ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส๑-
อธิบายสุทธัฏฐกสูตร
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายสุทธัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้ [๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่าความเห็นนั้นเป็นญาณ คำว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจด ในคำว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ ไม่มีโรคอย่างยิ่ง อธิบายว่า เราเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู นรชนผู้หมดจด คำว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง ได้แก่ ถึงความปลอดโรค ถึงธรรมอันเกษม ถึงธรรมเครื่องป้องกัน ถึงธรรมเป็นที่ปกป้อง ถึงธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงธรรมเป็นที่ไปใน เบื้องหน้า ถึงความปลอดภัย ถึงธรรมที่ไม่จุติ ถึงธรรมที่ไม่ตาย ถึงธรรมเป็นที่ดับ เย็นอันยอดเยี่ยม รวมความว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง คำว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น อธิบายว่า ความ หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ย่อมมีแก่นรชนเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ นรชนย่อมหมดจด คือ สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไป เพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ รวมความว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๗๙๕-๘๐๒/๔๙๐-๔๙๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

คำว่า เมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม อธิบายว่า เมื่อ รู้จริง คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอย่างนี้ ก็รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบ เคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “ความเห็นนี้ เยี่ยม คือ ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด” รวมความว่า เมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่า ความเห็นนี้ยอดเยี่ยม คำว่า จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ อธิบายว่า ผู้ใดเห็นนรชนผู้หมดจด ผู้นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ตาม พิจารณาเห็นความหมดจด คำว่า ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ อธิบายว่า ย่อมเชื่อการเห็นรูปด้วย จักขุวิญญาณว่า เป็นญาณ เป็นมรรค เป็นทาง เป็นทางนำออกจากทุกข์ รวมความว่า จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็น ญาณ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่าความเห็นนั้นเป็นญาณ [๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้) เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น
ว่าด้วยความหมดจดเป็นต้น
คำว่า ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น อธิบายว่า ถ้า ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความ หลุดพ้นไป ย่อมมีแก่นรชนเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ นรชนย่อมหมดจด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

คือ สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ รวมความว่า ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น คำว่า หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ อธิบายว่า ถ้านรชนนั้น ละชาติทุกข์(ทุกข์เพราะความเกิด) ชราทุกข์(ทุกข์เพราะความแก่) พยาธิทุกข์(ทุกข์ เพราะความเจ็บป่วย) มรณทุกข์(ทุกข์เพราะความตาย) ทุกข์คือโสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ รวมความว่า หรือถ้านรชน นั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ คำว่า นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้) อธิบายว่า นรชนย่อมหมดจด คือ สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปเพราะมรรคอื่น คือมรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด ทางที่มิใช่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘ คำว่า ผู้ยังมีอุปธิ ได้แก่ ผู้ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังมีมานะ ยังมี ตัณหา ยังมีทิฏฐิ ยังมีกิเลส ยังมีอุปาทาน รวมความว่า นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อม หมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้) คำว่า เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น อธิบายว่า ทิฏฐินั้นแหละบ่งบอกถึงบุคคลนั้นว่า บุคคลนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตด้วย ประการอย่างนี้ คำว่า ผู้พูดอย่างนั้น ได้แก่ ผู้พูด คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” ... ผู้พูด คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า “โลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะ๑- กับสรีระเป็น อย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคต๒- เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก และไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้น @เชิงอรรถ : @ ชีวะ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗ @ ตถาคต ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

