไม่ปฏิบัติ รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง ไม่มีใครอื่นที่จะทำให้สัตว์เหล่านั้นหลุดพ้นได้ ถ้าสัตว์เหล่านั้นจะ พึงหลุดพ้นได้ สัตว์เหล่านั้นเมื่อปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสม ปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรมด้วยตนเอง ก็จะพึงหลุดพ้น ได้เอง ด้วยเรี่ยวแรง ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ด้วย เรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่น ของบุรุษของตนเองเท่านั้น รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “จุนทะ ข้อที่บุคคลซึ่งตนเองก็จมดิ่งอยู่ จักฉุดผู้อื่นที่จมดิ่งอยู่แล้วขึ้นมาได้ เป็นไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลผู้มิได้ฝึกฝน มิได้อบรม ยังมิได้ดับกิเลสด้วยตนเอง จักฝึกฝน อบรมผู้อื่น ทำผู้อื่นให้ดับกิเลส เป็นไปไม่ได้ เลย”๒- รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้องอย่างนี้บ้าง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ว่า @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๗๑/๕๓๘ เป็น อภิชานมาโน แปลว่ารู้แจ้ง @ ม.มู. ๑๒/๘๗/๖๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

ตนทำชั่วเอง ก็เศร้าหมองเอง ไม่ทำชั่ว ก็บริสุทธิ์เอง ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้๑- รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง แม้ด้วยประการฉะนี้ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ฉันนั้นเหมือนกันแหละพราหมณ์ นิพพานมีอยู่ ทางไปนิพพานมีอยู่ เรา(ตถาคต)ผู้ชักชวนมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ สาวกที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึง ที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกก็ไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตก็ เป็นแต่ผู้บอกทาง พระพุทธเจ้าก็เพียงบอกทางให้ บุคคลผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง จะ พึงหลุดพ้นได้ ด้วยประการฉะนี้”๒- รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง คำว่า โธตกะ ... ใครๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้ อธิบายว่า บุคคลผู้มี ความสงสัย คือ มีความแคลงใจ มีความระแวง มีความเห็นสองจิตสองใจ มี ความข้องใจ คำว่า ใครๆ ได้แก่ ใครๆ คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก๓- รวมความว่า โธตกะ ... ใครๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้ คำว่า แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัส เรียกว่า ธรรมอันประเสริฐ ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้ง อุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท @เชิงอรรถ : @ ขุ.ธ. ๒๕/๑๖๕/๔๖, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘/๔๑ @ ม.อุ. ๑๔/๗๗/๕๗-๕๘ @ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า อันประเสริฐ ได้แก่ ธรรมอันเลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด ยอดเยี่ยม คำว่า เมื่อรู้ ได้แก่ เมื่อรู้ คือ เมื่อรู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอด รวมความว่า แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ คำว่า เธอ ... ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ อธิบายว่า เธอก็พึงข้าม คือ ก้าวล่วง ล่วงเลยกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะได้ ด้วยประการฉะนี้ รวมความว่า เธอ ... ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใครๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้ แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ [๓๔] (ท่านโธตกะทูลถามว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ (๕) คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ ... ตรัสสอน ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอน อธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดตรัสสอน คือ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดทรงอนุเคราะห์ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดทรง เอื้อเฟื้อ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ ... ตรัสสอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า ทรงพระกรุณา ได้แก่ ทรงพระกรุณา คือ ทรงเอ็นดู รักษา อนุเคราะห์ เอื้อเฟื้อ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอน คำว่า วิเวกธรรม ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัส เรียกว่า วิเวกธรรม ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท คำว่า ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ ได้แก่ ที่ข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว รู้เฉพาะ แทงตลอด บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง รวมความว่า วิเวกธรรม ที่ ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ คำว่า และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ อธิบายว่า อากาศไม่ขัดข้อง คือ จับต้องไม่ได้ ไม่ติด ไม่พัวพัน ฉันใด ข้าพระองค์ไม่ขัดข้อง คือ ไม่ยึดถือ ไม่ติด ไม่พัวพัน ฉันนั้น รวมความว่า ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ อย่างนี้บ้าง อากาศย้อมไม่ได้ด้วยน้ำครั่ง น้ำขมิ้น สีเขียว หรือสีน้ำฝาด ฉันใด ข้าพระองค์ ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เศร้าหมอง ฉันนั้น รวมความว่า ไม่ขัดข้อง เหมือนอากาศ อย่างนี้บ้าง อากาศไม่กำเริบ ไม่พยาบาท ไม่หดหู่ ไม่กระทบกระทั่ง ฉันใด ข้าพระ- องค์ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่หดหู่ ไม่กระทบ ไม่กระทั่ง ฉันนั้น รวมความว่า ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ อย่างนี้บ้าง คำว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล ในคำว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบ อยู่ในที่นี้แล เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า เป็นผู้อยู่ในที่นี้แล คือ เป็นผู้นั่งอยู่ในที่นี้แล เป็นผู้นั่งอยู่แล้วบนอาสนะนี้แล เป็นผู้นั่งอยู่ในบริษัทนี้แล รวมความว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง สงบได้แล้ว คือ เข้าไปสงบได้แล้ว สงบเย็นแล้ว ดับได้แล้ว สงบระงับได้แล้ว ในที่นี้แล รวมความว่า สงบอยู่ในที่นี้แล อย่างนี้บ้าง คำว่า เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย อธิบายว่า การอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) การ อาศัยด้วยอำนาจตัณหา (๒) การอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัย ด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

