ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยรอยเท้าช้าง สูตรเล็ก
[๒๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิออกจาก กรุงสาวัตถีด้วยรถคันใหญ่ที่เทียมด้วยลาซึ่งมีเครื่องประดับทุกอย่างล้วนเป็นสีขาว ในเวลาเที่ยงวัน ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้เห็นปริพาชกชื่อปิโลติกะเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วได้กล่าวกับปิโลติกปริพาชกอย่างนี้ว่า “นี่แน่ะ ท่านวัจฉายนะผู้เจริญ มาจากไหนแต่ยังวัน๑-” ปิโลติกปริพาชกตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักของพระสมณ- โคดมนั่นแล” “ท่านวัจฉายนะ เห็นจะเข้าใจความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของพระสมณโคดมว่า พระองค์เป็นบัณฑิต หรืออย่างไร” “ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าเป็นใครเล่าจึงจักรู้ความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของ พระสมณโคดมได้ แม้ผู้ที่จะรู้ความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของพระสมณโคดมได้ ก็ พึงเป็นเช่นพระสมณโคดมโดยแน่แท้” @เชิงอรรถ : @ แต่ยังวัน ในที่นี้หมายถึงเวลาช่วงเช้า (ม.มู.อ. ๒/๒๘๘/๑๐๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๑๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

“ท่านวัจฉายนะสรรเสริญพระสมณโคดมด้วยการสรรเสริญอย่างยิ่ง” “ข้าพเจ้าจักไม่สรรเสริญพระสมณโคดมอย่างไรเล่า เพราะพระสมณโคดมผู้เจริญ นั้น ใครๆ ก็สรรเสริญเยินยอแล้วทีเดียวว่า ‘เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย” “ท่านวัจฉายนะเห็นอำนาจประโยชน์อะไรเล่า จึงเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระสมณ- โคดมถึงเพียงนี้” ปิโลติกปริพาชกตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เหตุไฉนข้าพเจ้าจึงเป็นผู้เลื่อมใสอย่าง ยิ่งในพระสมณโคดมถึงอย่างนี้ พรานช้างผู้ฉลาดจะพึงเข้าไปในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง และเห็นรอยเท้าช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ในป่าเป็นที่อยู่ของช้างนั้น เขา ตัดสินใจได้ว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ แม้ฉันใด ข้าพเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อ ได้เห็นรอย ๔ รอย ในพระสมณโคดมแล้ว ก็ตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาค เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
รอยของพระตถาคต
[๒๘๙] รอย ๔ รอย อะไรบ้าง คือ ๑. ข้าพเจ้าเห็นขัตติยบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ละเอียดอ่อน โต้ตอบวาทะของผู้อื่นได้ประหนึ่งยิงขนเนื้อทราย ขัตติยบัณฑิต เหล่านั้นดูเหมือนว่าเที่ยวทำลายทิฏฐิทั้งหลาย(ของผู้อื่น)ด้วยปัญญา (ของตน) พอได้สดับมาว่า ‘พระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปยังหมู่ บ้าน หรือนิคมชื่อโน้น’ ก็พากันคิดผูกปัญหาด้วยตั้งใจว่า ‘พวกเรา จักเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากพระสมณโคดมนั้น ถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราจักยกวาทะ๑- อย่างนี้ขึ้นแก่พระองค์ แม้หากพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถาม @เชิงอรรถ : @ วาทะ ในที่นี้หมายถึงการกล่าวโทษ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๙/๑๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๑๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

แล้วอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราก็จักยกวาทะอย่างนี้ขึ้นถาม พระองค์’ ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้นได้สดับว่า ‘พระสมณโคดมเสด็จเที่ยว ไปยังหมู่บ้าน หรือนิคมชื่อโน้นแล้ว’ ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระสมณ- โคดมถึงที่ประทับ พระสมณโคดมก็ทรงชี้แจงให้ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น ผู้อันพระสมณโคดมทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ก็ไม่ถามปัญหากับท่านพระสมณโคดมอีกเลย แล้วจักยกวาทะขึ้นแก่พระสมณโคดมนั้นได้อย่างไรเล่า ที่แท้ย่อมพากัน ยอมเป็นสาวก๑- ของพระสมณโคดมนั่นแล เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นรอยที่ ๑ นี้ในพระสมณโคดมแล้ว ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ ๒. ข้าพเจ้าเห็นพราหมณบัณฑิตบางพวก ฯลฯ ๓. ข้าพเจ้าเห็นคหบดีบัณฑิตบางพวก ฯลฯ ๔. ข้าพเจ้าเห็นสมณบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ละเอียดอ่อน โต้ตอบวาทะของผู้อื่นได้ประหนึ่งว่ายิงขนเนื้อทราย สมณบัณฑิต เหล่านั้นดูเหมือนว่าเที่ยวทำลายทิฏฐิทั้งหลาย(ของผู้อื่น)ด้วยปัญญา (ของตน) พอได้สดับว่า ‘พระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปยังหมู่บ้าน หรือนิคมชื่อโน้น’ ก็พากันคิดผูกปัญหาด้วยตั้งใจว่า ‘พวกเราจัก เข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากพระสมณโคดมนั้น ถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราจักยกวาทะ อย่างนี้ขึ้นแก่พระองค์ แม้หากพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้ว @เชิงอรรถ : @ เป็นสาวก ในที่นี้หมายถึงเป็นสาวกด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๙/๑๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๑๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

อย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราก็จักยกวาทะอย่างนี้ขึ้นแก่พระองค์’ สมณบัณฑิตเหล่านั้นได้สดับว่า ‘พระสมณโคดมเสด็จเที่ยวไปยัง หมู่บ้าน หรือนิคมชื่อโน้นแล้ว’ ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถึงที่ประทับ พระสมณโคดมก็ทรงชี้แจงให้สมณบัณฑิตเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา สมณบัณฑิตเหล่านั้นผู้อัน พระสมณโคดมทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย ธรรมีกถาแล้ว ก็ไม่ถามปัญหากับท่านพระสมณโคดมอีกเลย แล้ว จักยกวาทะขึ้นแก่พระสมณโคดมนั้นได้อย่างไรเล่า ที่แท้ย่อมพากัน ทูลขอโอกาสกับพระสมณโคดมนั้น เพื่อออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต พระสมณโคดมก็ทรงประทานบรรพชาแก่สมณบัณฑิต เหล่านั้น สมณบัณฑิตเหล่านั้นผู้ได้รับบรรพชาจากพระสมณโคดม ในอนาคาริยวินัยนั้นแล้ว หลีกออก(จากหมู่) ไม่ประมาท มีความ เพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน ปัจจุบัน สมณบัณฑิตเหล่านั้นจึงพากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่สูญเสียเลยแม้แต่น้อย เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่ สูญเสียเลยแม้แต่น้อย เพราะว่าในกาลก่อน เราทั้งหลาย ทั้งที่ไม่ เป็นสมณะเลยก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพราหมณ์เลยก็ ปฏิญญาว่าเป็นพราหมณ์ ไม่เป็นพระอรหันต์เลยก็ปฏิญญาว่าเป็น พระอรหันต์ บัดนี้ พวกเราเป็นสมณะแล้ว บัดนี้ พวกเราเป็น พราหมณ์แล้ว บัดนี้ พวกเราเป็นพระอรหันต์แล้ว’ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นรอยที่ ๔ นี้ในพระสมณโคดมแล้ว ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้ ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระ ผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ท่านผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นรอยทั้ง ๔ เหล่านี้ในพระสมณโคดมแล้ว ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ ธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๒๙๐] เมื่อปิโลติกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ชาณุสโสณิพราหมณ์ทำผ้าห่ม เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วเปล่งวาจา ๓ ครั้งว่า “ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทำอย่างไรหนอ เราจะได้พบพระสมณโคดมนั้นสักครั้งหนึ่ง ทำอย่างไรจึงจะ ได้สนทนาปราศรัย(กับพระสมณโคดม) บ้าง” ครั้งนั้น ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ กราบทูลเล่าเรื่องที่สนทนากับปิโลติกปริพาชกตามที่กล่าวมาแล้วทั้งปวงแด่พระผู้มี พระภาค เมื่อชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ ชาณุสโสณิพราหมณ์ว่า “พราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้อความเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้างยังมิได้ บริบูรณ์โดยพิสดาร ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวข้อความเปรียบเทียบ ด้วยรอยเท้าช้างที่บริบูรณ์โดยพิสดาร” ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส เรื่องนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

เกียรติคุณของพระตถาคตเปรียบกับรอยเท้าช้าง
[๒๙๑] “พราหมณ์ อุปมาเหมือนพรานช้างจะพึงเข้าไปสู่ป่าเป็นที่อยู่ของช้าง และเห็นรอยเท้าช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้างในป่าเป็นที่อยู่ของช้างนั้น พรานช้าง ผู้ฉลาดย่อมไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังมีช้างพังทั้งหลายชื่อว่าวามนิกา(พังค่อม)ที่มีรอยเท้าใหญ่ ในป่าเป็นที่อยู่ ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้าช้างนั้นไปก็เห็นรอยเท้า ช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง และที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูงในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง พรานช้างผู้ฉลาดก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังมีช้างพังทั้งหลายชื่อว่าอุจจากาฬาริกา(พังโย่งมีขนายดำแดง) ที่มีรอยเท้าใหญ่ ในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้าช้างนั้นไปก็เห็นรอยเท้า ช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูง และที่ที่งาแซะขาดในที่สูงใน ป่าเป็นที่อยู่ของช้าง พรานช้างผู้ฉลาดก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะช้างพังทั้งหลายชื่อว่าอุจจากเณรุกา(พังโย่งมีขนายตูม) ที่มี รอยเท้าใหญ่ ในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้านั้นไปก็เห็นรอยเท้าช้าง ขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูง ที่ที่งาแซะขาดในที่สูง และกิ่งไม้ หักในที่สูง และเห็นช้างนั้นที่โคนต้นไม้ ที่กลางแจ้ง เดินอยู่ ยืนอยู่ หมอบ หรือ นอนอยู่ เขาจึงตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้เองเป็นช้างใหญ่ตัวนั้น’ แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึก ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตนั้นรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้วจึงประกาศ ให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใด ตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นได้ฟังธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมี ศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การ บวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด’ ต่อมา เขาละทิ้งกอง โภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาว- พัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
สิกขาและสาชีพของภิกษุ
[๒๙๒] เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ๑- เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย คือ ๑. ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ๒. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่ ๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๒- อันเป็นกิจของชาวบ้าน ๔. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก ๕. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไป บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคน @เชิงอรรถ : @ สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้หมายเอาอธิสีลสิกขา @สาชีพ หมายถึงสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ร่วมกัน ผู้ดำเนินชีวิตร่วมกัน มี @ความประพฤติเสมอกัน (ม.มู.อ. ๒/๒๙๒/๑๑๓) และดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕/๓๓, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๙/๒๓๕ @ เมถุนธรรม หมายถึงการร่วมประเวณี การร่วมสังวาส กล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของ @ชาวบ้านมีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ เป็นการกระทำของคนที่เป็นคู่ๆ (วิ.มหา. ๑/๕๕/๓๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี ๖. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ ๗. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์เหมาะแก่เวลา [๒๙๓] ๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๑- และภูตคาม๒- ๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๓- ๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการ ละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล ๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว ๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่ ๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน ๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๔- ๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ ๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี @เชิงอรรถ : @ พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, @ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘) @ ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่มี ๕ ชนิด คือ ที่เกิดจากเหง้า เช่นกระชาย, @เกิดจากต้น เช่น โพ, เกิดจากตา เช่น อ้อย, เกิดจากยอด เช่น ผักชี, เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว @(ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘) @ ฉันในเวลาวิกาล คือ เวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง เวลาวิกาลในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้ @คือตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงเวลาอรุณขึ้น (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๐/๗๕) @ ธัญญาหารดิบ ในที่นี้หมายถึงธัญชาติ ๗ ชนิด คือ (๑) ข้าวสาลี (๒) ข้าวเปลือก (๓) ข้าวเหนียว @(๔) ข้าวละมาน (๕) ข้าวฟ่าง (๖) ลูกเดือย (๗) หญ้ากับแก้ (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย ๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ ๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร ๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา ๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน ๒๒. เว้นขาดจากการรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร ๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย ๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด ๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง ๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการขู่กรรโชก [๒๙๔] ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง เธอไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที นกมีปีกจะบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกของมันเป็น ภาระบินไป แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง เธอจะไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบ ด้วยอริยสีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษภายใน [๒๙๕] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ ความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม คืออภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น) และโทมนัส(ความทุกข์ใจ)ครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทาง จมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวม แล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษา มนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอริยอินทรียสังวรนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง [๒๙๖] ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยสันโดษ อริยอินทรีย- สังวร และอริยสติสัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์๑- ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ)ได้แล้ว เป็นผู้ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
รอยพระบาทของพระตถาคต
[๒๙๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตและ เป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท๒- ‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต๓- ‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต๔- ‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็น @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๐๗ (มหาสติปัฏฐานสูตร) หน้า ๑๐๒ ในเล่มนี้ @ ตถาคตบท หมายถึงทางแห่งญาณ หรือร่องรอยแห่งญาณของพระตถาคต ได้แก่ ฐานที่ญาณเหยียบแล้ว @กล่าวคือ ฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นพื้นฐานแห่งญาณชั้นสูงๆ ขึ้นไปของพระตถาคต @(ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕) @ ตถาคตนิเสวิต หมายถึงฐานที่ซี่โครงคือญาณของพระตถาคตเสียดสีแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕) @ ตถาคตรัญชิต หมายถึงฐานที่พระเขี้ยวแก้วคือญาณของพระตถาคตกระทบแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติ ดีแล้ว’ อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิอยู่ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ฯลฯ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ฯลฯ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว’ อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ข้อนี้เรา เรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว’ [๒๙๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑- ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ด่วน ตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรม ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล้ว แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาค เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๒๙๙] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุ นั้นน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ แม้ข้อนี้เราก็เรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต’ บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกที่ยังไม่ด่วนตัดสินใจก็ตัดสินใจได้เลยว่า ‘พระผู้มี พระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ เมื่อภิกษุนั้นรู้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต’บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกจึงตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้อความเปรียบเทียบ ด้วยรอยเท้าช้างเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารแล้ว” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระ โคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง สรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
จูฬหัตถิปโทปมสูตรที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๒๘}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๑๗-๓๒๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=12&A=9081 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=12&siri=27              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=5763&Z=6041&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=329              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]