ผู้พูดอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้) เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น [๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละตนได้ เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้ คำว่า ไม่ ในคำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่ ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น เป็นคำปฏิเสธ คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการ ได้แล้ว คือ ๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว ๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว ๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว ๔. ลอยราคะได้แล้ว ๕. ลอยโทสะได้แล้ว ๖. ลอยโมหะได้แล้ว ๗. ลอยมานะได้แล้ว คือ พราหมณ์ลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ) บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑-
ว่าด้วยความเชื่อถือว่า เป็นมงคล ไม่เป็นมงคล
คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น อธิบายว่า พราหมณ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความ สะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป โดยมรรคอื่น คือ มรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด ทางที่มิใช่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวมความว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น คำว่า ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งถือความหมดจดด้วยการเห็น สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือ การเห็นรูปบางอย่างว่า เป็นมงคล ถือการเห็นรูปบางอย่างว่า ไม่เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือการเห็นรูปชนิดไหนว่า เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เห็นรูปที่สมมติว่า เป็นมงคลยิ่ง คือ เห็นนกแอ่นลม ผลมะตูมอ่อนเกิดในบุษยฤกษ์๒- หญิงมีครรภ์ เด็กเล็กที่ขี่คอคนไป หม้อมีน้ำเต็ม ปลาตะเพียนแดง ม้าอาชาไนย รถเทียมม้าอาชาไนย โคผู้ โคแดง ก็พากันถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่า เป็นมงคล @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๕/๔๓๖ @ บุษยฤกษ์ คือชื่อของดาวฤกษ์บุษยะ มี ๕ ดวง (๑) ดาวปุยฝ้าย (๒) ดาวพวงดอกไม้ (๓) ดาวดอกบัว @(๔) ดาวโลง (๕) ดาวสมอสำเภา หรือดาวสิธยะ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕, หน้า ๔๘๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการเห็นรูปชนิดไหนว่า ไม่เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่านั้น เห็นลอมฟาง หม้อเปรียง หม้อเปล่า นักฟ้อน สมณะเปลือย ลา ยานเทียมด้วยลา ยานเทียมด้วยสัตว์พาหนะตัวเดียว คนตาบอด คนง่อย คนแคระ คนเปลี้ย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ก็พากันถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่า ไม่เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่านี้นั้น ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยการเห็น สมณพราหมณ์ เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ด้วยรูปที่เห็นแล้ว มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยเสียงที่ได้ยิน สมณพราหมณ์ เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่า เป็นมงคล ถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่า ไม่เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงอย่างไหนว่า เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้ยินเสียงที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งว่า เจริญแล้ว กำลังเจริญ เต็ม ขาว ไม่เศร้าโศก ใจดี ฤกษ์ดี มงคลดี มีสิริ หรือว่าเจริญศรี ก็พากันถือการได้ยินเสียงเห็นปานนี้ว่า เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงอย่างไหนว่า ไม่เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้ยินเสียงว่าคนตาบอด คนง่อย คนแคระ คนเปลี้ย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ถูกตัด ถูกทุบ ถูกไฟไหม้ ของหาย หรือ ว่าไม่มี ก็พากันถือการได้ยินเสียงเห็นปานนั้นว่า ไม่เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่า นี้นั้น ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยการได้ยินเสียง สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือความ หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ด้วยการได้ยินเสียง
ว่าด้วยความหมดจดด้วยศีลและวัตร
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยศีล สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความ หลุดพ้นไป ด้วยเหตุเพียงศีล คือ ด้วยเหตุเพียงความสำรวม ด้วยเหตุเพียงความ สังวร ด้วยเหตุเพียงความไม่ละเมิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