ผู้ใดละการอาศัยด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่ อาศัยตา ไม่อาศัยหู ไม่อาศัยจมูก ไม่อาศัยลิ้น ไม่อาศัยกาย ไม่อาศัยใจ ไม่ยึดอาศัย คือ ไม่อาศัย ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดใจ ในรูป ฯลฯ เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะ ฯลฯ ธรรมารมณ์ ฯลฯ ตระกูล ฯลฯ คณะ ฯลฯ อาวาส ฯลฯ ลาภ ฯลฯ ยศ ฯลฯ สรรเสริญ ฯลฯ สุข ฯลฯ จีวร ฯลฯ บิณฑบาต ฯลฯ เสนาสนะ ฯลฯ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ฯลฯ กามธาตุ ฯลฯ รูปธาตุ ฯลฯ อรูปธาตุ ฯลฯ กามภพ ฯลฯ รูปภพ ฯลฯ อรูปภพ ฯลฯ สัญญาภพ ฯลฯ อสัญญาภพ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญาภพ ฯลฯ เอกโวการภพ๑- ฯลฯ จตุโวการภพ๒- ฯลฯ ปัญจโวการภพ๓- ฯลฯ อดีต ฯลฯ อนาคต ฯลฯ ปัจจุบัน ฯลฯ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้อง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไปอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ @เชิงอรรถ : @ เอกโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยรูปขันธ์ ๑ หรือภพที่มีขันธ์ ๑ ได้แก่ อสัญญาภพ (ขุ.ม.อ. ๓/๔๒) @ จตุโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยอรูปขันธ์ ๔ หรือภพที่มีขันธ์ ๔ ได้แก่ อรูปภพ (ขุ.ม.อ. ๓/๔๒) @ ปัญจโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ หรือภพที่มีขันธ์ ๕ ปัญจโวการภพนี้เป็นกามภพด้วย @เป็นเอกเทศแห่งรูปภพด้วย (ขุ.ม.อ. ๓/๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

[๓๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ) บุคคลรู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ เราจักกล่าวความสงบนั้น ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๖) คำว่า เราจักกล่าวความสงบนั้น ... แก่เธอ อธิบายว่า เราจักกล่าว คือ ชี้แจง บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ ความสงบ คือ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงบระงับราคะ ความสงบโทสะ ความสงบโมหะ ฯลฯ เราจักกล่าว ชี้แจง บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความสงบ คือ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงบ ระงับโกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ ฯลฯ เราจักกล่าว ชี้แจง บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความสงบ คือ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงบ ระงับกิเลสทุกชนิด ฯลฯ ทุจริตทุกทาง ฯลฯ ความกระวนกระวายทุกอย่าง ฯลฯ ความเร่าร้อนทุกสถาน ฯลฯ ความเดือดร้อนทุกประการ ฯลฯ อกุสลาภิสังขาร ทุกประเภท รวมความว่า เราจักกล่าวความสงบนั้น ... แก่เธอ คำว่า โธตกะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ เป็นคำที่ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ คำว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว ในคำว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเองในธรรมที่ เราเห็นแล้ว อธิบายว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว คือ ในธรรมที่เรารู้แล้ว ในธรรมที่ เราเทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่เราพิจารณาแล้ว ในธรรมที่เราทำให้แจ้งแล้ว ใน ธรรมที่เราทำให้กระจ่างแล้ว ได้แก่ ในธรรมที่เราเห็นแล้ว ในธรรมที่เรารู้แล้ว ใน ธรรมที่เราเทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่เราพิจารณาแล้ว ในธรรมที่เราทำให้แจ้งแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

