ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๒. สัพพาสวสูตร
ว่าด้วยอุบายกำจัดอาสวะทั้งปวง
[๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงเหตุแห่งการปิดกั้นอาสวะ๒- ทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัส แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า @เชิงอรรถ : @ มิได้มีใจยินดีชื่นชม หมายถึงภิกษุเหล่านั้นไม่รู้คือไม่เข้าใจเนื้อความของพระสูตรนี้ เหตุยังมีมานะทิฏฐิ @มาก เพราะมัวเมาในปริยัติ และเพราะพระภาษิตนั้นลึกซึ้งด้วยนัยที่ ๑ คือ ปุถุชน จนถึงนัยที่ ๘ คือ @พระตถาคต ท่านเหล่านั้นจึงไม่รู้แจ้งอรรถแห่งพระพุทธพจน์ จึงมิได้มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตนั้น ภายหลัง @ได้สดับโคตมกสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสที่โคตมกเจดีย์แล้ว จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้ง @ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย (ม.มู.อ. ๑/๑๓/๖๒-๖๕) @ อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ @มี ๔ อย่าง คือ (๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม (๒) ภวาสวะ อาสวะคือภพ (๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ @(๔) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา (ตามนัย อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗) แต่พระสูตรจัดเป็น ๓ @เพราะสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๔/๖๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๒. สัพพาสวสูตร

[๑๕] “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้ ผู้เห็น เราไม่ กล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้ไม่รู้ ผู้ไม่เห็น เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้ ผู้เห็นอะไร (คือ)ผู้รู้ ผู้เห็นโยนิโสมนสิการ๑- และอโยนิโสมนสิการ๒- เมื่อภิกษุมนสิการ โดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่ เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป [๑๖] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยทัสสนะ๓- ก็มี อาสวะทั้งหลาย ที่ต้องละด้วยการสังวร๔- ก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการใช้สอยก็มี อาสวะทั้งหลาย ที่ต้องละด้วยการอดกลั้นก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเว้นก็มี อาสวะทั้งหลาย ที่ต้องละด้วยการบรรเทาก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเจริญก็มี
อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ
[๑๗] อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ เป็นอย่างไร คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรม ของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่รู้ทั่วถึง ธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ เขาเมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควร มนสิการ เมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร มนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควรมนสิการ @เชิงอรรถ : @ โยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย โดยถูกทาง กล่าวคือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ @การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็น @อนัตตา หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑) @ อโยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย โดยไม่ถูกทาง กล่าวคือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่ @เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา หรือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ @การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจถึงความคิดโดยนัยที่กลับกันกับสัจธรรม (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑) @ ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. ๑/๒๑/๘๑, ม.มู.ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๐) @ สังวร เป็นชื่อของสติ หมายถึงการระวังการปิดการกั้น (ม.มู. ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๑) และดู @องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๘/๕๔๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๒. สัพพาสวสูตร

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ เป็นอย่างไร คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะ๑- ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะ๒- ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมเจริญ และอวิชชาสวะ๓- ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่ ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ เป็นอย่างไร คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป เหล่านี้คือธรรม ที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ เพราะปุถุชนนั้นมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควร มนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญ [๑๘] ปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน เราได้มีแล้ว หรือมิได้มีแล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ เราได้เป็นอะไรแล้วจึงมาเป็นอะไรอีกหนอ ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือจัก ไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็น อะไรอีกหนอ’ หรือว่าบัดนี้ มีความสงสัยภายในตน ปรารภปัจจุบันกาลกล่าวว่า ‘เรามีอยู่หรือไม่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาจากไหนหนอ และเขาจักไปไหนกันหนอ’ @เชิงอรรถ : @ กามาสวะ หมายถึงความกำหนัดในกามคุณ ๕ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔) @ ภวาสวะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ ความติดใจในฌานที่สหรคต @ด้วยสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ รวมทั้งทิฏฐาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔) @ อวิชชาสวะ หมายถึงความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๒. สัพพาสวสูตร