ปริพาชกผู้เป็นบุตรแห่งนางปริพาชิกาชื่อสมณมุณฑิกา กล่าวอย่างนี้ว่า “ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นผู้มีกุศล เพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ เป็นสมณะ ไม่มีใครสู้ได้ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ช่างไม้เอ๋ย บุคคลเช่นนั้นในโลกนี้ ๑. ย่อมไม่ทำกรรมชั่วช้าทางกาย ๒. ไม่กล่าววาจาชั่วช้า ๓. ไม่ดำริความดำริชั่วช้า ๔. ไม่ประกอบอาชีพชั่วช้า ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แลว่า เป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม ผู้บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ เป็นสมณะ ไม่มีใครสู้ได้๑- มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยศีลอย่างนี้แหละ สมณพราหมณ์ เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปด้วยเหตุเพียงศีล ด้วยเหตุเพียงความสำรวม ด้วยเหตุเพียงความ สังวร ด้วยเหตุเพียงความไม่ล่วงละเมิด มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยวัตร สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้ประพฤติวัตรเยี่ยงช้างบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงม้าบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงโคบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงสุนัขบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงกาบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงท้าววาสุเทพ บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพลเทพบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงปุณณภัทรบ้าง ประพฤติวัตร เยี่ยงมณีภัทรบ้าง ประพฤติวัตรคือการบูชาไฟบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงนาคบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงครุฑบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงยักษ์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงอสูรบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงคนธรรพ์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงท้าวมหาราชบ้าง ประพฤติวัตร เยี่ยงพระจันทร์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพระอาทิตย์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพระอินทร์ บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพระพรหมบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงเทพบ้าง ประพฤติวัตรคือ การไหว้ทิศบ้าง สมณพราหมณ์เหล่านี้นั้น ชื่อว่าผู้ถือความหมดจดด้วยวัตร สมณ- พราหมณ์เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปด้วยวัตร @เชิงอรรถ : @ ม.ม. ๑๓/๒๖๑/๒๓๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยอารมณ์ที่รับรู้ สมณพราหมณ์ เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ จับต้องแผ่นดิน จับต้องพืชสีเขียว จับต้องมูลโค จับต้องเต่า เหยียบผาล จับต้องเกวียนบรรทุกงา เคี้ยวกินงาขาว ทาน้ำมันสีขาว เคี้ยวไม้สีฟัน ขาว อาบน้ำชะโลมด้วยดินสอพอง นุ่งผ้าขาว โพกผ้าขาว สมณพราหมณ์เหล่านี้นั้น ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยอารมณ์ที่รับรู้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปด้วย อารมณ์ที่รับรู้แล้ว รวมความว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น คำว่า ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า พราหมณ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด โดยถือความ หมดจดด้วยรูปที่เห็นบ้าง โดยถือความหมดจดด้วยเสียงที่ได้ยินบ้าง โดยถือความ หมดจดด้วยศีลบ้าง โดยถือความหมดจดด้วยวัตรบ้าง โดยถือความหมดจดด้วย อารมณ์ที่รับรู้บ้าง รวมความว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียง ที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้ โดยมรรคอื่น
ว่าด้วยการละบุญและบาป
คำว่า ผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป อธิบายว่า กุสลาภิสังขาร เป็นเหตุให้ เกิดในโลกธาตุ๑- ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตรัสเรียกว่าบุญ อกุศลทุกชนิด ตรัสเรียกว่า สิ่งที่ไม่ใช่บุญ ปุญญาภิสังขาร๒- อปุญญาภิสังขาร๓- และอาเนญชาภิสังขาร๔- เป็นสิ่งที่พราหมณ์ นั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว @เชิงอรรถ : @ โลกธาตุ ๓ ได้แก่กามธาตุ รูปธาตุ และอรูปธาตุ @ ปุญญาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นบุญ สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร @และรูปาวจร (ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖) @ อปุญญาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญคือเป็นบาป สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ @อกุศลเจตนาทั้งหลาย (ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖) @ อาเนญชาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นอาเนญชา สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ @กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน @(ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ในกาลใด ในกาลนั้น พราหมณ์นั้น ย่อมไม่ติด ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ได้แก่ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพัน แล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป
ว่าด้วยการละตน
คำว่า ละตนได้ ในคำว่า ละตนได้ เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้ ได้แก่ ละความเห็นว่า เป็นตน คำว่า ละตนได้ ได้แก่ ละความยึดมั่นถือมั่น อีกนัยหนึ่ง คำว่า ละตนได้ อธิบายว่า ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อ ด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิทั้งปวง เป็นสิ่งที่ พราหมณ์นั้นสละแล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ว สลัดทิ้งแล้ว คำว่า เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้ อธิบายว่า เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติม คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร หรืออาเนญชาภิสังขาร รวมความว่า ละตนได้ เรียกว่าผู้ไม่ทำ เพิ่มเติมในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละตนได้ เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้ [๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง ไปตามความพลุ่งพล่าน ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อยฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

ว่าด้วยการจับๆ ปล่อยๆ พ้นกิเลสไม่ได้
คำว่า ละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นละ ศาสดาองค์ก่อน อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อศาสดาองค์ ต่อมา ละธรรมที่ศาสดากล่าวสอนครั้งแรก อาศัย... ธรรมที่ศาสดากล่าวสอนครั้ง ต่อมา ละหมู่คณะแรก อาศัย... หมู่คณะต่อมา ละทิฏฐิแรก อาศัย... ทิฏฐิต่อมา ละปฏิปทาแรก อาศัย... ปฏิปทาต่อมา ละมรรคแรก อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อมรรคต่อมา รวมความว่า ละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ... ไปตามความพลุ่งพล่าน ย่อมข้ามกิเลส เครื่องข้องไม่ได้ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความพลุ่งพล่าน คือ ความ กำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑- คำว่า ไปตามความพลุ่งพล่าน อธิบายว่า ไปตามความพลุ่งพล่าน คือ ตกไปตามความพลุ่งพล่าน ซ่านไปตามความพลุ่งพล่าน จมลงในความพลุ่งพล่าน ได้แก่ ถูกความพลุ่งพล่านผลักให้ตกไป ถูกความพลุ่งพล่านครอบงำ มีจิตถูกความ พลุ่งพล่านยึดครอง คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ... ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้ ได้แก่ ย่อมข้ามไม่ได้ คือ ข้ามไปไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยไม่ได้ ซึ่งกิเลส เครื่องข้องคือราคะ กิเลสเครื่องข้องคือโทสะ กิเลสเครื่องข้องคือโมหะ กิเลสเครื่อง ข้องคือมานะ กิเลสเครื่องข้องคือทิฏฐิ กิเลสอันเป็นเครื่องเกี่ยวข้อง กิเลสเครื่องข้อง คือทุจริต รวมความว่า สมณพรหมณ์เหล่านั้น ... ไปตามความพลุ่งพล่าน ย่อมข้าม กิเลสเครื่องข้องไม่ได้ คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือศาสดา ปล่อยศาสดานั้นแล้วก็ถือศาสดาองค์อื่น ถือธรรมที่ศาสดากล่าวสอน ปล่อยธรรมนั้นแล้วก็ถือธรรมที่ศาสดากล่าวสอน อื่น ถือหมู่คณะ ปล่อยหมู่คณะนั้นแล้วก็ถือหมู่คณะอื่น ถือทิฏฐิ ปล่อยทิฏฐินั้น @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

แล้วก็ถือทิฏฐิอื่น ถือปฏิปทา ปล่อยปฏิปทานั้นแล้วก็ถือปฏิปทาอื่น ถือมรรค ปล่อยมรรคนั้นแล้วก็ถือมรรคอื่น คือ ย่อมถือและย่อมปล่อย ชื่อว่าย่อมยึดถือ และย่อมสลัดทิ้ง รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง คำว่า เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อยฉะนั้น อธิบายว่า ลิงเที่ยวไปใน ป่าดงใหญ่ จับกิ่งไม้แล้ว ปล่อยกิ่งนั้นก็จับกิ่งอื่น ปล่อยกิ่งนั้นแล้วก็จับกิ่งอื่น ฉันใด สมณพราหมณ์เป็นอันมากย่อมถือ และย่อมปล่อยทิฏฐิมากมาย ชื่อว่าย่อมยึดถือ และย่อมสลัดทิ้งทิฏฐิมากมาย ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เหมือนลิงจับกิ่งไม้ แล้วก็ปล่อยฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง ไปตามความพลุ่งพล่าน ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อยฉะนั้น [๒๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง ข้องอยู่ในสัญญา ย่อมดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลายแล้ว เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจภูริ (แผ่นดิน) ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ
ว่าด้วยการดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ
คำว่า สมาทาน...เอง ในคำว่า สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง ได้แก่ สมาทานด้วยตนเอง คำว่า วัตรทั้งหลาย อธิบายว่า ถือเอา สมาทาน คือ ยึดถือ รับเอา ถือ ยึดมั่น ถือมั่นวัตรเยี่ยงช้างบ้าง วัตรเยี่ยงม้าบ้าง วัตรเยี่ยงโคบ้างวัตรเยี่ยงสุนัขบ้าง วัตรเยี่ยงกาบ้าง วัตรเยี่ยงท้าววาสุเทพบ้าง วัตรเยี่ยงพลเทพบ้าง วัตรเยี่ยง ปุณณภัทรบ้าง วัตรเยี่ยงมณีภัทรบ้างวัตรคือการบูชาไฟบ้าง วัตรเยี่ยงนาคบ้าง วัตรเยี่ยงครุฑบ้าง วัตรเยี่ยงยักษ์บ้าง วัตรเยี่ยงอสูรบ้าง ... วัตรคือการไหว้ทิศบ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ นรชน ... มนุษย์๑- รวมความว่า สัตว์เกิดสมาทาน วัตรทั้งหลายเอง คำว่า ข้องอยู่ในสัญญา ย่อมดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ ได้แก่ จากศาสดา(แรก) ไปหาศาสดา(ต่อมา) จากธรรมที่ศาสดากล่าวสอน(ครั้งแรก) ไปหาธรรมที่ศาสดา กล่าวสอน(ครั้งต่อมา) จากหมู่คณะ(แรก) ไปหาหมู่คณะ(ต่อมา) จากทิฏฐิ(แรก) ไป หาทิฏฐิ(ต่อมา) จากปฏิปทา(แรก) ไปหาปฏิปทา(ต่อมา) จากมรรค(แรก) ไปหา มรรค(ต่อมา) คำว่า ผู้ข้องอยู่ในสัญญา อธิบายว่า ผู้ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา ทิฏฐิสัญญา เปรียบเหมือน สิ่งของ ข้อง คือ ติด เกี่ยว แขวน เกี่ยวพัน ติดตรึงอยู่ที่ตะปูข้างฝา หรือ ที่ไม้แขวน ฉันใด สัตว์เกิดนั้นก็ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา ทิฏฐิสัญญา ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า ผู้ข้องอยู่ในสัญญา ย่อมดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ
ว่าด้วยผู้รู้ธรรม ๗ ประการ
คำว่า ผู้มีความรู้ ในคำว่า ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลายแล้ว ได้แก่ ผู้มีความรู้ คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส คำว่า ด้วยเวททั้งหลาย ได้แก่ ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท คือ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเครื่องพิจารณา ปัญญา เครื่องเห็นแจ้ง สัมมาทิฏฐิ ผู้มีความรู้นั้น ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุปลายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่ หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ บรรลุที่ดับแห่งชาติ ชรา มรณะ ด้วยเวทเหล่านั้น อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าเวทคู เพราะถึงที่สุดแห่งความรู้ทั้งหลาย ชื่อว่าเวทคู เพราะ ถึงที่สุดด้วยความรู้ทั้งหลาย ชื่อว่าเวทคู เพราะรู้แจ้งธรรม ๗ ประการ คือ ๑. เป็นผู้รู้แจ้งสักกายทิฏฐิ ๒. เป็นผู้รู้แจ้งวิจิกิจฉา ๓. เป็นผู้รู้แจ้งสีลัพพตปรามาส ๔. เป็นผู้รู้แจ้งราคะ ๕. เป็นผู้รู้แจ้งโทสะ ๖. เป็นผู้รู้แจ้งโมหะ ๗. เป็นผู้รู้แจ้งมานะ ผู้มีความรู้นั้นเป็นผู้รู้แจ้งบาปอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ) บุคคลเลือกเฟ้นเวททั้งสิ้น ของพวกสมณพราหมณ์ที่มีอยู่ เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง ก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าเวทคู๑- คำว่า ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลายแล้ว อธิบายว่า รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็น อนัตตา ... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ... เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ... เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ... เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ... เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ... เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ... เพราะชาติ เป็นปัจจัย ชรา มรณะจึงมี” รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะ @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๕/๔๓๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

จึงดับ ... เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ... เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ... เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ... เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ... เพราะอุปาทาน ดับ ภพจึงดับ ... เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ... เพราะชาติดับ ชรา มรณะ จึงดับ” รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี- ปฏิปทา” รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “เหล่านี้อาสวะ ... นี้อาสวสมุทัย ... นี้อาสวนิโรธ ... นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “เหล่านี้ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ... เหล่านี้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ... เหล่านี้ธรรมที่ควรละ ... เหล่านี้ธรรมที่ควรเจริญ ... เหล่านี้ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง” รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมคือเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่ง ผัสสายตนะ ๖ รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมคือเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่ง อุปาทานขันธ์ ๕ รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมคือเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่ง มหาภูตรูป ๔ รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวท ทั้งหลายแล้ว คำว่า เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจภูริ(แผ่นดิน) ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ ได้แก่ ไม่จากศาสดา(แรก)ไปหาศาสดา(ต่อมา) ไม่จากธรรมที่ศาสดากล่าว สอน(แรก)ไปหาธรรมที่ศาสดากล่าวสอน(ต่อมา) ไม่จากหมู่คณะ(แรก)ไปหาหมู่ คณะ(ต่อมา) ไม่จากทิฏฐิ(แรก)ไปหาทิฏฐิ(ต่อมา) ไม่จากปฏิปทา(แรก)ไปหา ปฏิปทา(ต่อมา) ไม่จากมรรค(แรก)ไปหามรรค(ต่อมา) คำว่า เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจภูริ(แผ่นดิน) ได้แก่ เป็นผู้มีปัญญาดุจ ภูริ คือมีปัญญายิ่งใหญ่ มีปัญญามาก มีปัญญาอาจหาญ มีปัญญาฉับไว มีปัญญา เฉียบคม มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส แผ่นดิน ตรัสเรียกว่า ภูริ บุคคลนั้นประกอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

ด้วยปัญญา อันกว้างขวาง แผ่ไป เสมอด้วยแผ่นดินนั้น รวมความว่า เป็นผู้มีปัญญา กว้างขวางดุจภูริ(แผ่นดิน) ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี- พระภาคจึงตรัสว่า สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง ข้องอยู่ในสัญญา ย่อมดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลายแล้ว เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจภูริ(แผ่นดิน) ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ [๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย ด้วยเหตุอะไรเล่า
ว่าด้วยเสนามาร
คำว่า ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือรูปที่เห็น เสียง ที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เสนามาร ตรัสเรียกว่า เสนา กายทุจริต ชื่อว่าเสนามาร วจีทุจริต ชื่อว่าเสนามาร มโนทุจริต ชื่อว่า เสนามาร ราคะ ชื่อว่าเสนามาร โทสะ ชื่อว่าเสนามาร โมหะ ชื่อว่าเสนามาร โกธะ ... อุปนาหะ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่าเสนามาร สมจริงดังที่พระผู้มี- พระภาคตรัสไว้ว่า กิเลสกามเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน ความไม่ยินดีเราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน ความหิวกระหายเราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน ตัณหาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

ถีนมิทธะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน ความกลัวเราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน วิจิกิจฉาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน มักขะและถัมภะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน ลาภ ความสรรเสริญ สักการะและยศที่ได้มาผิดๆ เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน การยกตนและข่มผู้อื่นเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน มารเอ๋ย เสนาของท่านนี้ มีปกติประหารผู้มีธรรมดำ คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้ แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข๑- เมื่อใด เสนามารทั้งหมดและกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกผู้มี ปัญญาพิชิต และทำให้ปราชัย ถูกทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วยอริยมรรค ๔ เมื่อนั้น ผู้มีปัญญานั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนา คือ เป็นผู้กำจัดเสนาในรูป ที่เห็น กำจัดเสนาในเสียงที่ได้ยิน กำจัดเสนาในอารมณ์ที่รับรู้ และกำจัดเสนาใน ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว รวมความว่า ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า ผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย อธิบายว่า ผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็นธรรมหมดจด เห็นธรรมสะอาด เห็นธรรมบริสุทธิ์ เห็นธรรมผ่องแผ้ว เห็น ธรรมผ่องใส อีกนัยหนึ่ง ความเห็นหมดจด ความเห็นสะอาด ความเห็นบริสุทธิ์ ความเห็นผ่องแผ้ว ความเห็นผ่องใส คำว่า เปิดเผย อธิบายว่า เครื่องปิดบังคือตัณหา เครื่องปิดบังคือทิฏฐิ เครื่อง ปิดบังคือกิเลส เครื่องปิดบังคือทุจริต เครื่องปิดบังคืออวิชชา เครื่องปิดบังเหล่านั้น ถูกเปิดเผยแล้ว คือ รื้อออกแล้ว เพิกขึ้นแล้ว เพิกถอนแล้ว ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๔๓๙-๔๔๒/๔๑๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