ในธรรมที่เราทำให้กระจ่างแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ฯลฯ ได้แก่ ในธรรม ที่เราเห็นแล้ว ในธรรมที่เรารู้แล้ว ในธรรมที่เราเทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่เรา พิจารณาแล้ว ในธรรมที่เราทำให้แจ้งแล้ว ในธรรมที่เราทำให้กระจ่างแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็น ธรรมดา” รวมความว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง เราจักกล่าวถึงทุกข์ ในทุกข์ที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงสมุทัย ใน สมุทัยที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงมรรค ในมรรคที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงนิโรธใน นิโรธที่ได้เห็นแล้ว รวมความว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง (เราจักกล่าวธรรม) ที่เห็นได้เอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เชิญมาดูได้ ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้ด้วยตนเองในธรรมที่เราเห็นแล้ว รวมความว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง คำว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง อธิบายว่า เราจักกล่าวธรรมที่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง มิใช่โดยการเชื่อผู้อื่นว่าธรรมนี้เป็นดังนี้ๆ คือ มิใช่โดย การเล่าลือ มิใช่โดยการถือสืบๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรก มิใช่โดยการอนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับ ทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว รวมความว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเองในธรรมที่เราเห็นแล้ว คำว่า บุคคลรู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า บุคคลรู้ ชัดแล้ว คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ได้แก่ บุคคลรู้ชัดแล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ฯลฯ ได้แก่ บุคคลรู้แล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้ กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญ สติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไปอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า บุคคลรู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ทุกขณะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาตรัส เรียกว่า วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูล คือโลภะ๑- คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป๒- ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก๓- คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า บุคคลผู้มีสติ พึง ข้าม คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ รวมความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระ ภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ) บุคคลรู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ เราจักกล่าวความสงบนั้น ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ [๓๖] (ท่านโธตกะทูลถามว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๗) คำว่า นั้น ในคำว่า ข้าพระองค์ชอบใจ...นั้น อธิบายว่า ข้าพระองค์พอใจ ชอบใจ คือ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่ง หวังพระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอน รวมความว่า ข้าพระองค์ชอบใจ...นั้น @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑ @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๒/๑๓๒ @ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหา คุณอันยิ่งใหญ่ ... ความสงบอันสูงสุด อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าทรงแสวง หาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อว่าผู้ ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่๑- คำว่า ความสงบอันสูงสุด อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า ความสงบ ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท คำว่า สูงสุด ได้แก่ เลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด ยอดเยี่ยม รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ... ความสงบอันสูงสุด คำว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า บุคคลรู้ชัดแล้ว คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ฯลฯ ได้แก่ บุคคลรู้ชัดแล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง แล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา” คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญ สติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไปอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่ คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒- คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๓/๑๓๓-๑๓๕ @ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหานี้ที่ชื่อว่า วิสัตติกาในโลกนี้ บุคคลผู้มีสติพึงข้าม คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วง เลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ รวมความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกา ในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ [๓๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ) เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย (๘) คำว่า เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เธอรู้ชัด คือ รู้ทั่ว รู้เฉพาะ แทงตลอดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมความว่า เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า โธตกะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ เป็นคำที่พระ ผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ
ว่าด้วยธรรมชั้นสูงชั้นต่ำและชั้นกลาง
คำว่า ชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง อธิบายว่า อนาคต ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อดีต ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ ปัจจุบัน ตรัสเรียก ว่า ชั้นกลาง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

เทวโลก ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อบายโลก ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ มนุษยโลก ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง อีกนัยหนึ่ง กุศลธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อกุศลธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ อัพยากตธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง กามธาตุ ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ รูปธาตุ ตรัส เรียกว่า ชั้นกลาง สุขเวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง ทุกขเวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ อทุกขมสุข- เวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง เบื้องสูงจากฝ่าเท้าขึ้นไป ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง เบื้องต่ำจากปลายผมลงมา ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ ตรงกลาง ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง รวมความว่า ชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง คำว่า เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว อธิบายว่า เธอรู้แล้ว คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า นี้เป็น เครื่องข้อง นี้เป็นเครื่องติดพัน นี้เป็นเครื่องผูกพัน นี้เป็นเครื่องพัวพัน รวมความว่า เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว คำว่า ตัณหา ในคำว่า อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา คำว่า เพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย อธิบายว่า อย่าก่อ คือ อย่าให้เกิด อย่า ให้เกิดขึ้น อย่าให้บังเกิด อย่าให้บังเกิดขึ้น ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหา เพื่อภพน้อยภพใหญ่ คือ เพื่อกรรมวัฏและวิปากวัฏ เพื่อกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ เพื่อ กรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ เพื่อกรรมวัฏ เป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ เพื่อภพต่อไป เพื่อคติต่อไป เพื่อการถือกำเนิดต่อไป เพื่อปฏิสนธิต่อไป เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่ง อัตภาพต่อไป รวมความว่า อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ) เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ โธตกมาณพ ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
โธตกมาณวปัญหานิทเทสที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๗๖}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๑๕๕-๑๗๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=30&A=4511 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=30&siri=24              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=2020&Z=2388&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=203              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu30 https://84000.org/tipitaka/english/?index_30


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]