ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. ภูมิจาลวรรค ๙. ปริสาสูตร

๙. ปริสาสูตร
ว่าด้วยบริษัท๑-
[๖๙] ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๘ จำพวกนี้ บริษัท ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. ขัตติยบริษัท (ชุมนุมกษัตริย์) ๒. พราหมณบริษัท (ชุมนุมพราหมณ์) ๓. คหบดีบริษัท (ชุมนุมคหบดี) ๔. สมณบริษัท (ชุมนุมสมณะ) ๕. จาตุมหาราชบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นจาตุมหาราช) ๖. ดาวดึงสบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นดาวดึงส์) ๗. มารบริษัท (ชุมนุมมาร) ๘. พรหมบริษัท (ชุมนุมพรหม) ภิกษุทั้งหลาย เราจำได้ว่า ‘เคยเข้าไปหาขัตติยบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคย นั่งพูดคุยและสนทนาในขัตติยบริษัทนั้น กษัตริย์เหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มี วรรณะเช่นนั้น กษัตริย์เหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้กษัตริย์ เหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้กำลังพูดอยู่นี้เป็นใคร เป็นเทวดาหรือมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วก็หายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไป แล้วนี้เป็นใคร เป็นเทวดาหรือมนุษย์’ ภิกษุทั้งหลาย เราจำได้ว่า ‘เคยเข้าไปหาพราหมณบริษัท ฯลฯ คหบดีบริษัท ฯลฯ สมณบริษัท ฯลฯ จาตุมหาราชบริษัท ฯลฯ ดาวดึงสบริษัท ฯลฯ มารบริษัท ฯลฯ’ @เชิงอรรถ : @ ดู ที.ม. ๑๐/๑๗๒/๙๗-๙๘, ม.มู. ๑๒/๑๕๑/๑๑๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๗๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. ภูมิจาลวรรค ๑๐. ภูมิจาลสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เราจำได้ว่า ‘เคยเข้าไปหาพรหมบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคย นั่งพูดคุยและสนทนาในพรหมบริษัทนั้น พรหมเหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะ เช่นนั้น พรหมเหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้พรหมเหล่านั้น เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้กำลังพูด อยู่นี้เป็นใคร เป็นเทวดาหรือมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้พรหมเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้ อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วก็หายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไปแล้ว นี้เป็นใคร เป็นเทวดาหรือมนุษย์’ ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๘ จำพวกนี้แล
ปริสาสูตรที่ ๙ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๗๑-๓๗๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=23&A=10375 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=142              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=6475&Z=6498&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=166              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23 https://84000.org/tipitaka/english/?index_23


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]