[๑๙] เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฏฐิ(ความเห็นผิด) อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ ๖ ก็เกิดขึ้น คือ ๑. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเรามีอยู่’ ๒. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเราไม่มี’ ๓. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยอัตตา’ ๔. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาได้ด้วยอัตตา’ ๕. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช่อัตตา’ ๖. อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิเกิดมีแก่ผู้นั้น อย่างนี้ว่า ‘อัตตาของเรานี้ใด เป็นผู้กล่าว เป็นผู้รู้ เสวยผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วในอารมณ์นั้นๆ อัตตาของเรา นี้นั้นเป็นสภาวะที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา จักดำรงอยู่เสมอด้วยสิ่งที่แน่นอน’ ข้อนี้เราเรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ ป่าทึบคือทิฏฐิ ทางกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม คือทิฏฐิ ความเดือดร้อนคือทิฏฐิ กิเลสเครื่องผูกพันสัตว์คือทิฏฐิ ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ‘ปุถุชนผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ผู้ยังไม่ได้สดับ ย่อมไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความ เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ย่อมไม่พ้นจากทุกข์’ [๒๐] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดใน ธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึง ธรรมที่ควรมนสิการ รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ อริยสาวกนั้นเมื่อรู้ทั่วถึงธรรม ที่ควรมนสิการ เมื่อรู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร มนสิการ มนสิการถึงแต่ธรรมที่ควรมนสิการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๒. สัพพาสวสูตร

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ เป็นอย่างไร คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิด ขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่ไม่ ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ เป็นอย่างไร คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่ เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป เหล่านี้คือธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ เพราะอริยสาวกนั้น ไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ มนสิการถึงธรรม ที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่ เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป [๒๑] อริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายว่า ‘นี้ทุกข์(สภาวะที่ทนได้ยาก) นี้ ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)’ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) (๒) วิจิกิจฉา(ความ ลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลและวัตร) ย่อมสิ้นไป ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร
[๒๒] อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคาย เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรใน จักขุนทรีย์๑- อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อม ไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย การสังวรในโสตินทรีย์อยู่ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย การสังวรในฆานินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม ด้วยการสังวรในชิวหินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม ด้วยการสังวรในกายินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม ด้วยการสังวรในมนินทรีย์อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร
อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย
[๒๓] อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยจีวรเพียงเพื่อป้องกัน ความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่ก่อให้เกิดความละอาย @เชิงอรรถ : @ จักขุนทรีย์ หมายถึงจักขุที่เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ นับเนื่องในอัตภาพ ที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ @เคยกระทบ กำลังกระทบ จักกระทบ หรือพึงกระทบ (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๕๙๗/๑๙๑) ที่ชื่อว่า จักขุนทรีย์ @เพราะทำหน้าที่เป็นใหญ่ในจักขุทวาร (อภิ.วิ.อ. ๒/๒๑๙/๑๓๔) โสตินทรีย์เป็นต้นก็มีนัยเช่นเดียวกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๒. สัพพาสวสูตร

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาตไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความ มัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ๑- ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง๒- แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า 'โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความ ดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา' แล้วจึงบริโภค อาหาร ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะเพียงเพื่อป้องกันความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทา อันตรายที่เกิดจากฤดู และเพื่อความยินดีในการหลีกเร้น ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร๓- เพียงเพื่อบรรเทา เวทนาที่เกิดจากอาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และเพื่อไม่มีความเบียดเบียนเป็นที่สุด ซึ่งเมื่อเธอไม่ใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย อาการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย @เชิงอรรถ : @ เพื่อประดับ ในที่นี้หมายถึงเพื่อให้ร่างกายอ้วนพี อวบอิ่มเหมือนหญิงแพศยา (ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๑, @องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕, วิสุทฺธิ. ๑/๑๘/๓๓) @ เพื่อตกแต่ง ในที่นี้หมายถึงเพื่อประเทืองผิวให้งดงาม เหมือนหญิงนักฟ้อน มุ่งถึงความมีผิวพรรณงาม @(ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๑, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕, วิสุทฺธิ. ๑/๑๘/๓๓) @ คิลานปัจจัยเภสัชบริชาร คือเภสัช ๕ ชนิด ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐, @สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓) @เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุผู้เจ็บไข้ จัดว่าเป็นบริขาร คือบริวารของชีวิต ดุจกำแพงล้อมพระนคร @เพราะคอยป้องกันรักษาไม่ให้อาพาธที่จะบั่นรอนชีวิตได้ช่องเกิดขึ้น และเป็นสัมภาระของชีวิต คอยประคับ @ประคองชีวิตให้ดำรงอยู่นาน (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐-๔๑, ม.มู.อ. ๑/๑๙๑/๓๙๗, ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๓) @เป็นเครื่องป้องกันโรค บำบัดโรคที่ให้เกิดทุกขเวทนา เนื่องจากธาตุกำเริบให้หายไป @(สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น
[๒๔] อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์ เลื้อยคลาน เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำหยาบ คำส่อเสียด เป็นผู้อดกลั้นต่อเวทนา ทั้งหลายอันมีในร่างกาย เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเธอไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น
อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น
[๒๕] อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างดุร้าย เว้นม้าดุร้าย เว้นโคดุร้าย เว้นสุนัขดุร้าย เว้นงู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม หลุม เหว บ่อน้ำครำ บ่อโสโครก และพิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นสถานที่ที่ไม่ควรนั่ง สถานที่ไม่ควร เที่ยวไป และมิตรชั่วที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นฐานะที่เป็นบาปเสีย ซึ่งเมื่อเธอไม่เว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย อาการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา
[๒๖] อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป พิจารณาโดยแยบคาย แล้วไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับ บาปอกุศลธรรม๑- ที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึง ความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ ความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา
อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ
[๒๗] อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์๒- ที่ อาศัยวิเวก๓- (ความสงัด) อาศัยวิราคะ(ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ) น้อมไปในการสละ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ @เชิงอรรถ : @ บาปอกุศลธรรม หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นอกุศล มี ๖ ประการ คือ (๑) ญาติวิตก ความตรึกถึง @ญาติ (๒) ชนบทวิตก ความตรึกถึงบ้านตัวเอง (๓) อมรวิตก ความตรึกที่มีทิฏฐิซัดส่ายไม่แน่นอน @(๔) ปรานุททยตาปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องอนุเคราะห์ผู้อื่น (๕) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตวิตก @ความตรึกถึงลาภสักการะและสรรเสริญ (๖) อนวิญญัติปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องเกรงผู้อื่นจะดูหมิ่น @(ม.มู.อ. ๑/๒๖/๙๐) @ สัมโพชฌงค์ หมายถึงธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ มี ๗ ประการ คือ (๑) สติ ความระลึกได้ @(๒) ธัมมวิจยะ ความเลือกเฟ้นธรรม (๓) วิริยะ ความเพียร (๔) ปีติ ความอิ่มใจ (๕) ปัสสัทธิ ความสงบ @กายสงบใจ (๖) สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น (๗) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง @แต่ละข้อมีสัมโพชฌงค์ต่อท้ายเช่น สติสัมโพชฌงค์ (ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, ๓๕๗/๒๕๘, @อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๔๖๘/๓๕๙, ม.มู.อ. ๑/๒๗/๙๑-๙๒) @ วิเวก ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๕ ประการ คือ (๑) วิกขัมภนวิเวก(ความสงัดด้วยการข่มไว้) (๒) ตทังควิเวก @(ความสงัดด้วยองค์นั้นๆ) (๓) สมุจเฉทวิเวก(ความสงัดด้วยการตัดขาด) (๔) ปัสสัทธิวิเวก(ความสงัด @ด้วยการสงบระงับ) (๕) นิสสรณวิเวก(ความสงัดด้วยการสลัดออกได้) (ม.มู.อ. ๑/๒๗/๙๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๒. สัพพาสวสูตร

ฯลฯ เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ซึ่งเมื่อไม่เจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อน ที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ [๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยทัสสนะ อาสวะ เหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยทัสสนะ อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละ ด้วยการสังวร อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการสังวร อาสวะ เหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการใช้สอย อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว ด้วยการใช้สอย อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการอดกลั้น อาสวะเหล่านั้น เป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการอดกลั้น อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วย การเว้น อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการเว้น อาสวะเหล่าใด ที่ภิกษุใดต้องละด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว ด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการเจริญ อาสวะเหล่านั้นเป็น อาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการเจริญ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรอาสวะทั้งปวงอยู่ ตัดตัณหาได้แล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้ โดยชอบ๑-” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
สัพพาสวสูตรที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๐๐/๓๔๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๖}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๗-๒๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=12&A=466 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=12&siri=2              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=238&Z=384&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=10              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]