คำว่า ผู้ประพฤติ ได้แก่ ผู้ประพฤติ คือ เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย คำว่า ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วยอำนาจ ตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ผู้มีปัญญานั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนดด้วย อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการกำหนด ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า “เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็นผู้ตกอยู่ใน พลังกิเลส” ผู้มีปัญญานั้นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดคติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิด เดรัจฉาน เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือว่าเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ใครๆ จะพึงกำหนด คือ กำหนดรู้ ถึงการกำหนดรู้ด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้นไม่มี คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก รวมความว่า ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรได้เล่า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย ด้วยเหตุอะไรเล่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

[๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู สัตบุรุษเหล่านั้น ไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว ไม่ก่อความหวังในที่ไหนๆ ในโลก
ว่าด้วยคุณลักษณะของสัตบุรุษ
คำว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู อธิบายว่า คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วยอำนาจ ตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ สัตบุรุษเหล่านั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนด ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว สัตบุรุษ จึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือการกำหนดด้วย อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ย่อมไม่กำหนด คำว่า ไม่เชิดชู อธิบายว่า คำว่า เชิดชู ได้แก่ การเชิดชู ๒ อย่าง คือ (๑) การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา (๒) การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการ เชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ สัตบุรุษเหล่านั้นละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย อำนาจทิฏฐิได้แล้ว สัตบุรุษก็ไม่เที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ ไม่มีตัณหาเป็น ธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็น ยอดธง ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ คือไม่ได้ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไปอยู่ รวม ความว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

คำว่า สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง อธิบายว่า สัตบุรุษ ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจง ความหมดจดสุดโต่ง คือ ความหมดจดโดยการเวียนว่าย ความเห็นว่าการกระทำไม่มีผล มีวาทะว่าเที่ยง รวมความว่า สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง คำว่า สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว อธิบายว่า คำว่า กิเลสเครื่องร้อยรัด ได้แก่ กิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่าง คือ ๑. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา ๒. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท ๓. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส ๔. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง ความกำหนัดในทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา ความอาฆาต ความไม่พอใจในวาทะของผู้อื่น ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ พยาบาท ความยึดมั่นศีล วัตรหรือศีลวัตรของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ สีลัพพตปรามาส ทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออิทังสัจจาภินิเวส เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น เพราะสัตว์ ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ ... คติ ... การถือกำเนิด ... ปฏิสนธิ ... ภพ เพราะสัตว์ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น สังสารวัฏ ด้วยกิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น คำว่า สลัด ได้แก่ สละ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษแก้ หรือ สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือกิเลสเครื่องผูกพัน ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว อธิบายว่า สัตบุรุษ สละ หรือสลัดกิเลส เครื่องร้อยรัด เหมือนคนทำการปลดปล่อยวอ รถ เกวียน หรือ รถมีเครื่องประดับ ให้เคลื่อนที่ไปได้ ฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษ แก้ หรือสลัดกิเลสเครื่องรัอยรัด คือกิเลสเครื่องผูกพัน ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว รวมความว่า สลัด กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว คำว่า ไม่ก่อความหวังในที่ไหนๆ ในโลก อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง คือ ความกำหนัด กำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑- คำว่า ไม่ก่อความหวัง ได้แก่ ไม่ก่อ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความหวัง คำว่า ในที่ไหนๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหนๆ ที่ไรๆ ภายใน ภายนอก หรือทั้งภายในและภายนอก คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... อายตนโลก รวมความว่า ไม่ก่อ ความหวังในที่ไหนๆ ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู สัตบุรุษเหล่านั้น ไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว ไม่ก่อความหวังในที่ไหนๆ ในโลก [๓๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

ว่าด้วยพระอรหันต์
คำว่า พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และ เห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น อธิบายว่า คำว่า เขตแดน ได้แก่ เขตแดน ๔ อย่าง คือ ๑. สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และ เหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกันนั้น นี้เป็นเขตแดนที่ ๑ ๒. กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่างหยาบ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกันนั้น นี้เป็นเขตแดนที่ ๒ ๓. กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่างละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกันนั้น นี้เป็นเขตแดนที่ ๓ ๔. รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกันนั้น นี้เป็นเขตแดนที่ ๔ เพราะพระอรหันต์ เป็นผู้ก้าวล่วง คือ ก้าวพ้น ล่วงพ้น เขตแดนทั้ง ๔ เหล่านี้ ด้วยอริยมรรค ๔ พระอรหันต์นั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว คำว่า เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการ ได้แล้ว คือ ๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว ๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว ๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว ... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑- คำว่า นั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ คำว่า เพราะรู้ ได้แก่ เพราะรู้ด้วยปรจิตตญาณ(ญาณเป็นเครื่องรู้จิตของผู้อื่น) หรือ รู้ด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ(ญาณเป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ก่อน) คำว่า เพราะเห็น ได้แก่ เพราะเห็นด้วยมังสจักขุ หรือ เห็นด้วยทิพพจักขุ คำว่า พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และ เห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น อธิบายว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มี คือ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ซึ่งความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า สิ่งนี้ เยี่ยม ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด คือ ความถือมั่นนั้นพระอรหันต์ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์ เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มี ความถือมั่น คำว่า ไม่เป็นผู้กำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็น ที่คลายกำหนัด อธิบายว่า ชนเหล่าใดกำหนัด คือ ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามคุณ ๕ ชนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้กำหนัดใน กามคุณเป็นที่กำหนัด ชนเหล่าใดกำหนัด คือ ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในรูปาวจรสมาบัติ และอรูปาวจรสมาบัติ ชนเหล่านั้นตรัสเรียกว่า ผู้กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด คำว่า ไม่เป็นผู้กำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่ คลายกำหนัด อธิบายว่า เมื่อใด พระอรหันต์ละกามราคะ รูปราคะ และอรูปราคะ ได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่ พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เมื่อนั้น พระอรหันต์ จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ กำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด คำว่า นั้น ในคำว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มีความถือมั่นว่ายอดเยี่ยมในโลกนี้ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ พระอรหันต์นั้นไม่มีความถือ ความยึดมั่น ความ ถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า สิ่งนี้ เยี่ยม ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด คำว่า ไม่มี ได้แก่ ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่ ความถือมั่นนั้น พระอรหันต์ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น ว่ายอดเยี่ยมในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้
สุทธัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๔ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๑๐๑-๑๒๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=3030 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=29&siri=4              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=1822&Z=2239&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=109              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]